ประโยคนี้ คงจะดูธรรมดาๆ ถ้าเป็นการพูดของ Blogger Noname หรือ Website ไร้ชื่อ แต่ถ้าผู้ที่พูดประโยคนี้ คือ “Chris Anderson” บรรณาธิการนิตยสาร Wired เจ้าของหนังสือ “The Long Tail” และ “Free” ประโยคนี้ย่อมมีความหนักแน่นและมีน้ำหนักพอที่จะสร้างผลกระทบทางความคิด ที่มีต่อโลกอินเทอร์เน็ตอย่างแน่นอน
บทความขึ้นปกนิตยสาร Wired ฉบับเดือนกันยายน ชื่อ “The Web is Dead” ได้สร้างความสั่นสะเทือนทางความคิด ในแวดวงอินเทอร์เน็ตอย่างกว้างขวาง ก่อให้เกิดบทสนทนาที่เกี่ยวข้องกับบทความนี้ โดยเหล่า Opinion Leader ของโลกอินเทอร์เน็ตหลายๆ คน
บทความหลายๆ บทความที่ “Chris Anderson” เขียน มีมุมมองที่ลุ่มลึกต่อเทรนด์ของธุรกิจที่เวียนหมุนอยู่รอบๆ ตัวเรา
ไม่ว่าจะเป็นบทความ “The Long Tail” ที่เขาเขียนลงในนิตยสาร Wired ในเดือนเดือนตุลาคม ปี 2004 ที่ได้อธิบาย Business Model ที่เริ่มก่อตัวเป็นเทรนด์ในตอนนั้น และภาคต่อของบทความชิ้นนี้ได้กลายมาเป็นหนังสือ ชื่อ “The Long Tail” ซึ่งเป็นขายดีที่สุดอันดับหนึ่งในหมวดธุรกิจ ในปี 2006
ล่าสุดกับหนังสือ “Free! The Future of radical price” ก็เป็นหนังสือหมวดธุรกิจอีกเล่มที่ได้รับการพูดถึงมากที่สุดเล่มหนึ่งในปี 2009 ก็มาจากบทความของเขาในนิตยสาร Wired ในหัวข้อ “Free! Why $0.00 Is the Future of Business” ที่ตีพิมพ์ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2008
นับว่าแนวคิดและบทความจากปลายปากกาของ Chris Anderson ผู้นี้ส่งผลกระทบกับแนวคิดในโลกธุรกิจ โดยเฉพาะโลกออนไลน์ได้มากพอสมควร
และเมื่อบทความ “The Web is Dead” ออกมา และมีผู้คนพูดถึงมากมายขนาดนี้ ย่อมพลาดไม่ได้ที่จะต้องติดตาม เพราะมันมีโอกาสที่จะกลายเป็นเทรนด์ของโลกอินเทอร์เน็ตที่น่าจับตามองและจะส่งผลกระทบต่อมุมมองธุรกิจในโลกออนไลน์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
Chris Anderson เริ่มโหมโรงด้วย Infographic ของ Traffic บนโลกอินเทอร์เน็ตที่กำลังเปลี่ยนไป โดย Traffic ของอินเทอร์เน็ตที่เป็นการท่อง Web มีอัตราส่วนลดลงอย่างชัดเจนในช่วงเวลา 5 ปีที่ผ่านมา
ในขณะที่ Traffic ของการดู VDO ออนไลน์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ในอัตราเร่งที่สูง ทำให้ย่างก้าวของ Webที่ถือกำเนิดมา 18 ปี ดูเหมือนกำลังจะเกิดความเปล่ียนแปลงขึ้นอีกครั้ง
สาเหตุหลักของการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ มาจากพฤติการการใช้ชีวิตประจำวันของคนในยุคอินเทอร์เน็ตก็เริ่มเปลี่ยนไป เช่น การอ่านข่าวจาก แอพฯ ข่าวของสำนักข่าวต่างๆ บน iPhone/iPad หรือกระทั่งแอพฯ ที่ใช้งาน RSS Feed
