ในช่วงครึ่งแรกของปี 2554 มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมเกษตรมีอัตราการขยายตัวสูงเป็นประวัติการณ์โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 14,961.44 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 49.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน(YoY) ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่าในปี 2554 สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรยังคงมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจัยหนุนทั้งจากราคาสินค้าเกษตรสำคัญมีแนวโน้มสูงขึ้น และความต้องการในต่างประเทศที่มีแนวโน้มสูงขึ้น จากสภาพอากาศที่แปรปรวน การแพร่ระบาดของโรคและแมลงศัตรูพืช ที่มีความถี่และแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น ทำให้นานาประเทศเกิดความกังวลถึงความเพียงพอด้านอาหารของประเทศ ส่งผลให้ความต้องการสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรในตลาดโลกมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยคาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรในปี 2554 น่าจะพุ่งขึ้นไปอยู่ในระดับ 29,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 45.0 เมื่อเทียบกับปี 2553 ในขณะที่มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรในปี 2554 เพิ่มขึ้นเป็น 16,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 30.0 นับว่าเป็นเพิ่มขึ้นมากเป็นประวัติการณ์จากปัจจัยเอื้อของตลาดต่างประเทศ
สำหรับแนวโน้มการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปในปี 2555 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่ามูลค่าการส่งออกทั้งสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรยังคงมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจัยหนุน คือ ราคาสินค้าเกษตรที่อยู่ในเกณฑ์สูงจูงใจให้เกษตรกรขยายการผลิต รวมทั้งอานิสงส์ของนโยบายรัฐบาลใหม่ที่จะส่งผลให้กำลังซื้อของคนในประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะนโยบายการเพิ่มค่าจ้างแรงงาน และการเพิ่มการลงทุนของภาครัฐบาล คาดการณ์ว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรในปี 2555 น่าจะพุ่งขึ้นไปอยู่ในระดับ 35,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับปี 2554 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.0 ในขณะที่คาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรในปี 2555 น่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 19,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.0 จากปัจจัยเอื้อของตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะจีนและญี่ปุ่น ซึ่งคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจีนยังคงขยายตัวต่อไปได้ แม้จะไม่ร้อนแรงเท่าปี 2554 ส่วนเศรษฐกิจญี่ปุ่นเริ่มส่งสัญญาณที่ดีขึ้น ส่วนเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญคือ สหรัฐฯและสหภาพยุโรปแม้ว่าจะประสบปัญหา แต่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรน้อยกว่าสินค้าอุตสาหกรรม เนื่องจากเป็นสินค้าจำเป็นต่อการบริโภค
สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรที่มีอัตราการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกอยู่ในเกณฑ์สูง 5 อันดับแรก ได้แก่
