การจัดการแข่งขัน World Cup 2010 ที่ประเทศแอฟริกาใต้ซึ่งถือเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจและความสำคัญอันดับ 1 ของทวีปแอฟริกา ทำให้ทวีปแอฟริกาเป็นที่รู้จักแก่ตลาดโลกมากขึ้นรวมทั้งประเทศไทยด้วย ในภาพรวมแล้วทวีปแอฟริกามีสัดส่วน GDP คิดเป็นร้อยละ 2.5 ของโลก แม้จะเป็นทวีปที่มีระดับรายได้เฉลี่ยต่อหัวอยู่ในระดับต่ำราว 1,500 เหรียญสหรัฐฯ แต่ถือเป็นตลาดที่มีประชากรค่อนข้างสูงกว่า 970 ล้านคน จึงถือเป็นตลาดที่ไม่ควรมองข้ามเนื่องจากมีความต้องการบริโภคสินค้าหลายรายการที่ยังผลิตเองได้ไม่เพียงพอ จึงเป็นโอกาสของสินค้าไทยโดยเฉพาะการส่งออกข้าว ยานยนต์และส่วนประกอบ และอาหารทะเลกระป๋อง/แปรรูปของไทยที่ยังมีโอกาสขยายตัวได้ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า ตลาดในทวีปแอฟริกามีความน่าสนใจในหลายๆด้านซึ่งจะเป็นโอกาสขยายสินค้าไทย ดังนี้
โอกาสของสินค้าไทยจากความหลากหลายในทวีปแอฟริกา
ทวีปแอฟริกาเป็นทวีปขนาดใหญ่ประกอบด้วย 57 ประเทศ ส่วนใหญ่เป็นประเทศกำลังพัฒนามีขนาดประชากรกว่า 970 ล้านคน มีระดับรายได้ต่อหัวประมาณ 1,500 เหรียญสหรัฐฯ ประเทศในแอฟริกาเมื่อพิจารณาเป็นภูมิภาคต่างๆพบว่าแอฟริกาตอนใต้ถือเป็นเขตที่มีการพัฒนาค่อนข้างมากระดับรายได้ต่อหัวเฉลี่ยสูงที่สุดราว 5,515 เหรียญสหรัฐฯ รองลงมาคือแอฟริกาตอนเหนือมีรายได้ต่อหัวเฉลี่ย 2,884 เหรียญสหรัฐฯ และแอฟริกากลางรายได้ต่อหัวเฉลี่ย 1,168 เหรียญสหรัฐฯ ซึ่งประชากรในกลุ่มดังกล่าวมีประชากรรวมร้อยละ 40 ของทวีปแอฟริกา ในขณะที่ประเทศที่มีระดับรายได้ต่อหัวค่อนข้างต่ำมีประชากรกว่าร้อยละ 60 ของทวีปแอฟริกา อาศัยอยู่ในแอฟริกาตะวันตกมีระดับรายได้ต่อหัวเฉลี่ย 914 เหรียญสหรัฐฯ และแอฟริกาตะวันออกมีระดับรายได้ต่อหัวเฉลี่ย 547 เหรียญสหรัฐฯ ในภาพรวมแอฟริกามีระดับรายได้ไม่สูงนักการส่งสินค้าไทยไปขายยังแอฟริกามีต้นทุนค่าขนส่งที่ค่อนข้างสูงเนื่องจากความห่างไกลของประเทศ ดังนั้นการเข้าสู่ตลาดแอฟริกาควรเลือกตลาดให้เหมาะสมกับสินค้าไทย โดยมีประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้
การเข้าสู่ตลาดในแอฟริกาควรเลือกระดับตลาดให้เหมาะแก่สินค้าไทย ซึ่งสินค้าไทยมีความเสียเปรียบด้านต้นทุนค่าขนส่งที่อาจต้องแข่งขันด้านสินค้าราคาถูกจากจีนและอินเดีย รวมทั้งต้องแข่งขันด้านคุณภาพกับสินค้าจากยุโรปและตะวันออกกลางที่มีความได้เปรียบด้านต้นทุนค่าขนส่งสินค้า ดังนั้นตลาดที่มีรายได้ในระดับกลางถึงระดับบนหรือรายได้ต่อหัวเฉลี่ยตั้งแต่ 1,000 เหรียญสหรัฐฯขึ้นไป น่าจะเป็นโอกาสของสินค้าไทยให้เข้าไปทำตลาดได้โดยมีประชากรประมาณ 480 ล้านคน แต่อย่างไรก็ตามกลุ่มรายได้ระดับต่ำก็ไม่ควรมองข้าม
