ส่งออกไปจีนเดือน ต.ค. : ยังคงพุ่งทะยานทำสถิติมูลค่าสูงสุด…เติบโต 27%

การส่งออกของไทยไปจีนในเดือนตุลาคม 2553 ยังคงพุ่งทะยานทำสถิติมูลค่ารายเดือนสูงสุดที่ 1,900.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เหนือกว่าเดือนกันยายนที่ผ่านมาซึ่งมีมูลค่า 1,898.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่การนำเข้าชะลอตัวลงมาอยู่ที่ 1,990.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯจากมูลค่า 2,101.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในเดือนก่อนหน้า ส่งผลให้ไทยเสียเปรียบดุลการค้าให้แก่จีนน้อยลงเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 8 เดือนที่มูลค่า 90.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ภาคการผลิต-ภาคการบริโภคในจีนยังคงแข็งแกร่ง…หนุนการส่งออกไทยไปจีนเดือน ต.ค.
ภาคการผลิตของจีนในเดือนตุลาคมยังคงสะท้อนถึงความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจจีน แม้ว่าค่าเงินหยวนจะแข็งค่าขึ้น โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อของจีนในเดือน ต.ค. ซึ่งจัดทำโดยสหพันธ์โลจิสติกส์ เพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 6 เดือน โดยเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 54.7 จุดจาก 53.8 จุดในเดือนกันยายน โดยดัชนีย่อยตัวที่เพิ่มขึ้นมากที่สุดคือ ดัชนีราคาวัตถุดิบ (Index of input prices) สอดคล้องกับดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อซึ่งจัดทำโดย HSBC และ Markit Economics ที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน จากระดับ 52.9 จุดในเดือนก่อนหน้า มาอยู่ที่ 54.8 จุดในเดือนตุลาคม ส่วนยอดค้าปลีกสินค้าซึ่งเป็นมาตรวัดการใช้จ่ายของผู้บริโภคภายในประเทศจีนในเดือนตุลาคมก็มีมูลค่าถึง 1.43 ล้านล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.6 (YoY) โดยการอุปโภคบริโภคในเขตเมืองเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.9 (YoY) ขณะที่ยอดค้าปลีกในพื้นที่ห่างไกลเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.8 (YoY) ส่งผลให้ยอดค้าปลีกในช่วง 10 เดือนแรกพุ่งขึ้นถึงร้อยละ 18.3 (YoY) มาอยู่ที่ระดับ 12.5 ล้านล้านหยวน ส่วนหนึ่งอาจเป็นผลของการปรับขึ้นราคาแบบก้าวกระโดดของสินค้าเกือบทุกชนิด โดยเฉพาะในกลุ่มอาหารที่มีการปรับขึ้นประมาณร้อยละ 10-40 ทำให้รัฐบาลจีนเริ่มใช้นโยบายการเงินแบบเข้มงวดเพื่อดูดซับสภาพคล่องออกจากตลาดด้วยการขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย และปรับขึ้นสัดส่วนเงินสำรองธนาคารพาณิชย์ ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าทางการจีนอาจจะมีมาตรการทางการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นอีกในอนาคต เพื่อสกัดกั้นอัตราเงินเฟ้อที่ขยับตัวเร่งขึ้นมาก นอกจากนี้ การนำเข้าในเดือนตุลาคมยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่องที่ระดับร้อยละ 25.3 (YoY) แตะระดับ 108.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สะท้อนถึงอุปสงค์ภายในประเทศที่ยังคงแข็งแกร่ง แม้จะเป็นระดับการเติบโตที่ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 28.3 (YoY) ก็ตาม โดยแหล่งนำเข้าที่สำคัญ 5 อันดับแรกของจีนในเดือนตุลาคมปีนี้คือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน สหรัฐอเมริกา และเยอรมนี คิดเป็นสัดส่วนรวมกันร้อยละ 43.0 ของมูลค่าการนำเข้าโดยรวมของจีนในช่วงเวลาดังกล่าว ส่วนไทยติดอันดับที่ 10 มีสัดส่วนร้อยละ 2.46 สำหรับรายละเอียดการค้าระหว่างประเทศไทย-จีน ในเดือนตุลาคมที่น่าสนใจ ได้แก่

