ปัจจุบัน โทรศัพท์เคลื่อนที่ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการดำรงชีวิตในสังคมยุคใหม่ จนมีการกล่าวว่า โทรศัพท์เคลื่อนที่คือปัจจัยที่ 5 ที่ขาดไม่ได้ของคนในสังคมยุคนี้ ในยุคปัจจุบันการสื่อสารได้เปลี่ยนผ่านจากการสื่อสารที่เน้นรูปแบบของเสียง เข้าสู่ยุคการสื่อสารในหลากหลายรูปแบบที่มีทั้งภาพและเสียง ข้อจำกัดที่สำคัญอย่างหนึ่งในการตอบสนองความต้องการในการสื่อสารของยุคใหม่นี้ คือ ความเร็วในการรับและส่งผ่านข้อมูล ซึ่งเป็นที่มาของเทคโนโลยีการสื่อสารในยุคที่ 3 หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า 3G (Third Generation) ระบบ 3G นั้นสามารถให้บริการรับส่งข้อมูลความเร็วสูงได้ ทำให้การติดต่อสื่อสารเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว และสามารถพัฒนาบริการในรูปแบบใหม่ๆที่มีลักษณะเป็นมัลติมีเดีย และมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ใช้งานได้มากยิ่งขึ้น
การเปิดประมูลใบอนุญาต 3G จึงกลายเป็นกระแสที่ได้รับความสนใจอย่างมากจากฝ่ายต่างๆที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากจะเป็นกุญแจสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญของธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ นอกจากประเด็น 3G แล้ว ข้อกำหนดที่ให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เปิดให้บริการคงสิทธิเลขหมายก็เป็นอีกตัวแปรหนึ่งที่จะมีผลต่อตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่ในอนาคต โดยปัจจุบันผู้บริโภคที่ต้องการเปลี่ยนไปใช้บริการของค่ายบริการอื่นนั้น จำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนเลขหมายโทรศัพท์ของตน หรืออาจต้องถือซิมหลายเลขหมายถ้าต้องการรักษาเลขหมายเดิมไว้ ทำให้เกิดแนวคิด “บริการคงสิทธิเลขหมาย” (Mobile Number Portability) ขึ้น ทางคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ได้มีการกำหนดให้บริการคงสิทธิเลขหมายเป็นบริการที่จำเป็นต่อการให้บริการ 3G ในอนาคต เพื่อเป็นแรงผลักดันให้ผู้ให้บริการพัฒนาคุณภาพการบริการของตนให้ดี รวมไปถึงการอำนวยความสะดวกแก่ผู้บริโภคในการเปลี่ยนผู้ให้บริการได้อย่างเสรีโดยไม่ต้องเปลี่ยนเลขหมาย
ความคืบหน้าบริการ 3G และคงสิทธิเลขหมาย
กทช.ได้มีการจัดการประมูลใบอนุญาตการประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ IMT หรือ 3G ในย่านความถี่ 2.1 GHz ระหว่างวันที่ 20 – 28 กันยายนที่จะถึงนี้ ในการประมูลและเปิดให้บริการ 3G ในครั้งนี้ ทาง กทช.มุ่งหวังที่จะให้อุตสาหกรรมโทรคมนาคมเกิดการแข่งขันที่เสรีและเป็นธรรมมากขึ้น รวมถึงเป็นการผลักดันให้ประชาชนทั่วไปโดยเฉพาะอย่างยิ่งในชนบทห่างไกลสามารถมีโอกาสในการเข้าถึงบริการอินเทอร์เน็ตผ่านทางบริการ 3G ได้ โดยหลังจากการประมูลผู้ให้บริการคาดว่า จะสามารถทยอยเปิดบริการ 3G ได้ประมาณปลายปี 2553 ถึงไตรมาสแรกของปี 2554
