แผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับใหม่ของมาเลเซีย…โอกาสและปัจจัยท้าทายต่อไทย

แผนพัฒนาเศรษฐกิจ 5 ปี (ปี 2553-2558) ฉบับใหม่ของมาเลเซียที่มีมูลค่ากว่า 6.9 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ อาจจะส่งผลดีและความท้าทายต่อเศรษฐกิจไทยโดยเฉพาะในด้านการส่งออกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะมาเลเซียเป็นประเทศที่มีมูลค่าการค้าชายแดนกับไทยสูงที่สุดจากจำนวนเพื่อนบ้าน 4 ประเทศและเป็นตลาดส่งออกใหญ่ที่สุดของไทยในภูมิภาคอาเซียน นอกจากนี้ การเปิดเสรีการค้าการลงทุนภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) ที่กำลังจะยกระดับเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 การเคลื่อนย้ายสินค้า บริการและเงินลงทุน ได้อย่างเสรียิ่งขึ้นภายในกลุ่มอาเซียน ย่อมสร้างโอกาสให้สินค้าไทยโดยการใช้สิทธิ AFTA เจาะตลาดมาเลเซียได้มากขึ้น แต่ในทางกลับกันขีดความสามารถการแข่งขันของมาเลเซียที่อาจเพิ่มขึ้นภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจที่จะสิ้นสุดในปี 2558เช่นเดียวกัน ถือเป็นปัจจัยท้าทายสำคัญของไทยในอนาคต ทั้งนี้ผลดีและผลกระทบที่เศรษฐกิจไทยจะได้รับมากหรือน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับผลสำเร็จของทางการมาเลเซียในการปฏิรูปเศรษฐกิจและความสามารถในการปรับตัวของไทยเพื่อจะรับมือกับการแข่งขันกับประเทศคู่แข่งในอนาคต

แผนพัฒนาเศรษฐกิจ 5 ปีฉบับที่ 10 ของมาเลเซียที่เริ่มต้นในปี 2553-2558 นับเป็นก้าวแรกของการยกระดับให้เป็นประเทศพัฒนาแล้วภายในปี 2563 2563 หรือในอีก 10 ปีข้างหน้า โดยรัฐบาลมาเลเซียจะใช้ยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจในหลากหลายแนวทางเพื่อจะผลักดันเศรษฐกิจให้ขยายตัวในอัตราร้อยละ 6.0 ต่อปี ในช่วงปี 2553 – 2558 ผ่านการปรับเปลี่ยนรูปแบบเศรษฐกิจจากการที่เคยพึ่งพาแรงงานราคาถูกจากต่างชาติในอุตสาหกรรมการผลิต มาเป็นสนับสนุนเศรษฐกิจที่ตั้งอยู่บนฐานการเรียนรู้ นอกจากนี้ ยังมุ่งกระตุ้นบทบาทของภาคเอกชนและสนับสนุนนโยบายการดึงเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติ ผ่านการเปิดเสรี และลดระเบียบปฏิบัติตลอดจนขั้นตอนข้อบังคับต่างๆ เพื่อให้มาเลเซียมีความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลกได้มากขึ้น ความตั้งใจของรัฐบาลมาเลเซียที่ต้องการให้การลงทุนจากต่างประเทศและภาคเอกชนเป็นตัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ถือเป็นโอกาสสำคัญสำหรับการส่งออกและการลงทุนของไทยในมาเลเซีย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพและความสำเร็จของการดำเนินตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐบาลมาเลเซียต่อไปในอนาคต

อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่า รัฐบาลมาเลเซียอาจประสบกับความยากลำบากในการดำเนินนโยบายตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับนี้ให้ประสบผลสำเร็จ เนื่องจากขณะนี้รัฐบาลมาเลเซียกำลังเผชิญกับแรงกดดันอย่างสูงจากชาวมาเลเซียเชื้อสายมาเลย์ที่มีจำนวนถึงร้อยละ 60 ของประชากรทั้งประเทศ เพราะนโยบายเปิดเสรีทางเศรษฐกิจที่เพิ่มการแข่งขันกันในประเทศอาจกระทบกับธุรกิจของชาวมาเลเซียเชื้อสายมาเลย์ที่มีมูลค่าทางธุรกิจไม่ถึงร้อยละ 30 ของ GDP แม้ว่าการปรับตัวเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในอนาคตอาจช่วยให้ธุรกิจมาเลเซียสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้

