เกาหลีใต้นับว่าเป็นผู้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์อันดับต้นๆ ของโลก โดยมีผู้ผลิตหลักหลายรายเป็นกลุ่มธุรกิจยักษ์ใหญ่ที่ดำเนินการแบบธุรกิจครอบครัว หรือที่เรียกว่าแชโบล (Chaebols) หลายราย มีสินค้าที่สำคัญ ได้แก่ เซมิคอนดักเตอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน และสินค้าเทคโนโลยีการสื่อสาร (IT) ซึ่งมีจุดเด่นที่นวัตกรรม และราคาที่แข่งขันได้ ทำให้สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของเกาหลีใต้ได้รับความนิยมไปทั่วโลก อีกทั้งยังมียอดขายเป็นอันดับต้นๆ ในสินค้าหลายชนิดอีกด้วย จากเหตุดังกล่าวทำให้อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจเกาหลีใต้ค่อนข้างมาก โดยมีสัดส่วนการผลิตคิดเป็นร้อยละ 30 ของผลผลิตภาคอุตสาหกรรมทั้งหมดของประเทศ และนอกจากนั้น สินค้าส่งออกในหมวดเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ รวมกับหมวด Optical and Medical Instruments (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอุปกรณ์ LCD) ยังมีมูลค่าเป็นสัดส่วนถึงเกือบ 1 ใน 3 ของการส่งออกของประเทศอีกด้วย ทั้งนี้ การส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของเกาหลีใต้เคยประสบกับภาวะถดถอยจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกในช่วงปลายปี 2551 ทำให้มูลค่าการส่งออกปี 2552 ลดลงร้อยละ 7.8 (YoY) แต่ก็กลับฟื้นตัวขึ้นมาได้ในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้โดยมีอัตราการขยายตัวร้อยละ 28.9 (YoY) และมีแนวโน้มว่าจะสามารถเติบโตต่อไปได้ในปี 2554 แม้ว่าจะต้องเผชิญการแข่งขันจากประเทศผู้ผลิตอื่นๆ และมีผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวของประเทศคู่ค้าหลัก ได้แก่ จีน สหรัฐฯ และญี่ปุ่น ก็ตาม
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ทำการศึกษาภาวะอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของเกาหลีใต้ รวมถึงทิศทางการส่งออก และความเชื่อมโยงต่อการส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์จากประเทศไทย พบว่ามีประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้
สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของเกาหลีใต้มีแนวโน้มเติบโตตามกระแสตลาดโลก
สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่สำคัญของเกาหลีใต้ สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ (สัดส่วนร้อยละ 32.4) โทรทัศน์และจอแสดงภาพ (Display Panels) (สัดส่วนร้อยละ 27.3) และอุปกรณ์สื่อสารซึ่งส่วนใหญ่เป็นโทรศัพท์มือถือ (สัดส่วนร้อยละ 15.6) นอกจากนั้นอีกประมาณร้อยละ 24.7 เป็นสินค้าอื่นๆ เช่น คอมพิวเตอร์ Printer และเครื่องซักผ้า เป็นต้น สำหรับสถานการณ์ในปี 2553 อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของเกาหลีใต้ต้องเผชิญกับการแข่งขันจากผู้ผลิตระดับโลก ทั้งอเมริกาเหนือ ยุโรป และเอเชียด้วยกันเอง ได้แก่ ญี่ปุ่น ไต้หวัน และจีน อีกทั้งเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักโดยเฉพาะ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป ก็ยังมีแนวโน้มไม่สดใสนัก อย่างไรก็ดี ด้วยจุดเด่นของสินค้าเกาหลีใต้ในด้านการปรับตัวทางเทคโนโลยีได้อย่างรวดเร็ว ประกอบกับราคาในระดับที่สามารถเป็นเจ้าของได้ และยี่ห้อสินค้าที่เป็นที่รู้จักในระดับโลก อีกทั้งอานิสงส์จากกระแสความนิยมวัฒนธรรมเกาหลีใต้ ทำให้สินค้าเกาหลีใต้ยังสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง โดยในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2553 การส่งออกกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ของเกาหลีใต้มีมูลค่ารวม 127.