อินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ : ช่องว่างการตลาดสูง…ผู้ให้บริการเร่งพัฒนาโครงข่ายช่วงชิงความได้เปรียบ

อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง1 หรือบรอดแบนด์ ก้าวมามีบทบาทสำคัญในการติดต่อสื่อสารแทนที่อินเทอร์เน็ตความเร็วต่ำที่อาจตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้ในปัจจุบันได้ไม่มากนัก นอกจากนี้จากการที่อัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตในประเทศที่ยังอยู่ในระดับต่ำ ยังแสดงถึงโอกาสในการขยายตลาดได้อีกมาก ดังนั้นคาดว่าในปีนี้การลงทุนด้านโครงข่ายน่าจะถือเป็นภารกิจหลักของผู้ให้บริการ เพื่อที่จะรองรับปริมาณการใช้งานที่เพิ่มขึ้น และเพื่อขยายขอบเขตการให้บริการอันจะนำมาซึ่งการบุกตลาดใหม่ก่อนคู่แข่ง อีกทั้งยังอาจช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดในกลุ่มผู้ใช้เดิมที่มีมูลค่านับหมื่นล้านบาทได้ด้วย

แนวโน้มการใช้บริการ…นักท่องเน็ตต้องการความเร็วที่เพิ่มขึ้น

ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีก่อให้เกิดคอนเทนต์ และแอพพลิเคชั่นใหม่ๆที่ช่วยเพิ่มลูกเล่น และความหลากหลายในการทำกิจกรรมบนโลกออนไลน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้าสู่เทคโนโลยี Web 2.0 ที่สนับสนุนการใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กที่ได้รับความนิยมอย่างมากในปัจจุบัน ที่มีทั้งการเผยแพร่คลิปวีดีโอ การสร้างความสัมพันธ์กันเป็นเครือข่าย รวมถึงการเล่นเกมส์ออนไลน์แบบโต้ตอบกันได้ทันที (Interactive)

การใช้งานดังกล่าวย่อมต้องอาศัยอินเทอร์เน็ตที่มีความเร็วเพียงพอที่จะช่วยให้กระบวนการ ดาวน์โหลด และอัพโหลดเป็นไปอย่างรวดเร็ว ดังนั้นผู้ลงทะเบียนใช้อินเทอร์เน็ตความเร็วต่ำ (narrowband) บางส่วนจึงหันไปใช้ บรอดแบนด์กันมากขึ้น ส่งผลให้ในปี 2552 จำนวนผู้ลงทะเบียนอินเทอร์เน็ตความเร็วต่ำลดลงอย่างต่อเนื่องจนมีจำนวนเพียง 742,000 ราย ในขณะที่จำนวนผู้ลงทะเบียนบรอดแบนด์ขยายตัวต่อเนื่องมาอยู่ที่ 2,295,000 ราย หรือมีอัตราการขยายตัวไม่ต่ำกว่าร้อยละ 30 ต่อปี ซึ่งส่วนหนึ่งคือผู้ลงทะเบียนใช้อินเทอร์เน็ตรายใหม่ที่เพิ่งเข้ามาในตลาด

นอกจากนี้ในตลาดบรอดแบนด์เอง ผู้ลงทะเบียนก็มีแนวโน้มปรับระดับความเร็วให้เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 4-5 Mbps จากเดิมที่นิยมที่ระดับต่ำกว่า 3 Mbps อีกทั้งยังพบว่า ผู้ลงทะเบียนบรอดแบนด์ร้อยละ 5.1 ใช้ความเร็วถึง 8 Mbps ซึ่งคาดว่าอนาคตอันใกล้น่าจะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า นอกจากความต้องการของผู้บริโภคในการใช้อินเทอร์เน็ตความเร็วที่เพิ่มขึ้นแล้ว ปัจจัยหนึ่งที่ผลักดันให้สัดส่วนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ความเร็วตั้งแต่ 3 mbps ขึ้นไป เติบโตอย่างก้าวกระโดด คือ กลยุทธ์การปรับระดับความเร็วบรอดแบนด์ให้แก่ลูกค้า โดยยังคงค่าบริการเท่าเดิม ซึ่งกลยุทธ์ดังกล่าวอาจมีผลให้ผู้ให้บริการต้องเผชิญความยากลำบากในการเพิ่มรายได้ต่อเลขหมาย ที่ปัจจุบันอยู่ที่ 700-725 บาท/ราย/เดือน ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2549
นอกจากนี้การขยายตัวของบรอดแบนด์ที่รองรับการใช้อินเทอร์เน็ตในระดับที่สูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคโนโลยีบรอดแบนด์ไร้สาย (wireless) ที่ผู้ใช้สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้หลายจุดภายในพื้นที่ที่มีสัญญาณ ส่งผลให้แต่ละปีจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นสูงกว่าจำนวนผู้ลงทะเบียน โดยในปี 2552 การลงเบียนอินเทอร์เน็ต 1 ราย จะมีผู้ใช้ถึงประมาณ 6 คน ซึ่งน่าจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่กดดันให้อัตราการเติบโตของรายได้ของผู้ให้บริการอาจไม่โดดเด่นมากนัก เมื่อเทียบกับปริมาณการใช้งานที่เพิ่มขึ้น ดังนั้นจึงเป็นโจทย์ที่ท้าทายของผู้ให้บริการในการที่จะแสวงหาตลาดใหม่เพื่อเพิ่มจำนวนผู้ลงทะเบียน ควบคู่กับการนำเสนอบริการเสริมอื่น ซึ่งจะช่วยให้อัตราการเติบโตของรายได้มีทิศทางที่สดใสมากขึ้น