ตลาดระดับบนของทวีปแอฟริกาที่มีกำลังซื้อ มีรายได้ต่อหัวเฉลี่ยสูงกว่า 3,900 เหรียญสหรัฐฯ ซึ่งสูงกว่าของไทย(3,939 เหรียญสหรัฐฯในปี 2552 โดย IMF) มีประชากรราว 115 ล้านคน ประกอบด้วยประเทศต่างๆ ได้แก่ อิเควทอเรียลกินี ลิเบีย เซเชลส์ กาบอง มอริเชียส บอตสวานา แอฟริกาใต้ นามิเบีย แอลจีเรีย และอังโกลา เป็นต้น ตลาดดังกล่าวเป็นตลาดค่อนข้างใหม่ของไทยแม้ว่าจำนวนประชากรไม่สูงนักแต่ระดับรายได้ต่อหัวของกลุ่มนี้ใกล้เคียงกับประเทศมาเลเซีย ซึ่งถือว่ามีกำลังซื้อค่อนข้างมากสินค้าไทยจึงมีโอกาสเติบโตได้หลากหลายชนิด
ตลาดระดับกลางของทวีปแอฟริกาควรเน้นสินค้าราคาถูกและสินค้าอุปโภคบริโภค ประกอบด้วยประเทศที่มีรายได้ต่อหัวอยู่ระหว่าง 1,000 – 3,900 เหรียญสหรัฐฯ ได้แก่ ตูนีเซีย หมู่เกาะเคปเวิร์ด สวาซิแลนด์ โมร๊อกโก อียิปต์ ซูดาน จิบูติ เซาโตเมและปรินซิเป ไนจีเรีย แคเมอรูน แซมเบีย และโกตดิวัวร์ เป็นต้น เมื่อเทียบกับประเทศที่มีระดับรายได้ใกล้เคียงกันอาจเปรียบได้กับจีน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และอินเดีย ซึ่งในตลาดระดับกลางนี้แม้จะมีรายได้ต่อหัวต่ำกว่าไทยแต่ก็มีความต้องการบริโภคเนื่องจากตลาดค่อนข้างใหญ่จากประชากรกว่า 365 ล้านคน โดยประเทศที่เป็นตลาดส่งออกของไทยอยู่แล้วในกลุ่มตลาดระดับกลางนี้ ได้แก่ อียิปต์ ซูดาน และไนจีเรีย ตามลำดับ ทำให้ไทยอาจใช้ประเทศเหล่านี้เป็นฐานกระจายสินค้าไทยไปยังประเทศใกล้เคียงได้อีกทางหนึ่ง
ตลาดระดับล่างของทวีปแอฟริกา สินค้าไทยเจาะตลาดค่อนข้างลำบากเนื่องจากสินค้าไทยมีราคาสูงจากความเสียเปรียบด้านต้นทุนค่าขนส่ง ตลาดในกลุ่มนี้มีรายได้ต่อหัวต่ำกว่า 1,000 เหรียญสหรัฐฯ ส่วนใหญ่เป็นประเทศยากจนในเขตแอฟริกาตะวันออก แอฟริกากลางและแอฟริกาตะวันตก มีระดับรายได้ต่อหัวใกล้เคียงกับประเทศลาวและพม่า อย่างไรก็ตามแม้ว่าตลาดระดับล่างของแอฟริกาจะมีระดับรายได้ไม่สูงนักแต่ก็ไม่ควรมองข้ามเพราะมีประชากรกว่า 490 ล้านคน แต่ควรเน้นการส่งออกสินค้าราคาถูกจำพวกอาหารและของใช้จำเป็นที่ผลิตได้ไม่เพียงพอในประเทศเหล่านี้ เช่น ข้าว น้ำตาล เสื้อผ้า อาหารสำเร็จรูป และผักและผลไม้แปรรูป เป็นต้น
