ผักผลไม้และผลิตภัณฑ์ปี’53 : FTA ขยายส่งออก…พึงระวังการเจาะตลาดนำเข้า

ผักผลไม้และผลิตภัณฑ์เป็นสินค้าเกษตรและอาหารที่ได้รับอานิสงส์จากกรอบ FTA ส่งผลให้การส่งออกมีแนวโน้มการขยายตัวอย่างมาก โดยสินค้าในกลุ่มนี้แยกออกเป็น 3 ประเภทคือ ผักและผลิตภัณฑ์(ผักสดแช่เย็นแช่แข็ง ผักแห้ง ผักกระป๋อง และผักแปรรูป) ผลไม้และผลิตภัณฑ์(ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็ง ผลไม้แห้ง ผลไม้กระป๋อง และผลไม้แปรรูป) และน้ำผักผลไม้ อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ต้องติดตามด้วยคือ มูลค่าการนำเข้าก็มีแนวโน้มขยายตัวเช่นเดียวกัน เนื่องจากประเทศคู่เจรจา FTA ก็เห็นว่าเป็นโอกาสที่จะขยายตลาดในไทย แม้ว่าในช่วงครึ่งแรกปี 2553 ผลกระทบยังเห็นไม่ชัดเจน เนื่องจากมูลค่าการนำเข้ายังไม่มากนัก แต่ถ้าพิจารณาจากอัตราการขยายตัวของการนำเข้าแล้ว นับเป็นประเด็นที่ต้องจับตามองต่อไป

มูลค่าการส่งออกผัก ผลไม้และผลิตภัณฑ์ในช่วงครึ่งแรกปี 2553 ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.6(YOY) โดยเพิ่มขึ้นเป็น 1,234.33 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยแยกเป็นมูลค่าการส่งออกผลไม้และผลิตภัณฑ์ 773.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.6(YOY) ผักและผลิตภัณฑ์ 265.41 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.6(YOY) และน้ำผลไม้ 195.72 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.1(YOY)

มูลค่าการส่งออกผัก ผลไม้และผลิตภัณฑ์ในช่วงครึ่งแรกปี 2553 นอกจากจะได้รับอานิสงส์จากการที่ประเทศคู่ค้าหันมานำเข้ามากขึ้นแล้ว ผลของการเปิด FTA กรอบต่างๆก็เป็นปัจจัยหนุนสำคัญเช่นกัน กล่าวคือ

-ตลาดจีน ผลไม้ไทยที่เป็นที่นิยมของชาวจีน คือ ทุเรียน ลำไย และมังคุด ส่วนใหญ่ขนส่งโดยเรือ จากท่าเรือแหลมฉบัง ไปขึ้นท่าเรืองฮ่องกง จากนั้นลากตู้คอนเทนเนอร์เข้าตลาดเจียงหนาน เมืองกวางโจว และอีกส่วนขึ้นท่าเรือเว่ยเกาเฉียง ในเซี่ยงไฮ้ สำหรับลำไยอบแห้งบางส่วนขนส่งตามลำน้ำโขง ขึ้นท่าเรือเชียงแสน จังหวัดเชียงราย เข้าสู่จีนที่ท่าเรือจิ่งหง เมืองสิบสองปันนา และกระจายไปยังเมืองต่างๆของจีน อานิสงส์จาก FTA ทำให้จีนสามารถเป็นแหล่งรองรับผลไม้เมือง
ร้อนของไทยได้อีกมาก ปัจจุบันมีการใช้เส้นทางหมายเลขR9 จากมุกดาหาร ลาว และเวียดนาม และเส้นทาง

หมายเลขR12 จากนครพนม ลาว และเวียดนาม ซึ่งนับเป็นโอกาสอันดีที่ไทยจะขยายการส่งออกผลไม้และผลิตภัณฑ์ไปยังจีน และกลุ่มประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง โดยเปรียบเทียบแล้ว1 การขนส่งผลไม้ทางเรือใช้เวลาประมาณ 5-7 วัน ในขณะที่การขนส่งทางถนนใช้เวลาประมาณ 3-3.5 วัน ทำให้ผลไม้ถึงมือผู้บริโภคชาวจีนมีคุณภาพดีขึ้น ลดการเน่าเสีย ช่วยลดต้นทุนโลจีสติกส์ และผลให้ราคาผลไม้ปลายทางถูกลง นับเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ปัจจุบันใช้เส้นทาง R9 เข้าสู่จีนทางด่านผิงเสียง แล้วขนส่งต่อไปยังตลาดเจียงหนาน เมืองกวางโจว

-ตลาดอินเดียและเวียดนาม อินเดียและเวียดนาม เป็นตลาดผลไม้คุณภาพปานกลางของไทยที่มีแนวโน้มเติบโตได้ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม หากมีการพัฒนาโลจีสติกส์เพื่อลดต้นทุนการขนส่งผลไม้ไปตลาดอินเดีย ผู้ส่งออกผลไม้ของไทยก็อาจมีโอกาสมากขึ้น สำหรับการส่งออกผลไม้ทางใต้ของไทยผ่านท่าเรือฝั่งอันดามัน

-ตลาดญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ เป็นตลาดผลไม้ระดับบนทีมีศักยภาพ แต่ก็ควรคำนึงถึงความเข้มงวดในมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช( SPS )ที่อยู่ในระดับสูง แต่ถ้าผู้ส่งออกของไทยสามารถยกระดับมาตรฐานการผลิตได้ ก็จะสามารถส่งออกผลใม้และผลิตภัณฑ์ไปยังตลาดนี้ได้ในระดับราคาสูงเช่นกัน

สำหรับการส่งออกผักและผลิตภัณฑ์ ตลาดส่งออกสำคัญที่เป็นคู่เจรจา FTA กับไทย คือ ญี่ปุ่น ทำให้ไทยมีโอกาสในการขยายการส่งออกข้าวโพดฝักอ่อน พืชตระกูลถั่ว และกระเจี๊ยบ ส่วนในอาเซียนตลาดส่งออกผักและผลิตภัณฑ์ที่สำคัญของไทย คือ มาเลเซีย

ส่วนการส่งออกน้ำผักผลไม้ แม้ว่าตลาดส่งออกหลักคือ สหภาพยุโรป และสหรัฐฯ ซึ่งไม่ใช่ประเทศคู่เจรจา FTA มูลค่าการส่งออกน้ำผักผลไม้ไปยังตลาดสหภาพยุโรป ในช่วงครึ่งแรกของปี 2553 ยังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่การส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯหดตัว สำหรับประเทศที่เป็นตลาดส่งออกรองๆลงมา ซึ่งเป็นคู่เจรจา FTA มีการขยายตัวอย่างมาก กล่าวคือ การส่งออกไปญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นร้อยละ 26.0 อินเดียเพิ่มขึ้นร้อยละ 67.6 และอาเซียนเพิ่มขึ้นร้อยละ 65.1 โดยเฉพาะในลาว(+131.5%) พม่า(+117.0%) กัมพูชา (+80.4%) และสิงคโปร์(+24.5%) คาดการณ์ว่าในอนาคตเมื่อลาว พม่า และกัมพูชา ลดภาษีนำเข้าลงเหลือร้อยละ 0 ในปี 2558 การส่งออกน้ำผักผลไม้ของไทยไปยังทั้งสามตลาดนี้ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ในขณะที่ผู้ส่งออกผัก ผลไม้และผลิตภัณฑ์ได้รับอานิสงส์จากกรอบ FTA การนำเข้าผัก ผลไม้และผลิตภัณฑ์ของไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 2553 ก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเช่นกัน กล่าวคือ มูลค่าการนำเข้าผัก ผลไม้และผลิตภัณฑ์ในช่วงครึ่งแรกของปี 2553 เพิ่มขึ้นเป็น 335.77 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 26.2 (YOY) ทั้งนี้เนื่องจากการขยายตัวของการนำเข้าอย่างมากของผลไม้และผลิตภัณฑ์ และน้ำผักผลไม้ โดยมูลค่าการนำเข้าผลไม้และผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้นเป็น 186.99 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 26.0(YOY) และมูลค่าการนำเข้าน้ำผักผลไม้เพิ่มขึ้นเป็น 28.92 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 51.6(YOY) ส่วนการนำเข้าผักและผลิตภัณฑ์ในช่วงครี่งแรกของปี 2553 ขยายตัวไม่มากนัก โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.6(YOY) เป็น 119.93 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ประเทศที่เป็นคู่เจรจากรอบ FTA ที่ได้รับอานิสงส์ให้สามารถส่งออกสินค้าผักผลไม้และผลิตภัณฑ์มายังไทยได้เพิ่มขึ้น คือ จีน อินเดีย และอาเซียน โดยมูลค่าการส่งออกไปยังจึนในช่วงครึ่งแรกของปี 2553 เพิ่มขึ้นเป็น 167.52 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 29.6(YOY) อินเดีย 6.12 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 44.8(YOY) และอาเซียน 49.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 23.5(YOY) โดยประเทศในอาเซียนที่น่าสนใจ คือ เวียดนาม(+47.9%) พม่า(+24.9%) มาเลเซีย(+39.2%) อินโดนีเซีย(+67.6%) และ ลาว(+34.5%)

