กินเจปี’54 : เม็ดเงินเพิ่ม 7.7%….ราคาสินค้าพุ่ง

เทศกาลกินเจในปี 2554นี้อยู่ในระหว่างวันที่ 26 กันยายน-6 ตุลาคม บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด คาดว่าบรรยากาศจะไม่ค่อยคึกคักเช่นเดียวกับปีที่ผ่านมา เนื่องจากราคาสินค้าอุปโภคบริโภคยังคงอยู่ในเกณฑ์สูง และสินค้าประเภทผัก-ผลไม้มีแนวโน้มพุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ในช่วงเทศกาลกินเจในปีนี้ แม้ว่าจำนวนคนกรุงเทพฯที่ตั้งใจจะกินเจมีแนวโน้มเพิ่มจำนวนขึ้น แต่ส่วนใหญ่ยังกินเจตามสะดวก ไม่ได้ยึดถือประเพณีอย่างเคร่งครัด โดยเลือกรับประทานบางมื้อ/บางวันเท่านั้น อย่างไรก็ตาม คาดการณ์ว่าเม็ดเงินสะพัดในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอาหารเจจะเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา เนื่องจากราคาสินค้าพุ่งสูงขึ้น เนื่องจากปัญหาน้ำท่วม โดยเฉพาะผัก ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญประเภทหนึ่งในการประกอบอาหารเจ

อุปสรรคสำคัญของเทศกาลกินเจในปี 2554 นี้ยังคงเป็นปัญหาเดิมเช่นเดียวกับปีที่ผ่านมา คือ ราคาผักที่มีแนวโน้มพุ่งสูงขึ้น แม้ว่าในช่วงเทศกาลกินเจทุกปี(ประมาณช่วงเดือนกันยายนหรือตุลาคม)ราคาผักจะมีแนวโน้มสูงขึ้นเป็นประจำอยู่แล้ว แต่ในปี 2554 นี้มีแนวโน้มว่าราคาผักอาจจะสูงกว่าเมื่อเทียบกับปี 2553 ซึ่งเป็นปีที่ราคาผักสูงเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากผลกระทบจากภาวะอุทกภัยในปีนี้จะรุนแรงกว่าในปี 2553

เทศกาลกินเจเป็นหนึ่งในเทศกาลที่บรรดาธุรกิจที่เกี่ยวข้องสามารถสร้างยอดขายเพิ่มขึ้นเทศกาลหนึ่ง ดังนั้น หลากหลายธุรกิจจึงหันมาเกาะกระแสอาหารเจในฐานะที่เป็นอาหารสุขภาพ ซึ่งเป็นกระแสที่ยังคงมาแรงในปัจจุบัน โดยจะเห็นได้จากที่เริ่มมีการประชาสัมพันธ์ถึงเทศกาลกินเจในสื่อต่างๆ ตั้งแต่ช่วงต้นเดือนกันยายน คาดว่าในปีนี้ผู้ประกอบการโดยเฉพาะผู้จำหน่ายอาหารเจสำเร็จรูปประเภทตักขาย หรืออาหารเจตามสั่งบางส่วนยังจะสามารถสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำจากเทศกาลกินเจ โดยกุญแจสำคัญคือ การรู้จักพลิกแพลงในการใช้วัตถุดิบเพื่อประกอบอาหาร ซึ่งทำให้สามารถคงราคาอาหารเจหรือปรับราคาจำหน่ายน้อยที่สุด ซึ่งราคาจำหน่ายที่เหมาะสมนั้นจะเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งในการดึงดูดลูกค้า

อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคอาหารเจยังเน้นนโยบายประหยัดเช่นเดียวกับในปีที่ผ่านมา เนื่องจากความจำเป็นทางเศรษฐกิจ ทำให้บรรดาผู้ที่จำหน่ายอาหารเจบางรายปรับตัวโดยการใช้กลยุทธ์ไม่ปรับราคา โดยอาจจะลดปริมาณลงเล็กน้อย หรือพลิกแพลงประเภทวัตถุดิบที่ใช้ในการปรุงอาหารเพื่อเฉลี่ยต้นทุนไม่ให้เพิ่มขึ้นมากนัก ทำให้สามารถจำหน่ายในราคาเดิมได้ อย่างไรก็ตาม ผู้จำหน่ายอาหารเจบางรายก็ตัดสินใจไม่จำหน่ายอาหารเจ หรือบางรายก็ปรับราคาจำหน่าย โดยเน้นการทำความเข้าใจกับลูกค้าถึงปัญหาราคาวัตถุดิบ โดยเฉพาะราคาผักที่แพงขึ้นอย่างมากเป็นประวัติการณ์ในปีนี้ นอกจากนี้ ผู้ประกอบการขายอาหารเจก็ปรับตัวด้วยการเริ่มจำหน่ายอาหารเจล่วงหน้าตั้งแต่ 24 กันยายน แม้ว่าเทศกาลรับประทานอาหารเจจะเริ่มในช่วงเย็นของวันที่ 26 กันยายน ซึ่งถือว่าเป็นมื้อล้างท้องก่อนที่จะเข้าสู่การรับประทานอาหารเจกันจริงๆในตอนเช้าของวันที่ 27 กันยายน ทั้งนี้เพื่อยืดระยะเวลาจำหน่ายอาหารเจออกไปให้สามารถสร้างรายได้มากขึ้น

ตลาดอาหารเจในกรุงเทพฯมูลค่า 2,520 ล้านบาท…เพิ่มขึ้น 7.7%
บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ทำการสำรวจพฤติกรรมการบริโภคอาหารเจในช่วงเทศกาลกินเจมาอย่างต่อเนื่อง และในปี 2554 นี้ทางบริษัทดำเนินการสัมภาษณ์เชิงลึกโดยเจาะกลุ่มตัวอย่างที่ตั้งใจบริโภคอาหารเจในช่วงเทศกาลกินเจ โดยแบ่งกลุ่มตัวอย่างออกเป็น 3 กลุ่ม คือ

– กลุ่มที่บริโภคอาหารเจเป็นประจำ เช่น รับประทานเป็นประจำ รับประทานเฉพาะในวันพระ วันเกิด (เช่น รับประทานอาหารเจทุกวันจันทร์ เป็นต้น) แม้ว่าจะไม่ได้อยู่ในช่วงเทศกาลกินเจ ซึ่งมีอยู่ร้อยละ 10.0 ของคนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่าง แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าผู้บริโภคกลุ่มนี้เริ่มมีจำนวนเพิ่มขึ้น โดยปัจจัยสนับสนุนคือ อาหารเจนั้นหารับประทานได้สะดวกมากขึ้น

-กลุ่มที่บริโภคอาหารเจเฉพาะในช่วงเทศกาลกินเจร้อยละ 50.0 ของคนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่าง คนกินเจกลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุด และเป็นกลุ่มผู้บริโภคหลักที่สร้างเม็ดเงินให้กับยอดจำหน่ายอาหารเจในช่วงเทศกาลกินเจ

-กลุ่มที่บริโภคอาหารเจหน้าใหม่และกลุ่มที่บริโภคอาหารเจตามแฟชั่นร้อยละ 40.0 แม้ว่าคนกินเจกลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มค่อนข้างใหญ่ แต่ก็สร้างเม็ดเงินให้กับยอดจำหน่ายอาหารเจไม่มากนัก เนื่องจากส่วนใหญ่กินเจตามสะดวก โดยกินเจไม่ครบทุกวันหรือไม่ครบทุกมื้อในแต่ละวัน

