“สมาร์ทโฟน” กำลังเติบโตไม่หยุด เพราะตอบสนองความต้องการผู้บริโภคได้ลึกในทุกมุม โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นที่บอกชัดๆ ว่า “I Love My Smartphone” คือบทสรุปที่ไม่มีข้อสงสัยสำหรับพฤติกรรมผู้บริโภควันนี้กับอุปกรณ์ไฮเทคประจำตัวว่าติดหนึบกันมากเพียงใด จนเกินเทรนด์มากมาย และนี่คือโอกาสใหม่สำหรับนักการตลาดที่จะใช้ “สมาร์ทโฟน” ให้เป็นสื่อที่คุ้มค่าได้มากที่สุด
บริษัทแมคแคน เวิล์ดกรุ๊ป (ประเทศไทย) แผนกคอมซูเมอร์ อินไซด์ โดย “วฤตดา วรอาคม” Consumer Insights Director เปิดเผยผลสำรวจในเชิงลึก Mobile Watch กับกลุ่มวัยรุ่นนักศึกษาของมหาวิทยาลัยชั้นนำ ช่วงอายุ 18-21 ปี จำนวน 40 คน ด้วยข้อสรุปดังนี้
Smartphone, The new culture
สมาร์ทโฟน คือวัฒนธรรมใหม่ เมื่อมัลติมีเดียมาเจอเข้ากับโซเชี่ยลมีเดียพอดี จึงเปลี่ยนการโทรมาเป็นการสื่อสารข้อมูล ผ่านแอพพลิเคชั่น และบริการคอนเทนต์ต่างๆ ด้วย Insight ที่กลุ่มเป้าหมายบอกดังนี้
-“ตลอดทั้งวันฉันอยู่กับสมาร์ทโฟน” ตั้งแต่ตื่นก็เปิดดูสมาร์ทโฟนมีข่าวสารอะไรใหม่ๆ บ้าง ระหว่างเดินทางก็ใช้ ระหว่างเรียนก็ใช้ กลางวันแชร์ข้อมูลกับเพื่อนผ่านเครือข่ายโซเชี่ยลเน็ตเวิร์ค อย่างเฟซบุ๊กว่าไปทานอาหารอะไรที่ไหน และแน่นอนต้องใช้ก่อนที่จะหลับตานอน
-“สมาร์ทโฟน เป็นโน้ตบุ๊กคอมพิวเตอร์อันใหม่ของฉันได้เลย” ซึ่งวัยรุ่นหลายคนบอกว่าเมื่อใช้สมาร์ทโฟนแล้ว ก็ใช้โน้ตบุ๊กน้อยลง
-“ต้อง Always-on ตลอดเวลา” เพราะสามารถบอกเพื่อนได้ว่ากำลังทำอะไร รู้สึกอย่างไร ดูคอมเมนต์ ได้กำลังใจจากเพื่อน, ได้เบอร์พินจากสาวๆ ง่ายกว่าการขอเบอร์โท, รู้สึกใกล้ชิดกับเพื่อนรอบตัว ซึ่งเป็นการเปลี่ยนวิธีการเข้าสังคมของตัวเองจริงๆ เป็นต้น
จำนวนคนใช้เฟซบุ๊กในไทย (3.47 ล้านคน) ที่มีกลุ่มวัยรุ่นมากที่สุด (แบ่งตามอายุ)
อายุ
13-15 ปี 7%
16-17 ปี 6%
18-24 ปี 35%
25-34 ปี 35%
35-44 ปี 11%
45-54 ปี 4%
55-64 ปี 1%
65+ 1%
ที่มา : Facebakers.com
อัตราเติบโต/ลดลงของการใช้มือถือเพื่อโทร (Voice) และสื่อสารข้อมูล (Non Voice) ในไทย
ปี 2008 ปี 2009 ปี 2009-2013
Voice -2.5% -44% 17%
Non Voice/Data -4% 176% 34%
ที่มา : ไอดีซี เอเชียแปซิฟิก
วัยรุ่นชอบ BB มากกว่า
“วฤตดา” เล่าว่ากลุ่มวัยรุ่นส่วนใหญ่ถือแบล็คเบอร์รี่ (บีบี) มากกว่าไอโฟน เพราะพฤติกรรมวัยรุ่นชอบการติดต่อสื่อสาร แบบการแชตและเฟซบุ๊ก ที่บีบีให้ความสะดวกได้มากกว่าไอโฟน และด้วยราคาที่วัยรุ่นพึงพอใจที่จะซื้อคือประมาณ 10,000-15,000 บาท ที่บีบีมีรุ่นในราคานี้ให้เลือก ขณะที่ไอโฟนราคาสูงกว่า 20,000 บาท สำหรับแบรนด์เก่าแก่อย่างโนเกียนั้น “วัยรุ่น” มองว่ามีแต่คนแก่ใช้งาน ส่วนแพลตฟอร์มใหม่อย่าง “แอนดรอยด์” นั้น วัยรุ่นยังไม่รู้จักเท่าไรนัก
วัยรุ่นพึงพอใจจ่ายเงินซื้อสมาร์ทโฟน ที่ราคา 10,000-15,000 บาท จ่ายค่าบริการต่อเดือนรวมค่าโทร 500-1,000 บาท และชื่นชอบแบล็กเบอรี่มากที่สุด
ที่มา : แมคแคนฯ
The Future Trends
เทรนด์ใหม่ที่จะเกิดขึ้นจากวัฒนธรรมสมาร์ทโฟน คือ
