การส่งออกไปจีนในเดือนพฤษภาคมมีมูลค่า 1,738 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เติบโตเร่งขึ้นเป็นร้อยละ 39 (YoY) จากที่ขยายตัวร้อยละ 27 ในเดือนเมษายน (YoY) และกลับมาเติบโตเป็นบวกที่ร้อยละ 12 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า (MoM) หลังจากที่หดตัวร้อยละ 14 ในเดือนเมษายน (MoM) เนื่องจากได้แรงขับเคลื่อนจากภาคส่งออกของจีนในเดือนพฤษภาคมที่เติบโตสูงขึ้นเป็นร้อยละ 48.5 (YoY) จากร้อยละ 30 ในเดือนเมษายน (YoY) ทำให้จีนมีความต้องการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบ/สินค้าขั้นกลางเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับการขยายตัวของการผลิตในภาคอุตสาหกรรมเพื่อส่งออก อย่างไรก็ตาม การส่งออกไปจีนในเดือนพฤษภาคมยังถือเป็นอัตราเติบโตที่ชะลอลงจากไตรมาสแรก สำหรับการนำเข้าจากจีนในเดือนพฤษภาคมมีมูลค่า 1,977 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เติบโตร้อยละ 65 (YoY) สูงขึ้นจากที่ขยายตัวร้อยละ 54.6 ในเดือนเมษายน (YoY) แต่หากเทียบกับเดือนเมษายนก่อนหน้า (MoM) มูลค่านำเข้าค่อนข้างทรงตัว ส่งผลให้ไทยขาดดุลการค้ากับจีน 239.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในเดือนพฤษภาคม ชะลอลงจากเดือนเมษายนก่อนหน้าที่ขาดดุล 400.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มูลค่านำเข้าจากจีนในช่วง 5 เดือนแรกเติบโตร้อยละ 57.3 (YoY) ขณะที่การส่งออกไปจีนในช่วง 5 เดือนแรกเติบโตร้อยละ 53.2 ส่งผลให้ไทยขาดดุลการค้ากับจีนราว 834 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วง 5 เดือนแรก
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า แม้การส่งออกไปจีนในเดือนพฤษภาคมเติบโตดีขึ้นตามการขยายตัวของภาคส่งออกของจีน แต่คาดว่าการส่งออกไปจีนในไตรมาสที่ 2/2553 มีแนวโน้มเติบโตชะลอลงเหลือราวร้อยละ 30 (YoY) จากที่ขยายตัวถึงร้อยละ 70 ในไตรมาสแรก (YoY) ตามเศรษฐกิจจีนที่มีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงตั้งแต่ไตรมาสที่ 2/2553 หลังจากที่เติบโตถึงร้อยละ 11.9 ในไตรมาสที่ 1/2553 ส่งผลให้การส่งออกไปจีนในช่วงครึ่งแรกของปีนี้อาจขยายตัวราวร้อยละ 50 ขณะที่การส่งออกของไทยไปจีนในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ยังต้องเผชิญความผันผวน ทั้งจากเศรษฐกิจต่างประเทศที่ยังมีความไม่แน่นอน โดยเฉพาะปัญหาหนี้สินในยุโรป ซึ่งถือเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการส่งออกของจีนในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ และอาจทำให้การส่งออกของไทยไปจีนชะลอลง รวมถึงปัจจัยลบจากมาตรการควบคุมความร้อนแรงของเศรษฐกิจจีนที่มีแนวโน้มทำให้ความต้องการนำเข้าสินค้าของจีนจากต่างประเทศรวมทั้งไทยอาจจะชะลอลงเช่นกัน โดยมีประเด็นสำคัญ ดังนี้
การส่งออกของไทยไปจีนในปี 2553
สินค้าส่งออกสำคัญๆ ไปจีนในเดือนพฤษภาคมที่เติบโตสูงขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2552 (YoY) เมื่อเทียบกับอัตราเติบโตในเดือนเมษายนก่อนหน้า ที่สำคัญ ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ ยางพารา เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ยาง แผงวงจรไฟฟ้า ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ และเครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ สาเหตุสำคัญเนื่องจากอานิสงส์ของความต้องการของต่างประเทศที่ขับเคลื่อนภาคส่งออกของจีน ทำให้จีนมีความต้องการนำเข้าวัตถุดิบ/สินค้าขั้นกลางเพื่อใช้ในการผลิตภาคอุตสาหกรรมสาขาเหล่านี้เติบโตได้ดีขึ้น โดยการส่งออกของจีนไปตลาดส่งออกหลักๆ ในเดือนพฤษภาคม ยังคงเติบโตสูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปี 2552 ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ (ขยายตัวร้อยละ 44.3) ญี่ปุ่น (ร้อยละ 37) และสหภาพยุโรป (ร้อยละ 49.7) ขณะที่สินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปจีนบางรายการที่มีการเติบโตชะลอลงจากช่วงเดียวกันปี 2552 (YoY) เมื่อเทียบกับอัตราเติบโตในเดือนเมษายนก่อนหน้า ที่สำคัญ ได้แก่ เม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง และน้ำมันสำเร็จรูป คาดว่าน่าจะมาจากการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมบางสาขาในจีนที่เติบโตชะลอลง ตามมาตรการควบคุมความร้อนแรงของเศรษฐกิจจีนที่ส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมและการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรในจีนที่เติบโตชะลอลงในเดือนพฤษภาคม
ปัญหาหนี้สินในยุโรปยังเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อภาคส่งออกจีน แม้การส่งออกของจีนไปตลาดส่งออกหลักในเดือนพฤษภาคมยังคงเติบโตสูงขึ้นไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ ญี่ปุ่นและสหภาพยุโรป แต่เศรษฐกิจต่างประเทศที่ยังมีความไม่แน่นอน โดยเฉพาะเศรษฐกิจยุโรปที่เป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของจีน สัดส่วนราวร้อยละ 20 อาจได้รับผลกระทบจากความยืดเยื้อของปัญหาหนี้สินในยุโรป รวมถึงประเทศตลาดส่งออกหลักของจีนและมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ในยุโรปอย่างเยอรมนี และฝรั่งเศส ที่อาจเผชิญกับข้อจำกัดในการใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเนื่องจากมาตรการรัดเข็มขัดของภาครัฐ รวมทั้งอาจต้องประสบปัญหาการเงินตึงตัวเนื่องจากทั้งสองประเทศถือเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ของประเทศกลุ่ม PIIGS (กรีซ โปรตุเกส สเปน ไอร์แลนด์ และอิตาลี) ที่ประสบปัญหาหนี้สินและการขาดดุลการคลังต่อจีดีพีในระดับสูง และอาจประสบปัญหาในการชำระคืนหนี้ ทำให้เศรษฐกิจของเยอรมนีและฝรั่งเศสอาจได้รับผลกระทบ ส่งผลให้เศรษฐกิจของทั้งสองประเทศอาจขยายตัวไม่สูงนักในปีนี้ ทำให้คาดว่าแรงขับเคลื่อนของการส่งออกไปยังยุโรปของจีนที่จะเป็นปัจจัยผลักดันให้จีนนำเข้าสินค้าวัตถุดิบ/ขั้นกลางจากไทยเพื่อใช้ในการผลิตภาคอุตสาหกรรมอาจชะลอลงตามไปด้วย
เงินหยวนต่อยูโรยังมีแนวโน้มแข็งค่า ปัญหาหนี้สินในยุโรปที่ยังคงยืดเยื้อในปัจจุบัน โดยยังไม่มีความชัดเจนถึงจุดสิ้นสุดของปัญหา และหากสถานการณ์ลุกลามออกไป ก็อาจกดดันให้การเติบโตของยุโรปโดยรวมยังคงอ่อนแรงในปีนี้ ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่ทำให้ค่าเงินยูโรยังมีแนวโน้มอ่อนค่าลงต่อเนื่องในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ส่งผลกดดันให้ค่าเงินหยวนต่อยูโรยังคงอยู่ในระดับแข็งค่าต่อเนื่อง หลังจากที่เงินหยวนต่อยูโรแข็งค่าขึ้นไปแล้วราวร้อยละ 15 จากระดับ ณ สิ้นปี 2552 แนวโน้มเงินหยวนต่อยูโรที่ยังคงอยู่ในระดับแข็งค่าในครึ่งหลังของปีนี้ถือเป็นปัจจัยลบที่ทำให้สินค้าส่งออกของจีนมีราคาปรับสูงขึ้นในตลาดกลุ่มประเทศยูโร