เป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ร้อยละ 6.0 ในปี 2553-2558 ถือเป็นความท้าทายอย่างยิ่งของรัฐบาลมาเลเซีย เพราะเป็นอัตราที่สูงกว่าการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ที่ร้อยละ 5.7 ต่อปีและสูงกว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับก่อน (ปี 2548-2552) ที่ร้อยละ 4.1 แม้ว่าเศรษฐกิจมาเลเซียปี 2553 อาจจะขยายตัวถึงร้อยละ 6.3 (YoY) แต่ไม่ได้เกิดจากขีดความสามารถการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น ส่วนสำคัญมาจากการฟื้นตัวของตลาดโลกจากภาวะซบเซาอย่างหนักที่กดดันให้เศรษฐกิจมาเลเซียปี 2552 ขยายตัวอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ นั่นหมายความว่า หากรัฐบาลมาเลเซียต้องการผลักดันให้เศรษฐกิจสามารถขยายตัวได้ตามเป้าอย่างมีเสถียรภาพแล้ว รัฐบาลมาเลเซียจำเป็นที่จะต้องลดการใช้จ่ายลงในเกือบทุกด้าน เพื่อให้ระดับหนี้ต่างประเทศต่ำกว่าร้อยละ 24.2 ของ GDP ในช่วง 5 ปีข้างหน้าจากระดับปัจจุบันที่ร้อยละ 33.4 ของ GDP ในช่วงปี 2548-2552 และลดการขาดดุลการคลังของมาเลเซียให้อยู่ในระดับต่ำกว่าร้อยละ 4.1 ของ GDP จากระดับปัจจุบันที่ร้อยละ 4.6 ของ GDP โดยภายในปี 2558 จะต้องลดลงเหลือร้อยละ 2.8 ของจีพีดี

ขณะเดียวกันมาเลเซียอาจจำเป็นต้องเพิ่มการส่งออก การลงทุนและการบริโภคของภาคเอกชนในประเทศ เพื่อชดเชยกับการลงทุนและการบริโภคของภาครัฐที่มีแนวโน้มจะลดลง ขณะที่ความผันผวนของราคาพลังงานและราคาอาหาร ตลอดจนปัญหาเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มจะรุนแรงขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ ถือเป็นปัจจัยท้าทายสำคัญประการหนึ่ง ที่อาจกระทบต่อแผนการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจและเสถียรภาพทางการเงินของรัฐบาลชุดนี้ นอกจากนี้การสนับสนุนให้ภาคเอกชนและนักลงทุนต่างชาติเข้ามามีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจอาจจะสร้างความกังวลให้กับชาวมาเลเซียเชื้อสายมาลายูมากขึ้น

แม้ว่ารัฐบาลมาเลเซียจะให้ความสำคัญกับการกระตุ้นบทบาทภาคเอกชนและนักลงทุนต่างชาติในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ขยายตัวร้อยละ 6.0 ต่อปี แต่การตัดสินใจที่จะสานต่อนโยบายภูมิบุตรต่อไปในแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับใหม่นี้ อาจจะทำให้การดำเนินธุรกิจของภาคเอกชนท้องถิ่นและต่างชาติในมาเลเซียเพิ่มขึ้นไม่มากนัก เนื่องจากการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติและความไม่ยุติธรรมในการดำเนินนโยบายภูมิบุตรซึ่งรัฐบาลเอื้อประโยชน์ให้กับคนมาเลเซียเชื้อสายมาลายูในทุกด้านทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจและสังคม ถือเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการแข่งขันของภาคเอกชนจากต่างประเทศ ซึ่งอาจจะไม่สอดคล้องกับเป้าหมายของรัฐบาลมาเลเซียที่ต้องการให้การลงทุนของภาคเอกชนเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลักของประเทศ กล่าวได้ว่า การคงนโยบายภูมิบุตรไว้อาจจะทำให้การกระตุ้นการลงทุนของภาคเอกชนให้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 12.8 ต่อปี เป็นไปด้วยความยากลำบากมากขึ้น

