กรุงไทย (KTB) กำลังเดินสู่ก้าวใหม่ หลังคณะกรรมการกฤษฎีกา ตีความสถานะของธนาคารว่าพ้นจากความเป็นรัฐวิสาหกิจ ในช่วงเวลาเดียวกัน ต้องเผชิญกับความท้าทายของ “ธุรกิจเเบงก์” ในยุคดิจิทัล ฝ่าฟันวิกฤตเศรษฐกิจจากพิษ COVID-19
การประกาศจะเป็น “เเบงก์ของคนต่างจังหวัด” เข้าถึงชุมชนในไทย เเละรองรับมาตรการช่วยเหลือต่างๆ ของรัฐ ก็เป็นอีกหนึ่ง “งานหิน” ที่ต้องพัฒนาต่อไปเช่นกัน วันนี้เรามาฟังทิศทางต่อไปของกรุงไทยชัดๆ จากเอ็มดี KTB กัน
ชูจุดเด่น “เเบงก์พาณิชย์ของรัฐ”
ประเด็นการพ้นสภาพรัฐวิสาหกิจ “ผยง ศรีวณิช” กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย ยืนยันว่า การเปลี่ยนเเปลงดังกล่าวเป็นเป็นการเปลี่ยนที่รูปแบบ เเต่ไม่ได้เป็นสารสำคัญ
“เรื่องนี้ไม่ได้มีผลกระทบต่อการดำเนินงานของกรุงไทยเเต่อย่างใด เพราะเราวางตัวเป็นธนาคารพาณิชย์ของรัฐมาโดยตลอด เเละจะไม่มีการปลดพนักงานออก”
โดยผยงอธิบายเพิ่มว่า เเม้ธนาคารกรุงไทยจะพ้นจากการเป็นรัฐวิสาหกิจเเล้ว ตามการตีความด้วยสถานะ เเต่ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงใน “ภาคปฏิบัติ” ยังคงเป็นธนาคารพาณิชย์ของกระทรวงการคลังของรัฐบาล ที่มีกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) และกระทรวงการคลัง ถือหุ้นใหญ่กว่า 55% มานานกว่า 30 ปีเเล้ว ซึ่งทุกอย่างก็ยังอยู่เหมือนเดิม
ด้าน “เงินฝากของหน่วยงานรัฐ–รัฐวิสาหกิจ” นั้น ทางกระทรวงการคลังได้เสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบให้หน่วยงานรัฐและรัฐวิสาหกิจฝากเงินกับธนาคารกรุงไทยต่อไปได้ ส่วนผลกระทบด้านอื่นๆ ก็ทยอยความชัดเจนออกมาต่อเนื่อง
ผู้บริหารกรุงไทยเน้นว่า “การปฏิบัติงานต่างๆ เหมือนเดิม ไม่ได้มีอะไรที่แตกต่างไปจากเดิม”
“ตอนนี้เราค้นพบตัวเอง หาทางเดินที่เหมาะสม โดยการเป็นธนาคารพาณิชย์ของรัฐเเห่งเดียวของประเทศไทยที่วางสถานะให้เเข่งขันกับเเบงก์ใหญ่เจ้าอื่นๆ ได้ อยากให้ความมั่นใจเเละไม่ต้องกังวล”
ส่วนกระเเสข่าวที่ว่าจะเป็นการฉวยโอกาสเพื่อเอาพนักงานออกนั้น “ไม่ใช่เรื่องจริง”
โดยการพ้นจากการเป็นรัฐวิสาหกิจ ในด้านสวัสดิการพนักงาน มีเพียงเรื่องเดียวที่จะเปลี่ยนคือ เรื่องการรักษาพยาบาล เนื่องจากพนักงานรัฐวิสาหกิจนั้นจะอยู่ภายใต้ พ.ร.บ. งบประมาณฯ ไม่ต้องเข้า พ.ร.บ. ประกันสังคมเหมือนเอกชน