ทั้งนี้ ประเด็นที่ต้องจับตามองก่อนการประมูล 3G จะเกิดขึ้น คือ การที่อาจจะมีผู้ยื่นฟ้องศาลปกครอง ในกรณีที่เห็นว่า กทช.ไม่มีอำนาจดำเนินการประมูลใบอนุญาต 3G เพราะไม่มีอำนาจจัดสรรคลื่นความถี่วิทยุและโทรคมนาคมตามรัฐธรรมนูญปี 2550 ซึ่งประเด็นดังกล่าวอาจมีผลต่อกำหนดเวลาในการประมูลใบอนุญาต 3G ของทาง กทช.ได้
สำหรับบริการคงสิทธิเลขหมายนั้น ทาง กทช.ได้มีการประกาศให้มีการเปิดให้บริการในวันที่ 1 กันยายน แต่ในทางปฏิบัติทางผู้ให้บริการยังไม่พร้อมเปิดให้บริการเนื่องจากยังไม่ได้มีการทดสอบระบบสารสนเทศเพื่อสิทธิการคงเลขหมาย (Clearing House) ระหว่างผู้ให้บริการด้วยกัน และมีการยืนยันว่าจะพร้อมและสามารถเปิดให้บริการได้ในปลายปีนี้
แนวโน้มตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่ช่วงครึ่งหลังของปี 2553 ก่อนการเปิดบริการ 3G
ในสถานการณ์ปัจจุบันบนธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ 2G ผู้บริโภคมีการใช้บริการด้านเสียง (Voice) เป็นหลัก คิดเป็นสัดส่วนรายได้ประเภทบริการเสียงร้อยละ 83.5 ในช่วงครึ่งแรกของปี 2553 ในขณะที่บริการด้านข้อมูล (Non-Voice) ถึงแม้ว่าจะมีสัดส่วนที่ต่ำกว่าคือ ร้อยละ 16.5 ในช่วงครึ่งแรกของปี 2553 แต่ก็มีอัตราการเติบโตที่สูงกว่าการบริการด้านเสียงมาโดยตลอด โดยในช่วงครึ่งแรกของปี 2553 บริการด้านเสียงมีอัตราการเติบโตร้อยละ 3.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่บริการด้านข้อมูลมีอัตราการเติบโตร้อยละ 28.5 ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากการเติบโตของตลาดโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟน และความนิยมในการใช้บริการสังคมออนไลน์ที่เพิ่มมากขึ้น
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า แนวโน้มการเติบโตของตลาดโดยรวมจะยังคงเติบโต แต่อาจจะมีอัตราที่ชะลอลงในช่วงครึ่งปีหลัง เนื่องจากผลของฐานที่สูงในปีก่อน และทิศทางเศรษฐกิจโดยรวมมีแนวโน้มชะลอตัวลง อย่างไรก็ตาม ความต้องการด้านข้อมูลจะยังคงเป็นแรงผลักดันการขยายตัวของตลาด โดยตลอดปี 2553 คาดว่า ตลาดโดยรวมจะมีอัตราเติบโตอยู่ที่ร้อยละ 6.8 จากที่เติบโตเพียงร้อยละ 1.0 ในปี 2552 โดยบริการด้านเสียงจะมีอัตราการเติบโตร้อยละ 3.0 ในขณะที่บริการด้านข้อมูลจะมีอัตราเติบโตร้อยละ 25.0
ผลต่อตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่หลังการเปิดให้บริการ 3G
ระบบ 3G จะเป็นกุญแจสำคัญในการเปลี่ยนโฉมหน้าธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ โดยจะเป็นตัวกระตุ้นให้บริการที่เป็นข้อมูล และอินเทอร์เน็ตโมบาย บรอดแบนด์ ขยายตัวมากยิ่งขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนยุคนี้ ที่มีความต้องการบริโภคข้อมูลข่าวสาร และติดต่อสื่อสารกันในลักษณะภาพและเสียงมากยิ่งขึ้น
ผลต่อผู้บริโภค
