การส่งออกปลาทูน่ากระป๋องและปรุงแต่ง…ครึ่งหลังปี ’53 มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง

“อุตสาหกรรมปลาทูน่า” เป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญของไทย ซึ่งลักษณะของการผลิตเป็นการนำเข้าวัตถุดิบปลาทูน่าเข้ามาแปรรูปในประเทศ และการส่งออกในรูปผลิตภัณฑ์ทูน่ากระป๋องและปรุงแต่งเป็นหลัก โดยมีสัดส่วนการส่งออกร้อยละ 90 ของการผลิตในประเทศ และไทยยังเป็นประเทศผู้ส่งออกปลาทูน่ากระป๋องและปรุงแต่งอันดับหนึ่งของโลก ด้วยมูลค่าการส่งออก 1,676.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2552 คิดเป็นสัดส่วนการส่งออกประมาณร้อยละ 43.2 จากมูลค่าการส่งออกปลาทูน่ากระป๋องและปรุงแต่งทั่วโลก

ส่วนด้านวัตถุดิบปลาทูน่า ไทยมีความจำเป็นต้องนำเข้ามากกว่าร้อยละ 80 ของความต้องการใช้ในประเทศ โดยจะนำเข้าในรูปของปลาทูน่าสด/แช่เย็น และแช่แข็ง ซึ่งในช่วงครึ่งแรกปี 2553 มีมูลค่านำเข้าขยายตัวร้อยละ12.9 (YoY) สอดคล้องกับมูลค่าการส่งออกปลาทูน่ากระป๋องและปรุงแต่งของไทยในช่วงเวลาเดียวกัน ที่ขยายตัวถึงร้อยละ 15.3 (YoY) ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความต้องการใช้วัตถุดิบในอุตสาหกรรมปลาทูน่ากระป๋องและปรุงแต่งเพื่อการส่งออกในปี 2553 มีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้นกว่าปีที่แล้ว ทั้งนี้ ก็เพื่อรองรับกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะตลาดต่างประเทศ

การส่งออกปลาทูน่ากระป๋องและปรุงแต่ง…แนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง
– ไทยถือเป็นประเทศผู้ส่งออกปลาทูน่ากระป๋องและปรุงแต่งอันดับหนึ่งของโลก โดยในปี 2552 มีปริมาณการส่งออก 534,491 ตัน มูลค่า 1,676.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนการส่งออกร้อยละ 49.1 และร้อยละ 43.2 ตามลำดับ ของการการส่งออกปลาทูน่ากระป๋องและปรุงแต่งของทั้งโลก

– ตลาดส่งออกสำคัญของไทย ในส่วนของผลิตภัณฑ์ปลาทูน่ากระป๋องและปรุงแต่ง คือ สหรัฐฯ ออสเตรเลีย อียิปต์ ญี่ปุ่น และแคนาดา ซึ่งมีมูลค่าการนำเข้าปลาทูน่ากระป๋องและปรุงแต่งจากไทยเป็นสัดส่วนร้อยละ 49.4, 95.6, 87.4, 55.5 และ 89.3 ตามลำดับ เทียบจากมูลค่าการนำเข้าปลาทูน่ากระป๋องและปรุงแต่งของแต่ละประเทศ

– อุตสาหกรรมปลาทูน่าของไทยส่วนใหญ่ผลิตเพื่อการส่งออก โดยเป็นการการส่งออกในรูปปลาทูน่ากระป๋องและปรุงแต่ง เป็นสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 90 และที่เหลือเป็นการส่งออกปลาทูน่าแช่แข็ง และปลาทูน่าสด/แช่เย็น ตามลำดับ

– อุตสาหกรรมการแปรรูปปลาทูน่าของไทยจำเป็นต้องพึ่งการนำเข้าวัตถุดิบ ในสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 80 ของความต้องการใช้ในประเทศ เพราะปลาทูน่าส่วนใหญที่จับได้ในไทย ส่วนใหญ่เป็นปลาทูน่าผิวน้ำ และมีขนาดเล็ก ได้แก่ ปลาโอดำ และปลาโอลาย ซึ่งผู้บริโภคต่างประเทศไม่นิยมรับประทาน แต่นิยมรับประทานผลิตภัณฑ์ที่ทำจากปลาทูน่าครีบเหลือง และปลาทูน่าท้องแถบมากกว่า ไทยจึงจำเป็นต้องนำเข้าปลาทูน่าสายพันธุ์ดังกล่าว เพื่อนำมาแปรรูปและส่งไปจำหน่ายต่างประเทศต่อไป ทั้งนี้ ไทยได้นำเข้าปลาทูน่าแช่แข็งในสัดส่วนร้อยละ 97-98 ของปริมาณการนำเข้าปลาทูน่าและผลิตภัณฑ์ของไทย และนำเข้าปลาทูน่าพันธุ์สคิปแจ็คหรือทูน่าท้องแถบ(Skipjack) ประมาณร้อยละ 80 พันธุ์ครีบเหลือง(Yellow Fin) ประมาณร้อยละ 15 และพันธุ์ครีบยาว(Albacore) ประมาณร้อยละ 5 ตามลำดับ