การใช้งานเครือข่ายสังคมออนไลน์อย่าง Facebook และ Twitter ผ่าน Client บนโทรศัพท์มือถือ
การฟังเพลงผ่าน แอพฯ “Pandora” แทนการเปิดวิทยุฟัง
การเล่นเกมแบบ Multi-player กับเพื่อนๆที่นิยมชมชอบเกมเดียวกันบนเครื่อง Xbox ผ่านระบบที่เรียกว่า “Xbox Live”
หรือจะเป็นการดูหน้งผ่านการสตรีมมิ่งที่เป็นบริการของ Netflix
พฤติกรรมการใช้งานบริการต่างๆ บนอินเทอร์เน็ต การเข้าถึง Content ต่างๆ ของผู้ใช้ กำลังจะเปลี่ยนไปจากเดิมการเข้าไปใช้บริการออนไลน์ต่างๆ จะต้องใช้เว็บเบราเซอร์เพื่อเข้าสู่หน้าเว็บของบริการนั้นๆมาสู่การเข้ามาที่หน้าแอพฯ โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพา PC และ ไม่ต้องพึ่งพาเว็บเบราเซอร์อีกต่อไป
การเปลี่ยนแปลงนี้ อาจจะมองได้ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงจากระบบเปิดอย่างเว็บ (Open Platform) มาสู่ระบบกึ่งปิด (Semiclosed Platform) อย่างแอพฯ โดยยังใช้ Internet เป็นเส้นทางในการรับส่งข้อมูลอยู่เหมือนเดิม
หนึ่งในปัจจัยสำคัญของการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ คือ การที่ Smart Phone ได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้ใช้ ในการเพิ่มความสะดวกสบายในการใช้งาน ในการเข้าถึงข้อมูล Content ต่างๆ
ผู้ใช้เพียงกดจากหน้าจอโทรศัพท์ข้างๆ ตัว ก็สามารถดู Content ทุกอย่างที่ปกติต้องดูผ่าน Web Browser บน PC มาดูบนหน้าจอมือถือได้ทันที เรียกได้ว่า “หน้าจอ” ได้มาอยู่ใกล้กับผู้ใช้ มากกว่าที่เคยเป็น
อีกหนึ่งปัจจัยหลักของการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ เกิดมาจากการเปิดช่องทางการติดต่อกับส่วนหลักของบริการออนไลน์่ต่างๆ ที่เรียกว่า “API” (Application Programming Interface หรือ ส่วนเชื่อมต่อกับ Application) ไม่ว่าจะเป็นการเปิด API ของ Twitterทำให้เกิดแอพฯ ที่ใช้งาน Twitter ได้มากมายนับร้อยๆ แอพฯ และไม่ได้มีแต่ Twitterเท่านั้น แต่เว็บสังคมออนไลน์อย่าง Facebook ก็เปิด API ให้สามารถเข้าถึงข้อมูลของผู้ใช้ หรือใช้บัญชีผู้ใช้ Facebook ทำการ Login เข้ากับบริการต่างๆ ของตน ผ่าน “Facebook Connect” และยังมีการเปิดส่วนอื่นๆ ให้นักพัฒนาแอพฯ เข้ามาเชื่อมต่อได้อีกมากมาย
แน่นอนว่า การที่บริการชั้นนำอย่าง Facebook, Twitter เปิด API ให้เชื่อมต่อเข้าถึง ย่อมหมายถึงโอกาสมหาศาลของนักพัฒนา ที่จะสร้างสรรค์ผลงานบริการของตัวเอง และผูกบางส่วนของบริการตนเข้ากับเว็บดังๆ ที่มีฐานผู้ใช้บริการขนาดใหญ่อยู่แล้ว
