ดร.สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ ประธานกรรมการ บมจ.ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ความท้าท้ายของปัญหาทาง สังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม ของโลก ที่มีผลเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกัน และเห็นผลกระทบที่เกิดอย่างชัดเจน ทำให้ กิจการธนาคาร ในฐานะพลเมืองหนึ่งของสังคม ถูกถามถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ในขณะที่ประชาชนเองก็มีความคาดหวังที่จะให้ธนาคารได้มีส่วนทำหน้าที่ดูแลสร้างสรรค์สังคม ไปพร้อมๆ กับการให้บริการทางการเงินที่ดี มีความโปร่งใส ซึ่งหากพิจารณาถึงศักยภาพของธนาคารแต่ละแห่ง ที่มีสาขาต่างๆ ทั่วประเทศ และมีบุคคลากรที่มีความสามารถ แล้วจะเห็นว่า ธนาคารควรที่จะต้องแสดงบทบาทหน้าที่ในฐานะพลเมือง และองค์กรหนึ่งของสังคมในการเข้าไปส่วนร่วมดูแลสังคม สิ่งแวดล้อมให้มากยิ่งขึ้น
“เพราะที่ผ่านมาผลกระทบจากการส่งเสริมการบริโภคมากเกินพอดี การโฆษณา โปรโมชั่นเชิญชวนให้มีการใช้บัตรเครดิต การจับจ่ายซื้อของมากขึ้น ก็มีส่วนทำให้คนในสังคมขาดการดูแลด้านจิตใจ มีแต่เรื่องวัตถุเป็นหลัก ทำให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมา เช่นการลักขโมย รวมถึงการใช้ทรัพยากรอย่างไม่รู้ค่า การบุกรุกทำลาย ดังนั้นควบคู่ไปกับการกำกับและดูแลกิจการที่ดี ธนาคารกรุงไทย ซึ่งตระหนักถึงความท้าทายนี้ จะต้อง นำเรื่องบรรษัทภิบาล หรือซีจี และซีเอสอาร์ เข้าสู่วิสัยทัศน์ เพื่อให้ทุกส่วนงานมีสำนึกร่วมกัน ในการดูแลกำกับหน่วยงานของตัวเอง ให้มีประสิทธิภาพ โปร่งใส และที่น่าเชือถือ และรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆกัน เพื่อนำสังคมไทยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความยั่งยืน หลายคนบอกว่าได้ทำมามากแล้ว แต่ผมว่าเรายังทำได้มากกว่านี้ และต้องทำให้ได้มากกว่านี้ ดีกว่านี้
ดร.สถิตย์ กล่าวว่า รูปธรรมที่สำคัญและเป็นส่วนหลักในการผลักดันให้งานด้านซีจีและซีเอสอาร์มีความก้าวหน้า คือ การมีโครงสร้างการบริหารจัดการที่ชัดเจน โดยในส่วนของธนาคารกรุงไทย คณะกรรมการบริหาร ได้มีความเห็นชอบที่จะให้ธนาคาร ผสานทั้งเรื่องซีจี และ ซีเอสอาร์ เข้าสู่การดำเนินงานในทุกระดับ รวมถึงกิจกรรมทางสังคม และสิ่งแวดล้อมที่ธนาคารได้เข้าไปสนับสนุน และเมื่อช่วงต้นปีในปี2553 นี้ ได้จัดโครงสร้างบริหารจัดการเรื่องนี้โดยเฉพาะ โดยมี คุณสันติ วิลาสศักดานนท์ เป็นประธานกรรมการบรรษัทภิบาลและความรับผิดชอบต่อสังคม และมีคณะอนุกรรมการที่ช่วยดูแลในเรื่องต่างๆ อีก 5 คณะ รวมถึงมีฝ่าย เสริมสร้างทุนทางปัญญาและกิจกรรมเพื่อสังคมและคณะอนุกรรมการบรรษัทภิบาล ทำให้มั่นใจว่าการดำเนินนโยบายด้านซีจีและซีเอสอาร์ ของธนาคารกรุงไทยจากนี้ไป จะมีพัฒนาการที่ก้าวหน้ามากและทำได้อย่างต่อเนื่อง โดยในปีนี้ทางธนาคารจะได้นำมาตรฐานสากลและแนวปฏิบัติต่างๆ มาใช้ โดยเฉพาะ ISO 26000
คุณสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานกรรมการบรรษัทภิบาลและความรับผิดชอบต่อสังคมและ สิ่งแวดล้อม กล่าวว่า จากนโยบายที่ชัดเจน การมีโครงสร้างบริหารจัดการที่เป็นระบบ และประสบการณ์การเรียนรู้ ในแต่ละปี ทำให้กิจกรรมทั้งในส่วนงานบรรษัทภิบาล และซีเอสอาร์ ของธนาคาร โดยเฉพาะ การเสริมสร้างทุนทางปัญญา ให้สังคมเป็นที่ประจักษ์ ทั้งจากภายใน และภายนอก ซึ่งแม้ว่าในช่วงเริ่มต้นจะไม่ง่าย แต่วันนี้หากมองย้อนไป มีสิ่งที่เราได้เรียนรู้จากการดำเนินงาน หลายประการ และเป็นปัจจัยในการพัฒนาต่อยอด ที่อาจสรุปได้ดังนี้
1.ความเข้าใจของคณะกรรมการบริหาร และนโยบายที่ชัดเจน CG & CSR ผลักดันให้มีความยั่งยืน ต่อเนื่อง
2.การมีโครงสร้างการบริหารจัดการที่ชัดเจน และครบถ้วน คือจะต้องมีทั้งส่วนงานส่งเสริม งานปฏิบัติ งานเผยแพร่ งานสนับสนุน และมีการจัดสรรงบประมาณที่เพียงพอ
3.การมีแนวปฏิบัติ ของธนาคาร และแผนงาน กรอบเวลา การประเมิน ที่ชัดเจน จะทำให้การขับเคลื่อนงานมีความชัดเจน ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมได้ง่าย
4.การดำเนินงาน CG & CSR ด้วยมุมมองที่คำนึงถึงผลลัพท์และผลที่ตามมา จะทำให้กิจกรรม และการเชื่อมโยงกับเครือข่ายพันธมิตร และ ชุมชน เกิดขึ้นและต่อยอดได้ ดังเช่นความร่วมมือของ 7 ธนาคารของรัฐในเรื่องบรรษัทภิบาล
5.การสื่อสารทั้งภายใน และภายนอก จะเป็นตัวเร่งให้เรื่อง CG & CSR มีพลังที่นำไปสู่สำ
นึกและการปฏิบัติ อย่างเป็นวัฒนธรรม
สำหรับแนวทางในการดำเนินงานในปีต่อไป คุณสันติ เปิดเผยว่า
1.จะมีการพัฒนาและเทียบเคียงแนวปฏิบัติของธนาคารให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล โดยจะนแนวปฏิบัติ ISO 26000 มาเป็นแนวทาง เพื่อพัฒนางานให้มีประสิทธิภาพ เป็นระบบ สามารถจัดการความรู้ได้ง่าย
2.พัฒนากลยุทธ์และต่อยอดกิจกรรมในโครงการทุนทางปัญญาต่างๆให้มีคุณค่าเพิ่ม โดยปลูกฝังให้ แนวคิด CG และ CSR เข้าไปสู่ระดับกิจกรรม โดยธนาคารนำความรู้ นำบุคลากร และเครือข่าย เข้าไปสนับสนุนการต่อยอด เช่น โครงการกรุงไทยยุวาณิช โรงเรียนมงฟอร์ต ได้มอบองค์ความรู้ในการทำรองเท้านวดเพื่อสุขภาพให้ชุมชน นำไปเป็นอาชีพต่อเนื่อง
3.การเสริมสร้างการปฏิบัติจากภายในธนาคารอย่างจริงจัง โดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อม ที่เราต้องการให้เกิดเป็น Green Culture
4.การสื่อสารด้านซีจีและซีเอสอาร์ให้พนักงานได้รับรู้ มีความภูมิใจ และสมัครใจมีส่วนร่วมด้วยตนเอง
5.การสื่อสารภายนอก โดยการจัดทำรายงาน ตามหลักของ GRI
ทั้งนี้กิจกรรมภายใต้โครงการเสริมสร้างทุนทางปัญญา ธนาคารยังคงมุ่งเน้นและต่อยอดใน 4 มิติ คือ การศึกษา สังคมสิ่งแวดล้อม ศิลปวัฒนธรรม และ กีฬา โดยเรื่องการศึกษาจะเป็น ทุนทางปัญญาหลัก ที่ธนาคารจะให้ความสำคัญและจัดสรรงบประมาณ โดยมีโครงการที่เด่น ๆคือ กรุงไทยสานฝันโรงเรียนดี ใกล้บ้าน กรุงไทยยุววาณิช กรุงไทยต้นกล้าสีขาว KTB Lecture Series สำหรับงบประมาณในการดำเนินงานด้านซีเอสอาร์ในปีนี้ เรากำหนดไว้ทั้งหมด100 ล้านบาท