– การค้าปลาทูน่าและผลิตภัณฑ์ของไทย ในช่วงครึ่งแรกปี 2553 มีมูลค่าการส่งออกขยายตัวในส่วนของปลาทูน่ากระป๋องและปรุงแต่งร้อยละ 15.3 (YoY) โดยมีมูลค่าคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 99.9 ของการส่งออกปลาทูน่าและผลิตภัณฑ์ ซึ่งจัดว่าเป็นผลิตภัณฑ์สำคัญในกลุ่มอุตสาหกรรมปลาทูน่าของไทย ตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ สหรัฐฯ ออสเตรเลีย อียิปต์ ญี่ปุ่น และแคนาดา ด้านการนำเข้า มูลค่าประมาณร้อยละ 95.0 ของการนำเข้าปลาทูน่าและผลิตภัณฑ์ เป็นการนำเข้าปลาทูน่าแช่แข็ง เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตปลาทูน่ากระป๋องและแปรรูป ซึ่งมีมูลค่านำเข้าขยายตัวร้อยละ 13.2 (YoY) แหล่งนำเข้าสำคัญ ได้แก่ ไต้หวัน สหรัฐฯ วานูอาตู เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ส่วนการนำเข้าปลาทูน่ากระป๋องและปรุงแต่งของไทย มีมูลค่านำเข้าขยายตัวร้อยละ 18.6 (YoY) แหล่งนำเข้าหลัก คือ จีน อินโดนีเซีย เวียดนาม และปาปัวนิวกินี และการนำเข้าปลาทูน่าสด/แช่เย็นมีการนำเข้าหดตัวลงร้อยละ 2.5 แต่มีสัดส่วนนำเข้าเพียงร้อยละ 1.4 เท่านั้น

ปัจจัยหนุนและประเด็นพึงระวัง สำหรับอุตสาหกรรมปลาทูน่าแปรรูปของไทย
“ปัจจัยหนุนสำคัญ” ที่ทำให้อุตสาหกรรมปลาทูน่าสามารถขยายตัวได้ต่อเนื่อง คือ
– ผลิตภัณฑ์ปลาทูน่ากระป๋องของไทยเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ และได้รับมาตรฐานระดับสากล ด้วยขั้นตอนการผลิตที่มีมาตรฐาน สะอาด ปลอดภัย และมีรสชาติถูกปากผู้บริโภค

– ปลาทูน่าประป๋องและปรุงแต่ง มีราคาโดยเปรียบเทียบที่ถูกกว่าอาหารทะเลประเภทอื่น ซึ่งเนื้อปลาเป็นอาหารทะเลที่ให้โปรตีนสูง และไม่มีคลอเรสเตอรอล ซึ่งต่างจากอาหารทะเลประเภทอื่น อาทิ กุ้ง และปลาหมึก ที่ถึงแม้ว่าจะมีประโยชน์ ให้สารอาหารโปรตีน แต่ก็มีคลอเรสเตอรอลสูงด้วยเช่นกัน อีกทั้ง ราคาโดยเปรียบเทียบของปลาทูน่ากระป๋องยังต่ำกว่า กุ้ง และปลาหมึก จึงเหมาะแก่การรับประทานได้ทุกเพศ ทุกวัย และสามารถรับประทานได้ทันที เพราะเป็นอาหารที่ปรุงรสสำเร็จ

– การออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้สะดวกแก่การรับประทาน และง่ายต่อการพกพาไปรับประทานยังสถานที่ต่างๆ เหมาะแก่การสังสรรค์/พักผ่อนนอกสถานที่ ทั้งบริโภคเป็นอาหารหลัก และอาหารทานเล่นในยามว่าง ประกอบกับการปรับเปลี่ยนรูปแบบการปรุงปลาทูน่ากระป๋องให้มีหลากหลายรสชาติมากขึ้น เพื่อให้สามารถตอบสนองผู้บริโภคได้ทุกกลุ่ม โดยอาจปรับเปลี่ยนรสชาติตามวัฒนธรรมการรับประทานของแต่ละประเทศ