การเปิดให้บริการ 3G จะเป็นการยกระดับคุณภาพและวิธีการติดต่อสื่อสารของผู้บริโภคชาวไทยให้เข้าสู่ยุคมัลติมีเดีย และอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงอย่างเต็มตัว จากปัจจุบันที่อัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงต่อจำนวนประชากรที่มีเพียงร้อยละ 3.73 ซึ่งอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้านอย่างมาเลเชียที่อยู่ในระดับร้อยละ 31.4 นอกเหนือจากนี้ การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงของผู้บริโภคในพื้นที่ห่างไกลยังคงเป็นไปอย่างยากลำบาก เนื่องจากการบริการอินเทอร์เน็ตในปัจจุบันยังคงอาศัยการบริการผ่านโครงสร้างพื้นฐานของโทรศัพท์พื้นฐานเป็นหลัก การเปิดบริการ 3G จะมีส่วนช่วยผลักดันการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของผู้บริโภคให้สูงยิ่งขึ้น จากข้อกำหนดใบอนุญาตการเปิดให้บริการ 3G มีการกำหนดให้ภายใน 4 ปี ผู้ให้บริการต้องสามารถเปิดให้บริการ 3G ให้สามารถครอบคลุมพื้นที่ร้อยละ 80 ของประเทศไทยได้
ในส่วนของการเปิดบริการคงสิทธิเลขหมาย ยังคงมีประเด็นอยู่ที่ค่าธรรมเนียมการโอนย้ายที่ถูกกำหนดที่ระดับ 99 บาท ยังมีการมองว่าอยู่ในระดับที่สูงเมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนโปรโมชั่นที่ประมาณ 39 บาท หรือแม้แต่ซิมโทรศัพท์เคลื่อนที่ซึ่งในบางครั้งผู้ให้บริการก็แจกฟรี
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในระยะสั้น ปัจจัยค่าธรรมเนียมการโอนย้ายอาจจะเป็นแรงกดดันแก่ผู้บริโภคในการตัดสินใจใช้บริการคงสิทธิเลขหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดบริการแบบเติมเงิน (Pre-paid) ซึ่งมีสัดส่วนจำนวนเลขหมายคิดเป็นร้อยละ 89.6 ของตลาดรวมทั้งหมดในช่วงครึ่งแรกของปี 2553 เนื่องจาก ผู้บริโภคในตลาดแบบเติมเงินมักจะมีความอ่อนไหวต่อราคา และมักจะมีซิมหลายเลขหมายอยู่แล้ว ต่างจากตลาดบริการแบบจ่ายรายเดือน (Post-paid) ซึ่งมักจะเป็นผู้ใช้งานในกลุ่มนักธุรกิจหรือกลุ่มองค์กร ซึ่งหมายเลขโทรศัพท์จะมีความสำคัญ และมักจะไม่เปลี่ยนค่ายบ่อยๆ ทั้งนี้ ในระยะยาว เมื่อการแข่งขันในบริการ 3G รุนแรงขึ้น อาจทำให้ผู้ให้บริการนำประเด็นการลด หรือยกเว้นค่าธรรมเนียมโอนย้ายมาเป็นกลยุทธ์อันหนึ่งที่จะจูงใจผู้บริโภคให้หันมาใช้บริการของตน
ผลต่อผู้ให้บริการและตลาดโดยรวม
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า บริการ 3G และคงสิทธิเลขหมายจะส่งผลอย่างมีนัยสำคัญในการช่วงชิงส่วนแบ่งในตลาดโทรคมนาคมมากยิ่งขึ้น โดยผู้ให้บริการที่ได้รับใบอนุญาต 3G จะเร่งแข่งขันกันสร้างโครงข่ายและนำเสนอบริการบนระบบ 3G ผู้ให้บริการรายใดที่พร้อมในการเปิดให้บริการ 3G ก่อน ย่อมสร้างความได้เปรียบในการดึงดูดผู้บริโภคในการเปลี่ยนค่ายบริการ หรือย้ายจากระบบ 2G ไปสู่ระบบ 3G ผ่านทางบริการคงสิทธิเลขหมาย
ด้านกลยุทธ์ทางการตลาด คาดว่า ในช่วงแรกผู้ให้บริการแต่ละรายอาจจะใช้กลยุทธ์ทางการตลาดโดยเน้นกลยุทธ์ราคา พร้อมกับการพัฒนาบริการให้หลากหลาย ในการดึงดูดผู้บริโภคให้หันมาใช้บริการในค่ายของตนบนระบบ 3G โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้บริโภคในระบบ 2G เนื่องจากสัดส่วนผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนระบบ 2G เทียบกับจำนวนประชากรในประเทศไทยอยู่ที่ร้อยละ 103.21 ซึ่งสะท้อนถึงจุดอิ่มตัวในตลาดโทรคมนาคมโดยรวม ประกอบกับต้นทุนของผู้ให้บริการในการจ่ายส่วนแบ่งรายได้ในระบบ 2G ให้กับรัฐวิสาหกิจที่เป็นคู่สัญญาสัมปทานในอัตราร้อยละ 25-30 นั้นสูงกว่าการจ่ายค่าธรรมเนียมใบอนุญาตของระบบ 3G ในอัตราร้อยละ 6 ของรายได้