เกิดผลประโยชน์แบบ “Win-Win” เมื่อผู้ให้บริการเว็บสามารถขยายฐานผู้ใช้บริการผ่าน “ความเปิด” การอนุญาตให้อุปกรณ์และแอพฯ ที่หลากหลาย เข้าถึง บริการหลักของตนได้ โดยไม่ต้องอาศัยเว็บเบราเซอร์ในการเข้าเว็บ
ประโยชน์อีกด้าน ก็จะเกิดกับผู้พัฒนาแอพฯ ที่สร้างรายได้จากการขายแอพฯ โดยไม่ต้องไปลงทุนสร้างบริการ สร้างระบบต่างๆ เช่น นักพัฒนาสามารถขายแอพฯ Twitter Client ได้โดยไม่ต้องไปลงทุนสร้าง Twitter ของตัวเองขึ้นมาใหม่ เน้นการทำแอพฯ ของตนให้มีลูกเล่นที่ดี และเชื่อมต่อกับ Twitter ก็มีโอกาสขายได้มหาศาลแล้ว
เมื่อได้ประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย แนวคิดนี้จึงกลายเป็นเทรนด์ ที่เจ้าของบริการออนไลน์ต้องเปิด API เพื่อให้แอพน จากอุปกรณ์ต่างๆ มาเชื่อมต่อกับบริการของตน
ตัวเร่งปฏิกิริยาชั้นดีที่มีส่วนผลักดันโดยตรงให้ตลาดแอพฯ ถือกำเนิดขึ้นมา คือ “ตลาด Smart Phone” ที่มีจำนวนหลายร้อยล้านเครื่อง ทำให้เกิดฐานผู้ใช้ใหม่ที่มีศักยภาพในการซื้อสูง
ยอดขายที่พุ่งทะยานของ Smart Phone นับตั้งแต่ปี 2007 ที่ Apple เข้ามาเขย่าตลาดโทรศัพท์มือถือ ด้วย iPhone มีส่วนผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมในหลายมิติ
ไม่ว่าจะเป็นมิติของการออกแบบ รูปลักษณ์ ภายนอก หรือจะเป็นมิติของ Hardware ที่มีการใช้นิ้วควบคุมการทำงานผ่านหน้าจอสัมผัส จนทำให้ “Touch” กลายเป็นมาตรฐานของโทรศัพท์มือถือยุคใหม่
ที่สำคัญที่สุด คือ มิติของ “แอพฯ” ที่สร้างปรากฏการณ์ผู้ใช้นับล้านคน ดาวน์โหลดแอพฯ จาก “App Store” ในแต่ละวัน โดยมีแอพฯ ให้เลือกโหลดกว่า 250,000 แอพฯ สร้างเงินสะพัดหลายพันล้านเหรียญ เข้ากระเป๋านักพัฒนาทั่วโลกนับล้านราย ยังไม่นับการเติบโตของแอพฯ ใน Platform อื่นๆ เช่น Android, Symbian, Windows Phone 7 และ BlackBerry OS ที่เริ่มขยับตัวจริงจัง หลังจากที่เห็นความสำเร็จของคู่แข่งคนสำคัญอย่าง Apple
สิ่งที่ Chris Anderson ฟันธงว่า “The Web is Dead” ก็มาจากการดูแนวโน้มต่างๆ ที่กล่าวมา และให้น้ำหนักความสำคัญของจำนวนผู้ใช้ Smart Phone ที่เพิ่มสูงขึ้น ว่ามีโอกาสที่จะใช้มือถือของตนเข้าถึงบริการออนไลน์แทนการใช้ PC และความแพร่หลายของ “Mobile Devices” ของทั้งตัว Smart Phone เอง หรืออาจจะเป็น Netbook, Tablet ต่างๆ ที่อาจจะเข้ามาแทนที่ “PC” ในอนาคตอันไม่ไกลนัก และเมื่อเราพอเห็นแนวโน้มว่า “เว็บกำลังจะตาย” และ “แอพฯ กำลังจะมา”
คำถามที่น่าสนใจ คือ แอพฯ ที่กำลังจะมา มันน่าสนใจขนาดไหน? และแอพฯ ประเภทไหนน่าสนใจที่สุด?
มาลองดูกันครับ
เศรษฐกิจ “แอพฯ” มีมูลค่าเท่าไหร่?