มาเลเซียถือเป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของไทยในภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะหลังจากเปิดตลาดสินค้าภายใต้กรอบความตกลงการค้าเสรีถึง 6 ฉบับที่ไทยกับมาเลเซียมีร่วมกันภายใต้ FTA กรอบอาเซียน ช่วยให้สินค้าไทยได้สามารถเข้าสู่ตลาดมาเลเซียได้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการเปิดตลาดสินค้าภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน หรือ อาฟต้า (AFTA) เป็นหนึ่งในภารกิจหลักที่จะนำไปสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 ได้กำหนดให้ประเทศสมาชิก 6 ประเทศคือ บรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์และไทย ลดภาษีศุลกากรลงจนเหลือร้อยละ 0 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 ที่ผ่านมา ส่งผลให้ในขณะนี้มาเลเซียมีจำนวนสินค้าที่มีภาษีร้อยละ 0 ราวร้อยละ 98.4 ของรายการสินค้าทั้งหมด ต่ำกว่าจำนวนสินค้าของไทยที่มีสัดส่วนร้อยละ 99.8 ของรายการสินค้าทั้งหมด

การส่งออกสินค้าของไทยไปยังมาเลเซียในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้เพิ่มขึ้นร้อยละ 62.6 (YoY) ลดลงจากในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 72.2 (YoY) ทั้งนี้การยกเลิกภาษีสินค้าเกือบทุกรายการระหว่างกันตั้งแต่ต้นปี 2553 เป็นต้นมาทำให้ผู้ประกอบการไทยมีการสิทธิประโยชน์จาก AFTA ในการส่งออกสินค้ามากขึ้น โดยในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ ผู้ส่งออกไทยใช้สิทธิ AFTA ส่งออกไปยังมาเลเซียเพิ่มขึ้นราวร้อยละ 59.0 (YoY) แม้ว่าจะเพิ่มขึ้นไม่มากนักเมื่อเทียบกับการส่งออกภายใต้ AFTA ไปยังกัมพูชา (เพิ่มขึ้นร้อยละ 223.3) และอินโดนีเซีย (เพิ่มขึ้นร้อยละ 114.7) แต่ผู้ส่งออกไทยกลับมีการใช้สิทธิ AFTA ส่งออกไปยังมาเลเซียสูงเป็นลำดับ 2 ของอาเซียนรองจากเวียดนาม โดยผู้ส่งออกไทยมีสัดส่วนการส่งออกภายใต้กรอบ AFTA ร้อยละ 22.2 ของมูลค่าการส่งออกรวม สินค้าที่ไทยส่งออกมากในช่วงเดือนมกราคม-เมษายน 2553 คือ คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ รถยนต์และส่วนประกอบ ยางพาราและน้ำมันสำเร็จรูป มีสัดส่วนการส่งออกรวมกันถึงร้อยละ 45.7 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของไทย

สำหรับผลกระทบที่มีต่อเศรษฐกิจของไทย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า หากรัฐบาลมาเลเซียสามารถดำเนินนโยบายตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจ 5 ปี ฉบับที่ 10 (ปี 2553-2558) ได้เป็นผลสำเร็จ ในระยะสั้น คาดว่าผลกระทบจากการแข่งขันกับมาเลเซียน่าจะไม่มากนัก เพราะมาเลเซียอาจต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งในการปฏิรูปเศรษฐกิจจากอุตสาหกรรมการผลิตที่พึ่งพาแรงงานต่างชาติเป็นหลัก มาเป็นอุตสาหกรรมฐานความรู้ที่เน้นการสร้างนวัตกรรมและเน้นการผลิตโดยใช้เทคโนโลยีขั้นสูงแทน แม้ว่าอุตสาหกรรมสำคัญของมาเลเซียส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า อุตสาหกรรมปิโตรเคมีและอุตสาหกรรมยานยนต์ แต่การขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็วในช่วงที่ผ่านมาทำให้จำนวนแรงงานต่างชาติในมาเลเซียเพิ่มขึ้นถึงกว่า 2 ล้าน การปฏิรูปภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับใหม่จึงมีเป้าหมายที่จะลดการพึ่งพาแรงงานต่างชาติในภาคอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนถึงร้อยละ 35 ของแรงงานต่างชาติทั้งหมดลง ในจำนวนนี้รวมถึงแรงงานไทยที่เข้าไปทำงานในมาเลเซียด้วย

