ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้รวบรวมข้อมูลสภาพคล่องของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยที่ประกอบด้วยธนาคารพาณิชย์ไทย 14 แห่ง ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2553 เทียบกับสิ้นเดือนก่อนหน้า และสิ้นปี 2552 พร้อมประเมินแนวโน้มสภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ในระยะถัดไป ดังนี้
เดือน พ.ค. 53 ยอดสินเชื่อและเงินฝากบ่งชี้ถึงสภาพคล่องที่เพิ่มขึ้น โดย ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2553 ยอดเงินให้สินเชื่อสุทธิ (หักค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ) ของ 14 ธนาคารพาณิชย์ไทย มีจำนวน 5.98 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.95 หมื่นล้านบาท จาก 5.89 ล้านล้านบาท ณ สิ้นเดือนเมษายน (จากการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อในทุกกลุ่มธนาคาร1 นำโดยกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่เป็นหลัก) ถึงแม้ว่าเหตุการณ์ทางการเมืองจะทวีความรุนแรงมากขึ้นในช่วงดังกล่าวก็ตาม ในขณะที่ ยอดเงินฝากเพิ่มขึ้นมากกว่า โดยเพิ่มขึ้นถึง 1.20 แสนล้านบาท จาก 6.52 ล้านล้านบาท ณ สิ้นเดือนเมษายน มาอยู่ที่จำนวน 6.64 ล้านล้านบาท ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม (ตามการเพิ่มขึ้นของเงินฝากในทุกกลุ่มธนาคาร โดยเฉพาะกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่) ซึ่งเป็นผลจากการที่ธนาคารพาณิชย์ยังคงมีการนำเสนอผลิตภัณฑ์เงินออมที่ให้ผลตอบแทนจูงใจออกมาอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเพื่อรองรับสินเชื่อที่ยังคงเติบโตได้แม้มีเหตุการณ์การเมือง รวมทั้งเป็นการเตรียมการรับมือกับการออกพันธบัตรออมทรัพย์ไทยเข้มแข็งของกระทรวงการคลังและการนำเสนอหุ้นกู้ของภาคเอกชนในเดือนมิถุนายน นอกจากนั้น ยังเป็นการบริหารจัดการสภาพคล่องเพื่อรองรับทิศทางขาขึ้นของอัตราดอกเบี้ยในระบบการเงินในระยะถัดไปด้วย
สินทรัพย์สภาพคล่องในงบดุลของธนาคารพาณิชย์ไทย (รวมเงินสด เงินลงทุนสุทธิในตลาดเงินระยะสั้น และเงินลงทุนสุทธิในหลักทรัพย์)2 เดือน พ.ค. เพิ่มขึ้นเช่นกัน โดย ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2553 สภาพคล่องดังกล่าวมีจำนวน 2.217 ล้านล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้นจำนวน 3.77 หมื่นล้านบาท จาก 2.180 ล้านล้านบาท ณ สิ้นเดือนเมษายน อันเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของเงินลงทุนสุทธิในตลาดเงินระยะสั้น และเงินสด ขณะที่เงินลงทุนสุทธิในหลักทรัพย์ลดลง ทั้งนี้ การเพิ่มขึ้นของสภาพคล่องในความหมายกว้างดังกล่าว เกิดขึ้นจากการเพิ่มขึ้นของสภาพคล่องในทุกกลุ่มธนาคาร นำโดยสภาพคล่องในกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่เป็นหลัก