และอาจเป็นปัจจัยที่ทำให้ประเทศกลุ่มยูโรมีความต้องการนำเข้าสินค้าจากจีนชะลอลงในช่วงที่เหลือของปีนี้จากราคาสินค้าที่ปรับสูงขึ้น ท่ามกลางความต้องการบริโภคในประเทศยูโรที่ซบเซาอยู่แล้วตามภาวะเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มเติบโตไม่มากนักในปีนี้ ซึ่งคาดว่าจะส่งผลกระทบทางอ้อม ทำให้จีนมีความต้องการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศและไทยอ่อนแรงลงตามไปด้วย
ภาคเศรษฐกิจภายในจีนมีแนวโน้มอ่อนแรงลง การส่งออกของไทยไปจีนเพื่อสนองความต้องการบริโภคภายในจีนอาจได้รับผลกระทบจากการบริโภคและการลงทุนในจีนที่มีแนวโน้มชะลอตัวตามมาตรการควบคุมความร้อนแรงของเศรษฐกิจจีนและภาวะฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่คาดว่าจะออกมาเพิ่มเติมในระยะต่อไป รวมถึงแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของทางการจีนในระยะต่อไปเพื่อควบคุมภาวะที่เงินเฟ้อมีแนวโน้มสูงขึ้น จากอัตราเงินเฟ้อในเดือนพฤษภาคมที่เติบโตเร่งขึ้นเป็นร้อยละ 3.1 (YoY) เกินเป้าหมายทั้งปีที่ทางการจีนตั้งไว้ที่ร้อยละ 3.0 ขณะที่ราคาอสังหาริมทรัพย์ในเดือนพฤษภาคมยังเติบโตในระดับสูง รวมทั้งสินเชื่อใหม่ในเดือนพฤษภาคมที่ยังคงอยู่ในระดับสูงเช่นกัน ทำให้คาดว่าแนวโน้มการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น การออกมาตรการเพิ่มเติมเพื่อควบคุมฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ รวมทั้งมาตรการเพื่อชะลอการเติบโตของบางอุตสาหกรรมที่อยู่ในภาวะการผลิตส่วนเกินในปัจจุบัน รวมถึงการปรับขึ้นภาษีการซื้อรถยนต์ในปีนี้ อาจจะส่งผลให้ภาคเศรษฐกิจภายในจีนอ่อนแรงลง ซึ่งมีแนวโน้มทำให้ความต้องการนำเข้าสินค้าจากไทยที่เกี่ยวข้องอาจอ่อนแรงลงในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ที่สำคัญ เช่น วัสดุก่อสร้าง ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง และผลิตภัณฑ์ยาง
การปรับค่าเงินหยวนให้แข็งค่าได้มากขึ้น ธนาคารกลางจีนประกาศปล่อยให้อัตราแลกเปลี่ยนเงินหยวนต่อดอลลาร์สหรัฐฯ เคลื่อนไหวอย่างยืดหยุ่นมากขึ้นในวันที่ 19 มิถุนายน ที่ผ่านมา หลังจากที่จีนเผชิญแรงกดดันจากนานาชาติอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่ต้องการให้จีนปรับค่าเงินหยวนให้แข็งค่าได้มากขึ้นเพื่อลดความได้เปรียบทางการค้าหลังจากการที่จีนตรึงอัตราแลกเปลี่ยนหยวนต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ที่ระดับ 6.83 หยวน/ดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นเวลาเกือบ 2 ปี ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2551 เพื่อช่วยเหลือภาคส่งออกของจีน คาดว่าการปรับนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนของจีนในครั้งนี้จะทำให้เงินหยวนเริ่มแข็งค่าขึ้น แต่ระดับการแข็งค่าคงไม่มากนัก เนื่องจากทางการจีนมีนโยบายการปรับให้เงินหยวนแข็งค่าอย่างค่อยเป็นค่อยไปเพื่อไม่ให้กระทบรุนแรงต่อภาคส่งออก อย่างไรก็ตามคาดว่าสินค้าส่งออกของจีนที่มีราคาปรับสูงขึ้นอาจมีขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านราคาลดลงจากการแข็งค่าของเงินหยวน ซึ่งอาจทำให้การขยายตัวของการส่งออกของจีนชะลอลงในช่วงที่เหลือของปีนี้ และอาจส่งผลต่อเนื่องให้ความต้องการนำเข้าของจีนจากต่างประเทศรวมทั้งไทย ชะลอลงตามไปด้วย แต่อีกด้านหนึ่ง