ข้อตกลงทางการค้าในทวีปแอฟริกาเป็นช่องทางให้สินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปของไทยเข้าไปป้อนการผลิตและสามารถกระจายเข้าสู่ตลาดแอฟริกาในแต่ละภูมิภาคได้สะดวกมากยิ่งขึ้น โอกาสส่งออกของสินค้าไทย เช่น ชิ้นส่วนยานยนต์/ส่วนประกอบ เครื่องยนต์สันดาปภายใน เม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์ยาง ผ้าผืน ด้าย/เส้นใย ชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้า และอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ เป็นต้น เนื่องจากทวีปแอฟริกามีความกว้างใหญ่ การทำการค้าจึงให้ความสำคัญกับประเทศใกล้เคียงซึ่งในแต่ละส่วนของทวีปแอฟริกาจะมีข้อตกลงการค้าเพื่อเอื้อประโยชน์ทางการค้าทั้งเขตการค้าเสรี(FTA)ที่ให้สิทธิพิเศษด้านอัตราภาษีนำเข้า และเขตสหภาพศุลกากร(Customs Union)ที่มีการตกลงด้านภาษีในอัตราพิเศษระหว่างกัน โดยข้อตกลงทางการค้าที่สำคัญมี 7 ฉบับ ได้แก่ ตลาดร่วมแอฟริกาตะวันออกและแอฟริกาตอนใต้(Common Market for Eastern and Southern Africa: COMESA) กลุ่มแอฟริกาตะวันออก(East African Community: EAC) กลุ่มเศรษฐกิจและการเงินภูมิภาคแอฟริกากลาง(Economic and Monetary Community of Central Africa: CEMAC) กลุ่มเศรษฐกิจของแอฟริกาตะวันตก(Economic Community of West African States: ECOWAS) สหภาพเศรษฐกิจและการเงินแอฟริกาตะวันตก(West African Economic and Monetary Union: WAEMU) สหภาพศุลกากรแอฟริกาตอนใต้(Southern African Customs Union: SACU) กลุ่มพัฒนาแอฟริกาตอนใต้(Southern African Development Community: SADC) นอกจากนี้แอฟริกายังมีข้อตกลงทางการค้ากับประเทศนอกกลุ่มซึ่งน่าจะเป็นอีกช่องทางหนึ่งสำหรับสินค้าวัตถุดิบ/สินค้าขั้นกลางของไทยที่จะใช้เพื่อผลิตและส่งออกต่อไปยังภูมิภาคอื่นๆ เช่น สหภาพยุโรป ตะวันออกกลาง อเมริกาใต้ เป็นต้น
ไทยส่งออกไปยังทวีปแอฟริกาคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 3.33 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของไทย ดังนั้นการส่งออกของไทยไปยังทวีปแอฟริกายังมีโอกาสเติบโตได้อีกมากจากความต้องการบริโภคในทวีปแอฟริกาที่มีประชากรกว่า 970 ล้านคน ซึ่งในช่วงปี 2550-2552 การส่งออกของไทยไปทวีปแอฟริกามีอัตราการขยายตัวค่อนข้างดีเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 25.8 แม้ว่าในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2553 มีมูลค่าส่งออก 2,500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 5.4(YoY) แต่อย่างไรก็ตามสินค้าส่งออกสำคัญส่วนใหญ่ของไทยก็ขยายตัวได้ดี ได้แก่ รถยนต์/ส่วนประกอบ อาหารทะเลกระป๋อง/แปรรูป เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์/ส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์ยาง น้ำตาลทราย ตู้เย็น/ตู้แช่แข็ง/ส่วนประกอบ เป็นต้น ยกเว้นข้าวและเหล็ก/ผลิตภัณฑ์ที่ยังคงหดตัวอยู่