อย่างไรก็ดี ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2553 สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ไทยโดยรวมปรับลดลงจาก ณ สิ้นปี 2552 ตามการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อที่มีขนาดมากกว่าเงินฝาก โดยในช่วง 5 เดือนแรกของปี เงินให้สินเชื่อสุทธิ (หักค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ) เพิ่มขึ้น 1.97 แสนล้านบาท ขณะที่เงินฝากเพิ่มขึ้น 1.34 แสนล้านบาท กระนั้นก็ตาม สภาพคล่องดังกล่าวลดลงในอัตราที่น้อยลงเมื่อเทียบกับในช่วง 4 เดือนแรกของปี ที่สินเชื่อเพิ่มขึ้นด้วยขนาดที่มากกว่าเงินฝากค่อนข้างมาก (ในช่วง 4 เดือนแรกของปี สินเชื่อสุทธิเพิ่มขึ้น 1.08 แสนล้านบาท ส่วนเงินฝากเพิ่มขึ้นเพียง 1.40 หมื่นล้านบาท) อันเป็นผลจากการระดมเงินฝากจำนวนมากของธนาคารพาณิชย์ในเดือนพฤษภาคม หลังจากมีเงินฝากบางส่วนต้องถูกโอนเข้าสู่บัญชีภาครัฐในช่วงก่อนหน้านั้น
โดยสรุป การที่ธนาคารพาณิชย์ยังคงมีการนำเสนอผลิตภัณฑ์เงินออมพิเศษที่ให้ผลตอบแทนจูงใจออกมาอย่างต่อเนื่อง (เพื่อบริหารจัดการสภาพคล่องภายใต้ภาวะที่สินเชื่อยังคงเติบโตได้และก่อนที่อัตราดอกเบี้ยในระบบการเงินจะเข้าสู่จังหวะขาขึ้นในระยะถัดไป) ได้ส่งผลให้เงินฝากที่ธนาคารพาณิชย์ปรับเพิ่มขึ้นค่อนข้างมากในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา และส่งผลให้สภาพคล่องที่วัดจากการเปลี่ยนแปลงของสินเชื่อและเงินฝาก ที่แม้ยังให้ภาพการปรับตัวลงในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2553 แต่ก็เป็นการลดลงของสภาพคล่องในอัตราที่น้อยลงเมื่อเทียบกับในช่วง 4 เดือนแรกของปี
สำหรับแนวโน้มในเดือนถัดไปนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ไทยอาจปรับลดลง เนื่องจากคาดว่าเงินฝากบางส่วนน่าจะถูกถอนออกไปเพื่อจองซื้อพันธบัตรออมทรัพย์ไทยเข้มแข็งของกระทรวงการคลังจำนวนกว่า 8 หมื่นล้านบาท รวมถึงเพื่อลงทุนในผลิตภัณฑ์การออมอื่นๆ โดยเฉพาะหุ้นกู้เอกชนที่มีออกมาเสนอขายหลายราย ส่วนในด้านสินเชื่อนั้น การชำระคืนหนี้เงินกู้บางส่วนของโครงการไทยเข้มแข็งของภาครัฐ อาจมีผลต่อตัวเลขเงินให้สินเชื่อสุทธิของธนาคารพาณิชย์ไทยบ้าง อีกทั้งการขยายสินเชื่อรายย่อย โดยเฉพาะสินเชื่อที่อยู่อาศัย อาจมีแรงกระตุ้นที่ลดลงบางส่วน จากอำนาจซื้อของผู้บริโภคที่มีแนวโน้มเผชิญแรงกดดันจากการปรับตัวขึ้นของเงินเฟ้อและต้นทุนทางการเงินที่เตรียมจะขยับขึ้น รวมถึงการสิ้นสุดลงของมาตรการลดหย่อนภาษีจากทางการ
อย่างไรก็ตาม การที่ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งยังคงไม่มีการปรับเป้าหมายการขยายสินเชื่อใหม่ในปีนี้ซึ่งส่วนใหญ่ตั้งเป้าหมายเอียงเข้าใกล้หลักทศนิยมสองตำแหน่ง ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า การแข่งขันในตลาดสินเชื่อคงจะทวีความรุนแรงมากขึ้นอีกในระยะต่อจากนี้ ทั้งนี้ นัยจากภาวะการแข่งขันในตลาดสินเชื่อดังกล่าว โดยเฉพาะหากสินเชื่อยังสามารถรักษาโมเมนตัมการขยายตัวไว้ได้ในเกณฑ์ที่น่าพอใจตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ ก็ย่อมจะปฏิเสธไม่ได้ว่าการแข่งขันในตลาดเงินฝากก็คงจะยังมีแนวโน้มเผชิญกับความเข้มข้นที่มากขึ้นเช่นกัน