ด้วยเหตุผลดังกล่าว โดยรวมคาดว่า ผู้ให้บริการมีแนวโน้มที่จะกำหนดราคาค่าบริการด้านเสียงในระบบ 3G ให้ต่ำกว่าในระบบ 2G เพื่อสร้างแรงจูงใจสำหรับผู้บริโภคส่วนใหญ่ที่ใช้บริการด้านเสียงให้โอนย้ายมายังระบบ 3G สำหรับค่าบริการด้านข้อมูลนั้น ผู้ให้บริการอาจกำหนดราคาในระบบ 3G ให้สูงกว่าในระบบ 2G เนื่องจากความเร็วด้านบริการด้านข้อมูลถือได้ว่าเป็นจุดเด่นและมูลค่าเพิ่มของระบบ 3G
สำหรับตลาดโพสต์เพด คาดว่า ในช่วงแรก ผู้ให้บริการจะเน้นการทำตลาดโพสต์เพดเพื่อเพิ่มจำนวนผู้ใช้บริการในระบบ 3G ให้มากขึ้น ตลาดโพสต์เพดมักจะเป็นตลาดของผู้บริโภคในกลุ่มนักธุรกิจ และกลุ่มองค์กร และมักจะมีศักยภาพพร้อมที่จะใช้งานเทคโนโลยีใหม่ๆที่ช่วยให้การดำเนินธุรกิจของตนมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ผู้ให้บริการอาจเน้นการพัฒนาบริการเสริม รวมไปถึงการร่วมมือกับผู้พัฒนาโปรแกรมประยุกต์เพื่อพัฒนาแอพพลิเคชันเชิงธุรกิจใหม่ๆ เช่น การประชุมผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่โดยสามารถเห็นหน้าคู่สนทนา พร้อมทั้งสามารถแบ่งปันไฟล์การนำเสนอทั้งภาพและเสียงขณะประชุมได้ เป็นต้น ในส่วนของตลาดโพสต์เพดนั้น ผู้ให้บริการอาจจะมีการเสนอโปรโมชั่นในการแบกรับภาระค่าธรรมเนียมการโอนย้ายผ่านบริการคงสิทธิเลขหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มองค์กร ซึ่งเป็นฐานลูกค้าขนาดใหญ่และมักทำสัญญาระยะยาว เพื่อกระตุ้นให้ผู้บริโภคองค์กรจากค่ายอื่น หรือจากระบบ 2G หันมาใช้ระบบ 3G ของตนมากขึ้น
สำหรับตลาดพรีเพด ถึงแม้ว่าจะเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่ แต่ผู้บริโภคโดยทั่วไปในตลาดนี้โดยเฉพาะกลุ่มที่ใช้บริการเสียงเป็นหลักเพียงอย่างเดียว อาจจะยังคงไม่มีความเข้าใจที่เพียงพอในความแตกต่างของการบริการในระบบ 2G และ 3G มากนัก ยกเว้นกลุ่มนักเรียนและนักศึกษา ในช่วงแรก ผู้ให้บริการอาจต้องสื่อสารถึงประโยชน์ของระบบ 3G ให้ผู้บริโภคตระหนัก พร้อมทั้งนำเสนอบริการที่เข้าใจง่ายและเข้ากันกับชีวิตประจำวันโดยทั่วไป เช่น วีดีโอออนดีมานด์ บริการกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น
ในส่วนของกลุ่มนักเรียนและนักศึกษา ซึ่งส่วนใหญ่ยังคงใช้บริการแบบพรีเพด เนื่องจากยังไม่มีรายได้เป็นของตนเองและต้องการควบคุมค่าใช้จ่าย มีแนวโน้มใช้บริการด้านข้อมูลเพื่อเข้าถึงอินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้าสังคมออนไลน์ที่มากขึ้น ตลาดกลุ่มนี้ก็เป็นตลาดที่สำคัญที่ผู้ให้บริการ 3G น่าจะให้ความสำคัญในช่วงแรก เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีความรู้ความเข้าใจและสามารถเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆได้เร็ว ผู้ให้บริการอาจมุ่งเน้นการทำโปรโมชันที่มีลักษณะเป็นแพกเกจแบบเหมาจ่ายเป็นระยะเวลา เพื่อดึงดูดให้กลุ่มนักเรียนและนักศึกษามาใช้ระบบ 3G ซึ่งมีความรวดเร็วในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตมากยิ่งขึ้น
