แม้ว่าดัชนีชี้นำเศรษฐกิจจีน (Leading Economic Index) เพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 14 เดือน มาอยู่ที่ 147.1 ในเดือนเมษายน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.7 (MoM) เทียบกับที่ขยายตัวร้อยละ 1.2 ในเดือนมีนาคม (MoM) ซึ่งสะท้อนถึงการรักษาการขยายตัวทางเศรษฐกิจไว้ได้ในขณะที่เศรษฐกิจโลกต้องเผชิญความเสี่ยงจากวิกฤตหนี้สินในยุโรป แต่คาดว่าในระยะต่อไป เศรษฐกิจจีนยังคงต้องเผชิญปัจจัยลบหลายด้านทั้งจากภาคส่งออกของจีนที่อาจเผชิญภาวะอ่อนแรงจากปัญหาหนี้ในยุโรป รวมถึงเศรษฐกิจภายในเองที่มีแนวโน้มชะลอลงตามมาตรการควบคุมความร้อนแรงทางเศรษฐกิจของทางการจีน หลังจากที่การผลิตภาคอุตสาหกรรมและการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรในจีนได้เริ่มชะลอลงในเดือนพฤษภาคม อย่างไรก็ตาม คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจจีนทั้งปี 2553 น่าจะยังเติบโตได้ราวร้อยละ 10.0 สูงขึ้นจากร้อยละ 8.7 ในปี 2552 โดยอัตราขยายตัวมีแนวโน้มชะลอลงตั้งแต่ไตรมาสที่ 2/2553 เป็นต้นไป หลังจากที่ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 11.9 ในไตรมาสที่ 1/2553 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่าประเด็นท้าทายสำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจจีนในช่วงที่เหลือของปีนี้ ได้แก่
ภาคส่งออกของจีนอาจชะลอตามปัญหาหนี้สินในยุโรป แม้การส่งออกของจีนในเดือนพฤษภาคมยังคงเติบโตได้ดี โดยขยายตัวร้อยละ 48.5 (YoY) สูงขึ้นจากร้อยละ 30.5 เดือนเมษายน (YoY) แต่ปัญหาหนี้สินในยุโรปที่ยังคงยืดเยื้อและขยายวงกว้างขึ้น ซึ่งยังไม่มีความชัดเจนของการสิ้นสุดของปัญหานี้ อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกของจีนในระยะต่อไป เนื่องจากยุโรปเป็นตลาดส่งออกอันดับที่ 1 สัดส่วนราวร้อยละ 20 ของการส่งออกทั้งหมดของจีน โดยในวันที่ 15 มิถุนายนที่ผ่านมา สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือระหว่างประเทศ มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ส เซอร์วิส ประกาศลดอันดับความน่าเชื่อถือพันธบัตรรัฐบาลกรีซลงสู่ระดับไม่น่าลงทุน หรือ ระดับขยะ สะท้อนถึงความกังวลว่ากรีซอาจล้มเหลวในการจัดการลดการขาดดุลงบประมาณและลดหนี้สาธารณะ ขณะที่ผลสำรวจความเชื่อมั่นของนักลงทุนในเยอรมนีในเดือนมิถุนายน ของสถาบันแซดอีดับบลิว ลดลงเกินกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ โดยลดลงสู่ระดับ 28.7 ในเดือนมิถุนายน จาก 48.5 ในเดือนพฤษภาคม ถือเป็นการลดลงมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2551 ซึ่งเป็นช่วงวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่มีความรุนแรง บ่งชี้ถึงความกังวลที่วิกฤตหนี้ในยุโรปอาจส่งผลกระทบต่อภาคส่งออกของเยอรมนีไปยังกลุ่มยูโร และความไม่แน่นอนเกี่ยวกับแนวโน้มของเศรษฐกิจยูโรโซนที่มีฐานะการคลังอ่อนแอ เช่น สเปน และผลกระทบโดยรวมต่อเศรษฐกิจยูโรจากมาตรการลดการใช้จ่ายภาครัฐ ทำให้คาดว่าปัญหาหนี้สินในยุโรปที่ยังคงไม่แน่นอนอาจกระทบต่อการส่งออกของจีนในช่วงที่เหลือของปีนี้ แม้ว่าการส่งออกของจีนไปประเทศกลุ่ม PIIGs (ได้แก่ กรีซ โปรตุเกส สเปน ไอร์แลนด์ และอิตาลี) ที่มีปัญหาหนี้สาธารณะและการขาดดุลการคลังต่อจีดีพีที่อยู่ในระดับสูง มีสัดส่วนเพียงร้อยละ 3.5 ของการส่งออกทั้งหมดของจีน แต่หากปัญหาหนี้สินยืดเยื้อและลุกลามออกไปจนกระทบต่อประเทศยุโรปขนาดเศรษฐกิจใหญ่และเป็นตลาดส่งออกหลักของจีนอย่างเยอรมนี และฝรั่งเศส (เป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ของประเทศกลุ่ม PIIGS) ก็อาจเป็นปัจจัยกดดันที่ทำให้เศรษฐกิจยุโรปมีแนวโน้มเติบโตได้ไม่มากนักในปีนี้ และอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกของจีนในระยะต่อไป แม้ว่าเศรษฐกิจประเทศยูโรโซน โดยเฉพาะประเทศผู้ส่งออกหลักอย่างเยอรมนีจะได้อานิสงส์จากการอ่อนค่าของเงินยูโรที่ช่วยให้การส่งออกไปตลาดโลกขยายตัวได้ดีขึ้นก็ตาม
นอกจากนี้ ค่าเงินยูโรที่มีแนวโน้มอยู่ในระดับอ่อนค่าต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปีนี้ ทำให้เงินหยวนต่อยูโรแข็งค่าขึ้นส่งผลกระทบให้สินค้าส่งออกของจีนไปยูโรโซนมีราคาสูงขึ้นในสายตาของผู้นำเข้ายุโรป ทำให้ผู้บริโภคในยุโรปที่มีความต้องการบริโภคอ่อนแรงอยู่แล้วตามเศรษฐกิจที่ซบเซาอาจชะลอการนำเข้าสินค้าจากจีนที่มีราคาสูงขึ้น ซึ่งสินค้าส่งออกสำคัญของจีนไปยุโรปที่อาจได้รับผลกระทบ ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ และสิ่งทอ/เสื้อผ้า
การบริโภค-การลงทุนของจีนมีแนวโน้มชะลอตัวตามการใช้นโยบายทางการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น โดยตัวเลขเศรษฐกิจในเดือนพฤษภาคมเริ่มมีสัญญาณชะลอตัว โดยการผลิตภาคอุตสาหกรรมเติบโตชะลอเหลือร้อยละ 16.5 (YoY) จากร้อยละ 17.8 ในเดือนเมษายน (YoY) การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรในเขตเมืองขยายตัวชะลอเหลือ 25.9 ในช่วง 5 เดือนแรก จากร้อยละ 2.1 ในช่วง 4 เดือนแรก และยอดขายรถในเดือนพฤษภาคมเติบโตชะลอเหลือร้อยละ 26 (YoY) จากที่ขยายตัวร้อยละ 32.7 ในเดือนเมษายน (YoY) ซึ่งการชะลอตัวของดัชนีเศรษฐกิจสำคัญเหล่านี้เป็นผลจากมาตรการเข้มงวดทางการเงินเพื่อควบคุมความร้อนแรงของเศรษฐกิจจีน รวมถึงมาตรการทางภาษี เช่น การเพิ่มภาษีการซื้อรถจากร้อยละ 5 เป็นร้อยละ 7.5 ในปีนี้ หลังจากที่ได้ปรับลดจากร้อยละ 10 เป็นร้อยละ 5 ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 2552 ทำให้อาจกระทบต่อการขยายตัวของสินค้าส่งออกของไทยอย่างยางพาราและผลิตภัณฑ์ยางที่คาดว่าการขยายตัวคงจะชะลอลงในช่วงที่เหลือของปี ในขณะที่ยอดค้าปลีกสินค้าโดยรวมของจีนในเดือนพฤษภาคมยังคงเติบโตสูงขึ้นเป็นร้อยละ 18.7 (YoY) จากร้อยละ 18.5 ในเดือนก่อนหน้า (YoY)
แม้ว่าที่ผ่านมา ทางการจีนได้ปรับขึ้นอัตราสำรองเงินฝากธนาคารพาณิชย์ (RRR) 3 ครั้งๆ ละ 0.5 และการกำหนดเป้าหมายสินเชื่อใหม่ในปีนี้ให้อยู่ที่ 7.5 ล้านล้านหยวน ส่งผลให้ปริมาณเงิน (M2) ในเดือนพฤษภาคมชะลอลงเหลือร้อยละ 21.0 (YoY) จากร้อยละ 21.4 ในเดือนเมษายน (YoY) และสินเชื่อใหม่ในเดือนพฤษภาคมลดลงเหลือ 640 พันล้านหยวน จาก 774 พันล้านหยวนในเดือนก่อนหน้า แต่ก็ยังถือว่าอยู่ในระดับสูงและสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ ซึ่งส่งผลให้มูลค่าสินเชื่อใหม่รวมในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้อยู่ที่ 4 ล้านล้านหยวน ถือว่าเกินครึ่งหนึ่งของเป้าหมายการปล่อยสินเชื่อทั้งปี ทำให้มีแนวโน้มที่ทางการจีนจะใช้มาตรการเข้มงวดทางการเงินเพิ่มเติมในระยะต่อไปเพื่อควบคุมการขยายตัวของสินเชื่อที่อาจส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างร้อนแรงเกินไป