เเต่เมื่อพ้นสภาพมาเเล้ว ผยงกล่าวว่า “เรื่องนี้ไม่ใช่ปัญหาใหญ่” เพราะเเต่เดิมกรุงไทยก็ไม่ได้ใช้เงินจากงบประมาณแผ่นดินในการดำเนินงาน ดังนั้นธนาคารจะแก้ไขระเบียบภายในให้สามารถปรับการรักษาพยาบาลของพนักงานให้คงสิทธิ์เช่นเดิมได้ โดยได้หารือกับสหภาพเเรงงานถึงการเปลี่ยนเเปลงดังกล่าวเเล้ว เเละเป็นไปด้วยดี
“เราจะยืนอยู่บนตัวตนของเรา เป็นพันธมิตรกับรัฐบาล จับมือกับพาร์ตเนอร์อื่นๆ ที่เข้าใจเราเเละเราเข้าใจเขา ทุ่มลงทุนเทคโนโลยี เเละศึกษาทางเลือกอยู่เสมอ”
เปลี่ยนบริการให้เป็นเซลส์
ช่วงที่ผ่านมา กรุงไทยเริ่มปรับตัวครั้งใหญ่ ด้วยการขยับไปสู่การเป็น Personal Life Banking เข้าไปอยู่ในการใช้ชีวิตของผู้คน ผ่านการยึดโยงทางดิจิทัล เป็น One Stop Service เเละเป็น Omni-Channel
“เราจะเเบงก์ของคนต่างจังหวัด ใกล้ชิดชุมชน เเละจะต่อยอดให้เข้าถึงคนไทยให้ได้มากที่สุดต่อไป”
ส่วนความท้าทายในการขับเคลื่อนองค์กรที่อยู่มานานนั้น ผยงตอบว่า คือการ Reskill, Upskill เพิ่มทักษะยุคใหม่ให้พนักงาน รวมไปถึงการใช้ Data ที่ธนาคารมีอยู่มหาศาลให้มีประสิทธิภาพสูงสุด
โดยต่อไป กรุงไทย มีวิสัยทัศน์ธุรกิจ 5 เเนวทางหลักๆ ได้เเก่
- ประคองธุรกิจหลัก ให้ก้าวผ่านช่วงวิกฤตโลก
- สร้างธุรกิจใหม่ ที่ไม่ใช่เเค่ธุรกรรมธนาคารเเต่ขยายในน่านน้ำอื่นๆ
- ใช้กระดาษน้อยลง ประหยัดพลังงาน ดำเนินงานสาขาอย่างเป็นมิตรกับสิ่งเเวดล้อม
- หาพันธมิตรใหม่ๆ ร่วมมือกันสร้างนวัตกรรม เเละลงทุนในเทคโนโลยี
- ยึดถือสโลเเกน “กรุงไทยเคียงข้างไทย สู่ความยั่งยืน” ช่วยเหลือชุมชน SME เพิ่มทักษะให้พนักงาน
“เรามีการเปลี่ยนบริการให้เป็นเซลส์ (การขาย) เช่น การเพิ่มบริการคอลเซ็นเตอร์ ด้านการทวงหนี้ ติดตามหนี้ ประเมินหลักทรัพย์ต่างๆ ไปให้บริการกับบริษัทอื่นเพื่อเป็นรายได้อีกช่องทางหนึ่ง”
นอกจากนี้ เเต่เดิมกรุงไทยตั้งการใช้งบฯ การลงทุนไว้ที่ 1.4 หมื่นล้าน เเต่ปีนี้ใช้ไปได้เเค่ 7-8 พันล้านจากสถานการณ์โรคระบาด จึงคาดได้ว่าปีหน้าจะมีการ “ทุ่มลงทุน” มากขึ้นอย่างเเน่นอน โดยเฉพาะในส่วนดิจิทัล เพื่อรองรับมาตรการต่างๆ ของรัฐ อย่าง เเอปฯ เป๋าตัง เว็บไซต์ลงทะเบียนคนละครึ่ง เที่ยวด้วยกัน ฯลฯ เเละขยายฐานลูกค้าผู้ใช้เเอปพลิเคชัน Krungthai NEXT จากผู้ใช้ตอนนี้ 9.95 ล้านรายให้ได้ 12 ล้านรายในปีหน้า
ปี 2564 : ประคองธุรกิจ ดูแลสินเชื่อเก่าให้ดีและรอด
ธนาคารพาณิชย์ได้รับผลกระทบหนักจาก COVID-19 ทั้งด้านผลกำไรที่ลดลงเเละราคาหุ้นที่ตกต่ำ เเม้จะผ่านช่วงวิ
กฤตไปเเล้ว เเต่ปีหน้ายังมีความท้าทายสูง จากความเสี่ยง “หนี้เสีย” เเละ “คนตกงาน”
