สินเชื่อส่วนบุคคลไตรมาส 4 ปี 2553 : ธนาคารพาณิชย์โหมแคมเปญกระตุ้นยอดสินเชื่อ

ในช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมา ภาพรวมของธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคล (โดยครอบคลุมสินเชื่อเงินสดที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันทั้งของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ และNon-Bank โดยไม่รวมสินเชื่อบัตรเครดิต) เริ่มปรับตัวเข้าสู่ภาวะที่ดีขึ้นตามการเติบโตของเศรษฐกิจที่ทำให้ธนาคารพาณิชย์ต่างเริ่มมีความมั่นใจมากขึ้นในการทำตลาด ดังจะเห็นได้จากการเริ่มกลับมาทำตลาดอย่างหนักของธนาคารพาณิชย์บางราย เพื่อที่จะเข้ามาช่วงชิงส่วนแบ่งการตลาดในช่วงที่ภาวะตลาดเริ่มฟื้นตัว อย่างไรก็ดี แม้ภาพรวมของสินเชื่อส่วนบุคคลจะเริ่มดีขึ้นตามลำดับก็ตาม แต่ตัวธุรกิจยังต้องเผชิญกับโจทย์ที่ท้าทายรออยู่ข้างหน้า ทั้งเรื่องของเสถียรภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั้งไทยและต่างประเทศ ปัจจัยความไม่แน่นอนทางการเมือง รวมถึงอัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการผ่อนชำระสินเชื่อของผู้บริโภค ประกอบกับการแข่งขันในธุรกิจที่มีความเข้มข้น และเริ่มมีผู้เล่นใหม่ อย่างสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐที่เข้ามาทำตลาดมากขึ้น ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้สรุปประเด็นสำคัญของภาพรวมธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลในช่วงที่ผ่านมา และวิเคราะห์แนวโน้มสินเชื่อส่วนบุคคลในช่วงที่เหลือของปี 2553 ดังนี้

สินเชื่อส่วนบุคคลเดือน สิงหาคม ปี 2553 : บัญชีใหม่ Non-Bank ดีขึ้น…ธนาคารต่างประเทศลดลง
จากรายงานตัวเลขสินเชื่อส่วนบุคคลของธนาคารแห่งประเทศไทยในเดือนสิงหาคม 2553 พบว่า จำนวนบัญชีสินเชื่อส่วนบุคคล มีประมาณ 8,781,543 บัญชี หดตัวร้อยละ 0.5 จากเดือนก่อนหน้า แม้จำนวนบัญชีใหม่จะลดลงจากเดือนกรกฎาคม ที่ผ่านมา แต่ก็เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2552 (มีจำนวนบัญชีประมาณ 8,754,695 บัญชี) ซึ่งเมื่อวิเคราะห์ในแต่ละกลุ่มผู้ประกอบการแล้วจะพบว่า กลุ่มธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศ มีจำนวนบัญชีสินเชื่อใหม่ประมาณ 1,762,378 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.7 จากเดือนก่อนหน้า โดยเป็นอัตราการเติบโตที่สูงกว่าระบบ เนื่องจากที่ผ่านมาธนาคารพาณิชย์ไทยจะเป็นกลุ่มที่มีการออกแคมเปญกระตุ้นตลาดสินเชื่อส่วนบุคคลที่เข้มข้นกว่ากลุ่มอื่น สำหรับสินเชื่อส่วนบุคคลกลุ่ม Non-Bank ในเดือนสิงหาคม 2553 ปรับตัวดีขึ้น ดังจะเห็นได้จากจำนวนบัญชีที่เพิ่มขึ้นในเดือน สิงหาคม ที่ผ่านมา มีจำนวนบัญ 6,449,581 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 จากเดือนก่อนหน้า