– ความตื่นตัวในการบริโภคอาหารที่มีประโยชน์ และกระแสห่วงใยในสุขภาพและรูปร่างของผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน ทั้งในและต่างประเทศ ล้วนมีส่วนช่วยผลักดันให้ความต้องการบริโภคเนื้อปลาขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และผลิตภัณฑ์ปลาทูน่าก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งของผู้บริโภค เนื่องจากมีสารอาหารที่มีประโยชน์และไม่มีไขมัน

– ตลาดส่งออกสำคัญของไทย ได้แก่ สหรัฐฯ ประเทศในกลุ่มยุโรป ได้เริ่มหันมาใส่ใจในด้านโภชนาการมากขึ้น เนื่องจากการรับประทานอาหารฟาสต์ฟู้ดเป็นประจำ ก่อให้เกิดโรคอ้วน และไขมันอุดตันในหลอดเลือดตามมา ผู้บริโภคจึงหันมารับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ให้พลังงานเพียงพอ และมีไขมันต่ำกันมากขึ้น

– แนวโน้มตลาดส่งออกเริ่มขยายตลาดสู่ประเทศในกลุ่มตลาดใหม่มากขึ้น อาทิ ประเทศในตะวันออกกลาง รัสเซีย และแอฟริกา นอกเหนือจากตลาดหลัก คือ สหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเปิดเสรีทางการค้าในหลายฉบับ และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคที่หันมานิยมการบริโภคเนื้อปลา ประกอบกับรูปแบบการดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนไปสู่สังคมคนทำงานที่ใช้ชีวิตรีบเร่งมากขึ้นของประเทศกำลังพัฒนา

อย่างไรก็ตาม ยังมี “ประเด็นพึงระวัง” ที่อาจส่งผลต่อการผลิตและการค้าผลิตภัณฑ์ปลาทูน่า ทั้งในด้านวัตถุดิบ ต้นทุน และมาตรการทางการค้าต่างๆ ที่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมปลาทูน่าควรเฝ้าติดตาม ได้แก่

– ปริมาณปลาทูน่าในทะเลมีปริมาณลดลงอย่างต่อเนื่อง เป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศทั่วโลกที่มีอุณหภูมิสูงขึ้น จึงส่งผลให้หลายองค์กรในประเทศต่างๆ ได้ออกมาตรการระงับการจับปลาทูน่า บางสายพันธุ์ เช่น ปลาทูน่าครีบสีน้ำเงิน(Bluefin) อีกทั้ง ยังมีการกำหนด และลดโควตาการจับปลาทูน่าพันธุ์ต่างๆในแต่ละปี รวมถึงมีการกำหนดห้ามทำการค้าปลาทูน่าระหว่างประเทศ หรือลดปริมาณการค้าลง แต่อย่างไรก็ตาม ยังคงเป็นข้อขัดแย้งสำหรับบางกลุ่มประเทศที่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางนี้ เนื่องจากเกรงว่าจะกระทบต่ออุตสาหกรรมการประมงทั่วโลก ดังนั้น ปริมาณวัตถุดิบปลาทูน่าที่มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องทุกปี ย่อมส่งผลกระทบโดยตรงต่อปริมาณวัตถุดิบ และต้นทุนของอุตสาหกรรมปลาทูน่าแปรรูปของไทยด้วยเช่นกัน

– ราคาวัตถุดิบปลาทูน่าในระยะยาว มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น โดย ณ เดือน เม.ย.2553 ปลาทูน่าสคิปแจ็คแช่แข็งในประเทศไทย(ขนาด 4 ปอนด์ต่อตัวขึ้นไป) มีราคาอยู่ที่ 1,200 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ลดลงร้อยละ 6.2 (YoY) สังเกตว่าทุกปีในช่วงไตรมาสที่ 2-4 จะเป็นช่วงที่ราคาปลาทูน่ามีราคาสูงขึ้น เนื่องจากเป็นช่วงสิ้นสุดฤดูกาลจับปลาทูน่า จึงคาดว่าในอีก 5-6 เดือนข้างหน้านี้ ราคาปลาทูน่าอาจปรับตัวสูงขึ้นกว่าช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมา และจะเริ่มปรับตัวลดลงในไตรมาสแรกของปีต่อไป (ในปี 2551 ระดับราคาพุ่งสูงขึ้นมาก เนื่องจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น) ทั้งนี้ คาดว่าระดับราคาปลาทูน่าในตลาดโลกในระยะยาวจะมีแนวโน้มสูงขึ้น สืบเนื่องจากปริมาณปลาทูน่าทั่วโลกที่มีปริมาณลดลงด้วยสภาพอากาศที่ร้อนขึ้น ประกอบกับการที่หลายประเทศมีมาตรการควบคุมและลดปริมาณการจับปลาทูน่าในแต่ละปี ขณะที่ความต้องการบริโภคยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