-ยางแปรรูปขั้นต้น (ยางแผ่นรมควัน น้ำยางข้น) ปัจจัยผลักดันมูลค่าการส่งออกยางแปรรูปขั้นต้นในปี 2554 คือ ราคายางที่ทรงตัวอยู่ในระดับสูง โดยราคายางแผ่นดิบชั้น 3 แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในเดือนกุมภาพันธ์ 2554 ที่ระดับ 170.77 บาท/กิโลกรัม แม้ว่าญี่ปุ่นซึ่งเป็นตลาดนำเข้ายางสำคัญของไทยจะเผชิญปัญหาภัยพิบัติแผ่นดินไหวและสึนามิในช่วงเดือนมีนาคม แต่ก็ส่งผลกระทบต่อราคายางในระยะสั้น และการฟื้นตัวอย่างรวดเร็วของอุตสาหกรรมยานยนต์ของญี่ปุ่น ยังเป็นผลเชิงบวกต่อการส่งออกยางของไทยในช่วงที่เหลือของปี 2554 สำหรับปัจจัยหนุนสำคัญอื่นๆ คือ ยอดจำหน่ายและยอดส่งออกรถยนต์ของจีนที่ยังมีแนวโน้มสูงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ความต้องการนำเข้ายางของจีนยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประเด็นที่น่าสนใจคือ การเข้าซื้อยางของจีนส่งผลให้ราคายางในแต่ละช่วงปรับตัวขึ้น/ลง รวมทั้งการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐฯยังเป็นปัจจัยหนุนให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกอยู่ในเกณฑ์สูง ซึ่งราคายางในตลาดโลกเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกับราคาน้ำมัน นอกจากนี้ การที่ราคาน้ำมันยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้ราคายางสังเคราะห์ซึ่งเป็นสินค้าทดแทนยางธรรมชาติก็จะอยู่ในเกณฑ์สูงตามไปด้วย ซึ่งปัจจัยหนุนการส่งออกยางในปี 2554 ยังคงเป็นปัจจัยหนุนการส่งออกยางแปรรูปขั้นต้นให้ยังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องในปี 2555
-ข้าว ปริมาณการส่งออกข้าวในช่วงครึ่งแรกของปี 2554 อยู่ในระดับเฉลี่ยที่ประมาณ 1 ล้านตันต่อเดือน โดยคาดการณ์ว่าตลอดทั้งปี 2554 ปริมาณการส่งอออกข้าวจะสูงถึง 10 ล้านตัน ทั้งนี้ตลาดส่งออกที่มีการขยายตัวสูง คือ ไนจีเรีย บังคลาเทศ อินโดนีเซีย อิรัก แอฟริกาใต้ อิหร่าน และจีน โดยประเภทข้าวที่มีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นคือ ข้าวนึ่งและปลายข้าว เนื่องจากอินเดียซึ่งเป็นคู่แข่งสำคัญยังคงจำกัดการส่งออก อย่างไรก็ตาม การส่งออกข้าวยังเผชิญการแข่งขันอย่างรุนแรงจากเวียดนาม โดยเฉพาะข้าวขาว ส่งผลให้ราคาข้าวในช่วงครึ่งแรกของปี 2554 อยู่ในระดับต่ำกว่าเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2553 ประเด็นที่ต้องติดตาม คือ การปรับนโยบายแทรกแซงตลาดข้าวเป็นมาตรการจำนำ ซึ่งคาดว่าจะมีการประกาศราคารับจำนำข้าวในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2554 สำหรับข้าวเปลือกเจ้า5% ที่ระดับ 15,000 บาท/ตัน และข้าวหอมมะลิที่ระดับ 20,000 บาท/ตัน ส่งผลให้ราคาข้าวในประเทศ และราคาส่งออกข้าวขยับสูงขึ้นตั้งแต่ช่วงเดือนกรกฎาคม 2554 นอกจากนี้ ราคาข้าวยังได้รับแรงหนุนจากการที่ในช่วงไตรมาส 3 เป็นช่วงปลายฤดูการผลิตของทั้งไทยและเวียดนาม ในขณะที่ยังมีความต้องการซื้อข้าวล็อตใหญ่จากอินโดนีเซียที่ช่วยหนุนให้ตลาดซื้อขายข้าวคึกคัก สำหรับแนวโน้มราคาข้าวในประเทศในปี 2555 คาดว่าราคายังอยู่ในเกณฑ์สูง ส่วนราคาส่งออกข้าวคาดว่าจะอยู่ในเกณฑ์สูงเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ต้องติดตาม คือ สภาพอากาศกล่าวคือ ถ้าสภาพอากาศเอื้ออำนวยต่อการผลิตข้าว การแข่งขันข้าวในตลาดโลกรุนแรง ราคามีแนวโน้มปรับตัวลดลง โดยเฉพาะในช่วงครื่งแรกปี 2555 จากเวียดนาม และมีแนวโน้มว่าอินเดียจะส่งออกข้าวขาวเพิ่มขึ้น