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 28.9 (YoY) ทั้งนี้สามารถส่งออกไปจีนได้เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 45.4 (YoY) และเมื่อไม่รวมกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ มูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 85.37 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เติบโตร้อยละ 14.4 (YoY) โดยมีรายละเอียดที่น่าสนใจดังนี้
กลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ เป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญ เนื่องจากมีสัดส่วนมูลค่าส่งออกเกือบ 1 ใน 3 ของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด โดยใน 10 เดือนแรกของปี 2553 มูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 73 (YoY) โดยเป็นผลจากการที่ชิ้นส่วน DRAM และ NAND มีราคาถูกลง ส่งผลให้มีความต้องการจากทั่วโลกเพิ่มขึ้นเพื่อใช้เป็นส่วนประกอบของสินค้าเทคโนโลยีต่างๆ เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ แม้ว่าคู่แข่งที่สำคัญในเอเชียอย่างไต้หวันจะมีความแข็งแกร่ง แต่จากความต้องการของโลกที่สูงขึ้น จึงทำให้เซมิคอนดักเตอร์ของเกาหลีใต้มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องตามแนวโน้มตลาดโลกในปี 2554 โดย WOORI Investment and Securities1 ได้คาดการณ์ไว้ว่ามูลค่าการผลิตหน่วยความจำประเภท PC DRAM, Mobile DRAM และ NAND ของทั้งโลกในปี 2554 จะเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 50 ทุกประเภทเมื่อเทียบกับปี 2553
กลุ่มโทรทัศน์และจอแสดงภาพ (Display Panels) นับว่าเป็นสินค้าที่โดดเด่นของผู้ผลิตเกาหลีใต้ เนื่องจากผู้ผลิตเกาหลีใต้เป็นผู้เล่นรายสำคัญอันดับต้นๆ ของโลก โดยใน 10 เดือนแรกของปี 2553 ยอดส่งออกโทรทัศน์ของเกาหลีใต้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยต่อเดือนกว่าร้อยละ 50 (YoY) และยอดส่งออกจอแสดงภาพของเกาหลีใต้เพิ่มขึ้นทั้งสิ้นร้อยละ 32.8 (YoY) โดยคู่แข่งสำคัญของผู้ผลิตเกาหลีใต้ในตลาดโทรทัศน์แบบ LCD คือผู้ผลิตจากญี่ปุ่น ทั้งนี้ สินค้าที่สำคัญของกลุ่มนี้คือ โทรทัศน์และจอแสดงภาพซึ่งใช้เทคโนโลยีแบบ LCD LED และ AMOLED (OLED) โดยในปัจจุบัน โทรทัศน์ที่จำหน่ายในท้องตลาดประกอบด้วยจอภาพแบบธรรมดา (CRT) ร้อยละ 15.5, LCD ร้อยละ 77.2 และชนิดอื่นๆ อีกร้อยละ 7.3 อย่างไรก็ดี มีการคาดการณ์ว่า ยอดจำหน่ายโทรทัศน์ที่ใช้จอภาพแบบ LCD LED และ OLED จะสูงขึ้นในอนาคต เนื่องจากคุณภาพการรับชมที่ดีกว่าและจะมีราคาลดลงอีก โดยเฉพาะแบบ LCD นั้นจะมีอัตราการเข้าถึง (Penetration ratio) สูงขึ้นถึงเกือบร้อยละ 80 ภายในปี 25572 และนอกจากนั้น สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้จอแสดงผลแบบ AMOLED จะมีจำนวนเพิ่มขึ้น ซึ่งจะผลักดันให้ยอดขายจอแสดงผลแบบ AMOLED สูงขึ้นอีกด้วย ซึ่งแนวโน้มการขยายตัวดังกล่าวน่าจะมีส่วนทำให้ยอดขายสินค้ากลุ่มโทรทัศน์และจอแสดงภาพของเกาหลีใต้เพิ่มสูงขึ้นตามแนวโน้มความต้องการของโลกในปี 2554