ขณะที่เงินเฟ้อมีแนวโน้มสูงขึ้น หลังจากที่เติบโตเร่งขึ้นเป็นร้อยละ 3.1 ในเดือนพฤษภาคม (YoY) จากร้อยละ 2.8 ในเดือนเมษายน (YoY) ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายที่ทางการจีนตั้งไว้ที่ร้อยละ 3.0 ในปีนี้ อาจทำให้ทางการจีนใช้มาตรการทางการเงินที่เข้มงวดขึ้นอย่างการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่จีนยังคงอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 5.31 ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2551 และการปรับค่าเงินหยวนให้แข็งค่าได้มากขึ้นเพื่อควบคุมภาวะเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มปรับสูงขึ้นในช่วงที่เหลือของปีนี้ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการเติบโตอย่างมีเสถียรภาพของเศรษฐกิจจีน โดยในปัจจุบันจีนถูกกดดันจากสหรัฐฯ ให้ปรับค่าเงินหยวนให้แข็งค่าได้มากขึ้นหลังจากที่คงค่าเงินหยวนไว้ที่ 6.83 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2551 เพื่อช่วยเหลือภาคส่งออก โดยในเดือนพฤษภาคมที่จีนกลับมาเกินดุลการค้ามูลค่าสูงถึง 19.5 พันล้านหยวน ทำให้สหรัฐฯ กลับมากดดันให้จีนปรับค่าเงินให้แข็งค่ามากขึ้นอีกครั้ง โดยคาดว่าค่าเงินหยวนจะเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญที่สหรัฐฯ กับจีนที่หารือกันในช่วงการประชุมผู้นำกลุ่มจี 20 ในเดือนมิถุนายนนี้ที่ประเทศแคนาดา คาดว่าทางการจีนคงต้องพิจารณาช่วงเวลาที่จะปรับค่าเงินหยวนให้แข็งค่าขึ้นท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงจากวิกฤตหนี้สินในยุโรปที่ยังมีความไม่แน่นอน ที่อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกของจีนในระยะต่อไป เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของจีนและภาคเศรษฐกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับภาคส่งออกรวมทั้งการจ้างงานด้วย
ต้นทุนธุรกิจปรับสูงขึ้น ระดับราคาที่สูงขึ้นยังส่งผลกดดันต่อต้นทุนทางธุรกิจของผู้ประกอบการในจีน โดยเฉพาะค่าแรงงานที่ปรับสูงขึ้นในการผลิตภาคอุตสาหกรรม รวมถึงค่าแรงงานขั้นต่ำที่ปรับสูงขึ้นในปีนี้ โดยในปัจจุบันค่าแรงงานในจีนเริ่มปรับขึ้นในหลายมณฑล เช่น มหานครปักกิ่ง ปรับขึ้นค่าแรงงานขั้นต่ำร้อยละ 20 มาอยู่ที่ 960 หยวนต่อเดือน ขณะที่เมืองเสิ่นเจิ้น มณฑลกวางตุ้ง ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำร้อยละ 10 มาอยู่ที่ 1,000 หยวนต่อเดือน ซึ่งจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2553 นี้ทั้งสองแห่ง ส่งผลให้ภาคธุรกิจต้องแบกรับภาระต้นทุนแรงงานที่สูงขึ้น