ตลาดผู้ใช้ใหม่…ยังมีช่องว่างในการขยายตลาดอีกมาก

แม้ว่าการใช้บรอดแบนด์จะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างมาก แต่จำนวนผู้ลงทะเบียนใช้บรอดแบนด์ต่อจำนวนครัวเรือนทั้งหมด (Penetration Rate) ที่ร้อยละ 11.72 หรือ ใน 100 ครัวเรือนจะมีครัวเรือนที่ใช้บรอดแบนด์เพียง 12 ครัวเรือน จะเห็นได้ว่าตลาดยังมีช่องว่างสูงที่ผู้ให้บริการจะบุกตลาดเพื่อเพิ่มลูกค้าใหม่

โอกาสในตลาดบรอดแบนด์ผ่านสายโทรศัพท์พื้นฐาน การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ของไทยที่นิยมมากที่สุด คือ การใช้เทคโนโลยี ADSL (Asymmetric Digital Subscriber Line) ที่ต้องอาศัยการส่งข้อมูลผ่านสายโทรศัพท์พื้นฐาน ซึ่งในปัจจุบันมีจำนวนคู่สายโทรศัพท์พื้นฐานจำนวน 7.2 ล้านเลขหมาย โดยในจำนวนนี้ได้ถูกใช้ในการเชื่อมต่อบรอดแบนด์เพียงร้อยละ 29 ดังนั้นยังเหลืออีกร้อยละ 71 หรือกว่า 5 ล้านเลขหมายที่ผู้ให้บริการมีโอกาสที่จะขยายตลาดได้

โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ตลาดใหม่ในกลุ่มนี้ ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตที่ดำเนินธุรกิจบริการโทรศัพท์พื้นฐานอยู่ด้วยน่าจะได้เปรียบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ให้บริการที่มีฐานลูกค้าในบริการโทรศัพท์พื้นฐานมาก โดยอาจใช้กลยุทธ์การตลาดแบบขายพ่วง (Bundling) เช่น การติดตั้งและการให้บริการบรอดแบนด์ในอัตราพิเศษหากเป็นลูกค้าในโทรศัพท์พื้นฐาน แต่อย่างไรก็ดีผู้ให้บริการรายอื่นอาจเข้ามาแข่งขันได้โดยเสนอบรอดแบนด์แบบไม่ต้องใช้เลขหมาย หากลูกค้าอยู่ในเขตพื้นที่สัญญาณของตน

ตลาดต่างจังหวัด…โอกาสทองท่ามกลางช่องว่างของตลาดที่แคบลงของผู้ใช้ในเมือง การใช้อินเทอร์เน็ตส่วนมากจะกระจุกตัวอยู่ในเขตเมือง เช่น กรุงเทพและปริมณฑล และเขตเมืองใหญ่ในแต่ละภาค เช่น เชียงใหม่ ภูเก็ต ขอนแก่น
ทั้งนี้จากการที่คอมพิวเตอร์ถือเป็นอุปกรณ์พื้นฐานที่สำคัญในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ดังนั้นการแสวงหาตลาดใหม่ที่น่าจะเข้าทำตลาดได้ง่าย ผู้ให้บริการอาจมุ่งเป้าหมายไปยังครัวเรือนที่มีคอมพิวเตอร์แต่ยังไม่ได้ใช้อินเทอร์เน็ตเป็นอันดับแรก โดยผลสำรวจจากสำนักงานสถิติแห่งชาติเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีของครัวเรือนในปี 2552 พบว่า ครัวเรือนกรุงเทพฯที่มีคอมพิวเตอร์ถึงร้อยละ 71.6 มีการใช้อินเทอร์เน็ต จึงเหลือช่องว่างในการทำตลาดเพียงร้อยละ 28.4 ของครัวเรือนกรุงเทพที่มีคอมพิวเตอร์ทั้งหมดหรือไม่เกิน 230,000 ครัวเรือน ในขณะที่ครัวเรือนต่างจังหวัดที่มีคอมพิวเตอร์ส่วนใหญ่ยังไม่มีการอินเทอร์เน็ต

