รู้จัก ‘แม่ไก่’ ไส้กรอกอีสาน 300 ล้าน เปลี่ยนวิกฤต COVID-19 เป็นโอกาสทำเงิน

‘ไส้กรอกอีสานแม่ไก่’ แบรนด์ไส้กรอกอีสานที่รู้จักกันทั่วประเทศ ที่ดำเนินธุรกิจมาเป็นระยะเวลากว่า 14 ปี มียอดจัดส่งวันละ ‘10 ตัน’ ดังนั้นเชื่อว่าหลายคนคงเคยได้ลิ้มชิมรสมาแล้ว แต่อย่างที่รู้กันว่าการระบาดของ ‘COVID-19’ นั้นส่งผลกับหลายอุตสาหกรรมโดยเฉพาะการท่องเที่ยวและบริการซึ่งรวมถึง ‘อุตสาหกรรมอาหาร’ และ ‘แม่ไก่’ ก็เป็นหนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบจนทำให้แม่ไก่เกิดไอเดียใหม่ ๆ ในการต่อยอดธุรกิจเดิมไปสู่ ‘ธุรกิจใหม่’ ในรอบ 14 ปี

COVID-19 ทำยอดหาย 40%

จาก ‘แม่ค้าเขียงหมู’ สู่ ‘ไส้กรอกอีสานแม่ไก่’ ที่ดำเนินธุรกิจมาเกือบ 14 ปี มียอดจัดส่งวันละ ’10 ตัน’ กลายเป็นไส้กรอกอีสานที่มียอดขายปีละ ‘300 ล้านบาท’ แต่เพราะ COVID-19 ที่ผ่านมามันส่งผลกระทบแน่นอน เพราะลูกค้าไส้กรอกอีสานส่วนใหญ่เป็น ‘แรงงาน’ ดังนั้น เมื่อเกิดการล็อกดาวน์ต่าง ๆ ส่งผลให้คนเริ่มมีงานน้อยลง หรือบางคนถึงขั้นตกงานทำให้ไม่มีรายได้แต่ ‘ภาระเท่าเดิม’

ซึ่งผลกระทบจากตรงนั้นทำให้รายได้ของแม่ไก่หายไปถึง 40% แถมตนเองยังต้องกักตัวอยู่บ้านถึง 90 วันเพราะไปในสถานที่ที่มีผู้ติดเชื้อ ส่งผลให้แม่ไก่ หรือ ‘กรรณิการ์ สิริทรัพย์เพิ่มโชค’ ต้องมาคิดหาทางใหม่ในการทำธุรกิจ แต่ต้องไม่ใช่แค่ตัวเองอยู่ได้ แต่สังคมต้องรอดไปด้วย

ธนพล โวหารบัณฑิตย์ และ กรรณิการ์ สิริทรัพย์เพิ่มโชค

ต่อยอดสู่โมเดล ‘ตลาดนัด 20 บาท’

เมื่อ COVID-19 ทำให้คนใช้เงินน้อยลง แม่ค้าขายของยากขึ้น ดังนั้น เราจึงคิดโมเดลทำ ‘ตลาดนัด 20 บาท’ สำหรับขายอาหารแช่แข็ง โดยต่อยอดจากมาตรฐานของโรงงานผลิตไส้กรอก ประกอบกับพันธมิตรด้านวัตถุดิบโดยส่งวัตถุดิบมารีแพ็กขาย 20 บาท อาทิ กุ้ง, ปลาหมึก, ปลา, หอย, หมูสไลด์ และผักต่าง ๆ ปัจจุบันเรามี 2 รูปแบบคือ ‘หมูกระทะ’ และ ‘ชาบู’ รวมสินค้าทั้งหมดประมาณ 200 SKU และภายในธันวาคมจะขยายไปในกลุ่ม ‘ซูชิ’

“เขามีเงินน้อยลง แต่เขาก็ยังต้องกิน ดังนั้น เขาสามารถมาซื้อของสดของเราไปใส่มาม่า ไปทำชาบูกินได้ทั้งครอบครัว ดีกว่ากำเงิน 100 บาทไปซื้อหมู 1 กิโลฯ แต่ 100 บาทที่ร้านเราเขากินได้หลากหลาย”

ปัจจุบันร้านตลาดนัด 20 บาท มี 1 สาขาที่บางแค โดยเป็นร้านค้าต้นแบบเปิดเมื่อ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม เป้าหมายของร้านดังกล่าวจะขยายเป็น ‘แฟรนไชส์’ เพื่อกระจายไปสู่ย่านชุมชนโดยจะเน้นไปที่ทำเลใกล้แหล่งชุมชน โรงงาน และสถานศึกษา โดยเน้นขายแฟรนไชส์ให้รายย่อยเป็นหลัก เพื่อให้คนที่ตกงานสร้างอาชีพได้ ทั้งนี้ รูปแบบแฟรนไชส์มี 2 แบบ 1.หน้าร้าน ราคา 490,000 บาท 2.ตู้แช่ ราคา 89,000 บาท โดยตั้งเป้าหมายการขยายแฟรนไชส์ไว้ที่ 30 รายในปีหน้า ส่วนโมเดลตู้ตั้งเป้าที่ 400 จุด โดยจะเน้นที่กรุงเทพฯ และหัวเมืองหลักก่อน ปัจจุบันมีคนสนใจ 203 ราย