ปัญหาค่าแรงและการผละงานในโรงงานบางแห่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันสะท้อนว่าต้นทุนด้านแรงงานในจีนอาจมีแนวโน้มสูงขึ้นซึ่งจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนของธุรกิจต่างชาติที่เข้าไปจัดตั้งฐานการผลิตในจีน ขณะเดียวกันค่าแรงงานที่ปรับสูงขึ้นยังทำให้จีนมีความน่าดึงดูดลดลงสำหรับการเข้ามาลงทุนของต่างชาติ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเป็นหลักอย่างเสื้อผ้า/สิ่งทอ รองเท้า และของเล่น ที่เริ่มหันไปลงทุนในประเทศที่มีค่าแรงงานต่ำกว่าอย่างเวียดนาม ลาว และกัมพูชา นอกจากนี้ จีนอาจต้องเผชิญกับปัญหาการว่างงานที่สูงขึ้นหลังจากที่โครงการก่อสร้างตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่จะเสร็จสิ้นในปีหน้า โดยคาดว่าแรงงานชั่วคราวในโครงการก่อสร้างที่เสร็จสิ้นลงดังกล่าวราว 25 ล้านคน อาจต้องประสบการว่างงานในปี 2554
ความเสี่ยงจากฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ ทางการจีนออกมาตรการหลายด้านเพื่อควบคุมความร้อนแรงในภาคอสังหาริมทรัพย์อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปีนี้ โดยเฉพาะในช่วงกลางเดือนเมษายนที่ใช้มาตรการเพิ่มเติมหลายด้าน เช่น การเพิ่มเงินดาวน์บ้านหลังที่ 2 และ 3 การจำกัดการปล่อยสินเชื่อสำหรับการซื้อบ้านหลังที่ 3 รวมถึงการเพิ่มอัตรา Mortgage Rate ส่งผลให้ยอดขายอสังหาริมทรัพย์ในกรุงปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ และเสิ้นเจิ้น ลดลงร้อยละ 70 ในเดือนพฤษภาคม 2553 ส่วนราคาอสังหาริมทรัพย์ในเมืองสำคัญๆ 70 แห่งในจีนในเดือนพฤษภาคมเริ่มเติบโตชะลอลงเหลือร้อยละ 12.4 (YoY) จากร้อยละ 12.8 ในเดือนเมษายน (YoY) แต่ยังถือว่าอยู่ในระดับสูง ขณะที่การลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์ยังคงขยายตัวสูงในอัตราร้อยละ 43.5 ในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ เร่งขึ้นจากที่เติบโตร้อยละ 38.5 ในช่วง 4 เดือนแรก
หน่วยงานกำกับดูแลภาคธนาคารในจีน (CBRC) แสดงความกังวลถึงความเสี่ยงของการเพิ่มขึ้นของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) โดยเฉพาะการปล่อยสินเชื่อในภาคอสังหาริมทรัพย์ หลังจากที่สินเชื่อใหม่ในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้อยู่ที่กว่า 4 ล้านล้านหยวน ซึ่งเกินกว่าครึ่งหนึ่งของเป้าหมายการปล่อยสินเชื่อทั้งปีที่ 7.5 ล้านล้านหยวน โดย CBRC ได้สั่งการให้ธนาคารรายงานการปล่อยสินเชื่อในภาคอสังหาริมทรัพย์ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน เพื่อป้องกันการขยายตัวของสินเชื่อที่อาจเพิ่มสัดส่วนหนี้ NPLs รวมทั้งการตรวจสอบการเติบโตของปริมาณและมูลค่า Mortgage Loans ด้วย คาดว่าทางการจีนอาจใช้มาตรการควบคุมอสังหาริมทรัพย์เพิ่มเติมในระยะต่อไปเพื่อสกัดการเก็งกำไรในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่อาจส่งผลลุกลามไปกระทบภาคธนาคารจากหนี้ NPLs ในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่สูงขึ้น เช่น การออกภาษีใหม่สำหรับอสังหาริมทรัพย์ราคาสูง ซึ่งอาจกดดันต่อบรรยากาศของผู้บริโภค (consumer sentiment) และอาจลจะส่งผลกระทบต่อภาคก่อสร้างและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับภาคอสังหาริมทรัพย์ เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า เฟอร์นิเจอร์ และของตกแต่งบ้าน ที่มีแนวโน้มเติบโตชะลอลงในช่วงที่เหลือของปีนี้ อย่างไรก็ตาม คาดว่าภาคอสังหาริมทรัพย์ในจีนยังมีแรงขับเคลื่อนให้เติบโตต่อไปได้ แม้ว่าอสังหาริมทรัพย์ระดับบนในเมืองใหญ่อาจได้รับผลกระทบจากการชะลอตัว เนื่องจากยังมีความต้องการที่อยู่อาศัยที่แท้จริงสำหรับตลาดระดับกลาง-ล่าง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นแรงงานอพยพจากภาคชนบทเข้ามาทำงานในเมือง และอีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะระดับรายได้ของชาวจีนที่สูงขึ้น ทำให้ความต้องการที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น