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ครัวเรือนภาคกลางน่าจะเป็นตลาดที่มีศักยภาพ ทั้งในแง่รายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนที่อยู่ที่ 20,952 บาท/เดือน ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่สูงกว่ารายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนทั่วประเทศที่อยู่ที่ 20,903 บาท/เดือน ความพร้อมทางด้านโครงสร้างโทรคมนาคม เช่น สายโทรศัพท์พื้นฐาน รวมถึงยังเป็นภาคที่มีจำนวนครัวเรือนที่มีคอมพิวเตอร์แต่ยังไม่ใช้อินเทอร์เน็ตสูงที่สุดถึงกว่า 580,000 ครัวเรือน จึงน่าจะเป็นตลาดที่ใหญ่และคุ้มค่าต่อการลงทุนและทำตลาด

เทคโนโลยีไวแม็กซ์ … อนาคตบรอดแบนด์ไร้สายของไทย

ไวแม็กซ์ (Worldwide Interoperability for Microwave Access : WiMAX) เป็นเทคโนโลยีบรอดแบนด์ไร้สายที่มีความเร็วในการส่งข้อมูลถึง 75 Mbps และส่งสัญญาณครอบคลุมพื้นที่ได้ไกล 50 กิโลเมตร ดังนั้นคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติจึงมีแนวคิดที่จะออกใบอนุญาตประกอบกิจการด้วยเทคโนโลยีดังกล่าว เพื่อเพิ่มอัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในต่างจังหวัดที่สายโทรศัพท์เข้าไม่ถึง รวมถึงเพื่อสนองความต้องการใช้บรอดแบนด์ที่มีระดับความเร็วเพิ่มขึ้นในเขตเมือง

ทั้งนี้เบื้องต้น กทช. มีแผนการที่จะจัดสรรใบอนุญาตไวแมกซ์คลื่นความถี่ 2.3 GHz และ 2.5 GHz โดยความถี่ 2.3 GHz จะจัดสรรเพื่อให้บริการเชิงพาณิชย์ โดยกำหนดการถือครองความกว้างคลื่นความถี่ (Bandwidth) รายละไม่เกิน 30 MHz ซึ่ง กทช. คาดว่าจะออกใบอนุญาตได้ภายในเดือนกันยายน 2553 ขณะที่ความถี่ 2.5 GHz จะจัดสรรเพื่อบริการสาธารณะในจังหวัดที่รายได้ต่อประชากรต่ำ ซึ่ง กทช. อาจจะควบคุมอัตราค่าบริการในระยะแรก โดยวางแผนว่าจะออกใบอนุญาตความถี่ดังกล่าวได้ในต้นปี 2554

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ตลาดบรอดแบนด์ไร้สายน่าจะเติบโตได้อีกมาก แต่ทั้งนี้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตอาจต้องเผชิญกับการแข่งขันกับผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ที่มีการทำตลาดโมบายอินเทอร์เน็ตอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังเปิดให้บริการ 3G ของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ทั้งนี้ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบ 3G อาจได้เปรียบในแง่จำนวนผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ที่มากกว่าผู้ใช้คอมพิวเตอร์ และความคล่องตัวในการใช้งานที่สูงกว่าเนื่องจากเป็นเทคโนโลยีที่เหมาะกับการใช้อินเทอร์เน็ตขณะเคลื่อนที่ แต่อย่างไรก็ดีด้วยจุดเด่นของเทคโนโลยีไวแม็กซ์ในด้านความเร็วที่เหนือกว่า 3G ถึง 30 เท่า รวมถึงการลงทุนด้านโครงข่ายที่ต่ำกว่า อีกทั้งยังครอบคลุมพื้นที่การให้บริการที่กว้างกว่า 3G ถึง 10 เท่า ดังนั้นผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตที่ได้รับใบอนุญาตไวแม็กซ์ อาจได้เปรียบด้านความยืดหยุ่นในการใช้กลยุทธ์ราคา เพื่อดึงดูดผู้ที่ต้องการใช้อินเทอร์เน็ตไร้สายความเร็วสูงซึ่งน่าจะเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของเทคโนโลยีไวแม็กซ์

แข่งขันคึกคัก…เร่งลงทุนด้านเทคโนโลยีและโครงข่าย ควบคู่กับการใช้กลยุทธ์การตลาด

ภาพรวมตลาดบริการอินเทอร์เน็ต ส่วนแบ่งตลาดกว่าร้อยละ 95 ยังคงถือครองโดยผู้ให้บริการรายใหญ่เพียง 3 ราย โดยผู้ให้บริการดังกล่าวอาศัยความได้เปรียบจากการเป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์พื้นฐาน และเป็นเจ้าของโครงข่ายโทรคมนาคม จึงมีความยืดหยุ่นในการใช้กลยุทธ์ราคาได้มากกว่าผู้ให้บริการที่ไม่มีโครงข่าย ที่ต้องเสียค่าเช่าสัญญาณให้ผู้ให้บริการรายหลัก ส่งผลให้ผู้ให้บริการรายเล็กบางรายอาจต้องออกจากตลาดไป หรืออาจหันไปเน้นเจาะตลาดเฉพาะกลุ่ม รวมถึงขยายบริการไปยังธุรกิจอื่นที่เกี่ยวข้อง

สำหรับปีนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การแข่งขันในตลาดบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตน่าจะเข้มข้นมากขึ้น โดยผู้ให้บริการแต่ละรายน่าจะทุ่มงบประมาณในการลงทุนด้านโครงข่าย และการพัฒนาเทคโนโลยีเป็นสำคัญ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการที่ต้องขับเคี่ยวกันที่ความเร็ว และเพื่อขยายขอบเขตการให้บริการไปยังตลาดผู้ใช้ใหม่ให้ได้ก่อนคู่แข่ง โดยมีการนำเทคโนโลยีใหม่ๆมาใช้มากขึ้น เช่น เทคโนโลยี PLC ที่ส่งข้อมูลผ่านสายไฟฟ้า เทคโนโลยี FTTX ที่ส่งสัญญาณผ่านใยแก้วนำแสง

ทั้งนี้คาดว่าตลอดปีนี้น่าจะมีเม็ดเงินลงทุนด้านโครงข่ายไม่น้อยกว่า 4,000 ล้านบาท ไม่นับรวมการลงทุนเทคโนโลยีไวแม็กซ์ที่ยังต้องติดตามกรอบเวลาที่แน่ชัด ซึ่งหากจัดสรรใบอนุญาตแล้ว คาดว่าระยะแรกผู้ได้รับใบอนุญาตจะเริ่มวางโครงข่ายในจังหวัดที่มีศักยภาพ และมีความต้องการสูง ด้วยงบลงทุนจังหวัดละ 400-500 ล้านบาท รวมถึงโครงการถนนไร้สายของคณะกรรมการบรอดแบนด์แห่งชาติ ซึ่งหากผ่านการพิจารณาในเดือนสิงหาคมนี้ คาดว่าจะก่อให้เม็ดเงินลงทุนถึงกว่า 15,000 ล้านบาท

ด้านกลยุทธ์การตลาด คาดว่า ผู้ให้บริการแต่ละรายจะนำเสนอโปรโมชั่นและบริการเสริมหลากหลายรูปแบบ เพื่อจับกลุ่มผู้ใช้ที่มีความต้องการแตกต่างกัน

สำหรับตลาดผู้ใช้ใหม่ มีทั้งการเจาะลูกค้าชาวต่างชาติที่ใช้งานระยะสั้น โดยเสนอบรอดแบนด์แบบไม่ต้องทำสัญญาผูกติด และการเจาะกลุ่มลูกค้าที่เริ่มทดลองใช้บรอดแบนด์ โดยจัดโปรโมชั่นที่เหมาะกับผู้ที่ใช้น้อย คิดค่าบริการตามปริมาณการใช้งาน ซึ่งจะกำหนดปริมาณการใช้สูงสุดไว้ให้เพื่อควบคุมค่าใช้จ่าย รวมถึงการติดตั้งบรอดแบนด์ที่ไม่ต้องใช้เลขหมาย ที่น่าจะได้รับความสนใจอย่างมาก