กลุ่มผู้บริโภคอาหารเจทั้งสองกลุ่มแรกนับว่าเป็นผู้ที่สร้างเม็ดเงินสะพัดให้กับธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอาหารเจในช่วงเทศกาลกินเจทุกปี แม้ว่าในปีนี้ผู้ที่บริโภคอาหารเจจะเน้นประหยัดเช่นเดียวกับปีที่ผ่านมา แต่ด้วยราคาวัตถุดิบที่นำมาประกอบอาหารเจสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะผัก ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญในการประกอบอาหารเจ จากการสำรวจพบว่าคนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างคาดว่าจะมีค่าใช้จ่ายในการรับประทานอาหารเจเฉลี่ยประมาณวันละ 100-120 บาท/คน เมื่อนำมาคำนวณโดยอิงกับพฤติกรรมการบริโภคอาหารเจแล้ว คาดว่ามูลค่าของธุรกิจอาหารเจในกรุงเทพฯในปี 2554 ประมาณ 2,520 ล้านบาทเฉพาะในช่วงเทศกาลกินเจ 9 วัน เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 7.7 เมื่อเทียบกับช่วงเทศกาลกินเจในปี 2553 โดยการเพิ่มขึ้นของมูลค่าอาหารเจในปีนี้มาจากการสอบถามบรรดาพ่อ/แม่ค้าอาหารเจว่าคาดว่าจะเพิ่มราคาอาหารเจประมาณ 5-10 บาทต่อจาน ทั้งนี้แล้วแต่ประเภทอาหาร และทำเลที่จำหน่ายอาหารเจ โดยรวมแล้วบรรดาพ่อค้า/แม่ค้าอาหารเจพยายามไม่ปรับราคาอาหารเจมากนัก เนื่องจากต้องการรักษาจำนวนลูกค้าไว้ และการจำหน่ายได้ปริมาณมากขึ้นจะช่วยเฉลี่ยต้นทุนกันได้ระหว่างประเภทของอาหารที่แตกต่างกัน โดยพยายามใช้กลยุทธ์พลิกแพลงวัตถุดิบในการปรุงเพื่อให้ต้นทุนต่ำ แต่ยังรักษาคุณภาพอาหารไว้ได้ ดังนั้น คาดการณ์ว่าราคาอาหารเจนั้นมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเฉลี่ยประมาณร้อยละ 5-7

จากผลการสำรวจมูลค่าตลาดอาหารเจในกรุงเทพฯของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ทำให้เห็นถึงแนวโน้มของตลาดอาหารเจในกรุงเทพฯ โดยมูลค่าตลาดอาหารเจในกรุงเทพฯมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง กล่าวคือ มูลค่าตลาดอาหารเจในกรุงเทพฯสำหรับปี 2554 ประมาณ 2,520 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 7.7 ซึ่งนับว่าเติบโตต่อเนื่องจากในปี 2553 ที่ตลาดอาหารเจมีมูลค่าประมาณ 2,340 ล้านบาท หรือเติบโตร้อยละ 5.4 โดยปัจจัยหนุนสำคัญคือ ราคาสินค้าอาหารที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะข้าวและผลิตภัณฑ์แป้ง ผัก-ผลไม้ และอาหารสำเร็จรูป

ประเด็นที่ต้องจับตามองในปี 2554 คือ ราคาผักที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากปัญหาน้ำท่วมหนักในหลายพื้นที่ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนกรกฎาคมส่งผลทำให้ราคาสินค้าเกษตร กลุ่มพืชผักเริ่มปรับราคาเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากปัญหาเรื่องน้ำท่วมเกษตรกรต้องตัดผักส่งจำหน่ายก่อนอายุที่กำหนดไว้ 45 วัน เพราะเสี่ยงต่อการที่จะได้รับความเสียหาย และยังมีปัญหาในการขนส่ง เพราะทางขาดจากน้ำท่วม ปัจจัยเหล่านี้จะมีส่วนทำให้ราคาผักมีแนวโน้มปรับขึ้นไปอีกเมื่อเข้าสู่ช่วงเทศกาลกินเจ ราคาพืชผักทั่วไปจึงน่าที่จะปรับขึ้นสูงไปจากเดิมเฉลี่ยที่ 20 – 60 บาท/กิโลกรัม (ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับประเภทผัก) ส่งผลให้คาดการณ์ว่าในปี 2554 ราคาผักจะพุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ หลังจากที่ในปี 2553 ในช่วงเทศกาลกินเจราคาผักก็พุ่งสูงขึ้นอย่างมากเช่นกัน

ภาวะราคาผักที่เพิ่มสูงในช่วงเทศกาลกินเจส่งผลให้ราคาอาหารเจสำเร็จรูปประเภทตักขายและอาหารเจตามสั่งมีแนวโน้มแพงขึ้น โดยคาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้นอีกประมาณ 5-10 บาทต่อถุงหรือจานเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ผู้จำหน่ายอาหารเจในปีนี้คงต้องตัดสินใจว่าจะปรับราคาขึ้น โดยคงต้องอธิบายกับลูกค้า หรือจะไม่จำหน่ายอาหารเจในปีนี้ สำหรับผู้ค้าบางส่วนที่พิจารณาแล้วว่าไม่คุ้มทุน เนื่องจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่ราคาจำหน่ายก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ไม่มากนัก ทั้งจากแรงกดดันด้านลูกค้าที่อาจจะลดปริมาณการซื้อหรือหันไปซื้อร้านอื่น และคู่แข่งผลิตภัณฑ์สินค้าอาหารเจกึ่งสำเร็จรูป และอาหารเจสำเร็จรูปแช่เย็นแช่แข็งที่มีการเพิ่มเมนูเจ ซึ่งเป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภค อีกทั้งราคาจำหน่ายไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก และใกล้เคียงกับอาหารเจประเภทตักขายหรือตามสั่ง

