หนี้ครัวเรือนไทยพุ่งต่อเนื่อง สวนเศรษฐกิจซบเซา Q2/63 กระฉูด 83.8% ต่อ GDP แตะระดับสูงสุดรอบ 18 ปี ห่วงคนตกงานพุ่ง ประชาชนขาดรายได้ ฉุดคุณภาพหนี้
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยข้อมูลสถิติ เกี่ยวกับเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือน หรือ “หนี้ครัวเรือน” ในไตรมาส 2/2563 พบว่า ปรับตัวมาอยู่ที่ 83.8% ต่อ GDP สูงขึ้นต่อเนื่องจากในไตรมาส 1/2563 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 80.1% ต่อ GDP
โดยยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น 92,182 ล้านบาท ในไตรมาส 2/2563 มาอยู่ที่ 13,587,996 ล้านบาท นำโดยหนี้กับสถาบันการเงินเฉพาะกิจและธนาคารพาณิชย์ ที่มีจำนวน 3.84 ล้านล้านบาท และ 5.79 ล้านล้านบาท ตามลำดับ
การที่ระดับหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นสวนทางเศรษฐกิจไทยที่หดตัว เป็นภาพตอกย้ำวังวนของภาระหนี้สูง ซึ่งมาพร้อมกับฐานะทางการเงินของประชาชนและครัวเรือนที่อ่อนแอลงในวงกว้าง โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีความเสี่ยงด้านรายได้และเสี่ยงตกงาน
หนี้ครัวเรือน มีเเนวโน้มพุ่งเเตะ 88-90% ในสิ้นปีนี้
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ออกบทวิเคราะห์ต่อกรณีนี้ว่า ทิศทางหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นสะท้อนให้เห็นภาพ 2 ด้านที่แตกต่างกัน เพราะในขณะที่ประชาชนและครัวเรือนบางกลุ่มก่อหนี้เพิ่มขึ้น เช่น สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย แต่ก็ยังมีประชาชนและครัวเรือนอีกหลายกลุ่มที่ต้องรับมือกับปัญหาขาดสภาพคล่องและต้องการมาตรการช่วยเหลือจากสถาบันการเงิน
โดยหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นในไตรมาสที่ 2/2563 สะท้อนสถานการณ์ของกลุ่มลูกหนี้รายย่อย 2 กลุ่ม ดังนี้
กลุ่มแรก คือ กลุ่มครัวเรือนที่ยังพอมีกำลังซื้อ (รายได้ไม่ได้รับผลกระทบมากนักจากปัญหาเศรษฐกิจในปัจจุบัน และยังมีความสามารถในการชำระหนี้สอดคล้องกับเกณฑ์มาตรฐานการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน) มีการก่อหนี้ก้อนใหญ่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสินเชื่อที่อยู่อาศัย สะท้อนจากสินเชื่อบ้านปล่อยใหม่ที่เพิ่มขึ้นราว 1.42 แสนล้านบาทในไตรมาสที่ 2/2563 (สูงกว่ายอดปล่อยใหม่ในไตรมาสแรกที่ 1.38 แสนล้านบาท) ซึ่งเป็นช่วงที่ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ผลักดันแคมเปญออกมาเพื่อจูงใจการตัดสินใจของลูกค้า
กลุ่มที่สอง คือ กลุ่มครัวเรือนที่เผชิญปัญหาการขาดสภาพคล่องจากผลกระทบของปัญหาเศรษฐกิจ ส่วนหนึ่งสะท้อนผ่านข้อมูลลูกหนี้รายย่อยที่รับความช่วยเหลือจากสถาบันการเงิน โดยเฉพาะมาตรการระยะแรกที่มีการพักชำระหนี้และลดภาระผ่อนต่อเดือน ซึ่งจำนวนบัญชีลูกหนี้รายย่อยที่เข้าโครงการระยะแรกมีถึง 11.5 ล้านบัญชี (33% ของบัญชีลูกหนี้รายย่อยทั้งหมด) คิดเป็นภาระหนี้ประมาณ 3.8 ล้านล้านบาท (28% ของยอดคงค้างหนี้ครัวเรือน) นอกจากนี้ ปัญหาการขาดสภาพคล่องยังทำให้ครัวเรือนบางส่วนจำเป็นต้องก่อหนี้เพิ่มขึ้น เพื่อการดำรงชีพและสำหรับรองรับรายจ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวันด้วยเช่นกัน
“ปัญหาหนี้ครัวเรือนจะยังเป็นหนึ่งในมาตรวัดที่สะท้อนความเปราะบางเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจไทย โดยหนี้ครัวเรือนมีแนวโน้มขยับขึ้นมาอยู่ที่กรอบ 88-90% ต่อ GDP ภายในสิ้นปี 2563 จากระดับ 83.8% ต่อจีดีพีในไตรมาส 2/2563”
คนตกงาน-ขาดรายได้ ฉุดคุณภาพหนี้
จากสถานการณ์เศรษฐกิจไทย ที่มีแนวโน้มหดตัวลงในครึ่งปีหลัง ขณะที่สินเชื่อรายย่อย โดยเฉพาะในกลุ่มสินเชื่อบ้านและสินเชื่อรถยนต์ ที่คาดว่าจะยังเติบโตในกลุ่มครัวเรือนที่มีกำลังซื้อและมีความสามารถในการชำระคืนหนี้ อาจทำให้ระดับหนี้ครัวเรือนยังเติบโตต่อเนื่อง แม้จะเป็นอัตราที่ชะลอลงเมื่อเทียบกับที่เติบโต 5.1% ในปี 2562
“ผลกระทบจากเศรษฐกิจทำให้ความสามารถในการชำระคืนหนี้ของครัวเรือนหลายกลุ่มด้อยลง ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง”
อย่างไรก็ดี มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อย (ทั้งมาตรการเฟสสอง และมาตรการรวมหนี้) รวมถึงมาตรการเฉพาะของสถาบันการเงินแต่ละแห่งที่จะดำเนินการเพิ่มเติม และการเร่งปรับโครงสร้างหนี้ อาจช่วยบรรเทาภาระให้แก่ครัวเรือนในหลายๆ ส่วน ในช่วงที่ยังต้องรอเวลาให้เศรษฐกิจทยอยฟื้นกลับสู่ภาวะปกติ
นอกจากนี้ อัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำลง (ทั้งอัตราดอกเบี้ยรายย่อยชั้นดี หรือ MRR ตลอดจนการลดเพดานอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพ) ยังช่วยให้ภาระทางการเงินของลูกหนี้เบาตัวลงด้วยเช่นกัน แต่ในท้ายที่สุดแล้ว ประเด็นการมีงานทำและรายได้ของครัวเรือนจะยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะกำหนดคุณภาพของหนี้ครัวเรือน โดยเฉพาะความสามารถในการชำระหนี้