“ไม่ใช่ปีเเห่งกำไร หรือปีเเห่งการเติบโต เเต่เป็นปีเเห่งการรักษาความเเสถียร เน้นดูแลสินเชื่อเก่าให้ดีและรอด” ผยง ศรีวณิช กล่าวถึงทิศทางธุรกิจในปี 2564
โดยมองว่า แผนดำเนินงานในปีหน้าจะยังไม่เน้นการเติบโตของสินเชื่อใหม่มากนัก ตั้งเป้าการเติบโตไว้ที่ 2-3% ใกล้เคียงกับการขยายตัวของจีดีพีไทย
ผยง คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้ จะหดตัวในกรอบ -6% ถึง -7 % ขณะที่ปี 2564 เศรษฐกิจไทยต้องเผชิญกับความไม่แน่นอน จะขยายตัวได้ในกรอบ 2.0% ถึง 4.0%
เเม้เศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวบ้างเเล้ว เเต่ประเทศไทยยังมีปัจจัยเสี่ยงหลายด้าน โดยเฉพาะการพึ่งพาการท่องเที่ยวที่มีสัดส่วนกว่า 10% ของจีดีพี เเต่ยังฟื้นตัวจำกัด ยังไม่สามารถว่าจะมีนักท่องเที่ยวกลับมาได้เท่าใดเเละเมื่อไหร่ ขึ้นอยู่กับการพัฒนาเเละกระจายจายวัคซีน
ดังนั้น ธนาคารจึงต้องเน้นไปที่การประคองเศรษฐกิจ นำเสนอบริการที่เเยกตามกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น ระวังตลาด
เเรงงานที่ยังเปราบาง อัตราว่างงานสูง ระวังความเสี่ยงจากหนี้เสีย (NPL) ซึ่งตอนนี้ของ KTB อยู่ที่ราว 4% นิดๆรวมไปถึงความเสี่ยงจากหนี้ครัวเรือนด้วย
“ประเทศไทยจะลดหนี้ครัวเรือนไม่ได้ หากไม่เพิ่มรายได้ให้ประชาชน…”
ช่วงที่ผ่านมา ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบขาก COVID-19 ที่เข้าร่วมมาตรการช่วยเหลือของกรุงไทย คิดเป็น 18% ของสินเชื่อรวมที่ระดับ 1.8 ล้านล้านบาท ถือว่าไม่มากนัก เมื่อเทียบกับธนาคารอื่นจะอยู่ที่ราว 30-40% ปัจจัยหลักๆ มาจากลูกค้าเป็นกลุ่มข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ ที่ไม่ได้รับผลกระทบเรื่องรายได้ ส่วนสินเชื่อรายย่อยส่วนใหญ่ก็ไม่ได้เชื่อมโยงไปยังซัพพลายเชนธุรกิจอื่นๆ มากนัก
“ภาครัฐยังเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปีหน้า ต้องกระตุ้นกำลังซื้อภาคครัวเรือนให้ความต่อเนื่อง ทั้งโครงการคนละครึ่ง เที่ยวด้วยกัน ช้อปดีมีคืน”
ผยง บอกอีกว่า การเบิกจ่ายงบประมาณและการลงทุนของภาครัฐในโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ จะเป็นแรงสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจ และสร้างความเชื่อมั่นของนักลงทุน รวมถึงยกระดับความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจไทยในระยะยาว
@ลุยต่อ “คนละครึ่ง” คาดเเห่ลงเฟส 2 ถึง 10 ล้านคน
หนึ่งในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่กำลังได้รับความนิยมอยู่ ณ ขณะนี้ คงหนีไม่พ้น “โครงการคนละครึ่ง” ที่ส่งเสริมให้พ่อค้าเเม่ค้ารายย่อยมีรายได้มากขึ้น โดยภาครัฐจะช่วยออกค่าใช้จ่ายให้ครึ่งหนึ่ง แต่ไม่เกิน 150 บาทต่อคนต่อวัน หรือไม่เกิน 3,000 บาท ตลอดระยะเวลาโครงการ ภายใต้วงเงินอุดหนุน 30,000 ล้านบาท ตั้งแต่วันที่ 23 ต.ค.-31 ธ.ค. (เฟสเเรก)
ล่าสุด “เฟส 2” จะเริ่มให้ใช้สิทธิในวันที่ 1 ม.ค. – 31 มี.ค. 2564 ขยายวงเงิน 3,500 บาทต่อคน และเพิ่มวงเงินให้แก่ผู้ได้รับสิทธิในเฟสแรกอีก 500 บาทต่อคน เปิดให้ลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ www.คนละครึ่ง.com ตั้งแต่วันที่ 16 ธ.ค.นี้ เป็นต้นไป
“เรากำลังเร่งฝ่ายไอทีให้ตรวจสอบเสถียรภาพ ไม่ให้เกิดปัญหาคอขวด แม้ว่าจะเปิดรับลงทะเบียนเพียง 5 ล้านคน แต่เชื่อว่าจะมีผู้สนใจมาลงทะเบียนสูงถึง 10 ล้านคน”
โดยมีการปรับปรุงระบบการลงทะเบียนหน้าเว็บไซต์ ให้สามารถรองรับผู้ใช้งานได้มากขึ้นจาก 200,000 คน ต่อการเข้าใช้งาน 1 ครั้ง เป็น 500,000-1,000,000 คน ต่อการใช้งานในแต่ละครั้ง พร้อมประสานกับผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ ในการเพิ่มประสิทธิภาพและความรวดเร็วของระบบการส่งข้อความยืนยัน โอทีพี (OTP) ผ่าน SMS
ส่วนผู้เข้าร่วมโครงการในเฟสเเรก แล้วต้องการ “ต่อสิทธิ์อัตโนมัติ” รัฐบาลจะมีการเพิ่มปุ่มหรือส่งข้อความให้ผู้ลงทะเบียนเฟส 1 ยืนยันว่าจะเข้าร่วมมาตรการต่อในเฟส 2 หรือไม่ ขณะที่ผู้ที่ถูกตัดสิทธิ์จากโครงการคนละครึ่ง เฟสเเรก เนื่องจากไม่ได้ใช้จ่ายภายใต้โครงการภายในวันที่กำหนดไว้ สามารถลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการเฟส 2 ได้
สำหรับโครงการ “คนละครึ่ง” ณ วันที่ 2 ธันวาคม 2563 มีร้านค้าลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 8.9 แสนร้านค้า และมีผู้ใช้สิทธิแล้วจำนวน 9.5 ล้านคน มียอดการใช้จ่ายสะสม 33,754 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินที่ประชาชนจ่าย 17,236 ล้านบาท และภาครัฐร่วมจ่ายอีก 16,518 ล้านบาท ยอดใช้จ่ายเฉลี่ย 181 บาทต่อครั้ง
ส่วนจังหวัดที่มีการใช้จ่ายสะสมมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สงขลา นครศรีธรรมราช ชลบุรี และเชียงใหม่ โดยผู้ประกอบการร้านค้ายังคงสมัครเข้าร่วมโครงการได้อย่างต่อเนื่อง