? เศรษฐกิจจีนในช่วงที่เหลือของปีนี้มีปัจจัยกดดันการฟื้นตัวหลายด้าน ได้แก่ ภาคส่งออกที่อาจได้รับผลกระทบจากวิกฤตหนี้สินยุโรปที่ยังมีความไม่แน่นอน การบริโภคและการลงทุนภายในจีนที่มีแนวโน้มชะลอลงตามมาตรการทางการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น ซึ่งดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจบางด้านในจีนได้เริ่มชะลอลงในเดือนพฤษภาคม อัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มสูงขึ้นอาจกดดันต้นทุนทางธุรกิจ รวมถึงปัญหาค่าแรงและการผละงานในโรงงานบางแห่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันสะท้อนว่าต้นทุนด้านแรงงานในจีนอาจมีแนวโน้มสูงขึ้นในระยะต่อไปซึ่งจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนของธุรกิจต่างชาติที่เข้าไปจัดตั้งฐานการผลิตในจีน และอาจทำให้สูญเสียความน่าดึงดูดในการลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติในอุตสาหกรรมหลายประเภท โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น ขณะที่ความเสี่ยงจากฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์อาจส่งผลให้ยอดขายและราคาอสังหาริมทรัพย์ระดับบนในเมืองใหญ่ชะลอลงต่อเนื่องและจะส่งกระทบต่อนักลงทุนเก็งกำไร รวมทั้งอาจส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังภาคธนาคารที่ปล่อยกู้ในภาคอสังหาริมทรัพย์ในสัดส่วนที่สูงซึ่งอาจทำให้หนี้ NPLs เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามตลาดที่อยู่อาศัยระดับกลาง-ล่างยังน่าจะไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เนื่องจากความต้องการที่อยู่อาศัยที่ยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจจีนยังคงได้แรงขับเคลื่อนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 586 พันล้านหยวน ที่เริ่มในช่วงปลายปี 2551 ระยะเวลา 2 ปีที่จะสิ้นสุดในปลายปีนี้ ทำให้การบริโภคและการลงทุนในจีนยังมีแนวโน้มเติบโตต่อไปได้ แม้ว่าอาจจะชะลอลงบ้าง ขณะที่ภาคส่งออกของจีนยังน่าจะได้อานิสงส์จากเศรษฐกิจสหรัฐฯ และญี่ปุ่นที่มีสัญญาณการฟื้นตัวดีขึ้น แม้ว่าอาจยังไม่มั่นคงนักเนื่องจากปัญหาการว่างงานของประเทศทั้งสองที่ยังอยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ตาม ยังคงคาดว่าเศรษฐกิจจีนยังน่าจะเติบโตได้ดีขึ้นในอัตราราวร้อยละ 10 ในปีนี้ จากที่ขยายตัวร้อยละ 8.7 ในปี 2552 ซึ่งจะส่งผลขับเคลื่อนเศรษฐกิจเอเชียและไทยผ่านความต้องการนำเข้าสินค้าของจีนที่ยังขยายตัวต่อไปได้ แม้ว่าความต้องการนำเข้าสินค้าบางประเภทของจีนอาจชะลอลงตามมาตรการควบคุมความร้อนแรงทางเศรษฐกิจ เช่น สินค้าที่ใช้ในภาคก่อสร้างที่อาจต้องชะลอลงตามภาคอสังหาริมทรัพย์และภาคยานยนต์ที่อ่อนแรงลง ที่สำคัญ ได้แก่ วัสดุก่อสร้าง เช่น ทองแดง สินแร่เหล็กที่ใช้การผลิตเหล็ก รวมทั้งยางพารา และผลิตภัณฑ์ยาง