นิตยสาร BusinessWeek เคยขึ้นปก “App Economy” เมื่อเดือนตุลาคม ปี 2009 โดยกล่าวถึงที่มาของ “เศรษฐกิจแอพฯ” ว่ามีความเป็นมาอย่างไร
ไม่ว่าจะเป็นจากปรากฏการณ์ Smart Phone ที่สร้างธุรกิจแอพฯ มือถือให้เติบโต จากมูลค่าตลาดเล็ก จนมีมูลค่าตลาดมหาศาลหลายพันล้านเหรียญ
หรือจะเป็นแอพฯ ที่เกิดจากปรากฏการณ์พุ่งทะยานของ “เครือข่ายสังคมออนไลน์” อย่าง Facebook ที่ช่วยสร้างธุรกิจ “Social Game” ให้กลายเป็นธุรกิจดาวเด่นที่มีแต่คนจับตามอง
Smart Phone และ Social Networking จึงเป็นตัวขับเคลื่อนหลักของ “เศรษฐกิจแอพฯ” อย่างแท้จริง บริษัทเล็กๆ อย่าง “Zynga” ผู้สร้างเกม “Farm Ville” สามารถสร้างรายได้ถึง $720 ล้านเหรียญ ภายในระยะเวลาเพียง 2 ปี ไฟทุกดวงล้วนสาดส่องมาที่ดาวรุ่งดวงนี้ จนใครต่อใครต่างเปรียบ Zynga ว่าเป็น “Google ในธุรกิจเกม”
อีกบริษัทหนึ่งที่ได้รับการกล่าวถึงกันมาก คือ “Tapulous” ผู้ให้กำเนิดเกมที่ขายได้ถล่มทลายอย่าง “Tap Tap Revenge” ที่ ณ เวลานั้น มียอดดาวน์โหลดกว่า 15 ล้านครั้ง และมียอดผู้เล่นต่อเดือน ทะลุหลัก 35 ล้านคนไปแล้ว
แม้เกมจะเปิดให้ดาวน์โหลดฟรี แต่ “Tap Tap Revenge” ก็สามารถสร้างรายได้จากการขาย โฆษณาในเกม การขาย Avatar หรือ ขาย Track เพลงที่ใช้ในเกม จนบริษัท “Tapulous” มีรายได้ในปีแรก ถึง $12 ล้านเหรียญ หรือเฉลี่ยถึงเดือนละ $1 ล้านเหรียญ จนกระทั่งไปเข้าตา Walt Disney จนนำมาสู่การซื้อกิจการเมื่อเดือนกรกฏาคมที่ผ่านมา
ความสำเร็จของทั้ง 2 บริษัทนี้ เปรียบเสมือน “มาตรวัด” ความน่าสนใจของ “เศรษฐกิจแอพฯ”
ภายในปี 2012 นักวิเคราะห์จากสำนักวิจัยชื่อดังหลายแห่ง ต่างคาดการณ์ว่า “เศรษฐกิจแอพฯ” มีโอกาสที่จะขยายตัวไปแตะมูลค่าที่สูงกว่า $4 พันล้านเหรียญ และตอนนี้อนาคตที่ว่า ดูเหมือนจะมาถึงก่อนความคาดหมายดังกล่าวซะอีก
แอพฯ ประเภทไหนได้รับความนิยมสูงสุด?