กลุ่มอุปกรณ์สื่อสาร เป็นอีกหนึ่งสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่สำคัญของเกาหลีใต้ โดยในตลาดโทรศัพท์มือถือของโลกโดยรวม ผู้ผลิตจากเกาหลีใต้ครองส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับ 2 และ 3 ทำให้มีส่วนแบ่งตลาดรวมกันประมาณร้อยละ 30 โดยอันดับ 1 เป็นผู้ผลิตจากฟินแลนด์ซึ่งครองส่วนแบ่งตลาดประมาณร้อยละ 343 ทั้งนี้ปัจจุบันเกาหลีใต้ได้มีฐานการผลิตโทรศัพท์มือถือกระจายอยู่ในหลายประเทศทั่วโลกเช่น จีน ประกอบกับราคาที่แข่งขันได้ และความนิยมที่ได้รับการยอมรับมากขึ้น ทำให้ยอดขายโทรศัพท์มือถือของเกาหลีใต้ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่องในปีนี้ นอกจากนั้นจากการเร่งพัฒนาของผู้ผลิตเกาหลีใต้ ทำให้มีแนวโน้มว่า Smartphone ของผู้ผลิตเกาหลีใต้รายใหญ่จะเติบโตได้ต่อไปในปีหน้า ด้วยจุดเด่นด้านระบบปฏิบัติการและหน้าจอแสดงผลที่มีประสิทธิภาพสูง4 ซึ่งจะช่วยผลักดันยอดจำหน่ายโทรศัพท์มือถือโดยรวมของเกาหลีใต้ด้วย
การส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์จากไทยไปเกาหลีใต้ยังคงขยายตัว แต่ไทยควรเร่งรักษาส่วนแบ่งตลาดชิ้นส่วนส่งออกไปเกาหลีใต้ อีกทั้งควรให้ความสำคัญกับการสร้างสภาพแวดล้อมเพื่อรองรับการลงทุนสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มเติมในอนาคต
ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ไทยส่งออกไปยังเกาหลีใต้นั้น มีทั้งจากการผลิตในโรงงานของชาวเกาหลีใต้เอง โดยแบ่งเป็นโรงงานของตราสินค้าของผู้ผลิตรายใหญ่เอง อีกทั้งยังมีโรงงานผลิตชิ้นส่วนของชาวเกาหลีใต้รายอื่นๆ ที่มาลงทุนในไทยเพื่อผลิตชิ้นส่วนให้กับโรงงานของตราสินค้าต่อไป นอกจากนั้นยังมีอีกจำนวนมากที่ผลิตในโรงงานของผู้ผลิตชิ้นส่วนชาวไทยและต่างชาติอื่นๆ เพื่อส่งเป็นวัตถุดิบแก่โรงงานของตราสินค้าเกาหลีใต้
จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) พบว่า ในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ นักลงทุนเกาหลีใต้มีการยื่นขอรับการส่งเสริมในอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์จำนวน 13 โครงการ มีมูลค่าการลงทุน 535.9 ล้านบาท จำนวนโครงการเพิ่มขึ้นกว่า 1 เท่าตัว และมูลค่าเพิ่มขึ้นกว่า 8 เท่าตัว เปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นการลงทุนในการผลิตชิ้นส่วนทางอิเล็กทรอนิกส์ เช่น ชิ้นส่วนวงจรพิมพ์ (Printed circuit board) นอกจากนั้นยังมีชิ้นส่วนสำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น ท่ออลูมิเนียมสำหรับเครื่องปรับอากาศ เป็นต้น ซึ่งน่าจะมีส่วนช่วยให้ไทยมีมูลค่าการส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้นได้ในระยะต่อไป โดยใน 10 เดือนแรกของปีนี้ การส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์หลักของไทย 5 รายการ (HS 8542, 8471, 8517, 8541 และ 8543) ซึ่งรวมแล้วคิดเป็นสัดส่วนมูลค่าร้อยละ 28.5 ของการส่งออกของไทยไปเกาหลีใต้โดยรวม มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.53 (YoY)
ทั้งนี้ มีประเด็นสำคัญที่ควรให้ความสนใจเกี่ยวกับชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ส่งออกสำคัญ 3 อันดับแรกของไทย ดังนี้
ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ (8471) นับว่าเป็นสินค้าที่เป็นจุดเด่นของไทย เนื่องจากสามารถครองตำแหน่งส่วนแบ่งตลาดอันดับ 3 ในตลาดเกาหลีใต้ได้ แต่อย่างไรก็ดี ใน 10 เดือนแรกของปี 2553 อัตราการเติบโตของมูลค่าการส่งออกของไทยต่ำกว่าอัตราการเติบโตเฉลี่ยทั้งโลก ซึ่งสะท้อนถึงความสำคัญที่เพิ่มขึ้นของแหล่งนำเข้าอื่นๆ โดยคู่แข่งที่สำคัญของไทยยังคงเป็น จีน ซึ่งมีส่วนแบ่งตลาดและการเติบโตของมูลค่าส่งออกสูงกว่าไทย นอกจากนั้นแล้วยังมี สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ ซึ่งแม้จะยังมีส่วนแบ่งตลาดน้อยกว่าไทย