มหกรรมการแข่งขันฟุตบอลโลก2010 ที่จัดแข่งขันในประเทศแอฟริกาใต้ นับได้ว่าเป็นโอกาสสำคัญของการเจาะขยายตลาดส่งออกสินค้าอาหารและเกษตรของไทยในแอฟริกาใต้ และเป็นโอกาสในการประชาสัมพันธ์สินค้าอาหารและเกษตรของไทยให้เป็นที่รู้จักกว้างขวางมากขึ้น ทั้งผู้บริโภคในประเทศอื่นๆในทวีปแอฟริกา นักท่องเที่ยว และแฟนฟุตบอลที่เดินทางไปติดตามเชียร์ได้รู้จัก และสนใจบริโภคอาหารไทยมากขึ้น อีกทั้งเป็นการปูรากฐานขยายตลาดส่งออกอาหารไทยในอนาคตด้วย ทั้งนี้ แฟนบอลที่ติดตามเชียร์ ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้มีฐานะ มีกำลังการใช้จ่ายสูง และมาจากประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ เช่น สหรัฐฯ อังกฤษ เยอรมนี อิตาลี ฝรั่งเศส เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น จึงเป็นเป้าหมายดีให้ไทยเจาะขยายตลาด นอกจากนี้ ยังมีสื่อมวลชน รวมถึงการถ่ายทอดสดการแข่งขัน บรรยากาศก่อนแข่งขัน สกู๊ปพิเศษ เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยออกไปทั่วโลก กระแสฟุตบอลโลกจึงจะสร้างประโยชน์ให้กับสินค้าอาหารและเกษตรของไทยได้อย่างมาก
แม้ว่าตลาดแอฟริกาใต้ไม่ได้เป็นตลาดหลักของการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหาร แต่ก็เป็นตลาดใหม่และตลาดเป้าหมายที่ทางรัฐบาลและเอกชนที่เกี่ยวข้องต้องการเจาะขยายตลาด ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2553 มูลค่าการส่งออกสินค้าจากไทยไปยังตลาดแอฟริกาใต้เพิ่มขึ้นเป็น 612.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนแล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 22.1 โครงสร้างสินค้าส่งออกไปยังตลาดแอฟริกาใต้แยกสัดส่วนเป็น สินค้าเกษตรกรรม(กสิกรรม ปศุสัตว์ ประมง)ร้อยละ 30.7 สินค้าอุตสาหกรรมเกษตรร้อยละ 9.0 สินค้าอุตสาหกรรมร้อยละ 57.7 และสินค้าแร่และเชื้อเพลิงร้อยละ 2.6
มูลค่าการนำเข้าสินค้าอาหารและเกษตรจากไทยของตลาดแอฟริกาใต้ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2553 เพิ่มขึ้นเป็น 166.22 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 15.4 โดยสินค้าอาหารและเกษตรที่มีแนวโน้มเติบโตดีในตลาดแอฟริกาใต้ โดยเรียงตามลำดับอัตราการขยายตัว ดังนี้ ดอกไม้และใบไม้ที่ใช้ประดับ (+388.0%) ผลไม้สด แช่เย็นแช่แข็งและแห้ง(+250.5%) พืชน้ำมัน(+243.5%) อาหารทะเลแปรรูปเบื้องต้น(+107.13%) กาแฟ ชา และเครื่องเทศ(+80.6%) ของปรุงแต่งจากพืช(+56.8) แป้งจากธัญพืช(+28.9%) ข้าว(+27.7%) ยางและผลิตภัณฑ์ (+22.1%) เครื่องหนัง(+21.2%) และของปรุงแต่งจากผักและผลไม้(+19.6%)
