กองสำรองเลี้ยงชีพMaster Fund ทิสโก้ โดนใจลูกค้า โตกว่า 25,000 ล้านบาท

ทิสโก้ฉลองความสำเร็จครบรอบ 1 ปีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ Master Fund (กองทุนหลายนโยบายการลงทุน) หลังเป็นผู้นำที่ให้บริการกองทุน TISCO Master Pooled Fund จนประสบความสำเร็จได้รับการตอบรับจากลูกค้าอย่างล้นหลาม ทั้งประเภท Master Pooled Fund และ Master Single Fund ด้วยขนาดกองทุนรวมกันกว่า 25,000 ล้านบาท จากบริษัทนายจ้างกว่า 590 แห่ง

นางสาวอารยา ธีระโกเมน กรรมการอำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ทิสโก้ จำกัด (Ms. Araya Thirakomen, President of TISCO Asset Management Co.,Ltd.) เปิดเผยว่า จากการที่บลจ.ทิสโก้เป็นผู้นำที่ให้บริการบริหารจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแบบหลายนโยบายการลงทุน หรือ Master Fund ไปเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2552 โดยนับถึงวันนี้มีอายุครบ 1 ปีแล้วนั้น ได้รับความสำเร็จเป็นอย่างดี มีลูกค้าให้ความสนใจเข้าร่วมกองทุนจำนวนมาก เนื่องจากตอบโจทย์ ความต้องการนโยบายการลงทุนที่หลากหลาย ทำให้ขนาดของกองทุน Master Fund มีจำนวนกว่า 25,000 ล้านบาท
สำหรับ TISCO Master Pooled Fund จากการศึกษาความต้องการของลูกค้า บวกกับประสบการณ์อันยาวนานกว่า 40 ปีในการบริหารกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เป็นที่มาของการกำหนด 5 นโยบายการลงทุน ไล่เรียงจากระดับความเสี่ยงต่ำไปยังความเสี่ยงสูง ได้แก่ 1. นโยบายตราสารหนี้ระยะสั้น 2 .นโยบายตราสารหนี้มั่นคง 3. นโยบายตราสารหนี้ 4. นโยบายผสม (หุ้นไม่เกิน 20%) และ 5. นโยบายหุ้น

“รูปแบบของ Master Fund ภายใต้การจัดการของทิสโก้ในปัจจุบัน มีทั้งแบบที่มีการผสมนโยบายการลงทุนประเภทต่างๆ ให้สมาชิกเลือกคนละ 1 นโยบาย ไปจนถึงแบบที่ให้สมาชิกแต่ละคนสามารถเลือกผสมแต่ละนโยบายการลงทุนได้ตามความต้องการของตัวเอง (ฟรีสไตล์) โดยที่ข้อดีของ Master Fund คือ ไม่ต้องมีการจดทะเบียนกองทุนเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด ทำให้ลดภาระบริษัทนายจ้างในการดำเนินการส่งเงินสะสม – สมทบเข้ากองทุน ซึ่งสร้างความพึงพอใจให้แก่คณะกรรมการกองทุนและสมาชิกเป็นอย่างมาก

กองทุน TISCO Master Pooled Fund ยังมีข้อดีอื่นๆ อีก อาทิเช่น กองทุนเน้นการลงทุนตรง โดยไม่ได้ลงทุนแบบ Fund of Fund ทำให้ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมซ้ำซ้อน คณะกรรมการกองทุนสามารถกำหนดนโยบายการลงทุนและตรวจสอบการลงทุนได้ ซึ่งต่างจากกองทุนที่เป็น Fund of Fund เพราะการลงทุนจะเป็นไปตามนโยบายการลงทุนของกองทุนรวมนั้นๆ และที่สำคัญรูปแบบของ Master Fund ของทิสโก้เป็นกองทุนเฉพาะสำหรับผู้ลงทุนที่เป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการลงทุนเพื่อการเกษียณเช่นเดียวกัน ดังนั้นจะไม่เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบในการโอนย้ายนโยบายการลงทุน เหมือนกับที่ไปลงทุนผ่านกองทุนรวมซึ่งผู้ลงทุนไม่ได้มีวัตถุประสงค์การลงทุนเพื่อการเกษียณ ทั้งนี้กองทุนนี้ยังช่วยลดความเสี่ยงในเรื่องสภาพคล่องอีกด้วย” นางสาวอารยากล่าว

ปัจจุบันมูลค่าทรัพย์สินสุทธิกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภายใต้การจัดการของบลจ.ทิสโก้อยู่ที่ประมาณ 77,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% จากสิ้นปี 2552 สูงกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมประมาณ 2.7% โดยมีส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับ 2 ในอุตสาหกรรม โดยในปีนี้ทิสโก้ได้รับความไว้วางใจจากบริษัทชั้นนำแต่งตั้งให้เป็นบริษัทจัดการกองทุนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาทิ ซีไอเอ็มบี, สตาร์ ปิโตรเลียม, เมโทร ซิสเต็มส์, อิตัลไทย, อิออน, ไทยศรีประกันภัย, ประกันภัยไทยวิวัฒน์, และ ชินคอร์ปอเรชั่น ทั้งนี้ ทิสโก้ ตั้งเป้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพภายในสิ้นปี 2553 ไว้ที่ 80,000 ล้านบาท และรักษาตำแหน่งแชมป์สูงสุดในประเทศไทยที่ได้รับความไว้วางใจจากบริษัทนายจ้าง โดยปัจจุบันทิสโก้มีจำนวนลูกค้า 2,570 บริษัท คิดเป็น 1ใน 4 จากบริษัทในประเทศไทยที่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแล้ว 10,760 บริษัท

นางสาวอารยา กล่าวว่า ปีหน้า ทิสโก้จะยังคงเน้นจุดเด่นของMaster Fund เพื่อดึงดูดลูกค้าเข้าร่วม Master Pooled Fund เพิ่มขึ้น “ทิสโก้ทำธุรกิจกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมากว่า 40 ปีแล้ว และรักษาความเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมมาโดยตลอด นอกเหนือจากการบริหารกองทุนให้มีผลการดำเนินงานที่ดีอย่างต่อเนื่องแล้ว (ล่าสุด TISCO ได้รับการจัดอันดับให้เป็นบริษัทจัดการกองทุนที่มีผลงานด้านกองทุนตราสารทุนดีที่สุดของประเทศไทยในรอบระยะเวลา 3 ปี จาก Lipper Fund Awards 2010) เรายังเข้าใจความต้องการของลูกค้าและมีความรู้ความชำนาญเรื่องระบบการจัดการ ที่จะอำนวยความสะดวกให้แก่ลูกค้ามากขึ้น ทั้งในเรื่องของการกำหนดทางเลือก ที่แตกต่างกันของแต่ละบริษัทที่อยู่ใน Master Pooled Fund เดียวกัน และการสร้างโปรแกรมเพื่ออำนวยความสะดวกให้สมาชิกแต่ละคนสามารถเลือกนโยบายการลงทุนได้เอง (ฟรีสไตล์) เป็นการตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า นอกจากนี้ TISCO ได้จัดทำ Retirement Plan Model เพื่อเป็นเครื่องมือให้สมาชิกสามารถใช้ในการวางแผนทางการเงินสำหรับการลงทุนเพื่อให้มีเงินเพียงพอไว้ใช้เมื่อเกษียณอายุอย่างมีความสุข โดยคาดว่าภายในปีหน้า จะสามารถเพิ่มจำนวนนายจ้างใน Master Pooled Fund ได้ไม่น้อยกว่า 300 บริษัท และเพิ่มมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เป็น 90,000 ล้านบาท