อย่างไรก็ดี กลุ่มสาขาธนาคารต่างประเทศ ในเดือนสิงหาคม 2553 มีบัญชีสินเชื่อส่วนบุคคล 569,584 บัญชี หดตัวร้อยละ 11.8 จากเดือนก่อนหน้า โดยนอกเหนือจากที่มีสาเหตุมาจากการที่ผู้ประกอบการได้ทำการยกเลิกบัญชีในกลุ่มลูกค้าที่มีปัญหาการผ่อนชำระสินเชื่อแล้ว สาเหตุอีกส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการที่ผู้ประกอบการมีการยกเลิกบัญชีที่ไม่มีการเคลื่อนไหวมาเป็นระยะเวลานาน เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาผู้ประกอบการมีการนำเสนอผลิตภัณฑ์สินเชื่อส่วนบุคคลพร้อมกับผลิตภัณฑ์อื่นๆ ให้แก่ลูกค้า

ทั้งนี้ ภาพรวมการเติบโตของธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคล ที่ผ่านมา ยังคงเป็นไปในทิศทางที่ค่อยเป็นค่อยไป โดยยังคงเห็นการเคลื่อนไหวของการปรับลดลงของจำนวนบัญชีสินเชื่อในบางเดือน แต่เมื่อเทียบกับเมื่อสิ้นปี 2552 พบว่า จำนวนบัญชีสินเชื่อใหม่เริ่มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศ และกลุ่ม Non-Bank

ธนาคารพาณิชย์ไทยรุกตลาด…ส่งผลยอดคงค้างสินเชื่อเดือน สิงหาคม ปี 2553 เติบโตกว่าระบบ ภาพรวมยอดคงค้างสินเชื่อส่วนบุคคลในเดือนสิงหาคม 2553 มีมูลค่าประมาณ 226,003 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.9 จากเดือนก่อนหน้า ซึ่งปรับตัวดีขึ้นเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน โดยกลุ่มธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศมีอัตราการขยายตัวที่โดดเด่นกว่าผู้ประกอบการกลุ่มอื่น ซึ่งสอดคล้องกับจำนวนสินเชื่อใหม่ที่เพิ่มขึ้น ทำให้ยอดคงค้างสินเชื่อส่วนบุคคลในกลุ่มธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศ เดือนสิงหาคม มีมูลค่าประมาณ 110,061 ล้านบาท เติบโตร้อยละ 1.5 จากเดือนก่อนหน้า ในขณะเดียวกันสินเชื่อส่วนบุคคลในกลุ่มสาขาธนาคารต่างประเทศมีการปรับตัวดีขึ้นตามลำดับแม้ว่าจำนวนบัญชีในเดือนสิงหาคม ลดลงจากเดือนกรกฎาคม ก็ตาม โดยในเดือนสิงหาคม 2553 มียอดสินเชื่อคงค้างประมาณ 18,587 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.1 จากเดือนก่อนหน้า

สำหรับยอดคงค้างสินเชื่อส่วนบุคคลในกลุ่ม Non-Bank พบว่า มียอดสินเชื่อคงค้าง 97,355 ล้านบาท ซึ่งเติบโตร้อยละ 0.5 จากเดือนก่อนหน้า โดยการเคลื่อนไหวของสินเชื่อส่วนบุคคลในกลุ่ม Non-Bank ที่ผ่านมา ยังคงไม่หวือหวามากนัก โดยผู้ประกอบการยังคงระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อ โดยส่วนใหญ่ยังคงระดับเงินเดือนขั้นต่ำที่ 10,000 หรือ 15,000 บาทต่อเดือน จากที่ในช่วงก่อนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจปลายปี 2551 ผู้ประกอบการกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะเน้นตลาดกลุ่มลูกค้าที่มีรายได้ต่ำกว่า 10,000 บาท

สินเชื่อส่วนบุคคลไตรมาส 4 ปี 2553 : ธนาคารพาณิชย์ไทยเริ่มบุกตลาด…ชิงส่วนแบ่งตลาดเพิ่ม