ปัจจัยจากเงินหยวนต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ที่แข็งค่าขึ้น จะส่งผลให้ขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านราคาของสินค้าส่งออกไทยเมื่อเทียบกับสินค้าจีนปรับดีขึ้นในตลาดโลก ขณะเดียวกัน ค่าเงินหยวนต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ที่แข็งค่าขึ้น คาดว่าจะช่วยเพิ่มความต้องการบริโภคในจีน เนื่องจากอำนาจซื้อของภาคครัวเรือนในจีนปรับสูงขึ้น และยังเป็นแรงกระตุ้นให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวเพื่อรองรับความต้องการภายในที่สูงขึ้น ซึ่งน่าจะส่งผลดีต่อการส่งออกของไทยไปจีนตามความต้องการบริโภคในจีนที่เพิ่มขึ้น
สรุป การส่งออกของไทยไปจีนในช่วง 5 เดือนแรกที่เติบโตร้อยละ 53.2 ได้แรงหนุนจากการส่งออกไปจีนในไตรมาสที่ 1 ที่ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 70 คาดว่าการส่งออกไปจีนมีแนวโน้มชะลอลงตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 เป็นต้นไป แม้การส่งออกไปจีนในเดือนพฤษภาคมกลับมาเติบโตสูงขึ้นเป็นร้อยละ 39 (YoY) จากร้อยละ 27 ในเดือนเมษายน (YoY) ตามแรงหนุนจากภาคส่งออกของจีนที่ขยายตัวเร่งขึ้นในเดือนพฤษภาคม ทำให้ความต้องการนำเข้าจากจีนเพื่อใช้ผลิตส่งออกเพิ่มขึ้นตามไปด้วย แต่คาดว่าการส่งออกของไทยไปจีนในระยะต่อไปอาจต้องเผชิญภาวะอ่อนแรง ซึ่งเป็นไปตามทิศทางการเติบโตของเศรษฐกิจจีนที่คาดว่าจะชะลอลงตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 หลังจากที่ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 11.9 ในไตรมาสแรก (YoY) เนื่องจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจต่างประเทศโดยเฉพาะปัญหาหนี้สินในยุโรปที่ยังคงยืดเยื้อที่อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกของจีนในระยะต่อไป ทำให้สินค้าส่งออกของไทยไปจีนที่ใช้ผลิตในภาคอุตสาหกรรมอาจชะลอลงตามไปด้วย รวมถึงเศรษฐกิจภายในจีนที่มีแนวโน้มชะลอลงตามมาตรการเพิ่มเติมที่ทางการจีนมีแนวโน้มนำออกมาใช้เพื่อควบคุมความร้อนแรงทางเศรษฐกิจ รวมถึงความเป็นไปได้ในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระยะต่อไป ทำให้สินค้านำเข้าที่สนองความต้องการภายในจีนอาจเติบโตอ่อนแรงลง
สำหรับการปรับค่าเงินหยวนให้แข็งค่าได้มากขึ้นตามการประกาศของทางการจีนในวันที่ 19 มิถุนายน ที่ผ่านมา แม้ทางการจีนมีนโยบายปรับค่าเงินหยวนให้แข็งค่าอย่างค่อยเป็นค่อยไปเพื่อไม่ให้กระทบต่อภาคส่งออกจีนมากนัก อย่างไรก็ตาม คาดว่าการส่งออกของจีนมีแนวโน้มชะลอลงตามราคาสินค้าส่งออกที่ปรับสูงขึ้นตามการแข็งค่าขึ้นของเงินหยวน ทำให้ความต้องการนำเข้าสินค้าจากไทยเพื่อใช้ผลิตส่งออกในภาคอุตสาหกรรมจีนอาจชะลอลงตามไปด้วย แต่ขณะเดียวกันสินค้าส่งออกของไทยในตลาดโลกอาจได้อานิสงส์จากราคาสินค้าส่งออกของจีนที่สูงขึ้น ทำให้ความสามารถทางการแข่งขันด้านราคาของสินค้าส่งออกไทยโดยเปรียบเทียบปรับสูงขึ้น ขณะที่การบริโภคของครัวเรือนในจีนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามอำนาจซื้อที่สูงขึ้นจากการแข็งค่าของเงินหยวน ทำให้สินค้าส่งออกของไทยมีโอกาสเติบโตดีขึ้นเพื่อสนองความต้องการบริโภคภายในจีน ทั้งนี้ คาดว่าการส่งออกของไทยไปจีนในช่วงครึ่งหลังของปีนี้มีแนวโน้มขยายตัวได้ในแดนบวก แต่อัตราเติบโตมีแนวโน้มชะลอลงจากครึ่งปีแรกที่คาดการณ์ว่าจะขยายตัวได้ราวร้อยละ 50