แต่ถ้าสภาพอากาศแปรปรวน ความต้องการในตลาดโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ราคามีแนวโน้มทรงตัวอยู่ในระดับสูง สภาพการแข่งขันกับเวียดนาม โดยต้องติดตามประเด็นสำคัญคือ การปรับลดค่าเงินด่อง ส่งผลให้ราคาข้าวของเวียดนามจะถูกกว่าข้าวไทยมากขึ้น นอกจากนี้ ยังต้องติดตามการกำหนดราคาส่งออกขั้นต่ำของเวียดนาม ซึ่งเป็นตัวชี้นำราคาส่งออกข้าวของเวียดนาม สำหรับปัจจัยสนับสนุนราคาข้าว ราคาสินค้าโภคภัณฑ์มีแนวโน้มสูงขึ้น จากการเข้ามาเก็งกำไรในตลาดซื้อขายล่วงหน้าสินค้าโภคภัณฑ์มากขึ้น อันเป็นผลมาจากปัญหาเงินดอลลาร์สหรัฐฯมีแนวโน้มอ่อนค่า
-น้ำตาลทราย จากการคาดการณ์ผลผลิตอ้อยของไทยในปี 2553/54 จะสูงถึง 95.36 ล้านตัน สูงกว่าปีก่อนถึง 27 ล้านตัน ส่งผลให้ผลผลิตน้ำตาลของไทยในปี 2554 นี้จะอยู่ที่ 9.66 ล้านตัน และบริโภคในประเทศ (โควตา ก.) 2.5 ล้านตัน ที่เหลือประมาณ 7 ล้านตันส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ ซึ่งนับว่าเป็นปริมาณส่งออกที่สูงมากเป็นประวัติการณ์ ตลาดหลักคือ ประเทศในกลุ่มอาเซียน โดยเฉพาะอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ กัมพูชา และมาเลเซีย รวมทั้งญี่ปุ่น และเกาหลีใต้
ประเด็นที่ต้องติดตาม คือ ราคาน้ำตาลทรายดิบในตลาดโลกค่อนข้างผันผวนไปตามกระแสข่าวปริมาณผลผลิตของประเทศผู้ผลิตน้ำตาลสำคัญของโลก กล่าวคือ ในช่วงต้นปีราคาน้ำตาลทรายดิบลดลง เนื่องจากคาดการณ์ผลผลิตที่เพิ่มสูงขึ้นของไทยและอินเดีย และราคาน้ำตาลทรายดิบมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในเดือนมิถุนายน 2554 เนื่องจากมีข่าวเกี่ยวกับความล่าช้าในการผลิตและการส่งออกน้ำตาลของบราซิล อันเนื่องจากปัญหาฝนที่ตกหนักในช่วงฤดูการผลิตน้ำตาล ทำให้การเปิดหีบอ้อยล่าช้า รวมถึงในช่วงต้นของฤดูการผลิตมีการนำอ้อยไปผลิตเอทานอลเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า นอกจากนี้ การขนถ่ายน้ำตาลลงเรือล่าช้า จากอุปสรรคปัญหาฝนที่ตกหนัก คาดการณ์ว่าราคาน้ำตาลทรายดิบในตลาดโลกในช่วงครึ่งหลังปี 2554 มีแนวโน้มทรงตัวในระดับสูง ในขณะที่ราคาน้ำตาลทรายดิบในปี 2555 จะถูกกดดันจากการคาดการณ์ว่าปริมาณผลผลิตน้ำตาลจะมีเกินความต้องการ เนื่องจากปริมาณการผลิตที่เพิ่มขึ้นของประเทศผู้ลิตน้ำตาลที่สำคัญของโลก
-อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ปัจจัยหนุนการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกเป็นผลมาจากราคาสินค้าปรับตัวเพิ่มขึ้นตามราคาวัตถุดิบทั้งปลาทูน่า และกุ้งมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น โดยราคาวัตถุดิบปลาทูน่าปัจจุบันเฉลี่ยที่ 1,900 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ปรับตัวเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวจากปลายปี 2553 ที่ราคาปลาทูน่าเฉลี่ยอยู่ที่ 1,000 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ส่วนราคากุ้งมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่องจากปลายปี 2553 เนื่องจากประเทศคู่แข่งสำคัญได้รับความเสียหายจากปัญหาโรคระบาดไวรัสกล้ามเนื้อขุ่น และปัญหาสภาพอากาศที่แปรปรวน ในขณะที่ปัญหาน้ำท่วมภาคใต้ในเดือนมีนาคม ซึ่งเป็นแหล่งเลี้ยงกุ้งที่สำคัญของไทย ส่งผลให้ราคากุ้งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นด้วย นอกจากนี้ การส่งออกไปยังตลาดญี่ปุ่น ซึ่งได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติแผ่นดินไหวและสึนามิในช่วงเดือนมีนาคม 2554 ทำให้มีการสั่งนำเข้าอาหารทะเลกระป๋องเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว ส่วนตลาดสหภาพยุโรป(อียู)ที่บางประเทศได้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจจากปัญหาหนี้สาธารณะ แต่ในภาพรวมมีการนำเข้าอาหารทะเลกระป๋องเพิ่มขึ้นมาก โดยเฉพาะฝรั่งเศส และสเปน