ตลาดส่งออกหลักของสินค้าไทยกว่าร้อยละ 85 คือ แอฟริกาเหนือ แอฟริกาตอนใต้ และแอฟริกาตะวันตก โดยมีสัดส่วนการส่งออกสินค้าไทยไปยังภูมิภาคต่างๆเหล่านี้ใกล้เคียงกัน ในขณะที่แอฟริกาตะวันออกและแอฟริกากลางมีสัดส่วนค่อนข้างน้อย โดยตลาดส่งออกที่สำคัญของไทยในทวีปแอฟริกา ได้แก่ แอฟริกาใต้ อียิปต์ ไนจีเรีย ลิเบีย เบนิน โกตดิวัวร์ แอลจีเรีย โมร๊อกโก กานา เซเนกัล ซูดาน แคเมอรูน ตูนีเซีย และอังโกลา ตามลำดับ สินค้าที่ไทยมีศักยภาพทั้งด้านปริมาณและมูลค่าการส่งออกที่ค่อนข้างสูง ได้แก่ ข้าว ยานยนต์/ส่วนประกอบ อาหารทะเลกระป๋อง/แปรรูป จึงมีโอกาสเติบโตอีกมากทั้งในตลาดหลักที่ส่งออกอยู่แล้วและเร่งขยายตลาดไปยังประเทศใกล้เคียงโดยใช้ฐานจากตลาดหลักเป็นแหล่งกระจายสินค้าไทย ในขณะที่สินค้าอื่นๆที่ไทยส่งออกค่อนข้างน้อยโดยเฉพาะสินค้าจำพวกวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง เช่น เม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์ยาง เหล็ก ส่วนประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องจักร เครื่องยนต์ และวัตถุดิบสิ่งทอ เป็นต้น ควรเน้นการส่งออกตรงสู่ผู้ผลิตในแอฟริกาเพื่อใช้ผลิตและขยายโอกาสกระจายสินค้าไทยผ่านกระบวนการผลิตและแปรรูปไปยังประเทศอื่นๆในแอฟริกาใต้โดยใช้ประโยชน์จากเขตการค้าเสรี(FTA)และสหภาพศุลกร(Customs Union)ภายในทวีปแอฟริกา
การค้าของไทยไปทวีปแอฟริกาในช่วง 5 เดือนแรกปี 2553
ข้าวของไทยส่งออกไปทวีปแอฟริกาคิดเป็นสัดส่วนการส่งออกร้อยละ 36.2 ของการส่งออกข้าวทั้งหมดของไทย โดยเฉพาะการส่งออกไปแอฟริกาตะวันตก แอฟริกากลางและแอฟริกาตอนใต้ ได้แก่ ไนจีเรีย เบนิน โกตดิวัวร์ แอฟริกาใต้ เซเนกัล แคเมอรูน กานา และคองโก เป็นต้น แม้จะเป็นตลาดที่มีระดับรายได้ต่อหัวค่อนข้างต่ำแต่สินค้าข้าวของไทยเป็นสินค้าจำเป็นต่อการบริโภคและทำตลาดได้ ดังนั้นควรใช้ความได้เปรียบจากความคุนเคยในตลาดดังกล่าวเป็นฐานกระจายสินค้าข้าวของไทยไปยังประเทศใกล้เคียงเพื่อลดปัญหาการกีดกันการนำเข้าสินค้าไทยโดยตรงและสะดวกต่อการขนส่งเมื่อมีคำสั่งซื้อเข้ามา แต่สำหรับสินค้าข้าวของไทยในแอฟริกาตะวันออกและแอฟริกาเหนือมีสัดส่วนการบริโภคค่อนข้างน้อยอาจแข่งขันลำบาก