สำหรับด้านบรรษัทภิบาล ในปีนี้ คุณสันติ กล่าวว่า ภายใต้ค่านิยม รู้เรียน เพียรทำ นำชัย สิ่งที่ธนาคารจะผลักดันให้เกิดขึ้นก็คือ การสร้างเครือข่ายความร่วมมือเพื่อการส่งเสริมในเรื่องนี้ย่างจริงจัง ซึ่งการลงนามความร่วมมือกับ อีก 6 ธนาคารของรัฐด้านการส่งเสริมบรรษัทภิบาล เป็นตัวอย่างของการขับเคลื่อน ซึ่งจะมีการแบ่งปันข้อมูลประสบการณ์การระหว่างกัน รวมถึงการทำกิจกรรมซีเอสอาร์ร่วมกัน เพื่อสร้างผลกระทบในทางบวกเกิดขึ้นกับสังคม และสิ่งแวดล้อมได้มากยิ่งขึ้น รวมถึง ความเป็นอยู่ที่ดี มีรายได้ของชุมชน ขณะเดียวกันก็จะเร่งสร้างวัฒนธรรมบรรษัทภิบาลให้เกิดขึ้นในองค์กร โดยมีแผนงานที่จะทำอาทิ จัดทำ Website CG&CSR เพื่อสื่อสารข้อมูลต่างๆ ซึ่งพนักงานสามารถเข้าดูข้อมูลผ่านทางระบบ Intranet ของธนาคาร ทำการสื่อสารหลักบรรษัทภิบาลผ่านทาง KTB Mail เดือนละ 3 ครั้ง และมีการมอบรางวัลให้กับผู้เข้าร่วมกิจกรรม กำหนดเป็นหลักสูตรในการฝึกอบรมสำหรับพนักงานเข้าใหม่ และผู้จัดการสาขา และกำหนดเป็น 1 ใน 10 วิชา สำหรับการสอบ Self Learning เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการพิจารณาเลื่อนตำแหน่งของพนักงาน
“จะเห็นว่าแนวทางในการดำเนินงานด้าน CG& CSR จะต้องมีการบริหารจัดการ และพัฒนายกระดับ และทวีความเข้มข้นอย่างถูกทิศทาง และสอดคล้องกับแนวปฏิบัติและมาตรฐานสากล เรียกว่า ทั้ง Enlarge และ Enrich ซึ่งเราจะพยายามพัฒนาคุณค่าของสิ่งที่ทำให้เห็นเด่นชัดยิ่งขึ้น โดยใช้การปฏิบัติจริง เป็นกลยุทธ์ในการสื่อสาร”
บมจ.ธนาคารกรุงไทย เป็นธนาคารพาณิชย์ของรัฐ ทีให้ความสำคัญด้านซีจี และซีเอสอาร์มาโดยตลอด โดยที่ผ่านมาได้รับ รางวัลคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจดีเด่น จากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ กระทรวงการคลัง รางวัลการดำเนินงานเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมดีเด่น จากสำนักงาน คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ กระทรวงการคลัง รางวัลคุณภาพการให้บริการดีเด่น จากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ กระทรวงการคลัง รางวัล SET Awards 2009 ด้านรางวัลรายงานบรรษัทภิบาลดีเด่น จากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ร่วมกับวารสารธนาคาร ผลการประเมินคุณภาพการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น อยู่ในระดับเยี่ยม จากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ร่วมกับสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย และสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย รางวัล Corporate Governance Report of Thai Listed Companies 2009 ระดับ 5 ดาว จากสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (Thai Institute of Directors :IOD) รางวัลคณะกรรมการแห่งปีดีเลิศ ประจำปี 2551/52 จากคณะกรรมการบรรษัทภิบาลแห่งชาติ