สำหรับตลาดนำเข้าน้ำผักผลไม้ของไทยนั้น ประเทศที่เป็นแหล่งนำเข้าหลักของไทยไม่ใช่ประเทศคู่เจรจา FTA คือ สหรัฐฯ อิสราเอล ไต้หวัน และสหภาพยุโรป ซึ่งมีสัดส่วนนำเข้ามากถึงร้อยละ 77.2 ของมูลค่านำเข้าน้ำผักผลไม้ทั้งหมด สำหรับประเทศที่เป็นคู่เจรจา FTA กับไทยที่เป็นแหล่งนำเข้า คือ จีน ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ อินเดีย และอาเซียน แม้ว่ามูลค่าการนำเข้ายังไม่มากนัก แต่มีอัตราการขยายตัวที่น่าจับตามอง กล่าวคือ มูลค่าการนำเข้าน้ำผักผลไม้ในช่วงครึ่งแรกปี 2553 จากจีนเพิ่มขึ้นเป็น 2.85 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 95.0(YOY) ซึ่งจีนเป็นแหล่งนำเข้าที่น่าจับตามอง โดยน้ำผักผลไม้จากจีนปัจจุบันอยู่ในอันดับ 3 รองจากสหรัฐฯและอิสราเอล คาดว่ามูลค่าการนำเข้ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเบียดแย่งตลาดขึ้นเป็นแหล่งนำเข้าน้ำผักผลไม้อันดับหนึ่งของไทยเช่นเดียวกับที่จีนประสบความสำเร็จในตลาดนำเข้าผักผลไม้และลิตภัณฑ์ ออสเตรเลียมูลค่านำเข้า 0.70 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 87.1(YOY) เกาหลีใต้ 0.12 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯหรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 1,168.8(YOY) อินเดีย 0.14 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 135,700 (YOY) และอาเซียน 0.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 39.2(YOY) โดยประเทศที่เป็นแหล่งนำเข้าสำคัญของไทยในอาเซียน คือ มาเลเซีย (+175.5%) สิงคโปร์(+591.4%) และอินโดนีเซีย(+3,300%) แสดงให้เห็นว่าในอนาคตประเทศที่เป็นคู่เจรจาFTA ก็จะเข้ามาเจาะขยายตลาดน้ำผักผลไม้ของไทยเพิ่มขึ้น ซึ่งผู้ประกอบการต้องเตรียมรับมือกับการแข่งขันที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ประเด็นที่ต้องพิจารณาคือ น้ำผักผลไม้ที่นำเข้าส่วนใหญ่เป็นน้ำผักผลไม้เข้มข้น ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตน้ำผลไม้เพื่อการบริโภค ดังนั้น การนำเข้าที่เพิ่มขึ้นส่งผลกระทบชาวสวนผักและผลไม้ของไทยโดยตรง แม้ว่าในปัจจุบันสินค้าที่เกี่ยวกับอาหารที่ส่งออกของจีนมีปัญหาในเรื่องภาพลักษณ์ความปลอดภัย แต่ทางรัฐบาลจีนก็เร่งปรับปรุงเพื่อยกระดับมาตรฐานการผลิตเพื่อเรียกความเชื่อมั่นกลับมา ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้นประเทศต่างๆก็อาจจะหันไปซื้อสินค้าจากจีนเช่นเดิม

ผักผลไม้และผลิตภัณฑ์เป็นสินค้าเกษตรและอาหารที่ยังต้องจับตามองถึงผลกระทบของกรอบFTA ต่างๆ เนื่องจากผู้ส่งออกไทยได้รับอานิสงส์จากการขยายการส่งออกได้เพิ่มขึ้น โดยพิจารณาได้จากมูลค่าการส่งออกในช่วงครึ่งแรกของปี 2553 ที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก ในขณะที่กรอบFTA ก็ส่งผลให้ประเทศคู่เจรจาเห็นโอกาสในการขยายตลาดผักผลไม้และผลิตภัณฑ์ในไทยเช่นกัน แม้ว่าในช่วงครึ่งแรกปี 2553 มูลค่าการนำเข้าผักผลไม้และผลิตภัณฑ์จากประเทศคู่เจรจายังไม่มากนัก แต่มีอัตราการขยายตัวที่น่าจับตามอง นอกจากนี้ การนำเข้าน้ำผักผลไม้นั้นส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าน้ำผักผลไม้เข้มข้น ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่นำมาผลิตน้ำผักผลไม้ ดังนั้น ชาวสวนผักและผลไม้ของไทยก็จะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน รัฐบาลและผู้ที่เกี่ยวข้องต้องเตรียมรับมือกับการแข่งขันที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น และบรรเทาผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นตามมาด้วย