แต่ก็มีอัตราการเติบโตของมูลค่าการส่งออกที่สูงกว่าไทยกว่า 5 เท่าตัว ทำให้เป็นคู่แข่งที่น่าจับตามองเป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้ อุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ของไทย มีฐานมาจากการเข้ามาลงทุนของบริษัทข้ามชาติรายสำคัญของโลก การที่จะรักษาความสามารถในการแข่งขันในตลาดนี้จึงต้องขึ้นอยู่กับกลยุทธ์ในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศให้เข้ามาขยายฐานการผลิตฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์และส่วนประกอบในไทยเพิ่มขึ้น
สำหรับวงจรรวม (8542) และเครื่องโทรศัพท์และอุปกรณ์ (8517) ไทยมีคู่แข่งสำคัญในภูมิภาคอาเซียน ได้แก่ สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย โดยผู้ผลิตเกาหลีใต้รายใหญ่รายหนึ่งได้ตั้งโรงงานผลิต Wafer5 ในสิงคโปร์ในปี 2551 ซึ่งนับว่าเป็นโรงงาน Wafer แห่งแรกนอกเกาหลีใต้ ทั้งนี้ อุตสาหกรรมวงจรรวม และชิ้นส่วนเครื่องโทรศัพท์ในประเทศไทยเป็นการลงทุนของผู้ผลิตทั้งจากเกาหลีใต้เอง จากผู้ผลิตชาวต่างชาติรายอื่นๆ รวมทั้งผู้ผลิตไทยด้วย ซึ่งการผลิตมีทั้งชิ้นส่วนตามรูปแบบมาตรฐานของตราสินค้า (Original Equipment Manufacturer: OEM) และในส่วนของการผลิตชิ้นส่วนโดยทั่วไป ซึ่งแม้ว่าในส่วนของ OEM จะต้องเป็นการผลิตตามรูปแบบในคำสั่งซื้อเท่านั้น แต่ผู้ผลิตไทยสามารถเพิ่มความสามารถในการแข่งขันได้โดยการปรับตัวทางเทคโนโลยีให้ทันกับความต้องการของเจ้าของตราสินค้าเกาหลีใต้ ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว ด้วยการปรับปรุง/ซื้อเครื่องจักรใหม่ที่สามารถผลิตแผงวงจรไฟฟ้าขนาดเล็กลงตามความต้องการของตลาด การปรับรูปแบบผลิตภัณฑ์/วัสดุที่ใช้ รวมถึงพัฒนาเทคโนโลยีที่ช่วยประหยัดพลังงานได้มากขึ้น นอกจากนั้นในส่วนของการผลิตชิ้นส่วนโดยทั่วไป ผู้ผลิตไทยสามารถปรับตัวโดยการให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ อันจะช่วยให้เกิดสินค้าที่เป็นนวัตกรรมใหม่ๆ ออกสู่ตลาด ซึ่งจะช่วยให้สามารถยกระดับสถานะทางการแข่งขันให้สูงขึ้นได้ ดังตัวอย่างของบริษัทผู้ผลิตของไทยบางราย ซึ่งเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เพื่อป้อนโรงงานของบริษัทอิเล็กทรอนิกส์ชั้นนำของโลก ได้มีการปรับตัวให้ทันกับเทคโนโลยี โดยการขยายผลิตภัณฑ์สู่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ใหม่ๆ อย่างต่อเนื่องจนสามารถอยู่ในธุรกิจได้มาเป็นเวลากว่า 30 ปี และดำรงสถานะเป็นบริษัทผู้ผลิตรายสำคัญของไทยในปัจจุบัน
นอกจากนั้น ในส่วนของเครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น โทรทัศน์ ตู้เย็น เครื่องพิมพ์ (Printer) และเครื่องซักผ้า เป็นต้น ผู้ผลิตเกาหลีใต้ก็มีความสนใจมาลงทุนผลิตในภูมิภาคอาเซียนและประเทศใกล้เคียงเช่นกัน ซึ่งปัจจุบันผู้ผลิตเกาหลีได้เข้ามาตั้งโรงงานในไทยแล้ว 2 แห่ง โดยผู้ผลิตรายหนึ่งได้ตั้งให้ไทยเป็นศูนย์กลางของการผลิตสินค้าระดับสูง (High-end) เพื่อส่งออกไปยังหลายภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นตะวันออกกลาง แอฟริกา หรือเอเชีย โดยเป็นการใช้กำลังการผลิตเพื่อส่งออกร้อยละ 65 ส่วนอีกร้อยละ 35 เป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ ในขณะที่ที่ผ่านมาเกาหลีใต้ก็ได้เข้าไปตั้งโรงงานผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ ในประเทศอาเซียนอื่นๆ เช่นกัน ได้แก่ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม
ผลจากการเข้ามาตั้งโรงงานเครื่องใช้ไฟฟ้าของผู้ผลิตเกาหลีใต้ ทำให้เกิดอานิสงส์ต่อผู้ผลิตชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าในไทยในการผลิตชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าป้อนเข้าสู่โรงงานเหล่านั้น โดยผู้ผลิตของไทยสามารถรักษาความต่อเนื่องของคำสั่งซื้อ รวมไปถึงเพิ่มความสามารถในการแข่งขันได้โดยพัฒนาความสามารถในการผลิตให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และพัฒนาด้านเทคโนโลยีให้ทันกับความต้องการของผู้สั่งซื้อ
อย่างไรก็ดี เนื่องจากความสนใจของผู้ประกอบการเกาหลีใต้ในการลงทุนอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่มีต่อประเทศอื่นๆ ในอาเซียนด้วยนอกเหนือจากไทย ทำให้ไทยจะต้องเร่งสร้างความน่าสนใจในการรองรับการลงทุน รวมไปถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อประเทศไทย โดยไทยมีจุดแข็งที่สำคัญที่ฝีมือแรงงาน และความสามารถในการผลิต ประกอบกับสาธารณูปโภคที่มีความพร้อม ปัญหามาบตาพุดที่คลี่คลายลงไป และค่าจ้างแรงงานที่อยู่ในระดับยอมรับได้ ในขณะที่ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม มีจุดเด่นด้านค่าจ้างแรงงานที่ไม่สูงเมื่อเทียบกับประเทศอาเซียนอื่นๆ ส่วนมาเลเซียมีจุดเด่นในด้านเทคโนโลยี สาธารณูปโภค และเสถียรภาพของรัฐบาล ทำให้การดำเนินนโยบายสนับสนุนการลงทุนมีความต่อเนื่อง และในส่วนของอินโดนีเซีย มีข้อได้เปรียบด้านตลาดที่มีขนาดใหญ่ อีกทั้งประชากรมีจำนวนมากทำให้ค่าแรงไม่สูงนักเมื่อเทียบกับไทยและมาเลเซีย
นอกจากจุดแข็ง-จุดอ่อนของแต่ละประเทศที่มีผลต่อการตัดสินใจลงทุนแล้ว ยังมีปัจจัยจากความตกลงการค้าเสรีด้วย ในส่วนที่มีผลบังคับใช้ไปแล้วคือ ASEAN – Korea FTA และในส่วนที่จะมีความเกี่ยวข้องกับไทยในระยะต่อไปได้แก่ การจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2558 และการที่กลุ่ม CLMV ในอาเซียนจะลดภาษีนำเข้าเหลือร้อยละ 0 ในปี 2558 รวมไปถึงการที่อาเซียนจะสามารถส่งออกสินค้าไปอินเดียด้วยอัตราภาษีเป็นร้อยละ 0 หลายรายการมากขึ้นตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นไปจากกรอบ ASEAN-India ซึ่งส่งผลให้ไทยและประเทศอาเซียนอื่นๆ จะต้องเร่งพัฒนาสภาพแวดล้อมและเงื่อนไขต่างๆ ทางการลงทุน ให้มีความพร้อมและเอื้ออำนวยต่อการลงทุนยิ่งขึ้น เพื่อรักษาสถานะการแข่งขันในเวทีการค้าและการลงทุน ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นในภูมิภาคอาเซียนในอนาคต นอกจากนั้นในส่วนของไทย ยังมีปัจจัยท้าทายที่จำเป็นต้องเร่งปรับตัว ไม่ว่าจะเป็นนโยบายการสนับสนุนที่ขาดความต่อเนื่อง แรงงานที่มีทักษะเฉพาะทางที่ยังขาดแคลน และความสอดคล้องเหมาะสมระหว่างการให้ความคุ้มครองอุตสาหกรรมวัตถุดิบต้นน้ำและการสนับสนุนอุตสาหกรรมปลายน้ำ เช่น อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า เนื่องจากปัจจัยเหล่านี้อาจลดทอนความน่าสนใจของไทยในฐานะแหล่งลงทุนผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่สำคัญของภูมิภาคลงได้
โดยสรุป สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของเกาหลีใต้มีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับในตลาดโลก นอกจากนั้นยังมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของเกาหลีใต้อีกด้วย แม้ว่าในปี 2553 สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของเกาหลีใต้ต้องเผชิญกับความท้าทายมากมาย ทั้งจากการแข่งขันของคู่แข่งระดับโลก และการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของคู่ค้าหลัก ได้แก่ จีน สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป แต่การส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของเกาหลีใต้ก็ยังสามารถเติบโตเป็นบวกได้ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2553 ที่ร้อยละ 28.9 (YoY) และร้อยละ 14.4 (YoY) เมื่อไม่รวมกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลจากชื่อเสียงและการเป็นที่ยอมรับของตลาดโลก ทำให้สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะเซมิคอนดักเตอร์ โทรทัศน์ และอุปกรณ์สื่อสาร เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการพยุงภาคการส่งออกและเศรษฐกิจเกาหลีใต้โดยรวม ซึ่งธนาคารกลางเกาหลีใต้ได้คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจเกาหลีใต้ในปีนี้จะขยายตัวที่ร้อยละ 6.0 (YoY) จากที่เติบโตเพียงร้อยละ 0.2 (YoY) ในปี 2552 ทั้งนี้ คาดว่าสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของเกาหลีใต้จะสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่องในปี 2554 ซึ่งย่อมเป็นผลดีต่อการส่งออกสินค้าประเภทชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์จากไทยด้วย เนื่องจากไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกที่สำคัญของสินค้ากลุ่มนี้ อย่างไรก็ดี ไทยมีคู่แข่งที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิดหลายระดับ ทั้งในระดับโลก อย่างสหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น และไต้หวัน และในระดับอาเซียน ได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ โดยเฉพาะสิงคโปร์นั้นนับว่าเป็นศูนย์กลางการผลิตชิ้นส่วนแผงวงจรคอมพิวเตอร์ที่สำคัญอย่างมากในภูมิภาคอาเซียน และในส่วนของการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ในระดับอาเซียน คู่แข่งของไทยคือ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม โดยในปัจจุบัน เมื่อเปรียบเทียบกันระหว่างประเทศในอาเซียนแล้ว สถานะของประเทศไทยยังคงเป็นฐานการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าเพื่อการส่งออกที่สำคัญ ซึ่งนับว่าเป็นจุดเด่นสำคัญที่ไทยควรรักษาไว้ให้ได้โดยเฉพาะในภาวะที่การค้าเสรีกำลังจะทำให้อุปสรรคทางการค้าลดลงและผลักดันให้มีการผลิตสินค้าชนิดเดียวกันในศูนย์กลางเดียวเพิ่มมากขึ้น
โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในการรองรับการลงทุนจากต่างชาตินั้น ไทยมีจุดแข็งที่ฝีมือแรงงาน และความสามารถในการผลิต สาธารณูปโภคที่มีความพร้อม ประกอบกับปัญหามาบตาพุดที่คลี่คลายลงไป ในขณะที่มีปัจจัยที่ควรเร่งปรับตัวคือ แรงงานที่มีทักษะเฉพาะทางที่ยังขาดแคลน และความสอดคล้องเหมาะสมระหว่างการให้ความคุ้มครองอุตสาหกรรมวัตถุดิบต้นน้ำและการสนับสนุนอุตสาหกรรมปลายน้ำ เช่น อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า นอกจากนั้น ความตกลงการค้าเสรีต่างๆ ก็นับเป็นทั้งโอกาสและปัจจัยท้าทายของประเทศในอาเซียน ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) และการเริ่มลดภาษีนำเข้าเหลือร้อยละ 0 ของ CLMV ในปี 2558 รวมไปถึงการที่อาเซียนจะสามารถส่งออกสินค้าไปอินเดียด้วยอัตราภาษีเป็นร้อยละ 0 หลายรายการมากขึ้นตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นไปจากกรอบ ASEAN-India ซึ่งทำให้ไทยและประเทศอาเซียนต่างๆ จำเป็นต้องเร่งพัฒนาสภาพแวดล้อมและเงื่อนไขทางการลงทุนให้มีความพร้อมต่อการเข้ามาลงทุนของต่างชาติยิ่งขึ้น เพื่อให้สามารถรักษาสถานะการแข่งขันไว้ได้ในเวทีการค้าและการลงทุน ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นในภูมิภาคอาเซียนในอนาคต