World Cup 2010 ที่กำลังจะเปิดฉากขึ้นที่ประเทศแอฟริกาใต้ในช่วงวันที่ 11 มิถุนายน – 11 กรกฎาคม รัฐบาลแอฟริกาใต้คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาร่วมงานแข่งขันครั้งนี้ราว 450,000 คน สร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในประเทศตลอดช่วงการแข่งขันในแอฟริกาใต้กว่า 1.8 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เม็ดเงินดังกล่าวจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจแอฟริกาใต้ในไตรมาส 3/2553 ให้ขยายตัวเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 0.5 และเป็นแรงหนุนให้เศรษฐกิจตลอดปี 2553 มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 1.0 เป็นร้อยละ 3.6 จากที่ต้องประสบภาวะเศรษฐกิจหดตัวร้อยละ 1.8 ในปี 2552 โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า เศรษฐกิจแอฟริกาใต้ที่ขยายตัวดีขึ้นซึ่งมีแรงขับเคลื่อนที่สำคัญจากการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกในครั้งนี้จะช่วยกระตุ้นการส่งออกของไทยไปแอฟริกาใต้ในช่วงที่เหลือของปี 2553 และขยายโอกาสสินค้าไทยให้เป็นที่รู้จักในทวีปแอฟริกามากยิ่งขึ้น
การท่องเที่ยวแอฟริกาใต้คึกคักกระตุ้นเศรษฐกิจและการบริโภค
World Cup 2010 กระตุ้นการบริโภคในแอฟริกาใต้ เนื่องจากการท่องเที่ยวแอฟริกาใต้ช่วงการแข่งขันฟุตบอลโลกมีแนวโน้มคึกคักทั่วประเทศเพราะมีสถานที่จัดการแข่งขันกระจายตัวโดยรอบ ซึ่งรัฐบาลแอฟริกาใต้คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาท่องเที่ยวราว 450,000 คน มีการใช้จ่ายโดยเฉลี่ยประมาณ 4,000 เหรียญสหรัฐฯต่อคน ส่งผลให้มีเม็ดเงินจากการท่องเที่ยวสะพัดมูลค่าราว 1.8 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ(ประมาณ 233 พันล้านแรนด์) นอกจากนี้การบริโภคของคนในประเทศก็ยังได้รับแรงสนับสนุนจากปัจจัยภายในประเทศ ได้แก่ งบประมาณในการเตรียมความพร้อมสำหรับจัดการแข่งขันมูลค่ากว่า 4.3 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ(33 พันล้านแรนด์) โดยการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการแข่งขัน ก่อสร้างสนามและปรับปรุงสนามเพื่อการแข่งขันรวม 10 แห่งทั่วประเทศ ขณะที่ธนาคารกลางแอฟริกาใต้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจโลกจากร้อยละ 12 ในเดือนธันวาคมปี 2551เหลือร้อยละ 6.5 ในเดือนพฤษภาคม 2553 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและลดต้นทุนการกู้ยืมของภาคการก่อสร้าง รวมทั้งอัตราเงินเฟ้อปรับตัวลดลงต่อเนื่องมาอยู่ที่ร้อยละ 4.8 ในเดือนเมษายน ถือเป็นอัตราต่ำที่สุดในรอบ 4 ปี ซึ่งจะช่วยให้ความต้องการบริโภคของประชาชนแอฟริกาใต้ปรับสูงขึ้น
ปัจจัยการบริโภคภายในประเทศที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นและเม็ดเงินที่ได้จากนักท่องเที่ยวในช่วงการแข่งขันฟุตบอลโลก รัฐบาลแอฟริกาใต้คาดว่าปัจจัยดังกล่าวจะสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจของแอฟริกาใต้ในไตรมาส 3/2555 ขยายตัวเพิ่มขึ้นอีกราวร้อยละ 0.5 และจะส่งผลให้เศรษฐกิจตลอดปี 2553 ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1 จากเดิมที่รัฐบาลคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.6 เป็นร้อยละ 3.6 จากที่ต้องประสบภาวะเศรษฐกิจหดตัวร้อยละ 1.8 ในปี 2552 ทั้งนี้เศรษฐกิจแอฟริกาใต้ไตรมาส 1/2553 ขยายตัวร้อยละ 1.6(YoY)
อานิสงส์ World Cup…ขยายโอกาสสินค้าไทยให้เป็นที่รู้จักในแอฟริกาใต้และทวีปแอฟริกา