คาดว่าในช่วงไตรมาส 3/54 คำสั่งซื้อจากตลาดยุโรปและสหรัฐฯจะชะลอตัว เนื่องจากเป็นช่วงพักร้อน ส่วนในเดือนสิงหาคมคำสั่งซื้อจากตลาดตะวันออกกลางจะลดลงจากการเข้าสู่เดือนรอมฎอน(ถือศีลอด)แต่คาดว่าคำสั่งซื้อในตลาดเหล่านี้จะกลับมาขยายตัวได้ดีอีกครั้งในช่วงไตรมาส 4/54 รวมทั้งคาดการณ์ว่าราคาวัตถุดิบ คือ ปลาทูน่ามีแนวโน้มจะอ่อนตัวลงหลังจากแตะระดับสูงสุดที่ 1.9 พันดอลลาร์ต่อตันในช่วงเดือนกรกฎาคม 2554 โดยราคาเฉลี่ยทั้งปี 2554 น่าจะอยู่ที่ระดับ 1.6 พันดอลลาร์ต่อตัน ในขณะที่ราคากุ้งมีแนวโน้มชะลอตัวลงเช่นกัน จากการคาดการณ์ว่าปริมาณผลผลิตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อันเป็นผลมาจากราคาที่อยู่ในเกณฑ์สูงจูงใจให้เกษตรกรขยายการเลี้ยง ส่วนในด้านการส่งออกก็เผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น จากการที่ประเทศคู่แข่งฟื้นตัวจากความเสียหาย
สำหรับในปี 2555 คาดการณ์ว่าการส่งออกอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูปยังมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศในสหภาพยุโรป และสหรัฐฯ ส่งผลกระทบต่อการส่งออกไม่มากนัก เนื่องจากอาหารกระป๋องและแปรรูปเป็นสินค้าจำเป็น และมีราคาต่ำทำให้ในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ ความต้องการยังมีแนวโน้มจะเติบโต
-ผัก ผลไม้และผลิตภัณฑ์ มูลค่าการส่งออกผัก ผลไม้และผลิตภัณฑ์ในช่วงครึ่งแรกปี 2554 มีแนวโน้มขยายตัวอย่างมากเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากปริมาณผลผลิตในปี 2554 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับในปี 2553 ซึ่งเผชิญปัญหาความแห้งแล้งที่ยาวนานผิดปกติ สร้างความเสียหายให้กับปริมาณผลผลิต คาดการณ์ว่ามูลค่าการส่งออกผัก ผลไม้และผลิตภัณฑ์ในช่วงครึ่งหลังปี 2554 และในปี 2555 ยังมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็ง และผักสดแช่เย็นแช่แข็ง ได้รับแรงหนุนสำคัญจากกรอบเจรจาการค้าเสรี โดยเฉพาะอาฟตา และอาเซียน-จีน กล่าวคือ ตลาดส่งออกผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งที่มีอัตราการขยายตัวสูง คือ จีน อินโดนีเซีย เวียดนาม และลาว ส่วนตลาดส่งออกผักสดแช่เย็นแช่แข็งที่มีอัตราการขยายตัวสูงคือ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย สำหรับการส่งออกผลไม้กระป๋องและแปรรูปยังมีแนวโน้มขยายตัวในตลาดส่งออกหลัก คือ สหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ส่วนตลาดที่น่าสนใจคือ ออสเตรเลียและรัสเซีย ส่วนผักกระป๋องและแปรรูป ตลาดส่งออกที่มีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง คือ ญี่ปุ่น รัสเซีย ไต้หวัน ออสเตรเลีย และซาอุดิอาระเบีย
ปัจจัยที่ต้องติดตาม คือ การเริ่มมีการเข้ามาลงทุนในไทยในการผลิตน้ำผลไม้ และเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ โดยอาศัยความอุดมสมบูรณ์และความหลากหลายของผลไม้ไทย รวมทั้งฐานตลาดเครื่องดื่มของไทยที่กำลังอยู่ในช่วงเติบโต โดยเฉพาะเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ นอกจากนี้ เป็นการเตรียมรับตลาดประชาคมอาเซียนในปี 2556 โดยใช้ไทยเป็นฐานในการส่งออกไปยังตลาดอาเซียน
