จากตัวเลขการส่งออกรถยนต์ของไทยในช่วง 11 เดือนที่ผ่านมา บ่งชี้ว่าในปี 2553 นี้ ไทยสามารถส่งออกรถยนต์ได้สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ หลังจากที่ได้หดตัวลงเป็นครั้งแรกในปี 2552 ที่ร้อยละ 2.8 ทั้งนี้การเติบโตของการส่งออกนี้มีสาเหตุหลักมาจากการที่สภาพเศรษฐกิจโลกได้เริ่มกลับมาฟื้นตัวขึ้นอีกครั้งหลังต้องประสบกับปัญหาวิกฤตทางการเงิน ส่งผลให้กำลังซื้อและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในประเทศต่างๆเริ่มฟื้นกลับคืนมา นอกจากนี้ ผลสำเร็จจากการเปิดเสรีทางการค้า โดยเฉพาะภายใต้กรอบการค้าเสรีอาเซียน ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศเศรษฐกิจใหม่ที่นับวันยิ่งมีความสำคัญสำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์ไทยมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้นอกจากไทยจะส่งออกไปยังประเทศในกลุ่มนี้ได้มากขึ้นแล้ว บริษัทผู้ผลิตหลายรายทั้งจากซีกโลกตะวันออกและซีกโลกตะวันตก ยังได้มีการวางกลยุทธ์ให้ไทยกลายมาเป็นหนึ่งในศูนย์กลางการผลิตรถยนต์แห่งหนึ่งของโลกเพื่อป้อนตลาดในภูมิภาคต่างๆ ส่วนทิศทางการส่งออกของไทยในปี 2554 คาดว่าจะยังได้รับแรงสนับสนุน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จากการขยายการลงทุนผลิตรถยนต์ในประเทศ แม้ว่าเศรษฐกิจโลกในปีหน้าจะยังคงมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องเผชิญอยู่ ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้วิเคราะห์ถึงทิศทางการส่งออกรถยนต์ของไทยในปี 2553 และ 2554 รวมถึงแนวโน้มการผลิตรถยนต์ของไทยในปีเดียวกัน โดยมีประเด็นสำคัญดังนี้
การส่งออกรถยนต์ปี 53 พลิกกลับมาขยายตัวสูงถึงประมาณร้อยละ 69
จากสถิติการส่งออกรถยนต์ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2553 ที่ผ่านมา ไทยได้มีการส่งออกรถยนต์ไปต่างประเทศสูงถึง 825,040 คัน คิดเป็นการขยายตัวสูงถึงร้อยละ 71.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่แล้ว และเมื่อคิดจากสถิติมูลค่าการส่งออกที่รายงานโดยกระทรวงพาณิชย์ จะเห็นว่าในช่วงเดียวกันนี้การส่งออกรถยนต์ของไทยมีมูลค่าสูงถึง 10,869.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวสูงขึ้นกว่าช่วงเดียวกันในปีที่แล้วถึงร้อยละ 63.6 ซึ่งมีมูลค่าการส่งออกรวมเพียง 6,644.13 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยประเภทรถยนต์นั่งขยายตัวสูงถึงร้อยละ 79.8 ประเภทรถแวนและปิกอัพขยายตัวสูงเช่นกันที่ร้อยละ 88.7 ขณะที่ประเภทรถบัสและรถบรรทุดขยายตัวร้อยละ 31.5 โดยประเทศที่มีมูลค่าการส่งออกรถยนต์ไปสูงที่สุด คือ ออสเตรเลีย ตามด้วยประเทศในกลุ่มอาเซียน และตะวันออกกลาง ตามลำดับ โดยมีปัจจัยสนับสนุนสำคัญที่ทำให้การส่งออกขยายตัวสูงในปีนี้ ทั้งจากการที่เศรษฐกิจโลกเริ่มกลับมาฟื้นตัวดีขึ้นในปีนี้ รวมถึงการเปิดเสรีทางการค้าที่ส่งผลทั้งทำให้ราคารถยนต์ส่งออกของไทยลดต่ำลง และมีการลงทุนผลิตรถยนต์ในประเทศเพิ่มมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม จากทิศทางค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นโดยเฉพาะในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ และปัญหาทางด้านเศรษฐกิจในบางกลุ่มประเทศ ทำให้การนำเข้ารถยนต์จากไทยของประเทศเหล่านั้นเริ่มมีทิศทางที่ชะลอลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนๆหน้า เช่น ออสเตรเลีย