ไทยยังมีโอกาสในการผลักดันการส่งออกสินค้าอาหารและเกษตรไปยังตลาดแอฟริกาใต้ แม้ว่าแอฟริกาใต้จะไม่ใช่ประเทศคู่ค้าอันดับต้นๆของไทย แต่ก็ถือว่าเป็นตลาดใหม่ที่มีศักยภาพที่น่าสนใจ ทั้งการเจาะขยายตลาดในแอฟริกาใต้เอง เนื่องจากประเทศแอฟริกาใต้เป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจมั่นคงที่สุดในทวีปแอฟริกาและเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่ที่สุด สำหรับการส่งออกของไทย ด้วยเป็นประเทศอันดับ 1 ของแอฟริกาที่มีมูลค่าการนำเข้าสินค้าอาหารและเกษตรจากไทยมากที่สุด และการใช้แอฟริกาใต้เป็นประตูการค้าไปสู่ตลาดภูมิภาคแอฟริกาตอนใต้ เนื่องจากแอฟริกาใต้เป็นศูนย์กลางการค้าและการขนส่งสินค้า โดยสินค้าส่วนใหญ่นอกจากใช้เพื่อการบริโภคภายในประเทศแล้ว ยังส่งผ่านไปยังประเทศใกล้เคียงด้วย โดยไม่ต้องเสียภาษี หรือเสียภาษีในอัตราที่ต่ำ เนื่องจากถือเป็นการนำเข้าระหว่างกันในกลุ่มประเทศสมาชิก นอกจากนี้ ผลดีของความตกลงเขตการค้าเสรีระหว่างแอฟริกาใต้กับสหภาพยุโรป (อียู) เมื่อปี 2543 ทำให้สินค้ามียี่ห้อของอียูเข้าไปครองตลาด และมีอิทธิพลต่อรสนิยมของผู้บริโภคต่อสินค้าคุณภาพราคาสูงในปัจจุบัน จึงส่งผลต่อสินค้าอาหารและเกษตรไทยที่ได้เปรียบสินค้าจีนที่เข้าไปเจาะตลาดก่อนหน้านี้ ผู้บริโภคแอฟริกาใต้ส่วนใหญ่นิยมสินค้าที่มีคุณภาพและผลิตตามกรรมวิธีที่ถูกสุขอนามัย รวมทั้งได้รับการรับรองคุณภาพจากหน่วยงานของรัฐ ซึ่งสอดคล้องกับคุณสมบัติของสินค้าไทยส่วนใหญ่ที่มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ขณะที่สินค้าจีนซึ่งครองส่วนแบ่งตลาดแอฟริกาใต้ค่อนข้างมาก กลับประสบปัญหาด้านคุณภาพจึงได้รับความนิยมน้อยลง ซึ่งนับเป็นโอกาสดีสำหรับผู้ประกอบการไทยที่จะเข้าไปขยายตลาดในแอฟริกาใต้โดยเฉพาะการเข้าไปขยายตลาดสินค้าอาหารและเกษตร
ผู้ส่งออกสินค้าอาหารและเกษตรของไทยสามารถใช้โอกาสในช่วงมหกรรมฟุตบอลโลก2010 ที่จัดขึ้นในประเทศแอฟริกาใต้เป็นโอกาสสำคัญในการเจาะขยายตลาดส่งออกสินค้าเกษตรและอาหาร ทั้งในตลาดแอฟริกาใต้เอง และการใช้แอฟริกาใต้เป็นศูนย์กลางในการกระจายสินค้าไปยังประเทศอื่นๆในทวีปแอฟริกา รวมทั้ง ใช้เป็นโอกาสในการประชาสัมพันธ์สินค้าอาหารและเกษตรของไทยให้เป็นที่รู้จักของบรรดานักท่องเที่ยว ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นบรรดากองเชียร์ฟุตบอลทีมต่างๆ ซึ่งถือว่าเป็นนักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อได้รู้จักกับสินค้าอาหารและเกษตรของไทย ทำให้มีส่วนอย่างมากในการเจาะขยายตลาดสินค้าอาหารและเกษตรของไทยในอนาคต