-ไก่แปรรูป มูลค่าการส่งออกไก่แปรรูปในช่วงครึ่งแรกปี 2554 พุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ทั้งที่ในปีปกติฤดูการส่งออกไก่แปรรูปจะอยู่ในช่วงครึ่งปีหลัง เนื่องจากในช่วงต้นปีราคาไก่เนื้อพุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ จากสภาพอากาศที่แปรปรวนและโรคระบาดในประเทศผู้ผลิตหลักอื่นๆ ของโลก ส่งผลกระทบทำให้ธุรกิจการเลี้ยงไก่เนื้อมีอัตราการสูญเสียสูงกว่าร้อยละ 20 ของภาวะการเลี้ยงปกติ โดยเฉพาะบราซิล ซึ่งเป็นผู้ส่งออกไก่รายสำคัญ ดังนั้น ประเทศผู้ซื้อจึงกังวลว่าจะเกิดปัญหาขาดแคลนไก่เนื้อ ทำให้มีคำสั่งซื้อผลิตภัณฑ์ไก่เพิ่มขึ้นอย่างมากในปี 2554 ตั้งแต่ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นช่วงนอกฤดูการส่งออก แม้ว่าในช่วงครึ่งหลังจะมีการคาดการณ์ว่าราคาไก่เนื้อมีแนวโน้มอ่อนตัวลง จากปริมาณการผลิตที่เพิ่มขึ้น และต้นทุนการผลิตลดลง แต่ผู้ประกอบการในธุรกิจไก่เนื้อยังคงคาดการณ์ว่าในปี 2554 ปริมาณการส่งออกผลิตภัณฑ์ไก่จะเพิ่มขึ้นไปแตะระดับ 500,000 ตันเป็นครั้งแรก ซึ่งเป็นระดับเดียวกับปี 2546 ก่อนที่ไทยจะมีปัญหาโรคไข้หวัดนกที่มีผลทำให้ช่วง 8 ปีที่ผ่านมาปริมาณการส่งออกไก่ของไทยลดลง เพราะต้องปรับเปลี่ยนระบบการผลิตจากไก่สดแช่เย็นแช่แข็งเป็นไก่แปรรูป สำหรับปัจจัยหนุนการส่งออกในระยะต่อไป คือ ถ้าสหภาพยุโรป และญี่ปุ่นเปิดนำเข้าไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง รวมทั้งมีการเปลี่ยนแปลงกฎนำเข้าสินค้าอาหารของกลุ่มประเทศสภาความร่วมมือแห่งอ่าวอาหรับ (GCC) มาใช้ระเบียบนำเข้าอาหารร่วม 6 ประเทศ ก็จะทำให้ไทยส่งออกไก่สดแช่เย็นแช่แข็งไปยังตลาดนี้ได้เพิ่มขึ้น นอกเหนือไปจากการส่งออกไปยังบาร์เรน
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรในปี 2554 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็นประวัติการณ์ จากปัจจัยเอื้อในด้านปริมาณการผลิตที่มีแนวโน้มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับในปี 2553 ที่เผชิญปัญหาแห้งแล้งยาวนานผิดปกติ และราคาที่อยู่ในเกณฑ์สูงจูงใจให้เกษตรกรขยายปริมาณการผลิต นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเอื้อจากความต้องการที่เพิ่มมากขึ้นของตลาดต่างประเทศ รวมทั้งอานิสงส์จากการส่งออกไปยังประเทศที่เป็นคู่เจรจากรอบข้อตกลงเขตการค้าเสรี โดยเฉพาะอาฟตา และอาเซียน-จีน สำหรับการส่งออกในปี 2555 คาดการณ์ว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรยังมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง โดยยังได้รับแรงหนุนจากราคาสินค้าเกษตรที่คาดว่ายังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูง และความต้องการของตลาดต่างประเทศยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะจีนและญี่ปุ่น ซึ่งคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจีนยังคงขยายตัวต่อไปได้ แม้จะไม่ร้อนแรงเท่าปี 2554 ส่วนเศรษฐกิจญี่ปุ่นเริ่มส่งสัญญาณที่ดีขึ้น ส่วนเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญคือ สหรัฐฯและสหภาพยุโรปแม้ว่าจะประสบปัญหา แต่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรน้อยกว่าสินค้าอุตสาหกรรม เนื่องจากเป็นสินค้าจำเป็นต่อการบริโภค