บางประเทศในอาเซียน รวมถึงบางประเทศในทวีปยุโรป เป็นต้น ส่งผลให้การส่งออกรถยนต์ของไทยในช่วงเดือนตุลาคมและพฤศจิกายนที่ผ่านมา แม้จะยังขยายตัวสูงเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันในปีก่อน แต่ก็เป็นไปในทิศทางที่ชะลอลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า นอกจากนี้ช่วงเดือนธันวาคมยังเป็นช่วงที่มีวันหยุดยาว ทำให้คาดว่าปริมาณการส่งออกรถยนต์ในเดือนธันวาคมคาดว่าจะไม่พุ่งสูงขึ้นไปกว่าระดับปัจจุบันมากนัก ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าจะส่งผลทำให้ปริมาณการส่งออกรถยนต์ไทยทั้งปี 2553 คิดเป็นจำนวนประมาณ 907,000 คัน ขยายตัวสูงถึงประมาณร้อยละ 69 หลังจากที่หดตัวร้อยละ 2.8 ในปี 2552
ปี 54 การส่งออกยังขยายตัวต่อ หลังมีการลงทุนผลิตรถรุ่นใหม่เพื่อส่งออกเพิ่มขึ้นมาก
ในปี 2554 นี้คาดว่ารถยนต์ไทยยังคงได้รับปัจจัยสนับสนุนหลายประการต่อเนื่องจากปี 2553 ที่จะช่วยกระตุ้นการส่งออกรถยนต์ไทยให้มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องในปี 2554 ซึ่งปัจจัยบวกต่างๆประกอบไปด้วย
– ตลาดส่งออกรถยนต์หลักของไทยยังเป็นตลาดที่มีโอกาสขยายตัวทางเศรษฐกิจ ทั้งตลาดหลักเดิม เช่น อาเซียน และออสเตรเลีย รวมถึงตลาดใหม่ เช่น ตะวันออกกลาง แอฟริกา และอเมริกาใต้ เป็นต้น โดยเฉพาะกลุ่มประเทศส่งออกรถยนต์หลักของไทยเหล่านี้ หลายแห่งมีการพึ่งพิงรายได้จากการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์สูง ทั้งทองคำ โลหะพื้นฐาน น้ำมัน และสินค้าเกษตร ซึ่งราคาสินค้าโภคภัณฑ์เหล่านี้มีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นได้จากระดับปัจจุบันในปีหน้า ส่งผลให้ความเชื่อมั่นและกำลังซื้อของผู้บริโภคในประเทศส่งออกเหล่านี้เพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ความต้องการสินค้าฟุ่มเฟือย เช่น รถยนต์ ทั้งรถยนต์ส่วนบุคคลและรถยนต์เพื่อการพาณิชย์มากขึ้น
– การขยายโครงการลงทุน และย้ายฐานการผลิตรถยนต์เข้ามายังไทยหลายโครงการ ซึ่งเป็นผลสำคัญที่มาจากการเปิดเสรีทางการค้า โดยเฉพาะกรอบความตกลงอาเซียน ซึ่งนอกจากการลงทุนของบริษัทผู้ผลิตรถยนต์เหล่านี้จะเป็นการผลิตเพื่อขายในประเทศแล้ว บางรุ่นยังมีเป้าหมายเพื่อทำตลาดส่งออกเป็นหลักด้วย โดยเฉพาะในกลุ่มรถยนต์นั่งขนาดเล็ก ซึ่งในปี 2554 นี้ ก็มีบางค่ายในไทยที่มีกำหนดที่จะผลิตและเปิดตัวรถรุ่นนี้เข้าสู่ตลาด นอกจากนี้รถยนต์บางรุ่นที่มีการเปิดตัวไปแล้วตั้งแต่ปี 2553 ก็ยังได้รับความนิยมจากตลาดในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ทำให้ยังคงมีการขยายกำลังการผลิตในปีหน้า โดยมีเป้าหมายที่จะส่งออกในสัดส่วนที่ค่อนข้างสูง ซึ่งทิศทางของตลาดที่ให้ความสนใจกับรถยนต์ขนาดเล็กประหยัดพลังงานมากขึ้นนี้ คาดว่าจะส่งผลให้โอกาสสำหรับการส่งออกรถยนต์ประเภทดังกล่าวที่ไทยกำลังมุ่งพัฒนาอยู่นี้ไปยังต่างประเทศเพิ่มขึ้นได้
จากปัจจัยบวกดังกล่าว ทำให้รถยนต์ไทยยังมีโอกาสในการขยายการส่งออกในปี 2554 ต่อเนื่องจากปีนี้ อย่างไรก็ตาม ตลาดส่งออกรถยนต์ของไทยอาจต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญจากสภาพเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอนสูงในบางตลาด ซึ่งอาจส่งผลกระทบในทางลบแก่การส่งออกรถยนต์บางรุ่นและบางตลาด เช่น ประเทศในกลุ่มยุโรป นอกจากนี้การส่งออกยังต้องเผชิญกับผลกระทบจากการแข็งค่าของค่าเงินบาทที่อาจแข็งค่าขึ้นกว่าระดับปัจจุบัน