“ช้อปดีมีคืน” ช่วยได้ แต่ยังไม่สุด! “เดอะมอลล์” หนุนรัฐเปิดรับนักท่องเที่ยวเพิ่ม

  • เดอะมอลล์ กรุ๊ป ประเมินกำลังซื้อไตรมาส 4 ปีนี้กระเตื้องขึ้นจากแคมเปญภาครัฐ “ช้อปดีมีคืน” และ “คนละครึ่ง” พบลูกค้าของเครือ 25% ร่วมโครงการช้อปดีมีคืน คาดสถานการณ์ค้าปลีกไทยจนถึงสิ้นปีหดตัว -6% ซึ่งน้อยลงกว่าเดิมที่คาดว่าจะหดตัว -7.8-7.9%
  • ขณะที่ยอดขายของเดอะมอลล์ กรุ๊ป น่าจะแตะเป้า 50,000 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน -4% โค้งท้ายปีบริษัทเตรียมงบ 250 ล้านบาทอัดโปรโมชันจัดเต็ม แม้ลดจำนวนอีเวนต์ลง
  • อย่างไรก็ตาม มองยาวถึงปี 2564 สถานการณ์ค้าปลีกน่าจะยังติดลบ หากรัฐบาลยังไม่มีนโยบายรับนักท่องเที่ยวเข้าประเทศเพิ่ม

“วรลักษณ์ ตุลาภรณ์” ผู้บริหารสูงสุดฝ่ายการตลาด บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด เปิดเผยว่า กำลังซื้อผู้บริโภคช่วงไตรมาส 4/63 เห็นสัญญาณบวกตั้งแต่เดือนตุลาคม และยิ่งได้แรงกระตุ้นจากภาครัฐ ทั้งแคมเปญ “ช้อปดีมีคืน” และ “คนละครึ่ง” ทำให้ยอดขายดีขึ้น

โดยพบว่าลูกค้าเดอะมอลล์ กรุ๊ป 25% จะใช้สิทธิช้อปดีมีคืน วัดจากการขอใบกำกับภาษี ซึ่งสัดส่วนนี้เก็บข้อมูลจากช่วง 10 วันแรกหลังรัฐประกาศใช้นโยบาย แต่เชื่อว่าจนถึงสิ้นปีจะมีลูกค้าสัดส่วน 35% ที่ร่วมโครงการช้อปดีมีคืน เพราะเริ่มทราบข้อมูลนโยบายมากขึ้น และศูนย์การค้าจะมีโปรโมชันกระตุ้นควบคู่กันในช่วงเดือนธันวาคมนี้

“ภาพรวมค้าปลีกปีนี้น่าจะจบที่ -6% ซึ่งดีขึ้นจากเดิมคาดว่าจะติดลบ -7.8-7.9% เพราะภาครัฐมีมาตรการช่วย และเอกชนต่างก็ร่วมด้วยช่วยกันในการใช้แคมเปญทิ้งโค้งท้ายปี ทำให้ลูกค้าหนึ่งคนจะได้โปรโมชันหลายต่อมาก” วรลักษณ์กล่าว

“วรลักษณ์ ตุลาภรณ์” ผู้บริหารสูงสุดฝ่ายการตลาด บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด

 

เป้าหมาย 50,000 ล้าน อัดโปรโมชันท้ายปีแต่ลดอีเวนต์

สำหรับเดอะมอลล์ กรุ๊ป ตั้งเป้าจะเพิ่มทราฟฟิก 20% จากช่วงเวลาปกติในเทศกาลช้อปปลายปี และวางเป้ายอดขายปี 2563 ไว้ที่ 50,000 ล้านบาท ซึ่งลดลง -4% จากปี 2562 ที่ทำได้ 52,000 ล้านบาท เห็นได้ว่าสถานการณ์ดีกว่าตลาดเล็กน้อย

วรลักษณ์กล่าวถึงภาพรวมของเดอะมอลล์ กรุ๊ปปีนี้ พบว่าทราฟฟิกเข้าศูนย์ฯ ที่ไม่ได้อยู่ในแหล่งท่องเที่ยวส่วนใหญ่ยังปกติ แต่ลูกค้ามีการใช้จ่ายต่ำลง ทำให้ยอดขายลดลงบ้าง

“ปีนี้โจทย์ไม่เหมือนปีก่อนๆ ที่แต่ละแห่งช่วยกันเร่งให้กำลังซื้อโต แต่ปีนี้เป็นการ ‘switch’ คือทำอย่างไรให้ลูกค้าที่มีงบการซื้อเท่าเดิมมาเลือกใช้งบนั้นกับเราเป็นหลัก” วรลักษณ์กล่าว

ของสมนาคุณในเทศกาลช้อปปิ้ง Happier Together 2021 ของ เดอะมอลล์ กรุ๊ป

ดังนั้น โค้งท้ายปีซึ่งเป็นเทศกาลช้อปปิ้งจะเป็นช่วงสำคัญ เดอะมอลล์ กรุ๊ปได้จัดสรรงบการตลาดไว้อัดในช่วงนี้ 250 ล้านบาท ยาวตั้งแต่ 30 พ.ย. 63 – 6 ม.ค. 64 รวมส่วนลดและของรางวัลมูลค่ากว่า 100 ล้านบาท มีรางวัลใหญ่สุดคือช้อปครบทุก 1,000 บาทได้สิทธิลุ้นรับรถยนต์ Toyota Majesty มูลค่ากว่า 1.9 ล้านบาท