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า เศรษฐกิจแอฟริกาใต้ที่มีแนวโน้มเติบโตดีขึ้นในปีนี้จะกระตุ้นความต้องการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศรวมทั้งจากไทยให้ขยายตัวมากขึ้นในช่วงที่เหลือของปี แม้ว่าการส่งออกของไทยไปแอฟริกาใต้จะมีสัดส่วนค่อนข้างน้อย แต่สินค้าไทยหลายรายการค่อนข้างมีศักยภาพและเป็นที่ต้องการในแอฟริกาใต้ โดยมีประเด็นสำคัญดังนี้
การค้าระหว่างไทยกับแอฟริกาใต้มีสัดส่วนค่อนข้างน้อยเพียงร้อยละ 0.6 ของมูลค่าการค้าทั้งหมดของไทย อย่างไรก็ตามแอฟริกาใต้ก็เป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 1 ของไทยในทวีปแอฟริกา ซึ่งในช่วงการแข่งขันฟุตบอลโลกที่คาดว่าจะมีเม็ดเงินสะพัดมูลค่ากว่า 1.8 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ น่าจะช่วยกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศและสนับสนุนการส่งออกไทยไปแอฟริกาใต้ให้ขยายตัวมากยิ่งขึ้น จากในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2553 ที่การส่งออกของไทยไปแอฟริกาใต้ขยายตัวร้อยละ 20.7 ซึ่งยังขยายตัวต่ำกว่าการส่งออกของไทยไปยังตลาดโลกที่ขยายตัวร้อยละ 32.5
แอฟริกาใต้ขาดดุลการค้ากับต่างประเทศรวมทั้งขาดดุลการค้ากับไทยสะท้อนถึงความต้องการบริโภคสินค้า/วัตถุดิบจากต่างประเทศ ในปัจจุบันแอฟริกาใต้ยังมีการนำเข้าจากไทยไม่สูงนักจึงเป็นโอกาสขยายการส่งออกสินค้าไทยได้อีกมากเพื่อรองรับการขยายตัวด้านการผลิตจากการลงทุนที่ไหลเข้าในประเทศแอฟริกาใต้และรองรับการบริโภคที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นในช่วงที่เหลือของปีนี้ โดยเฉพาะในไตรมาสที่ 3 ที่ได้อานิสงส์จากการท่องเที่ยวแอฟริกาใต้ในช่วง World Cup ที่จะมีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น ซึ่งสินค้าไทยที่มีศักยภาพในแอฟริกาใต้มีโอกาสเติบโตได้ดีตามเศรษฐกิจแอฟริกาใต้ที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น ได้แก่ ยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ ข้าว เครื่องใช้ไฟฟ้า อาหารทะเล ผลิตภัณฑ์ยาง เม็ดพลาสติก เครื่องจักรกล อัญมณี/เครื่องประดับ และผ้าทอ เป็นต้น สำหรับสินค้าที่เป็นที่ต้องการในแอฟริกาใต้แต่ไทยยังส่งออกค่อนข้างน้อย จึงเป็นโอกาสส่งออกของไทยเพื่อสนองความต้องการบริโภคของแอฟริกาใต้ในระยะต่อไป ได้แก่ สินค้าอาหารสุขภาพ รถยนต์ โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ วัตถุดิบสำหรับผลิตเครื่องประดับ(ทองคำ เพชร พลอย เงิน) สิ่งทอที่ทำจากวัสดุสังเคราะห์ เสื้อผ้า รองเท้า และเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ เป็นต้น
มูลค่าการส่งออกของไทยไปแอฟริกาใต้ยังมีสัดส่วนค่อนข้างน้อยราวร้อยละ 0.8 ของการส่งออกทั้งหมดของไทยไปยังตลาดโลก จึงยังมีโอกาสให้เติบโตได้อีกมาก เนื่องจากฐานส่งออกไปแอฟริกาใต้ยังค่อนข้างต่ำ โดย World Cup ในครั้งนี้ถือเป็นโอกาสที่ดีในการประชาสัมพันธ์สินค้าไทยให้เป็นที่รู้จักในแอฟริกาใต้มากยิ่งขึ้น รวมทั้งยังเป็นโอกาสประชาสัมพันธ์สินค้าไทยแก่นักท่องเที่ยวต่างประเทศที่มาจากทวีปแอฟริกาที่ยังไม่รู้จักสินค้าไทยมากนัก โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากประเทศใกล้เคียงกับแอฟริกาใต้ เช่น เลโซโธ นามิเบีย สวาซิแลนด์ บอสวานา ซิมบับเว และโมแซมบิก เป็นต้น สำหรับสินค้าอุปโภค/บริโภคที่เป็นเอกลักษณ์ของไทยจึงน่าจะมีโอกาสเผยแพร่ไปในทวีปแอฟริกา ได้แก่ อาหารไทย และอัญมณี/เครื่องประดับ สำหรับสินค้าวัตถุดิบ/สินค้าขั้นกลางที่ไทยส่งออกไปแอฟริกาใต้ยังมีโอกาสเติบโตได้หากไทยสามารถเข้าเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่การผลิตของแอฟริกาใต้ได้ เนื่องจากการส่งออกสินค้าจากแอฟริกาใต้ไปยังประเทศในทวีปแอฟริกาผ่านข้อตกลงเขตการค้าเสรีและสหภาพศุลกากรจะได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีระหว่างกลุ่มในอัตราที่ต่ำ เช่น ประชาคมเพื่อการพัฒนาแอฟริกาตอนใต้(Southern African Development Community: SADC) สหภาพศุลกากรภูมิภาคแอฟริกาใต้(Southern African Customs Union: SACU) ซึ่งจะช่วยขยายการส่งออกสินค้าวัตถุดิบ/สินค้าขั้นกลางของไทยผ่านการผลิตในแอฟริกาใต้เข้าสู่ทวีปแอฟริกาที่มีประชากรกว่า 200 ล้านคน ที่มีสัดส่วนการค้ากับไทยร้อยละ 2.65 ของมูลค่าการค้าทั้งหมดของไทย
บทสรุปและข้อเสนอแนะ
World Cup 2010 ที่จัดขึ้นในแอฟริกาใต้ระหว่างวันที่ 11 มิถุนายน – 11 กรกฎาคมนี้คาดว่าจะมีเม็ดเงินสะพัดกว่า 1.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งจะกระตุ้นการบริโภคในประเทศแอฟริกาใต้และสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจของแอฟริกาใต้ในช่วงที่เหลือของปี รวมถึงการใช้จ่ายเพื่อเตรียมการจัด World Cup ครั้งนี้ที่จะช่วยหนุนเศรษฐกิจแอฟริกาใต้ในปีนี้ให้เติบโตดีขึ้น โดยทางการแอฟริกาใต้คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 3.6 ในปีนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า การส่งออกของไทยไปยังแอฟริกาใต้ในช่วงที่เหลือของปีคาดว่าจะเติบโตมากขึ้นตามการเติบโตดีขึ้นของเศรษฐกิจแอฟริกาใต้ แม้ว่าการส่งออกของไทยไปยังในแอฟริกาใต้ยังมีสัดส่วนค่อนข้างน้อยไม่ถึงร้อยละ 1 ของการส่งออกทั้งหมดของไทยไปยังตลาดโลก แต่ก็ยังมีแนวโน้มที่จะเติบโตได้อีกมาก นอกจากนี้การส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภคของไทย เช่น อาหารไทย สินค้าสุขภาพ และอัญมณี/เครื่องประดับ น่าจะได้อานิสงส์จากการแข่งขันฟุตบอลโลกเพื่อรองรับความต้องการบริโภคของนักท่องเที่ยว รวมทั้งยังเป็นการเผยแพร่สินค้าไทยให้เป็นที่รู้จักแก่นักท่องเที่ยวจากต่างประเทศที่เข้ามาชมการแข่งขันฟุตบอลโลก โดยเฉพาะโอกาสประชาสัมพันธ์สินค้าไทยสู่ตลาดทวีปแอฟริกา ซึ่งถือเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่มีประชากรราว 200 กว่าล้านคน
แต่อย่างไรก็ตามสินค้าส่งออกของไทยอาจต้องแข่งขันด้านราคากับสินค้าจากจีน และอินเดีย ที่มีราคาต่ำกว่าในขณะที่การแข่งขันด้านคุณภาพสินค้าอาจต้องแข่งกับสินค้าจากประเทศพัฒนาแล้วซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าหลักที่มีศักยภาพในการผลิต ได้แก่ เยอรมนี สหรัฐฯ และญี่ปุ่น เป็นต้น ดังนั้นการส่งออกไปยังแอฟริกาใต้ควรคำนึงถึงต้นทุนค่าขนส่งโดยเลือกเส้นทางขนส่งให้เหมาะสมที่อาจจะช่วยลดต้นทุนได้ ทั้งนี้ การเจาะตลาดผู้บริโภคทางตอนบนของแอฟริกาใต้ที่มีประชากรกว่า 35 ล้านคน(ร้อยละ 70 ของประชากรทั้งประเทศ) สินค้าไทยค่อนข้างจะมีโอกาสเนื่องจากมีประชากรมีกำลังซื้อ โดยควรขนส่งสินค้าไทยผ่านท่าเรือในเมือง Durban ตั้งอยู่ในรัฐKwaZulu-Natal ซึ่งสามารถกระจายสินค้าไปยังพื้นที่ตอนในของแอฟริกาใต้ได้ ได้แก่ รัฐNorth West, Free State, Gauteng, Mumalanga และ Limpopo เป็นต้น และกระจายสินค้าไปยังประเทศในภูมิภาคแอฟริกาตอนใน ได้แก่ เลโซโท ซิมบับเว บอสวานา และสวาซิแลนด์ เป็นต้น สำหรับการเจาะตลาดผู้บริโภคทางตอนใต้ของแอฟริกาใต้ควรขนส่งสินค้าไทยผ่านท่าเรือในเมือง Cape Town ตั้งอยู่ในรัฐ Western Cape ทางใต้สุดของแอฟริกาใต้ ซึ่งสามารถกระจายสินค้าสู่ผู้บริโภคทางตอนใต้ของแอฟริกาใต้ไปยังรัฐใกล้เคียงซึ่งมีประชากรประมาณ 13 ล้านคน(ร้อยละ 30 ของประชากรทั้งประเทศ) ได้แก่ รัฐNorthern Cape และ Eastern Cape เป็นต้น