– ข้อกีดกันทางการค้า ยังคงเป็นประเด็นสำคัญสำหรับอุตสาหกรรมอาหารทะเลของไทย รวมทั้งอุตสาหกรรมปลาทูน่าแปรรูปด้วย เนื่องจากไทยเป็นประเทศที่มีชื่อเสียงทางด้านการส่งออกปลาทูน่ากระป๋องและปรุงแต่ง ขณะเดียวกันก็ต้องเผชิญกับมาตรการกีดกันทางการค้า โดยเฉพาะมาตรการที่ไม่ใช่ภาษีที่มักออกมาพร้อมกับเงื่อนไขที่ค่อนข้างเข้มงวด โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับตลาดสหรัฐฯ และยุโรป ที่ถือเป็นตลาดส่งออกสำคัญของไทย มักนำประเด็นทางสังคมต่างๆ มากำหนดเป็นมาตรฐานทางการค้า อาทิ

– มาตรการควบคุมด้านสุขอนามัย และสารปนเปื้อน นับว่าเป็นสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับผลิตภัณฑ์อาหาร ดังนั้น ผู้ผลิตของไทยควรให้ความระมัดระวังในทุกกระบวนการผลิต เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีมาตรฐาน สะอาด ปลอดภัย นอกเหนือจากรสชาติที่อร่อย เพื่อหลีกเลี่ยงการกีดกันจากประเทศคู่ค้า และสามารถรักษาตำแหน่งการเป็นประเทศผู้ส่งออกปลาทูน่ากระป๋องและปรุงแต่งอันดับหนึ่งของโลกต่อไป

– การตรวจสอบแหล่งกำเนิดสินค้าของผลิตภัณฑ์ (Rules of Origin) ถือเป็นประเด็นสำคัญในการนำมาใช้เป็นข้อกีดกันทางการค้าในหลายประเทศ อาทิ การที่กลุ่มประเทศสหภาพยุโรป(EU) มีการตรวจสอบดีเอ็นเอสายพันธุ์ปลาทูน่าในผลิตภัณฑ์ของไทย เพื่อทราบแหล่งที่มาของสายพันธุ์ปลาทูน่าที่นำมาใช้เป็นวัตถุดิบ โดยพยายามหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นกีดกันทางการค้า รวมทั้งภายใต้ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทยญี่ปุ่น(JTEPA) ที่ญี่ปุ่นกำหนดให้ไทยต้องมีการตรวจสอบแหล่งที่มาของปลาทูน่าที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตปลาทูน่ากระป๋องและปรุงแต่ง ตั้งแต่การตรวจสอบสัญชาติเรือประมง สัญชาติของลูกเรือ และต้องจับปลาในบริเวณน่านน้ำที่กำหนด เป็นต้น

แต่อย่างไรก็ตาม ในส่วนของผลิตภัณฑ์ปลาทูน่ากระป๋องและปรุงแต่งที่นับเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของไทย ถึงแม้ว่าจะใช้วัตถุดิบนำเข้าจากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็เป็นผลิตภัณฑ์ที่อาศัยกฎการแปลงสภาพอย่างเพียงพอ (Substantial Transformation Rule) ทำให้มีการเปลี่ยนพิกัดผลิตภัณฑ์จากปลาทูน่าสด/แช่เย็น/แช่แข็งเป็นปลาทูน่ากระป๋องและปรุงแต่ง (จากพิกัด HS 03 เป็น HS 16) ดังนั้น สินค้านี้ก็จะถือว่ามีแหล่งกำเนิดในไทย แต่ในส่วนผลิตภัณฑ์ปลาทูน่าแปรรูปประเภทอื่นๆ ผู้ผลิตควรศึกษาถึงข้อกำหนดแหล่งกำเนิดสินค้าโดยละเอียด เพื่อเป็นการรักษาผลประโยชน์ และป้องกันการถูกกีดกันทางการค้าในตลาดส่งออก

