คาดส่งออกปี 54 เติบโต 8-12% ในรูป USD …

การส่งออกของไทยในเดือนธันวาคม 2553 ยังคงเติบโตได้ดีเกินความคาดหมาย ซึ่งนับเป็นสัญญาณเชิงบวกต่อแนวโน้มในปี 2554 โดยหากแรงส่งที่ผลักดันการส่งออกยังคงรักษาความต่อเนื่องไว้ได้ก็น่าจะมีผลทำให้การส่งออกสามารถขยายตัวสูงกว่าที่เคยประเมินไว้ก่อนหน้านี้ โดยสาเหตุสำคัญที่มีส่วนผลักดันการขยายตัวของการส่งออกในช่วง 2 เดือนล่าสุด ส่วนหนึ่งอาจเป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจโลกในไตรมาสสุดท้ายของปี 2553 เป็นไปในทิศทางที่ดีกว่าที่หลายฝ่ายกังวล รวมทั้งผลของค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงกว่าในช่วงเดือนตุลาคม จากมุมมองเชิงบวกที่เพิ่มขึ้นนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ปรับเพิ่มประมาณการตัวเลขการส่งออกและนำเข้าของไทยในปี 2554 โดยประเด็นสำคัญมีดังนี้

– การส่งออกในเดือนธันวาคม 2553 ยังคงขยายตัวสูง โดยมีมูลค่า 17,372 ล้านดอลลาร์ฯ ขยายตัวร้อยละ 18.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (Year-on-Year) แม้ชะลอลงจากร้อยละ 28.5 ในเดือนก่อนหน้า แต่ดีกว่าค่าเฉลี่ยที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 16.3 อย่างไรก็ดี ถ้าขจัดผลของการส่งออกทองคำที่ขยายตัวถึงกว่าร้อยละ 700 ออกไปพบว่า การส่งออกในเดือนล่าสุดขยายตัวต่ำลงมาที่ร้อยละ 15.9 ส่วนในด้านการนำเข้าในเดือนธันวาคมมีมูลค่า 16,078 ล้านดอลลาร์ฯ ขยายตัวร้อยละ 11.5 ชะลอจากที่เร่งตัวในอัตราร้อยละ 35.3 ในเดือนก่อน โดยการส่งออกที่ขยายตัวสูงกว่าการนำเข้า ส่งผลให้ดุลการค้าในเดือนธันวาคมเกินดุลสูงขึ้นมาอยู่ที่ 1,295 ล้านดอลลาร์ฯ จาก 408 ล้านดอลลาร์ฯ ในเดือนก่อน สำหรับภาพรวมในปี 2553 การส่งออกมีมูลค่าประมาณ 195,312 ล้านดอลลาร์ฯ ขยายตัวร้อยละ 28.1 ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 182,407 ล้านดอลลาร์ฯ ขยายตัวร้อยละ 36.5 ขณะที่ดุลการค้าเกินดุล 12,905 ล้านดอลลาร์ฯ

– แม้ว่าในภาพรวม การส่งออกยังมีภาพที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แต่เมื่อพิจารณาเป็นรายสินค้า พบว่า สินค้าสำคัญอันดับต้นๆ ของไทยมีการชะลอตัวลงอย่างชัดเจน โดยเฉพาะเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ (สินค้าสำคัญอันดับ 1) หดตัวร้อยละ 2.2 (YoY) ส่วนรถยนต์และส่วนประกอบ (สินค้าสำคัญอันดับ 2) ขยายตัวเพียงร้อยละ 3.6 จากที่เติบโตสูงร้อยละ 35 ในเดือนก่อน นอกจากนี้ สินค้าสำคัญอื่นๆ ที่มีอัตราการเติบโตติดลบ ได้แก่ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง น้ำตาลทราย เป็นต้น สำหรับสินค้าที่ขยายตัวสูงกว่าระดับเฉลี่ยในเดือนล่าสุด เช่น อัญมณีและเครื่องประดับ ยางพารา ผลิตภัณฑ์ยาง เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และข้าว นอกจากนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่าการส่งออกไปยังญี่ปุ่นเร่งตัวขึ้น (หนุนโดยการส่งออกยางพารา จากความคาดหมายว่าภาวะผลผลิตที่ตึงตัวจะผลักดันราคาให้ปรับตัวสูงขึ้นอีก) แต่ขณะเดียวกัน ตลาดสำคัญส่วนใหญ่ชะลอตัวลง โดยเฉพาะ อาเซียน 5 ประเทศ (ไม่รวม CLMV) และจีน นอกจากนี้ มีบางตลาดที่หดตัว เช่น ออสเตรเลีย ซาอุดีอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