เนื่องจากสามารถผลิตข้าวได้เองบางส่วนและพฤติกรรมการบริโภคนิยมบริโภคข้าวสาลีมากกว่า สำหรับสินค้ายานยนต์และส่วนประกอบของไทยควรเจาะตลาดแอฟริกาตอนใต้(แอฟริกาใต้)และแอฟริกาเหนือ(ลิเบียและอียิปต์) ซึ่งมีระดับการพัฒนาค่อนข้างดี โดยเฉพาะในแอฟริกาใต้ ลิเบียและอียิปต์ซึ่งต่างก็เป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ที่สำคัญของภูมิภาคมีเครือข่ายการผลิตรถยนต์ทั้งของยุโรป สหรัฐฯ และอาหรับ รวมทั้งญี่ปุ่นซึ่งจะเป็นโอกาสการส่งออกวัตถุดิบและชิ้นส่วนยานยนต์เข้าสู่ผู้ผลิตญี่ปุ่นซึ่งในปัจจุบันไทยเป็นเครือข่ายการผลิตของญี่ปุ่นค่อนข้างใกล้ชิด สำหรับสินค้าอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูปทำตลาดได้ดีในแอฟริกาเหนือ(อียิปต์ ลิเบีย แอลจีเรีย ตูนีเซีย)และแอฟริกาตอนใต้(แอฟริกาใต้) ซึ่งการผลิตอาหารในประเทศเหล่านี้มีคุณภาพต่ำและขาดแคลนจึงเป็นโอกาสของสินค้าไทย แต่อย่างไรก็ตามสินค้าไทยอาจต้องเผชิญการแข่งขันรุนแรงกับจีนซึ่งถือเป็นคู่แข่งด้านราคาสินค้าที่ถูกกว่าและเป็นสินค้าที่มีลักษณะคล้ายกัน
บทสรุป
อานิสงส์ World Cup 2010 นอกจากจะช่วยขยายการส่งออกสินค้าไทยในแอฟริกาใต้เพื่อรองรับการบริโภคและนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นยังเป็นการเปิดโอกาสสินค้าไทยให้เป็นที่รู้จักมากขึ้นในตลาดทวีปแอฟริกา ซึ่งทวีปแอฟริกาแม้ว่าส่วนใหญ่จะเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่มีระดับรายได้ต่อหัวค่อนข้างต่ำราว 1,500 เหรียญสหรัฐฯ แต่มีขนาดประชากรถึง 970 ล้านคน ซึ่งกลุ่มประชากรที่มีรายได้ตั้งแต่ 1,000 เหรียญสหรัฐฯขึ้นไปมีประชากรสัดส่วนกว่าร้อยละ 50 ของประชากรทั้งทวีปแอฟริกา ถือเป็นตลาดที่มีโอกาสสำหรับสินค้าของไทย โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่าโอกาสการขยายตลาดสินค้าไทยไปยังแอฟริกาจากความโดดเด่นของตลาดที่สำคัญมีดังนี้
ตลาดแอฟริกาแบ่งได้หลายระดับกลุ่มรายได้ สินค้าไทยนอกจากจะเสียเปรียบด้านต้นทุนค่าขนส่งจากระยะทางที่ไกลแล้วยังต้องแข่งขันกับสินค้าราคาถูกจากจีนและอินเดีย ดังนั้นตลาดระดับบนรายได้ต่อหัวตั้งแต่ 3,900 เหรียญสหรัฐฯขึ้นไป เหมาะสำหรับขยายตลาดของสินค้าไทยเนื่องจากมีกำลังซื้อและยังสามารถส่งออกสินค้าได้หลากหลาย แต่มีอุปสรรคจากความที่เป็นตลาดใหม่ที่อาจเข้าสู่ตลาดค่อนข้างยาก สำหรับตลาดระดับกลางรายได้ต่อหัว 1,000-3,900 เหรียญสหรัฐฯ เน้นสินค้าราคาถูกรวมทั้งสินค้าอุปโภคบริโภค และตลาดระดับล่างรายได้ต่อหัวต่ำกว่า 1,000 เหรียญสหรัฐฯ เน้นส่งออกสินค้าอาหารและสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น ทั้งนี้การขยายโอกาสของสินค้าไทยจำพวกวัตถุดิบและสินค้ากึ่งสำเร็จรูปในแอฟริกาควรส่งออกเพื่อป้อนผู้ผลิตในแอฟริกาซึ่งจะสามารถใช้ประโยชน์จากข้อตกลงทางการค้าเสรี(FTA) และสหภาพศุลกากร(Customs Union) เพื่อใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีในการกระจายสินค้าไปยังแอฟริกาในส่วนอื่นๆ นอกจากนี้แอฟริกายังมีข้อตกลงทางการค้ากับประเทศนอกกลุ่มซึ่งอาจเป็นอีกช่องทางหนึ่งเพื่อผลิตและส่งออกต่อไปยังภูมิภาคอื่นๆ เช่น สหภาพยุโรป ตะวันออกกลาง และอเมริกาใต้ เป็นต้น
แม้การส่งออกของไทยไปยังทวีปแอฟริกาในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2553 มีสัดส่วนไม่มากนักเพียงร้อยละ 3.33 ของการส่งออกทั้งหมดของไทย คิดเป็นมูลค่า 2,500 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ทั้งยังหดตัวร้อยละ 5.4(YoY) แต่สินค้าส่งออกสำคัญของไทยหลายรายการขยายตัวได้ดี ได้แก่ รถยนต์/ส่วนประกอบ อาหารทะเลกระป๋อง/แปรรูป เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์/ส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์ยาง น้ำตาลทราย ตู้เย็น/ตู้แช่แข็ง/ส่วนประกอบ เป็นต้น แม้ว่าการส่งออกข้าวของไทยจะยังคงหดตัวแต่ข้าวไทยส่งออกไปยังทวีปแอฟริกาถึงร้อยละ 36.2 ของการส่งออกข้าวทั้งหมดของไทย และเป็นสินค้าส่งออกอันดับ 1 ของไทยไปแอฟริกา โดยเฉพาะในประเทศไนจีเรีย เบนิน โกตดิวัวร์ แอฟริกาใต้ เซเนกัล แคเมอรูน กานา และคองโก เป็นต้น ผู้ส่งออกข้าวไทยจึงควรใช้ความได้เปรียบจากความคุ้นเคยในตลาดดังกล่าวเป็นฐานกระจายสินค้าข้าวของไทยไปยังประเทศใกล้เคียงเพื่อลดอุปสรรคจากการกีดกันการนำเข้าข้าวไทยโดยตรง สินค้ายานยนต์และส่วนประกอบของไทยควรเจาะแอฟริกาใต้ ลิเบียและอียิปต์ ซึ่งมีระดับการพัฒนาค่อนข้างสูง และเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ที่สำคัญของภูมิภาคและมีเครือข่ายการผลิตรถยนต์ทั้งของยุโรป สหรัฐฯ และอาหรับ รวมทั้งญี่ปุ่นซึ่งจะเป็นโอกาสการส่งออกวัตถุดิบและชิ้นส่วนยานยนต์เข้าสู่ผู้ผลิตญี่ปุ่นซึ่งไทยมีข้อได้เปรียบจากการเป็นเครือข่ายการผลิตของญี่ปุ่น สำหรับสินค้าอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูปน่าจะทำตลาดได้ดีในอียิปต์ แอฟริกาใต้ ลิเบีย แอลจีเรีย และตูนีเซีย แต่อย่างไรก็ตามสินค้าไทยอาจต้องเผชิญการแข่งขันกับสินค้าจีนที่ถือเป็นคู่แข่งซึ่งมีราคาสินค้าที่ถูกกว่าและเป็นสินค้าที่มีลักษณะคล้ายกัน