ผลิตภัณฑ์สินเชื่อส่วนบุคคลเป็นสินเชื่อที่ไร้หลักทรัพย์ค้ำประกัน ซึ่งจัดอยู่ในประเภทสินเชื่อที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งแต่เดิมผู้ประกอบการกลุ่ม Non-Bank จะเป็นกลุ่มที่มีฐานลูกค้าเป็นจำนวนมาก (จำนวนบัญชี) และมียอดคงค้างสินเชื่อส่วนบุคคลที่สูงเช่นกัน แต่อย่างไรก็ดี ในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมา ธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศบางรายได้ให้ความสนใจในตลาดสินเชื่อส่วนบุคคลมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากกลยุทธ์การตลาดที่ออกมากันอย่างเข้มข้น ทำให้ผู้ประกอบการกลุ่มนี้เริ่มมีฐานบัญชีใหม่เพิ่มขึ้น แม้จำนวนบัญชียังไม่สูงเท่ากับกลุ่ม Non-Bank ก็ตาม แต่ก็มีสัดส่วนยอดคงค้างสินเชื่อที่สูงกว่ากลุ่ม Non-Bank

ดังนั้น ธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลในช่วงไตรมาส 4 ของปี 2553 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ตลาดน่าจะเริ่มกลับมามีความคึกคักและมีสีสันมากขึ้นอีกครั้ง โดยเฉพาะเมื่อปัจจัยแวดล้อมทางธุรกิจที่เอื้อต่อการกลับเข้ามทำตลาด โดยในช่วงไตรมาส 4 นี้ เมื่อภาวะเศรษฐกิจไทยที่ยังมีการเติบโตที่เป็นบวก ผู้บริโภคคงจะเริ่มเห็นการเคลื่อนไหวในกิจกรรมทางการตลาดจากผู้ประกอบการธุรกิจให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ไทยที่เน้นตลาดสินเชื่อรายย่อยที่จะเริ่มเข้ามาขยายฐานตลาดในธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคค เช่นเดียวกับที่ได้รุกตลาดสินเชื่อเพื่อผู้บริโภคประเภทอื่นๆ ไปก่อนหน้านี้แล้ว โดยผู้ประกอบการต่างคงต้องพยายามสรรหากลยุทธ์มาจูงใจผู้บริโภค ซึ่งกลยุทธ์สำคัญที่ใช้ในการทำตลาดยังคงเป็นเรื่องของอัตราดอกเบี้ย โดยผู้ประกอบการหวังที่จะใช้อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าคู่แข่ง อาทิ อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0 เป็นเวลา 3 เดือน ถึง 3 ปี หรือการคิดอัตราดอกเบี้ยแบบขั้นบันได เมื่อลูกค้ากู้วงเงินจำนวนมากดอกเบี้ยก็จะถูกลง เป็นต้น ซึ่งกลยุทธ์ดังกล่าว นอกจากจะจูงใจให้ลูกค้าเลือกใช้บริการของตน ยังเป็นการดึงกลุ่มลูกค้าที่เป็นเป้าหมายและเป็นกลุ่มที่มีคุณภาพเข้าสู่พอร์ตก่อนคู่แข่ง

อย่างไรก็ดี นอกจากการใช้กลยุทธ์เรื่องของอัตราดอกเบี้ยแล้ว กลยุทธ์ด้านการตลาดอื่นๆ ยังคงเป็นไปในรูปแบบที่คล้ายคลึงกับที่ผ่านมา เช่น แคมเปญระยะเวลาการผ่อนชำระที่ยาวนาน ฟรีค่าธรรมเนียมการจัดการสินเชื่อ ระยะเวลาการอนุมัติที่รวดเร็ว รวมถึงการให้บริการสินเชื่อพิเศษกับกลุ่มลูกค้าที่มีบัญชีเงินเดือนกับธนาคาร เป็นต้น