– แนวโน้มการส่งออกของไทยในปี 2554 … ชะลอตัว จากนโยบายเศรษฐกิจที่คุมเข้มในตลาดเกิดใหม่ และฐานที่สูงในปีที่ผ่านมา โดยแม้ว่าพัฒนาการของเครื่องชี้เศรษฐกิจในกลุ่มประเทศแกนหลักของโลก ทั้งสหรัฐฯ และยุโรปได้สะท้อนให้เห็นถึงความต่อเนื่องของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและเป็นทิศทางที่ดีกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ รวมทั้งมีผลบวกเพิ่มเข้ามาจากการต่ออายุมาตรการทางภาษีของสหรัฐฯ แต่ถึงกระนั้น ปัญหาที่เคยสร้างความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วก็ยังคงมีอยู่ อาทิ ปัญหาการว่างงานและวิกฤตภาคอสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐฯ ตลอดจนวิกฤตหนี้สาธารณะในภูมิภาคยุโรป ขณะที่เศรษฐกิจเกิดใหม่ในภูมิภาคเอเชีย ที่เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญต่อการส่งออกของไทยในปีที่ผ่านมานั้น กำลังเผชิญแรงกดดันเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ทำให้ทางการของประเทศเหล่านี้ต้องดำเนินนโยบายการเงินเข้มงวดขึ้นเพื่อชะลอเศรษฐกิจและภาวะเงินเฟ้อ โดยหลายประเทศ เช่น จีน อินเดีย เกาหลีใต้ รวมทั้งไทยเอง ยังคงอยู่ในระหว่างทางของวัฏจักรอัตราดอกเบี้ยในช่วงขาขึ้นที่คงจะต้องดำเนินต่อไปอีกระยะหนึ่ง ซึ่งจากแนวโน้มเศรษฐกิจเอเชียที่น่าจะลดระดับความร้อนแรงลง ประกอบกับฐานเปรียบเทียบที่สูงมากในปี 2553 น่าจะกดดันให้การส่งออกของไทยในปี 2554 ยากที่จะหลีกเลี่ยงภาวะชะลอตัว

– อย่างไรก็ตาม ทิศทางเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มเชิงบวกเพิ่มเติมจากที่เคยประเมินในครั้งก่อน ทำให้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ปรับเพิ่มประมาณการอัตราการขยายตัวของการส่งออกของไทยในปี 2554 ขึ้นเป็นร้อยละ 8.0-12.0 จากคาดการณ์เดิมที่ร้อยละ 6.0-10.0 ชะลอตัวลงจากร้อยละ 28.1 ในปี 2553 ส่วนการนำเข้ามีโอกาสที่จะขยายตัวในอัตราที่สูงกว่าการส่งออก เนื่องจากเศรษฐกิจในปี 2554 ต้องพึ่งพาการลงทุนเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ ซึ่งจะเร่งให้ไทยมีการนำเข้าสินค้าทุนเพิ่มขึ้น รวมทั้งธุรกิจอาจมีแรงจูงใจจากค่าเงินบาทที่แข็งค่า ทำให้มีการนำเข้าเครื่องจักรเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพในการผลิต ทั้งนี้ คาดว่า มูลค่าการนำเข้าอาจขยายตัวร้อยละ 12.0-16.0 สูงกว่าคาดการณ์เดิมที่ร้อยละ 9.0-13.0 แต่ก็เป็นทิศทางชะลอตัวจากฐานที่เติบโตสูงถึงร้อยละ 36.5 ในปี 2553

– สำหรับดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 2554 คาดว่ายังมีแนวโน้มเกินดุลสูง แต่คงมีระดับลดลงกว่าปีก่อนหน้า โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ดุลการค้าอาจเกินดุลประมาณ 7.0-9.7 พันล้านดอลลาร์ฯ ลดลงจาก 12.9 พันล้านดอลลาร์ฯ ในปี 2553 (ตามฐานศุลกากร) ส่วนดุลบัญชีเดินสะพัดคาดว่าจะเกินดุลประมาณ 8.0-11.3 พันล้านดอลลาร์ฯ ลดลงจากระดับสูงกว่า 14 พันล้านดอลลาร์ฯ ในปี 2553 ซึ่งฐานะดุลบัญชีระหว่างประเทศที่ยังนับเป็นระดับเกินดุลค่อนข้างสูงนี้ คงเป็นปัจจัยหนึ่งที่สนับสนุนให้ค่าเงินบาทมีโอกาสพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นได้ในบางช่วงของระยะข้างหน้า

โดยสรุป ตัวเลขการส่งออกในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปี 2553 ที่ออกมาดีกว่าที่คาด โดยยังคงขยายตัวต่อเนื่องเมื่อเทียบเดือนต่อเดือน (Month-on-Month) สอดคล้องกับตัวเลขเศรษฐกิจในต่างประเทศที่บ่งชี้การฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ปัจจัยลบต่างๆ ไม่ได้ส่งผลกดดันต่อเศรษฐกิจโลกรุนแรงอย่างที่หลายฝ่ายเคยกังวลกัน รวมทั้งเศรษฐกิจสหรัฐฯ สามารถรักษาเสถียรภาพการฟื้นตัวได้อย่างชัดเจนขึ้น อีกทั้งระยะข้างหน้าจะมีผลบวกจากการต่ออายุมาตรการภาษีที่คงหนุนจีดีพีสหรัฐฯ ให้ขยายตัวดีขึ้นกว่าคาดการณ์เดิม 50-100 Basis Point ทิศทางดังกล่าวนี้นับเป็นสัญญาณเชิงบวกต่อแนวโน้มการส่งออกของไทยในปี 2554 ซึ่งแม้ว่าการชะลอตัวคงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก แต่ก็มีโอกาสที่การส่งออกของไทยจะเติบโตได้ดีกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงได้ปรับเพิ่มประมาณการอัตราการขยายตัวของการส่งออกขึ้นเป็นร้อยละ 8.0-12.0 (จากเดิมที่ร้อยละ 6.0-10.0) รวมทั้งปรับเพิ่มประมาณการการขยายตัวของการนำเข้าเป็นร้อยละ 12.0-16.0 (จากเดิมที่ร้อยละ 9.0-12.0) ตามความต้องการนำเข้าสินค้าทุนและสินค้าอุปโภคบริโภคที่เพิ่มขึ้นจากมาตรการเศรษฐกิจเพิ่มเติมของรัฐบาลภายใต้นโยบายประชาวิวัฒน์ ความต้องการนำเข้าสินค้าปัจจัยการผลิตที่เพิ่มขึ้นตามการส่งออก รวมทั้งแนวโน้มราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่สูงขึ้น ทั้งนี้ จากการนำเข้าที่มีแนวโน้มเติบโตสูงกว่าการส่งออกทำให้คาดว่า ดุลการค้าในปี 2554 น่าจะเกินดุลลดลงมาที่ 7.0-9.7 พันล้านดอลลาร์ฯ จาก 12.9 พันล้านดอลลาร์ฯ ในปี 2553 (ตามฐานศุลกากร) ขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดอาจเกินดุลลดลงมาที่ 8.0-11.3 พันล้านดอลลาร์ฯ จากระดับสูงกว่า 14 พันล้านดอลลาร์ฯ ในปี 2553 ทั้งนี้ ภาพการส่งออกที่ดีขึ้นเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ปรับเพิ่มประมาณการอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2554 ขึ้นเป็นร้อยละ 4.0-5.0 จากเดิมที่เคยคาดไว้ที่ร้อยละ 3.5-4.5