– การส่งออกของไทยไปจีนในเดือนตุลาคม 2553 สามารถทำลายสถิติมูลค่าสูงสุดในเดือนกันยายนที่ 1,898.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยมีมูลค่าการส่งออกทั้งสิ้น 1,900.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ด้วยอัตราการเติบโตชะลอตัวลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ระดับร้อยละ 27 เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน หลังจากที่เติบโตร้อยละ 29.3 (YoY) ในเดือนกันยายนที่ผ่านมา ขณะที่ตลาดส่งออกสำคัญอย่างสหรัฐฯ ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป(27) และอาเซียนต่างชะลอตัวแรงกว่า โดยการส่งออกไปสหรัฐฯในเดือนตุลาคมเติบโตร้อยละ 4.9 (YoY) จากที่เคยเติบโตร้อยละ 17.0 (YoY)ในเดือนกันยายน ส่วนการส่งออกไปญี่ปุ่นเติบโตร้อยละ 18.2 (YoY) จากที่เคยเติบโตร้อยละ 30.0 ในเดือนก่อนหน้า อีกทั้งการเติบโตของจีนในเดือนนี้ก็ยังเป็นระดับการเติบโตที่สูงกว่าอัตราการขยายตัวของตลาดส่งออกกลุ่มดังกล่าวข้างต้น รวมไปถึงการส่งออกโดยรวมของไทยในเดือนตุลาคมปีนี้ที่เติบโตร้อยละ 15.7 (YoY)ด้วย ทำให้จีนยังคงเป็นตลาดส่งออกสำคัญอันดับหนึ่งของไทยในช่วง 10 เดือนแรกปี 2553 และน่าจะเป็นประเทศที่มีบทบาทสำคัญต่อภาคการส่งออกของไทยในช่วงเวลาที่เหลือของปี 2553 รวมไปถึงปี 2554 ด้วย

– รายการสินค้าสินค้าส่งออกสำคัญในเดือนตุลาคมนั้น ยังคงเป็นกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมที่คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ68.1 ของมูลค่าการส่งออกโดยรวมของไทยไปจีน ตามมาด้วยกลุ่มสินค้าเกษตรกรรม(สัดส่วนร้อยละ 19.4) สินค้ากลุ่มแร่และเชื้อเพลิง(สัดสวนร้อยละ 11.4) และสินค้ากลุ่มอุตสาหกรรมเกษตร(สัดส่วนร้อยละ1.1) โดยกลุ่มสินค้าที่มีอัตราการเติบโตสูงสุดคือกลุ่มสินค้าแร่และเชื้อเพลิงด้วยระดับการเติบโตร้อยละ 111.5 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน ตามมาด้วยกลุ่มสินค้าเกษตรกรรม(เพิ่มขึ้นร้อยละ 41.9) และสินค้าอุตสาหกรรม(เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.2) ส่วนสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรลดลงร้อยละ 0.9 โดยเป็นที่น่าสังเกตว่า การส่งออกสินค้าเพื่อตอบสนองภาคอุตสาหกรรมต่างๆของจีนหลายรายการขยายตัวต่อเนื่อง เช่น ยางพารา เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์ยาง เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เป็นต้น รวมไปถึงน้ำมันดิบ และน้ำมันสำเร็จรูปด้วยที่มีการเติบโตในอัตราเร่งขึ้นในเดือนนี้อย่างชัดเจน จึงสะท้อนว่าเศรษฐกิจจีนยังคงมีศักยภาพที่แข็งแกร่ง

– ขณะที่การนำเข้าจากจีนในเดือนตุลาคมมีมูลค่า 1,990.82 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.9 ซึ่งนับเป็นอัตราการเติบโตที่ต่ำกว่าการเติบโตของภาคส่งออกอย่างชัดเจน ทำให้การเสียเปรียบดุลการค้าของไทยต่อจีนในเดือนตุลาคมมีมูลค่าต่ำที่สุดในรอบ 8 เดือนที่เม็ดเงิน 90.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และนับเป็นมูลค่าการขาดดุลการค้าที่ปรับลดลงเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกันแล้วจากระดับ 485.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในเดือนมิถุนายน และมีผลให้การเสียเปรียบดุลการค้าของไทยต่อจีนในช่วง 10 เดือนแรกเป็น 2,353.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