“เราอยากจะช่วยร้านค้าให้ขายของได้มากขึ้น แล้วเราก็ช่วยให้ผู้บริโภคได้เข้าถึงของดีราคาถูก อย่างที่ประเทศลาวมีคนขอซื้อ License แต่เราไม่ได้ขายเพราะเราอยากช่วยรายย่อยมากกว่า ซึ่งเรามั่นใจว่าแฟรนไชส์จะสามารถคืนทุนได้ภายใน 1 ปีครึ่ง โดยรายได้ควรอยู่ที่ประมาณ 3 ล้านบาท/เดือน/สาขา กำไร 25%”

‘แม่ไก่ค้าส่ง’ ครบเครื่องเรื่องสตรีทฟู้ด

อีกโมเดลที่เกิดขึ้นในช่วง COVID-19 ก็คือ ‘แม่ไก่ค้าส่ง’ เนื่องจากเรามีลูกค้า 1,000 รายที่ซื้อไส้กรอกอีสานในมือ (เป็นพ่อค้าแม่ค้าร้านรถเข็น) และจุดแตกต่าง คือ การเข้าใจตลาดของธุรกิจอาหารสตรีทฟู้ดเป็นอย่างดี ดังนั้น เพื่อเพิ่มยอดขายให้ร้านค้าเราจึงจับมือพันธมิตรเพิ่มไลน์ค้าส่งสินค้าปิ้งย่างรถเข็น อาทิ ไส้กรอก,หมูปิ้ง, ไก่ปิ้ง, ไส้อั่ว และอื่น ๆ ราคาไม่เกิน 20 บาท ดังนั้น ร้านรถเข็นจะมีสินค้าหลากหลายโดยไม่ต้องไปหาเอง

ปัจจุบันมีศูนย์กระจายสินค้าแม่ไก่ค้าส่งของตัวเอง 3 จุด ได้แก่ บางแค, อุดรธานี และตลาด 4 มุมเมือง และภายในปีนี้จะเปลี่ยนจากตัวแทนจำหน่ายดั้งเดิม 10 ราย จาก 21 รายใน 44 จังหวัด เป็นศูนย์แม่ไก่ค้าส่ง นอกจากนียังมีคนสนใจเปิดศูนย์กระจายสินค้าแม่ไก่ค้าส่งเพิ่มอีก 7 ราย โดยเราตั้งเป้าขยายศูนย์แม่ไก่ค้าส่งให้ครบ 76 จังหวัด รวมถึง CLMV

“เราทำตัวเองเหมือนซูเปอร์มาร์เก็ตโดยใช้ชื่อแม่ไก่เป็นตัวดึงดูดแบรนด์ต่าง ๆ ให้มาเข้าร่วมด้วย เพราะเรารู้ว่าพอเจอ COVID-19 ไม่ใช่เราคนเดียวที่กระทบ แต่พาร์ตเนอร์เราก็กระทบเพราะส่งออกไม่ได้ ดังนั้นทั้งโมเดลตลาดนัด 20 บาท และแม่ไก่ค้าส่งจะช่วยให้เขาขยายตลาด”

เพิ่มบริการ ‘Cloud Fulfillment’ 

นอกจากนี้ เรายังได้ต่อยอดเป็นบริการ ‘Cloud Fulfillment’ โมเดลธุรกิจในรูปแบบศูนย์กระจายสินค้าที่ช่วยจัดเก็บ แพ็ก และส่ง เพื่อช่วยตอบโจทย์ในเรื่องการกระจายสินค้า รวมถึงรับจ้างผลิต (OEM) เพื่อลดภาระปัญหาที่จุกจิกเรื่องการจัดส่งให้กับเจ้าของกิจการที่ต้องเจอปัญหาการแพ็กของ การจัดส่ง และปัญหาจุกจิกหลังบ้าน โดยที่ผ่านมารับผลิตข้าวกล่องให้ ‘หมูทอดเจ๊จง’ 3,600 กล่อง/วัน พร้อมส่งให้ร้านสะดวกซื้อและห้างสรรพสินค้า มีร้าน ‘โลโซโตเกียว’ จ้างเราทำแป้ง

เป้าหมาย ‘Hub Street Food’ ใน 10 ปี

ที่ผ่านมา ไส้กรอกแม่ไก่มีการใช้เงินลงทุนหมุนเวียนทั้งปี แต่จากการขยายธุรกิจใหม่ ๆ อาทิ ซื้อรถเพื่อทำด้านโลจิสติกส์, การทำการตลาด และลงทุนเครื่องจักรต่าง ๆ รวมกันประมาณ 20 ล้านบาท

“ที่ผ่านมาเราไม่เคยต้องลงทุนเอง เพราะเราได้เงินสดภายใน 24 ชั่วโมงหมุนเวียนกันไป พอสิ้นเดือนเราก็จะเห็นกำไร แต่พอทำธุรกิจใหม่เราเลยต้องควักเงินเก็บเพื่อลงทุน”

จากบิสซิเนสโมเดลใหม่ ๆ ของเรา ทั้งแม่ไก่ค้าส่ง, ตลาดนัด 20 บาท และการทำ Cloud Fulfillment รวมถึง OEM ต่าง ๆ จะทำให้เรามีรายได้ 2,000 ล้านบาทในปีหน้า และภายใน 10 ปี เรามั่นใจว่าจะเป็น ‘Hub of Street Food’ ของประเทศไทย

“เรามองว่า COVID-19 เป็นตัวเร่งปฏิกิริยา เพราะเราอยู่เรื่อย ๆ มานาน ขายแค่ไส้กรอกได้ปีละ 300 ล้านบาท จนมายอดตก 40% ดังนั้นเราจึงลุกมาเปลี่ยนแปลง แต่ต้องมีสติ ต้องวางแผน และต้องสามารถพัฒนาธุรกิจเพื่อช่วยเหลือและยกระดับคุณภาพชีวิตคนในสังคม