สำหรับตลาดผู้ใช้ทั่วไป คาดว่า ผู้ให้บริการจะชูจุดเด่นด้านความเร็วเป็นกลยุทธ์หลัก เพื่อหลีกเลี่ยงการแข่งขันด้านราคาที่จะกระทบรายได้ของผู้ให้บริการ โดยผู้ให้บริการที่มีกิจการที่เกี่ยวเนื่องอาจใช้กลยุทธ์ขายพ่วง เช่น ให้ลูกค้ารับสิทธินำค่าบริการอินเทอร์เน็ตมาแลกเป็นค่าบริการโทรศัพท์ได้ ควบคู่กับการนำเสนอบริการเสริม เช่น บริการติดตั้งกล่องรับสัญญาณเพื่อชมรายการโทรทัศน์ และเลือกชมภาพยนตร์ผ่านอินเทอร์เน็ตได้ เพื่อเพิ่มรายได้ต่อเลขหมาย

สำหรับตลาดระดับบน ผู้ให้บริการจะเจรจาเป็นพันธมิตรกับลูกค้าองค์กร โดยเฉพาะอย่างยิ่งนิคมอุตสาหกรรม และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เพื่อเสนอบรอดแบนด์ความเร็วสูงพิเศษตั้งแต่ 30 Mbps ขึ้นไป พร้อมทั้งบริการเสริมอื่นๆ เช่น วีดีโอโฟน กล้องวงจรปิด ซึ่งสามารถเชื่อมผ่านคอมพิวเตอร์ได้

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ภาพรวมตลาดบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตปี 2553 น่าจะมีมูลค่าประมาณ 24,000-27,000 ล้านบาท ขยายตัวราวร้อยละ 20.2-37.4 เมื่อเทียบกับปี 2552 ที่ขยายตัวร้อยละ 41.7 หรือมีมูลค่าตลาด 19,916 ล้านบาท โดยที่ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ตลาดเติบโตได้ คือ จำนวนผู้ลงทะเบียนใหม่ซึ่งคาดว่าน่าจะเพิ่มขึ้นจนมาอยู่ที่ประมาณ 2.8-3.2 ล้านราย ซึ่งจะมีทั้งผู้ใช้อินเทอร์เน็ตรายใหม่ และผู้ใช้อินเทอร์เน็ตความเร็วต่ำที่เปลี่ยนมาใช้บรอดแบนด์

ส่วนปัจจัยด้านราคา ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า อัตราค่าบริการในแต่ละระดับความเร็วอาจปรับลดลงประมาณร้อยละ 15 แต่อย่างไรก็ดีแนวโน้มความต้องการใช้บรอดแบนด์ในระดับความเร็วที่เพิ่มขึ้น น่าจะลดแรงกระทบจากการปรับลดของราคา และน่าจะทำให้รายได้เฉลี่ยต่อเลขหมายใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมาโดยอยู่ในช่วง 700-725 บาท/เลขหมาย/เดือน

อย่างไรก็ดีในอนาคต เมื่อตลาดถึงจุดอิ่มตัว โดยที่เทคโนโลยีไร้สายที่ทำให้การลงทะเบียน 1 ราย สามารถรองรับผู้ใช้ได้หลายคนเป็นตัวเร่งให้การขยายตลาดเป็นไปอย่างยากลำบากมากขึ้น รวมถึงอัตราค่าบริการที่มีแนวโน้มลดลงตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยี จะเป็นสิ่งท้าทายผู้ให้บริการที่จะรักษาการเติบโตของรายได้ในระยะยาว โดยผู้ให้บริการอาจต้องแสวงหากลยุทธ์ตลาดใหม่ๆ ควบคู่กับการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อนำเสนอบริการเสริมอื่นๆ ที่จะช่วยเพิ่มรายได้ต่อเลขหมาย นอกจากนี้ยังควรให้ความสำคัญกับบริการหลังการขาย ความถูกต้องของการคิดค่าบริการที่อาจมีความซับซ้อนมากขึ้นจากการใช้กลยุทธ์ขายพ่วง รวมถึงการรักษาคุณภาพการให้บริการให้เป็นไปตามโฆษณาซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้บริโภคร้องเรียนเป็นจำนวนมากในปัจจุบัน ซึ่งน่าจะสร้างความไว้วางใจให้แก่ผู้ใช้ได้ในระยะยาว