– โดยรายการสินค้านำเข้าของไทยจากจีนส่วนใหญ่ในช่วง 10 เดือนแรกเป็นกลุ่มสินค้าทุนเป็นสัดส่วนร้อยละ 42.7 ตามมาด้วยกลุ่มสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป(สัดส่วนร้อยละ 35.0) กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค(สัดส่วนร้อยละ 19.7) และที่เหลืออีกร้อยละ 2.6 เป็นกลุ่มยานพาหนะและอุปกรณ์ขนส่ง สินค้าเชื้อเพลิง และกลุ่มอาวุธ ยุทธปัจจัย และสินค้าอื่นๆ สะท้อนให้เห็นว่าไทยค่อนข้างพึ่งพาจีนในส่วนของสินค้าขั้นกลางและขั้นต้นค่อนข้างสูงโดยที่กลุ่มสินค้ายานพาหนะและอุปกรณ์ขนส่งมีอัตราการเติบโตสูงสุดถึงร้อยละ 61.4 ตามมาด้วยกลุ่มวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปที่เติบโตร้อยละ 60.7 และกลุ่มสินค้าเชื้อเพลิง(เพิ่มขึ้นร้อยละ 55.5) ขณะที่กลุ่มสินค้าทุน และสินค้าอุปโภคบริโภค เติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 39.9 และร้อยละ 32.8 ตามลำดับ

– ภาวะการค้าผ่านชายแดนระหว่างไทย-จีนตอนใต้ในเดือนตุลาคม ยังคงเป็นไทยที่ได้เปรียบดุลการค้า แต่เป็นมูลค่าต่ำสุดในรอบ 7 เดือน โดยตามรายงานล่าสุด พบว่า การส่งออกผ่านชายแดนไปยังจีนในเดือนตุลาคมมีมูลค่า 762.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 130.3 จากเดือนเดียวกันปีก่อน ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 607.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.5 (YoY) ส่งผลไทยได้เปรียบดุลการค้าผ่านแดนต่อจีนเพียง 154.5 ล้านบาทในเดือนนี้ จากที่เคยได้เปรียบไม่ต่ำกว่า 800 ล้านบาทในช่วงเดือนพฤษภาคม-กันยายน 2553 ส่วนหนึ่งเป็นผลของสินค้าส่งออกสำคัญส่วนใหญ่มีทิศทางชะลอตัว โดยเฉพาะสินค้าเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ น้ำมันดีเซล รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เป็นต้น ขณะที่ในช่วง 10 เดือนแรกปี 2553 ไทยยังคงได้เปรียบดุลการค้าผ่านชายแดนต่อจีนเป็นมูลค่า 6,865.1 ล้านบาท สูงสุดเป็นประวัติการณ์ (ในช่วงเดียวกันปี 2552 ไทยขาดดุลต่อจีน 385.8 ล้านบาท)