สินค้า บริการและการลงทุนของไทยอาจจะเข้าสู่ตลาดมาเลเซียได้มากขึ้น จากนโยบายการเปิดเสรี รวมถึงการผ่อนคลายกฎระเบียบและลดขั้นตอนที่ซับซ้อนของทางการมาเลเซีย โดยในระยะสั้น แผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับใหม่อาจจะกระทบต่อภาคการส่งออกไทยไม่มากนัก เนื่องจากสินค้าที่ไทยส่งออกไปยังมาเลเซียส่วนใหญ่ยังเป็นสินค้าที่ไทยมีศักยภาพสูงเพียงพอที่จะสามารถแข่งขันกับสินค้ามาเลเซียได้ นอกจากนี้สินค้าไทยยังได้เปรียบเหนือคู่แข่งอื่นๆ โดยเฉพาะนอกกลุ่มอาเซียน เนื่องจากมาเลเซียได้ยกเลิกภาษีสินค้าให้กับไทยถึงร้อยละ 98.4 จากสินค้าหลายพันรายการ นอกจากนี้สินค้าที่ไทยส่งออกไปยังมาเลเซียส่วนใหญ่เป็นสินค้าขั้นกลางที่มาเลเซียนำเข้าไปผลิตเพื่อส่งออกต่อไปยังประเทศอื่น โดยเฉพาะการส่งออกอุปกรณ์และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ของไทยไปป้อนอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งเป็นสินค้าที่มาเลเซียมีสัดส่วนการส่งออกถึงร้อยละ 41 ของการส่งออกทั้งหมด สำหรับในด้านการลงทุนนั้น การผ่อนคลายกฎระเบียบ ลดขั้นตอนการปฏิบัติงานและเน้นความโปร่งใสของภาครัฐ น่าจะช่วยให้นักลงทุนไทยสามารถลดต้นทุนการดำเนินธุรกิจบางส่วนลงได้ แต่นักลงทุนไทยยังคงเผชิญกับอุปสรรคจากมาตรการที่เอื้อประโยชน์กับคนท้องถิ่นเชื้อสายมาเลย์อยู่

ในระยะยาว สำหรับภาคการส่งออก หากมาเลเซียสามารถยกระดับอุตสาหกรรมจากการใช้แรงจากราคาถูกไปเป็นอุตสาหกรรมฐานความรู้ที่เน้นกระบวนการผลิตที่มีมูลค่าสูงนี้ ทางหนึ่งอาจจะทำให้การส่งออกสินค้าขั้นกลางของไทยไปยังมาเลเซียขยายตัวมากขึ้น เนื่องจากมาเลเซียลดการผลิตสินค้าขั้นกลางที่มีมูลค่าต่ำลงแล้วหันไปผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูงแทน นอกจากนี้ระดับรายได้ของชาวมาเลเซียที่เพิ่มขึ้นอาจทำให้ความต้องการสินค้าสำหรับตลาดบนขยายตัวมากขึ้น หากสินค้าไทยมีคุณภาพและการออกแบบสอดคล้องกับชาวมาเลเซียรายได้สูง ในทางกลับกัน หากผู้ประกอบการไทยไม่สามารถพัฒนาขีดความสามารถการแข่งขันได้ทันหรือทัดเทียมกับมาเลเซีย สินค้าไทยที่มีการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงอยู่แล้วอาจเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นจากสินค้ามูลค่าเพิ่มสูงของมาเลเซีย ทั้งตลาดในประเทศมาเลเซียและตลาดส่งออกอื่นๆ ของไทย โดยเฉพาะตลาดที่ไทยและมาเลเซียมี FTA ในกรอบอาเซียนร่วมกัน ในด้านการลงทุน ศักยภาพที่แข่งแกร่งขึ้นของมาเลเซียอาจแย่งชิงการลงทุนจากต่างประเทศที่จะหลั่งไหลเข้ามาในภูมิภาคอาเซียนในอนาคต