โดยสรุป บริการ 3G จะมีการเปิดการประมูลใบอนุญาตในช่วงวันที่ 20-28 กันยายนนี้ และผู้ให้บริการคาดว่าจะสามารถทยอยเปิดให้บริการได้ประมาณปลายปี 2553 ถึงไตรมาสแรกของปี 2554 สำหรับบริการคงสิทธิเลขหมาย ทาง กทช.ได้มีการประกาศให้เริ่มเปิดให้บริการในวันที่ 1 กันยายนนี้ แต่ในทางปฏิบัติผู้ให้บริการยังคงไม่พร้อมที่จะเปิดให้บริการจนกว่าการทดสอบระบบจะแล้วเสร็จ โดยผู้ให้บริการคาดว่าจะพร้อมเปิดให้บริการได้ในช่วงปลายปีนี้
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ความชัดเจนของการเปิดประมูล 3G น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าของธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่หลังการเปิดบริการ 3G สำหรับแนวโน้มตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่ในช่วงครึ่งหลังของปี 2553 ตลาดยังคงเติบโต แต่อาจจะมีอัตราที่ชะลอลงกว่าในช่วงครึ่งปีแรก เนื่องจากผลของฐานที่สูงในปีก่อน และทิศทางเศรษฐกิจโดยรวมมีแนวโน้มชะลอตัวลง อย่างไรก็ตาม ความต้องการด้านข้อมูลจะยังคงเป็นแรงผลักดันการขยายตัวของตลาด ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในปี 2553 ตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่จะมีอัตราเติบโตอยู่ที่ร้อยละ 6.8 จากที่เติบโตเพียงร้อยละ 1.0 ในปี 2552 โดยบริการด้านเสียงจะมีอัตราการเติบโตร้อยละ 3.0 ในขณะที่บริการด้านข้อมูลจะมีอัตราเติบโตร้อยละ 25.0
สำหรับบริการคงสิทธิเลขหมายนั้น ในระยะสั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ปัจจัยค่าธรรมเนียมการโอนย้ายอาจจะเป็นแรงกดดันแก่ผู้บริโภคในการตัดสินใจใช้บริการคงสิทธิเลขหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ใช้บริการแบบเติมเงิน ในระยะยาวเมื่อการแข่งขันในบริการ 3G รุนแรงขึ้น คาดว่า แรงกดดันค่าธรรมเนียมการโอนย้ายจะผ่อนคลายลงจากการที่ผู้ให้บริการอาจนำประเด็นการลดหรือยกเว้นค่าธรรมเนียมการโอนย้ายมาเป็นกลยุทธ์ทางการตลาดในการจูงใจผู้บริโภค
นอกเหนือจากนี้ หลังการเปิดบริการ 3G ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ผู้ให้บริการอาจจะเน้นการใช้กลยุทธ์ทางการตลาดด้านราคา พร้อมกับพัฒนาบริการที่หลากหลาย เพื่อดึงดูดผู้บริโภคทั้งจากค่ายอื่น และบนระบบ 2G ให้เปลี่ยนมาใช้งานบนระบบ 3G โดยเฉพาะการขยายการให้บริการด้านข้อมูล ซึ่งมีโอกาสในการเพิ่มมูลค่าทางธุรกิจอีกมาก ดังที่เห็นได้จากปัจจุบันที่สัดส่วนรายได้ของบริการด้านข้อมูลอยู่เพียงระดับที่ไม่เกินร้อยละ 20 ในขณะที่ประเทศที่มีการใช้ระบบ 3G แล้ว สัดส่วนรายได้ของบริการด้านข้อมูลจะมีระดับสูงถึงร้อยละ 30 ถึง 70