เมื่อเราดูจากอัตราการเติบโตของตลาดแอพฯ มือถือ ที่พุ่งในอัตราเร่งในทางเดียวกันกับยอดขาย Smart Phone แต่ด้วยปริมาณมหาศาลของแอพฯ ที่เกิดขึ้น คำถามที่น่าสนใจคือ แอพฯ ประเภทไหนโดดเด่น และน่าสนใจบ้าง เผื่อจะเป็นประโยชน์กับนักพัฒนา หรือแม้กระทั่งเอเยนซี่โฆษณาที่จะเลือกลง Ads หรือสร้าง Ads ใส่แอพฯ ประเภทไหน
จากรายงานของ Distimo ประจำไตรมาส 3 ของปี 2010 พบว่า ในแอพฯ ของ iPhone 100 ตัวแรกที่ขายดีที่สุด และยอดโหลดสูงสุดของ App Store ทั้งแบบเสียเงินและแบบฟรี 55% หรือเกินครึ่ง เป็นแอพฯ ที่เป็นเกม
ถ้ามาดูบน iPad จะพบว่า 40% ของแอพฯ แบบเสียเงิน และ 25% ของแอพฯ แบบโหลดฟรี เป็นเกม
เห็นได้ว่า แอพฯ ขายดีของทั้ง iPhone และ iPad ส่วนใหญ่จะเป็นเกม ด้วยสัดส่วนที่มากกว่าครึ่ง รองลงมาก็คือ Windows Mobile ที่สัดส่วนเกมลดลงมา แต่ก็ยังอยู่ในสัดส่วนที่สูงอยู่พอสมควร
ลองมาดู อีก 1 งานวิจัยซึ่งเป็นข้อมูล “The Nielsen” พบว่า 61% ของผู้ใช้ Smart Phone และ 52% ของผู้ใช้มือถือแบบ Feature Phone ใช้เกมอย่างน้อยเดือนละครั้ง ตามมาด้วยแอพฯ ที่อยู่ในหมวดพยากรณ์อากาศ
“The Nielsen” ยังได้สำรวจเจาะลึกลงไปต่ออีกว่า ในจำนวนผู้ใช้มือถือในแต่ละระบบปฏิบัติการ มีพฤติกรรมการใช้งานแอพฯ ประเภทในบ้างในรอบ 30 วัน
จากกราฟ จะเห็นได้ว่า แอพฯ อย่าง “Facebook” ครองอันดับ 1 ในทุกระบบปฏิบัติการ เนื่องจากความนิยมของตัวบริการ Facebook เอง หรือถ้ามองไปที่ BlackBerry OS จะพบว่ามี Twitter ติดอันดับ ในขณะที่ OS อื่นกลับไม่มี Twitter ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะว่ามือถือ BlackBerry ส่วนใหญ่มีคีย์บอร์ดเป็น QWERTY ทำให้พิมพ์ง่าย Twitter จึงเหมาะกับ BlackBerry มากกว่ามือถือจาก OS อื่นๆ
- จากผลสำรวจอาจจะพอมองออกว่า แอพฯ ยอดนิยมในแต่ละระบบปฏิบัติการนั้นเป็นแอพฯ ที่จัดอยู่ในประเภทใดบ้าง เช่น
- Facebook เป็นแอพฯ ที่อยู่ในประเภท “Social Networking”
- “Weather Channel” เป็นแอพฯ ที่จัดอยู่ในประเภท “Weather” หรือพยากรณ์อากาศ
- “Google Maps” เป็นแอพฯ ที่จัดอยู่ในประเภท “Map/Navigation”
- “Pandora” เป็นแอพฯ ที่จัดอยู่ในประเภท “Music”
จากทั้งงานวิจัยของ “The Nielsen” และงานวิจัยของ “Distimo” น่าจะพอสรุปได้ว่า แอพฯ ประเภท Games, Social Networking, Weather, Map/Navigation, Music น่าจะเป็นแอพฯ ประเภทที่ได้รับความนิยมสูงที่สุดของทุกระบบปฏิบัติการ
แอพฯ ยอดนิยมเหล่านี้ เปรียบเสมือนบทสรุปของพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของผู้ใช้ในชีวิตประจำวันแต่ละวัน ทั้งการใช้ Facebook การติดตามพยากรณ์อากาศผ่านทาง “Weather Channel” การฟังเพลงผ่านบริการสตรีมมิ่ง อย่าง “Pandora” หรือการค้นหาสถานที่ผ่าน Google Map ซึ่งทั้งหมดล้วนแต่เป็นบริการที่กำเนิดมาจากบนเว็บทั้งสิ้น
แต่เป็นเพราะการระเบิดของยุค Smart Phone และการเปิด “API” ของบริการออนไลน์ มีส่วนทำให้ แอพฯ ได้รับความนิยม จนอาจจะเรียกได้ว่าเป็นช่องทางหลักในการเข้าถึงบริการนั้นๆ ไปแล้ว
ยุคต่อไปของอินเทอร์เน็ตคงจะกลายเป็นยุคของ “Mobility Devices” ที่มี Smart Phone และ Tablet เป็นอุปกรณ์หลัก อย่างเต็มตัวและคำว่า “The Web is Dead” ก็คงจะเป็นคำกล่าวที่ไม่ไกลเกินจริง