บทสรุป
การส่งออกของไทยไปจีนในเดือนตุลาคม 2553 สามารถทำสถิติมูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 1,900.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯเหนือเดือนกันยายนที่ผ่านมา และแม้อัตราการเติบโตจะชะลอตัวลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ระดับร้อยละ 27 เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน หลังจากที่เติบโตร้อยละ 29.3 (YoY) ในเดือนกันยายนที่ผ่านมา แต่เมื่อเทียบกับตลาดส่งออกสำคัญอย่างสหรัฐฯ ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป(27) และอาเซียนที่ต่างชะลอตัวแรงกว่า ย่อมสะท้อนถึงสถานการณ์ที่ดีของภาคการส่งออกของไทยไปจีน แม้จะประสบกับความท้าทายของค่าเงินบาทไทยที่แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วนับตั้งแต่เดือนสิงหาคม และน่าจะเป็นประเทศที่มีบทบาทสำคัญต่อภาคการส่งออกของไทยในช่วงเวลาที่เหลือของปี 2553 รวมไปถึงปี 2554 ด้วย เพราะไทยเป็นเครือข่ายการผลิตที่ใกล้ชิดกับจีน เป็นแหล่งนำเข้าวัตถุดิบ/สินค้าทุนที่มีคุณภาพ อีกทั้งยังเป็นแหล่งนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคที่ได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคจีนที่นับวันจะมีจำนวนผู้มีกำลังซื้อสูงเพิ่มมากขึ้น โดยผู้ประกอบการไทยควรเน้นจับกลุ่มเป้าหมายในตลาดของเมืองรองๆลงไปให้มากขึ้น เพราะประชากรในเมืองดังกล่าวจะมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น ตามแผนพัฒนาแผนพัฒนาเศรษฐกิจ 5 ปี ฉบับที่ 12 (2554 – 2558) ที่จะมุ่งเน้นการกระจายการพัฒนาสู่ภูมิภาคแถบตะวันตกและพื้นที่ตอนใน รวมไปถึงการกระตุ้นการบริโภค (Stimulating domestic consumption) ทั้งในส่วนของการเพิ่มการจ้างงานในภาคบริการและ SMEs และการจัดตั้ง Social safety net ที่มีความแข็งแกร่งมากขึ้น อันจะนำไปสู่การมีรายได้เพิ่มขึ้น และกล้าที่จะจับจ่ายใช้สอยเพิ่มมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม การที่เศรษฐกิจจีนยังคงร้อนแรง ทำให้เงินทุนจากต่างประเทศหลั่งไหลสู่จีนอย่างต่อเนื่อง ทั้งในตลาดเงินและตลาดทุน ส่งผลให้จีนต้องเผชิญความท้าทายจากภาวะอัตราเร่งของเงินเฟ้อและภาวะฟองสบู่ด้านสินทรัพย์ จึงมีความเป็นไปได้ว่าเศรษฐกิจในอนาคตอาจลดความร้อนแรงลงบ้าง เพราะทางการจีนอาจออกมาตรการคุมเข้มสภาพคล่องทางการเงินตามมาอีกในระยะข้างหน้า เพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และลดโอกาสการเกิดภาวะการชะลอตัวอย่างรุนแรงลง ซึ่งแผนพัฒนาเศรษฐกิจ 5 ปีฉบับที่ 12 (2554 – 2558) ที่ได้ออกโครงร่างแผนมาเมื่อปลายเดือนตุลาคม 2553 ก็ได้มีการกำหนดเป้าหมายอัตราการเติบโตของ GDP ชะลอตัวลงจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 11 ที่กำหนดไว้ร้อยละ 7.5 ต่อปี มาอยู่ที่ร้อยละ 7 ต่อปีในช่วงปี 2554-2558

ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงยังคงประมาณการอัตราการเติบโตของการส่งออกไทยไปจีนในปี 2553 ไว้ที่ระดับร้อยละ 30 ส่วนอัตราการเติบโตในปี 2554 ก็จะอยู่ที่ร้อยละ 10-20 โดยมีการเปิดเสรีทางการค้าภายใต้กรอบอาเซียน-จีน ซึ่งมีผลบังคับใช้นับตั้งแต่ต้นปี 2553 เป็นหนึ่งในแรงขับเคลื่อนที่สำคัญของภาคการส่งออกของไทยไปยังจีน และมองว่าจีนจะยังคงเป็นตลาดส่งออกที่มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อการส่งออกสินค้าและบริการของไทยในปี 2554 ท่ามกลางทิศทางการฟื้นตัวที่ยังไม่แน่นอนนักของบรรดาคู่ค้าหลักในฟากฝั่งตะวันตกและญี่ปุ่น แต่ขณะเดียวกันก็คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเผชิญกับสถานการณ์การแข่งขันที่เข้มข้นมากขึ้นด้วย เพราะหลายประเทศต่างก็หมายปองตลาดจีนที่มีความยิ่งใหญ่ของขนาดประชากรกว่า 1,000 ล้านคน และอำนาจการซื้อที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นตามศักยภาพที่เข้มแข็งของเศรษฐกิจจีนนับจากนี้