พร้อมกับจะมีการจัดอีเวนต์อีกหลายงานในศูนย์ฯ ทั่วประเทศ โดยมีงานที่จะเป็นแลนด์มาร์กในช่วงนับถอยหลังส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ 2021 คือ The Mall Korat Countdown Presented by Singha ปีนี้จัดมินิคอนเสิร์ตจาก “จินตหรา พูนลาภ” และวง Tattoo Color จับแฟนเพลงทั้งสองแนวไว้ในเวทีเดียว

อย่างไรก็ตาม วรลักษณ์ยอมรับว่าปีนี้มีการลดงบการตลาดลงจากไตรมาส 4 ปีก่อนเคยใช้งบถึง 400 ล้านบาท ส่วนที่ยังอยู่ครบคือโปรโมชันกระตุ้นการจับจ่าย แต่อีเวนต์มีการลดจำนวนการจัดงานลงราวครึ่งหนึ่ง จะเน้นการจัดงานในศูนย์ฯ ที่มีศักยภาพเป็นหลัก เช่น เดอะมอลล์ไลฟ์สโตร์ งามวงศ์วาน ซึ่งรีโนเวตเสร็จใหม่ทำให้ลูกค้าต้องการมาเยี่ยมชมอยู่แล้ว หรือ เดอะมอลล์ บางแค ซึ่งได้อานิสงส์จากรถไฟฟ้า MRT เปิดบริการปีนี้ จึงมีทราฟฟิกสูงขึ้น

 

วอนรัฐเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวเพิ่ม

อย่างไรก็ตาม เมื่อถามถึงปี 2564 วรลักษณ์มองว่าสถานการณ์อาจจะติดลบน้อยลง แต่จะยังไม่กลับมาเป็นบวกแน่นอน หากยังไม่มีความคืบหน้าเรื่องการเปิดรับนักท่องเที่ยวเพิ่มจากที่มีในปัจจุบัน

“จะหยุดติดลบต้องรอให้เปิดประเทศ เพราะเป็นไปไม่ได้ที่คนไทยจะใช้จ่ายมากจนชดเชยส่วนที่นักท่องเที่ยวหายไปได้” วรลักษณ์กล่าว

“Expat Fair : Expat Festive Deal 2020” เพิ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 20 – 22 พฤศจิกายน 2563 โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ที่ศูนย์ฯ เอ็มควอเทียร์ เจาะกลุ่ม Expat โดยตรง

นักท่องเที่ยวที่เคยเข้ามาปีละ 30-40 ล้านคน ทำให้กำลังซื้อส่วนนี้หายไปอย่างมาก แม้ว่าคนไทยกระเป๋าหนักที่ไม่สามารถออกไปเที่ยวต่างประเทศได้ จะหันมาช้อปในประเทศทดแทนโดยเฉพาะกลุ่มแบรนด์เนม แต่ก็ยังไม่สามารถชดเชยได้ทั้งหมด

สำหรับเดอะมอลล์ กรุ๊ป จะมีศูนย์การค้าที่กระทบแรงจากกลุ่มนักท่องเที่ยวหดหายคือ “สยามพารากอน” ซึ่งปกติมีนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนคิดเป็น 40% และ “เอ็มโพเรียม-เอ็มควอเทียร์” ปกติมีนักท่องเที่ยวและกลุ่ม expat สัดส่วน 20% รวมไปถึง “บลูพอร์ต หัวหิน” ก็ซบเซามากเช่นกัน ส่วนเดอะมอลล์นั้นกระทบน้อย มีนักท่องเที่ยวไม่ถึง 5% เพราะสาขาของเดอะมอลล์ส่วนใหญ่อยู่ในทำเลขอบเมือง ชานเมือง อยู่แล้ว

วรลักษณ์แจกแจงว่า นักท่องเที่ยวที่หายไปไม่ได้มีผลกระทบทางตรงเท่านั้น แต่ยังมีผลทางอ้อมกับคนไทยที่อยู่ในอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องต่างๆ เช่น การบิน โรงแรม โรงพยาบาลเอกชนที่รับคนไข้ต่างชาติ ร้านอาหารกินดื่มในย่านต่างชาติ คนกลุ่มนี้จะขาดกำลังซื้อไปมาก

ดังนั้น มาตรการรัฐที่มีขณะนี้ถือว่าดีและทั่วถึงกับคนไทยทุกคนแล้ว แต่หวังว่าปีหน้าจะมีนโยบายขยายรับนักท่องเที่ยวกลุ่มพิเศษมากขึ้น เช่น นโยบาย Travel Bubble กับบางประเทศ

“มีนักท่องเที่ยวมากมายที่อยากจะเข้ามา เพียงแต่เราต้องมีมาตรการที่เขาเข้ามาแล้ว คนในประเทศเรายังสุขภาพดี มันไม่ง่าย แต่ก็คงไม่ยากจนเกินไป” วรลักษณ์กล่าว