ปัจจัยที่ต้องติดตามซึ่งอาจมีผลต่อทิศทางการส่งออกในปี 2554 นอกเหนือจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลัก ทั้งสหรัฐฯ จีน ยูโรโซนและญี่ปุ่นที่อาจยังคงมีความไม่แน่นอนแล้ว ที่สำคัญยังต้องจับตาประเด็นที่เกี่ยวข้องกับราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ทิศทางอัตราแลกเปลี่ยน มาตรการทางการค้าของประเทศคู่ค้าหลัก รวมทั้งการขยายกำลังการผลิตใหม่และการรุกขยายช่องทางเปิดตลาดส่งออกของผู้ประกอบการ ดังนี้

– ทิศทางราคาสินค้าเกษตรและอาหาร การที่สินค้าส่วนใหญ่ยังมีแนวโน้มราคาปรับตัวสูง เช่น ยางพารา มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ถั่วเหลือง ธัญพืชหลายชนิด รวมถึงผลผลิตสัตว์น้ำ น่าจะเป็นปัจจัยบวกต่อการส่งออกในปี 2554 ทั้งในแง่อุปสงค์และราคา โดยความต้องการในตลาดโลกยังขยายตัวในขณะที่ประเทศผู้ผลิตในหลายภูมิภาคประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติรุนแรงทำให้ผลผลิตได้รับความเสียหาย ซึ่งจะเป็นแรงสนับสนุนความต้องการสินค้าเกษตรของไทย และเอื้อให้ผู้ส่งออกมีช่องว่างที่จะขยับราคาสินค้าขึ้นตามภาวะต้นทุนวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม ในอีกด้านหนึ่ง หากราคาสินค้าปรับสูงขึ้นมากเกินไปอาจฉุดรั้งการใช้จ่ายของผู้บริโภค หรือมีการเปลี่ยนพฤติกรรมหันไปบริโภคสินค้าอื่นที่มีราคาต่ำกว่าทดแทน

– ทิศทางอัตราแลกเปลี่ยน การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่ค่อนข้างมีเสถียรภาพในขณะนี้นับเป็นปัจจัยที่เกื้อหนุนต่อธุรกิจส่งออกไทย อย่างไรก็ตาม แนวโน้มในระยะข้างหน้าอาจยังคงมีปัจจัยที่ผลักดันให้ค่าเงินบาทขยับแข็งค่าขึ้นได้อีก ซึ่งทิศทางค่าเงินบาทย่อมส่งผลต่อรายได้และอัตรากำไรของผู้ส่งออกไทย อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์การแข็งค่าของเงินบาทที่ผ่อนคลายลง ประกอบกับการปรับเพิ่มคาดการณ์แนวโน้มการส่งออกในรูปดอลลาร์ฯ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า หากค่าเงินบาทไม่แข็งค่าขึ้นอย่างรุนแรงเกินไปการส่งออกในรูปเงินบาทน่าจะยังคงรักษาระดับการเติบโตในแดนบวกได้ โดยกรณีถ้าค่าเงินบาททั้งปี 2554 มีค่าเฉลี่ยทรงตัวใกล้เคียงระดับปัจจุบัน (เฉลี่ยประมาณ 30.4 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงเดือนมกราคม 2554) มูลค่าการส่งออกในรูปเงินบาทอาจขยายตัวประมาณร้อยละ 3.5-7.5 แต่หากค่าเฉลี่ยเงินบาททั้งปีแข็งค่าขึ้นไปอีก 1 บาทต่อดอลลาร์ฯ อาจส่งผลให้มูลค่าการส่งออกในรูปเงินบาทขยายตัวเพียงร้อยละ 0-4.0 แต่ก็ดีกว่าคาดการณ์เดิมที่เคยกังวลว่าอาจถึงขั้นติดลบ