ซึ่งกลุ่มธนาคารกสิกรไทยได้คาดการณ์ไว้เบื้องต้นว่าปลายปี 2554 นี้ อาจแข็งค่าขึ้นแตะระดับ 28 บาทต่อดอลลาร์ฯ ทว่า หากการแข็งค่าของเงินบาทยังเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับการแข็งค่าของค่าเงินในภูมิภาค ผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยก็อาจไม่ถึงขั้นรุนแรงมากนัก ในขณะเดียวกัน ระดับราคาน้ำมันดิบ (เบรนท์) ในปัจจุบันที่เพิ่มสูงขึ้นสู่ระดับสูงสุดตั้งแต่เดือนตุลาคม 2551 และยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องในระยะข้างหน้า อาจเป็นปัจจัยกดดันกำลังซื้อของผู้บริโภคในประเทศต่างๆได้ อย่างไรก็ตามในทางกลับกันอาจเป็นปัจจัยสนับสนุนการส่งออกรถยนต์นั่งขนาดเล็กประหยัดพลังงานจากไทย เช่น รถอีโคคาร์ มากขึ้น ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงคาดว่าในปี 2554 นี้ การส่งออกรถยนต์ของไทยมีโอกาสขยายตัวร้อยละ 7 ถึง 12 คิดเป็นจำนวน 970,000 ถึง 1,015,000 คัน ทั้งนี้ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากฐานที่สูงในปี 2553 ที่คาดว่าขยายตัวสูงถึงร้อยละ 69 คิดเป็นจำนวน 907,000 คัน
โดยรวมแล้ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าปริมาณการส่งออกรถยนต์ของไทยในปี 2554 จะอยู่ระหว่าง 970,000 ถึง 1,015,000 คัน หรือขยายตัวร้อยละ 7 ถึง 12 จากที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 69 ในปี 2553 ซึ่งจากปริมาณรถยนต์ส่งออกที่คาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่อง เช่นเดียวกันกับตลาดรถยนต์ในประเทศ จะส่งผลทำให้การผลิตรถยนต์ในประเทศของไทยปี 2554 คาดว่าจะขยายตัวที่ระดับร้อยละ 7 ถึง 12 หรือคิดเป็นจำนวนรถยนต์ 1,780,000 ถึง 1,860,000 คัน จากที่คาดว่าจะผลิตได้ประมาณ 1.66 ล้านคันในปี 2553 ซึ่งการผลิตรถยนต์เพื่อการส่งออกจะเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญของการผลิตรถยนต์ในประเทศของไทย จากปัจจุบันปริมาณการผลิตรถยนต์เพื่อส่งออกมีสัดส่วนถึงประมาณร้อยละ 55 ของการผลิตรถยนต์รวมของไทย โดยทิศทางการขยายตลาดส่งออกที่เพิ่มสูงขึ้นในอนาคตจะทำให้การผลิตรถยนต์ในประเทศมีโอกาสพุ่งขึ้นไปแตะระดับ 2 ล้านคันในปี 2555 ได้ตามที่เคยคาดการณ์ไว้
ทั้งนี้ จากแนวทางในปัจจุบันที่ภาครัฐได้เพิ่มการสนับสนุนไปยังการผลิตรถยนต์ขนาดเล็กซึ่งมีขนาดพอเหมาะกับความต้องการใช้ในชีวิตประจำวันทั่วไป และช่วยให้เกิดการประหยัดพลังงานได้มากขึ้น รวมถึงรถยนต์พลังงานทางเลือกต่างๆ ดังจะเห็นได้จากโครงการผลิตรถยนต์ขนาดเล็ก และรถยนต์พลังงานทางเลือกจากค่ายต่างๆที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในปัจจุบัน ซึ่งความสนับสนุนดังกล่าวสอดคล้องกับทิศทางรถยนต์ในตลาดโลกที่พบว่า มีการให้ความสนใจกับการผลิตรถยนต์ที่ใช้พลังงานทดแทนอื่นๆมากยิ่งขึ้น เช่น ไฟฟ้า ไฮโดรเจน เป็นต้น ซึ่งรัฐบาลเองก็แสดงให้เห็นถึงเจตนารมณ์ในการให้การสนับสนุนรถยนต์ประเภทนี้มากขึ้น ตามกระแสวิวัฒนาการเทคโนโลยีของโลก เนื่องจากไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์เพื่อส่งออกที่สำคัญที่สุดของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งผู้ประกอบการผลิตชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้องของไทยควรที่จะให้ความสนใจและเตรียมพร้อมเพื่อการพัฒนาชิ้นส่วนและบุคลากรของตนให้มีความสามารถรองรับกับทิศทางเทคโนโลยีเหล่านี้ที่จะมาถึงอย่างแน่นอนในอนาคต