สำหรับแนวโน้มการเติบโตของสินเชื่อส่วนบุคคลในระยะที่เหลือของปีนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นว่า ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่ยังมีแนวโน้มการเติบโตที่เป็นบวก ที่น่าจะเป็นแรงหนุนต่อการขยายตัวของสินเชื่อส่วนบุคคล ทำให้คาดว่า ยอดคงค้างสินเชื่อส่วนบุคคล ณ สิ้นปี 2553 จะมีมูลค่าประมาณ 231,250 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 8.0 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับที่หดตัวร้อยละ 6.6 ในปี 2552

โดยทิศทางการเติบโตของสินเชื่อส่วนบุคคลคงจะมีลักษณะของการเติบโตในอัตราที่ค่อยเป็นค่อยไป แม้ว่าผู้ประกอบการจะมีการจัดกิจกรรมการตลาดกระตุ้นธุรกิจสินเชื่อบุคคลอย่างเข้มข้นก็ตาม แต่เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจในระยะข้างหน้าอาจมีความผันผวนเกิดขึ้น ดังนั้นการอนุมัติสินเชื่อของผู้ประกอบการจึงยังคงอยู่บนพื้นฐานของความระมัดระวัง โดยผู้ประกอบการจะเน้นกลุ่มลูกค้าที่มีคุณภาพมากกว่าการเน้นจำนวนบัญชีที่เพิ่มขึ้น

โดยสรุป สำหรับการแข่งขันในธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลในช่วงโค้งสุดท้ายของปี 2553 นี้ ผู้ประกอบการคงต้องเผชิญกับการแข่งขันที่สูง ซึ่งนอกจากที่ผู้ประกอบการจะต้องทำการแข่งขันระหว่างผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลมานานแล้ว ผู้ประกอบการยังต้องแข่งขันกับผู้เล่นรายใหม่ๆ อย่างธนาคารพาณิชย์ขนาดกลาง และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐที่เริ่มหันมาขยายฐานตลาดสินเชื่อส่วนบุคคล แม้ว่าสัดส่วนทางธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลปัจจุบันของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐจะยังไม่สูงมากนัก แต่สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐจะได้รับประโยชน์จากโครงการพิเศษของภาครัฐที่ออกมาเป็นระยะๆ และมักจะนำเสนออัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าในตลาด ซึ่งปัจจัยดังกล่าวอาจจะมีผลต่อธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ และกลุ่ม Non-Bank ในระยะข้างหน้าได้

สำหรับข้อพิจารณาของผู้ใช้บริการสินเชื่อส่วนบุคคล ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นว่า จากการที่ธุรกิจสินเชื่อมีการแข่งขันที่รุนแรง ทำให้ผู้ประกอบการต่างพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลายให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค และกลยุทธ์การแข่งขันเพื่อสร้างแรงจูงใจให้ผู้บริโภคหันมาใช้ผลิตภัณฑ์ของสถาบันการเงินนั้น ซึ่งจะเห็นได้จากการแข่งขันด้านราคา (อัตราดอกเบี้ย) การแข่งขันในส่วนของค่าธรรมเนียมต่างๆ เช่น ค่าธรรมเนียมรายปี ค่าธรรมเนียมในการขอสินเชื่อ เป็นต้น ซึ่งเป็นการช่วยผ่อนภาระค่าใช้จ่ายในการขอสินเชื่อด้วย ดังนั้นจึงเป็นโอกาสของผู้บริโภคในการที่จะเลือกใช้สินเชื่อให้ตรงกับความต้องการและให้ได้รับสิทธิประโชยช์สูงสุดจากการแข่งขันระหว่างผู้ประกอบการ โดยเฉพาะสำหรับผู้บริโภคที่มีความจำเป็นต้องการสินเชื่อ อย่างไรก็ดีผู้บริโภคควรใช้จ่ายบนพื้นฐานของความระมัดระวัง และควรมีการบริหารเงินที่ดี ให้เหมาะสมกับความสามารถในการผ่อนชำระของผู้ขอสินเชื่อในแต่ละเดือนด้วยเช่นกัน