– ข้อสรุปเกี่ยวกับการต่ออายุสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป หรือ จีเอสพีของสหรัฐฯ โดยในเบื้องต้นสภาสหรัฐฯ เห็นชอบไม่ต่ออายุจากที่สิ้นสุดในวันที่ 31 ธันวาคม 2553 และจะมีการพิจารณาอีกครั้งในต้นปีนี้ ทั้งนี้ การไม่ต่ออายุมาตรการดังกล่าวจะทำให้สินค้านำเข้าไปยังสหรัฐฯ จากประเทศต่างๆ รวมทั้งไทย ต้องเสียภาษีในอัตราปกติ แต่หากสภาของสหรัฐฯ มีการทบทวนต่ออายุจีเอสพี ก็สามารถยื่นขอคืนภาษีได้ภายหลัง สำหรับสินค้าที่ใช้สิทธิจีเอสพีส่งออกไปยังสหรัฐฯ สูง อาทิ เครื่องประดับทำจากเงิน ยางเรเดียล อาหารปรุงแต่ง ถุงมือยาง เตาอบไมโครเวฟ และส่วนประกอบเครื่องปรับอากาศ เป็นต้น

– การปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มในยุโรปนับตั้งแต่ต้นปี 2554 ซึ่งแต่ละประเทศมีการปรับในอัตราที่แตกต่างกัน (โดยปรับขึ้นจากอัตราเดิมประมาณร้อยละ 1.0-2.5) อัตราภาษีที่สูงขึ้นอาจมีผลกระทบไปสู่การใช้จ่ายของผู้บริโภคท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจของยุโรปเองที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อของยูโรโซนมีแนวโน้มเร่งตัวอยู่ก่อนหน้านี้แล้ว โดยขยับสูงขึ้นมาที่ร้อยละ 2.2 (YoY) ในเดือนธันวาคม 2553 (สูงกว่าระดับเป้าหมายของทางการ) ซึ่งอาจมีผลทำให้นโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป หรือ ECB มีโอกาสที่จะพลิกกลับมาสู่การเริ่มต้นปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเร็วกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังต้องติดตามมาตรการทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีในหลายรูปแบบมากขึ้น ทิศทางดังกล่าวสะท้อนได้ว่าการส่งออกไปยังตลาดยุโรปยังคงเผชิญปัจจัยลบหลายด้าน

– การขยายกำลังการผลิตใหม่และการแสวงหาโอกาสเปิดตลาดส่งออกใหม่ ในช่วงเดือนข้างหน้า คาดว่าจะมีกำลังการผลิตใหม่จากการขยายการลงทุนที่ทยอยแล้วเสร็จในอุตสาหกรรมเช่น ยานยนต์ ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และปิโตรเคมี ซึ่งจะขยายศักยภาพการผลิตและส่งออกของไทย ขณะเดียวกัน ในปัจจุบัน สภาพแวดล้อมทางการค้าระหว่างประเทศที่เชื่อมโยงถึงกันอย่างเสรีมากขึ้น ทั้งในด้านการผ่อนคลายอัตราภาษีศุลกากรและกฎระเบียบต่างๆ ภายใต้กรอบความตกลงการค้าเสรี และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบคมนาคมขนส่ง ซึ่งทำให้สินค้าไทยสามารถกระจายเข้าไปสู่ประเทศใกล้เคียงโดยเฉพาะอาเซียน จีน และอินเดียได้สะดวกมากขึ้น จึงเป็นโอกาสที่ผู้ประกอบการไทยควรแสวงหากลยุทธ์ในการเปิดตลาดในกลุ่มประเทศเหล่านี้อย่างจริงจังมากขึ้น เพื่อเข้าถึงตลาดที่มีขนาดใหญ่ขึ้นและมีการเติบโตของกำลังซื้อในระดับสูง