บทสรุป แผนพัฒนาเศรษฐกิจ 5 ปีฉบับที่ 10 (ปี 2553-2558) ของมาเลเซียที่มีมูลค่ากว่า 6.9 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ อาจจะส่งผลดีและความท้าทายต่อเศรษฐกิจไทยในหลากหลายด้าน โดยเฉพาะการเปิดเสรีภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) และจะก้าวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 ทางหนึ่งอาจสร้างโอกาสให้สินค้าไทยสามารถเจาะตลาดมาเลเซีย ซึ่งเป็นตลาดส่งออกใหญ่ที่สุดของไทยในภูมิภาคอาเซียนได้มากขึ้น แต่ในทางกลับกันขีดความสามารถการแข่งขันของมาเลเซียที่อาจเพิ่มขึ้นภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับนี้ อาจสร้างความท้าทายให้กับไทยในอนาคต ทั้งนี้ผลดีและผลกระทบที่เศรษฐกิจไทยจะได้รับมากหรือน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับผลสำเร็จของทางการมาเลเซียในการปฏิรูปเศรษฐกิจ รวมถึงความสามารถในการปรับตัวของไทยเพื่อรับมือกับการแข่งขันของมาเลเซียในอนาคต

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า ในระยะสั้น แผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับนี้อาจจะกระทบต่อเศรษฐกิจไทยไม่มากนัก เพราะนโยบายการเปิดเสรี รวมถึงการผ่อนคลายกฎระเบียบและลดขั้นตอนที่ซับซ้อนของทางการมาเลเซีย นอกเหนือจากการยกเลิกภาษีสินค้าให้กับไทยถึงร้อยละ 98.4 จากสินค้าหลายพันรายการภายใต้กรอบ AFTA จะเปิดโอกาสให้สินค้าของไทยเข้าสู่ตลาดมาเลเซียได้มากขึ้น นอกจากนี้สินค้าส่งออกของไทยส่วนใหญ่มีขีดความสามารถการแข่งขันใกล้เคียงกับสินค้ามาเลเซียและคู่แข่งอื่นๆ โดยสินค้าที่ไทยส่งออกไปยังมาเลเซียส่วนใหญ่เป็นสินค้าขั้นกลางที่มาเลเซียนำเข้าไปผลิตเพื่อส่งออกต่อไปยังประเทศอื่น ในขณะที่มาเลเซียอาจต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งในการปฏิรูปเศรษฐกิจเพื่อยกระดับสินค้าอุตสาหกรรมให้สูงกว่าคู่แข่งอื่นๆ สำหรับในด้านการลงทุน แม้ว่านักลงทุนไทยจะสามารถลดต้นทุนการดำเนินธุรกิจบางส่วนลงได้จากการผ่อนคลายกฎระเบียบและลดขั้นตอนของภาครัฐ แต่นักลงทุนไทยยังคงเผชิญกับอุปสรรคจากมาตรการที่เอื้อประโยชน์กับคนท้องถิ่นเชื้อสายมาเลย์อยู่

ในระยะยาว การผลิตสินค้าโดยใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูงในอนาคตของมาเลเซียอาจทำให้มาเลเซียมีความต้องการสินค้าขั้นกลางจากไทยเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ระดับรายได้ของชาวมาเลเซียที่เพิ่มขึ้นจะเพิ่มความต้องการสินค้าเพื่อการบริโภคบางส่วนจากไทยเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสินค้าสำหรับผู้มีรายได้สูงที่ให้ความสำคัญกับคุณภาพและเอกลักษณ์ของสินค้า ในทางกลับกัน หากผู้ประกอบการไทยไม่สามารถเร่งพัฒนาการผลิตสินค้าไทยทัดเทียมกับสินค้าของมาเลเซีย ไทยอาจสูญเสียส่วนแบ่งตลาดสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูงให้กับมาเลเซีย ไม่เพียงแต่ในมาเลเซียเท่านั้น ยังรวมถึงตลาดส่งออกอื่นๆ ของไทยโดยเฉพาะตลาดที่ไทยและมาเลเซียมี FTA ในกรอบอาเซียนร่วมกัน