– การใช้แรงงานที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานสากลในอุตสาหกรรมประมง เป็นประเด็นพึงระวังที่สำคัญของอุตสาหกรรมประมงไทย เนื่องจากอาจถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็น เพื่อทำลายชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือของผลิตภัณฑ์ของไทยได้ ดังนั้น ผู้ประกอบการของไทยควรวางระบบการผลิตให้ทันสมัย และมีคุณภาพ สอดคล้องกับมาตรฐานสากล รวมทั้งมีความเข้มงวดเรื่องของสุขลักษณะและสวัสดิภาพของบุคลากร/แรงงาน ตามที่กระทรวงแรงงานกำหนดอย่างเคร่งครัด

สรุป
ไทยถือเป็นประเทศผู้ส่งออกปลาทูน่ากระป๋องและปรุงแต่งอันดับหนึ่งของโลก ซึ่งปี 2552 มีปริมาณและมูลค่าการส่งออกในสัดส่วนร้อยละ 49.1 และ 43.2 ของการส่งออกปลาทูน่ากระป๋องและปรุงแต่งทั่วโลก ส่วนด้านวัตถุดิบไทยยังมีความจำเป็นต้องนำเข้าปลาทูน่ามากกว่าร้อยละ 80 ของความต้องการใช้ในประเทศ โดยมีปริมาณการนำเข้าปลาทูน่าแช่แข็งถึงร้อยละ 97.6 และปลาทูน่าสด/แช่เย็นร้อยละ 0.8 ของปริมาณการนำเข้าปลาทูน่าและผลิตภัณฑ์ ทั้งนี้ ในช่วงครึ่งแรกของปี 2553 ไทยมีปริมาณและมูลค่านำเข้าปลาทูน่าสด/แช่เย็น และแช่แข็ง ขยายตัวร้อยละ 7.9 และ 12.9 (YoY) สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการใช้วัตถุดิบในอุตสาหกรรมการปลาทูน่ากระป๋องและปรุงแต่งของไทยในปี 2553 มีแนวโน้มขยายตัวกว่าปีที่ผ่านมา สอดคล้องกับปริมาณการส่งออกปลาทูน่ากระป๋องและปรุงแต่ง มีมูลค่าการส่งออกขยายตัวถึงร้อยละ 15.3 (YoY) โดยมีสัดส่วนถึงร้อยละ 98.6 ของปริมาณการส่งออกปลาทูน่าและผลิตภัณฑ์ของไทย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงคาดการณ์ว่าในช่วงครึ่งหลังของปี 2553 การส่งออกผลิตภัณฑ์ปลาทูน่าของไทย โดยเฉพาะปลาทูน่ากระป๋องและปรุงแต่งจะมีแนวโน้มการส่งออกขยายตัวต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยหนุนสำคัญจากการที่ประเทศคู่ค้ามักมีคำสั่งซื้อปลาทูน่ากระป๋องเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี เพื่อเตรียมสต๊อกสินค้าไว้จำหน่ายในช่วงเทศกาลปลายปี โดยคาดว่าทั้งปี 2553 ปริมาณการส่งออกปลาทูน่ากระป๋องและปรุงแต่งของไทย น่าจะขยายตัวได้ประมาณร้อยละ 11-12 (YoY)

แต่อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัจจัยลบที่อาจส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการแปรรูปปลาทูน่า ที่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมควรให้ความสำคัญ และวางแผนการบริหารวัตถุดิบให้รอบคอบมากขึ้น คือ สภาพอากาศของโลกที่ร้อนขึ้น จนส่งผลให้ปลาทูน่าในทะเลทั่วโลกมีปริมาณลดลง ขณะที่ความต้องการบริโภคก็ยังคงมีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีส่วนผลักดันให้ระดับราคาปลาทูน่าในระยะยาวมีแนวโน้มสูงขึ้น

นอกจากนี้ ยังต้องคำนึงถึงมาตรการทางการค้าภายใต้ข้อตกลงทางการค้าต่างๆ ที่เป็นทั้งปัจจัยหนุนและประเด็นพึงระวังสำหรับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมแปรรูปปลาทูน่าของไทย เนื่องจากมีส่วนช่วยผลักดันให้เกิดช่องทางขยายตลาดส่งออกผลิตภัณฑ์ปลาทูน่าของไทยมากขึ้น ในขณะเดียวกันก็อาจเป็นอุปสรรคสำคัญในการกีดกันทางการค้าด้วย ทั้งมาตรการทางด้านภาษี และมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี อาทิ มาตรการควบคุมด้านสุขอนามัยและสารปนเปื้อน การตรวจสอบแหล่งกำเนิดสินค้าของผลิตภัณฑ์ (Rules of Origin) และการอ้างถึงการใช้แรงงานที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานสากลในอุตสาหกรรมประมง เป็นต้น