1.Moblie Apps ผู้บริโภคสามารถทำทุกอย่างผ่านมือถือเหมือนทำผ่านออนไลน์ ด้วยแอพพลิเคชั่น และเว็บไซต์ใหม่ๆ
2.AR Gets Real สื่อ 3 มิติ หรือ Augmented Reality ผ่านหน้าจอมือถือทำให้คนตื่นเต้นกับการใช้สื่อนี้มากขึ้น แบรนด์ต่างๆ ที่ใช้จะมีโอกาสในการสร้างประสบการณ์ให้กลุ่มเป้าหมายได้มากขึ้น (นอกเหนือจากการใช้ QR Code และ Location Base Service)
3.New Circle การแชร์ประสบการณ์กับเพื่อนๆ ทำให้ผู้บริโภคเปิดตัวเองมากขึ้น และมีโอกาสทำความรู้จักกับสังคมใหม่ที่มีไลฟ์สไตล์ และความสนใจคล้ายกัน
4.Branded Edutainment คาดว่าในอนาคตทุกแบรนด์จะมีแอพฯ ของตัวเอง เพื่อสร้างประสบการณ์ให้ผู้บริโภค และดึงให้ผู้บริโภคมีส่วนร่วมในการสร้างคอนเทนต์ใหม่ด้วย (Co-Creation)
5.User Convergence สมาร์ทโฟนทำให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงคอนเทนท์ได้หลายสื่อ เช่น ดูเคเบิลทีวีผ่านมือถือ
The Dream Medium
นักการตลาดสามาถใช้สื่อโมบายนี้ให้เป็นประโยชน์ได้สูงสุด เมื่อพฤติกรรมคนใช้สมาร์ทโฟน โดยเฉพาะวัยรุ่นติดหนึบมือถือทั้งวัน จอสี่เหลี่ยมนี้จึงจะอยู่ในสายตาตลอดเวลา เมื่อเทียบกับทีวี โรงหนัง หรือแม้แต่จออินเทอร์เน็ตจากจอคอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน จึงเป็นสื่อในฝันของนักการตลาดในเวลานี้ ด้วยเหตุผล 3 Rich คือ
1.Rich in relevance เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ง่าย ด้วยหลักของทันที ทุกที่ทุกเวลา (Real location Real time)
2.Rich in engagement เชื่อมต่อถึงกลุ่มเป้าหมายได้ เพราะผู้บริโภครักมือถือของพวกเขาจริงๆ
3.Rich in user experience เพราะเทคโนโลยีเชื่อมต่อกันทำให้รับข้อมูลได้หลายรูปแบบ
บทสรุปสำคัญที่จะทำให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายผ่านสมาร์ทโฟน ซึ่งเป็นสื่อที่มีความเป็นส่วนตัวสูงได้สำเร็จ ต้องมีองค์ประกอบดังนี้
-คอนเทนต์ที่สร้างสรรค์ และเป็นประโยชน์
-เปิดโอกาสให้วัยรุ่นเต็มใจเข้าร่วมด้วยตัวเอง ไม่ใช่การยัดเยียดข้อมูล (Wellingness Marketing)
-การดึงความสนใจผ่านเทคโนโลยีที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
จากพฤติกรรมของคนรุ่นใหม่ที่ใช้สมาร์ทโฟนเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับตัวเลขล่าสุดของ ไอดีซี บริษัทวิจัยข้อมูลด้านเทคโนโลยี ที่ระบุว่าในปี 2552 ตลาดสมาร์ทโฟนในไทยเติบโตถึง 100% และในปี 2553 คาดว่าจะเติบโตถึง 50.7%
นอกจากนี้ผู้ใช้สมาร์ทโฟนจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากปี 2010 ที่มีอยู่ 17% ของตลาดมือถือ ในปี 2013 จะเพิ่มขึ้นเป็น 24%
สัดส่วน (%) ผู้ใช้มือถือธรรมดา กับสมาร์ทโฟนในไทย
มือถือธรรมดา สมาร์ทโฟน
ปี 2007 84 16 (2.25 ล้านเครื่อง)
ปี 2008 88 12 (1.75 ล้านเครื่อง)
ปี 2009* 88 12 (1.5 ล้านเครื่อง)
ปี 2010* 86 14 (1.9 ล้านเครื่อง)
ปี 2011* 83 17 (2.4 ล้านเครื่อง)
ปี 2012* 80 20 (3 ล้านเครื่อง)
ปี 2013* 76 24 (3.75 ล้านเครื่อง)
*คาดการณ์
ที่มา : ไอดีซี เอเชีย แปซิฟิก