บทสรุป
บรรยากาศในการกินเจปี 2554 นี้คาดว่าจะไม่ค่อยคึกคักเช่นเดียวกับในปีที่ผ่านๆมา แม้ว่าจะมีจำนวนคนกรุงเทพฯที่ตั้งใจจะกินเจมากกว่าปีที่แล้ว โดยมีวัตถุประสงค์หลากหลายทั้งเพื่อการทำตามประเพณี เพื่อรักษาสุขภาพ และตั้งใจทำบุญเพื่อชำระล้างกายใจ แต่ด้วยราคาสินค้าทั้งอุปโภคบริโภคยังอยู่ในเกณฑ์สูง ทำให้คนกรุงเทพฯที่ตั้งใจจะกินเจนั้นเน้นเรื่องความประหยัด จับจ่ายด้วยความระมัดระวังเช่นเดียวกับปีที่ผ่านมา รวมทั้งราคาอาหารเจที่คาดว่าจะมีแนวโน้มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ทำให้เม็ดเงินสะพัดในธุรกิจกินเจในกรุงเทพฯปี 2554 นี้เพิ่มขึ้นเป็น 2,520 ล้านบาท ซึ่งเมื่อเทียบกับปีที่แล้วจะเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 7.7

จากการสำรวจของ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด พบว่าค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อวันของคนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างที่ตั้งใจจะกินเจในปีนี้ยังใกล้เคียงกับในปีที่ผ่านมาคือ ค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 100-120 บาทต่อคนต่อวัน เนื่องจากยังคงเน้นประหยัดเนื่องจากสภาพสินค้าอุปโภคบริโภคที่อยู่ในเกณฑ์สูง และบางคนปรับพฤติกรรมรับเศรษฐกิจพอเพียง โดยแนวทางการปรับพฤติกรรมของคนไทยที่ตั้งใจจะรับประทานอาหารเจนั้น จะปรับพฤติกรรมโดยหันไปรับประทานอาหารสำเร็จรูปประเภทแช่เย็นแช่แข็งและกึ่งสำเร็จรูปมากขึ้น ส่วนอาหารเจสำเร็จรูปประเภทตักขาย/อาหารเจตามสั่ง น่าจะมียอดจำหน่ายสูงเฉพาะในมื้อกลางวัน ทั้งนี้ เนื่องจากคาดว่าอาหารเจประเภทตักขาย/อาหารเจตามสั่งในปีนี้ น่าจะมีการปรับราคาจำหน่ายเพิ่มขึ้น 5-10 บาทต่อถุงหรือจาน อันเป็นผลมาจากราคาวัตถุดิบ โดยเฉพาะผักมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างมากเป็นประวัติการณ์

หลากหลายธุรกิจที่ได้รับอานิสงส์จากช่วงเทศกาลกินเจที่ทำให้ยอดจำหน่ายเพิ่มขึ้นในช่วงนี้ นับได้ว่าประเพณีที่เกิดจากความเชื่อถือที่มีการปฏิบัติติดต่อกันมาเป็นเวลานาน ช่วยให้หลากธุรกิจพลิกกลยุทธ์รับประโยชน์ได้อย่างเป็นกอบเป็นกำในช่วงเทศกาลกินเจ 9 วัน อย่างไรก็ตาม การกินเจในปีนี้ยังคงมีปัจจัยหนุนเนื่องหลายประการได้แก่ ในปีนี้มีคนไทยตั้งใจจะกินเจในช่วงเทศกาลกินเจเพิ่มขึ้น เพื่อที่จะได้ขอร่วมกินเจทำบุญล้างกายและล้างใจ และกระแสความเชื่อว่าการกินเจช่วยทำให้สุขภาพอนามัยสมบูรณ์แข็งแรง รวมทั้งการรับประทานอาหารเจในปัจจุบันไม่ได้ยากลำบากเหมือนกับเมื่อก่อน เนื่องจากมีธุรกิจหลายแขนงผลิตสินค้าขึ้นมาสนองความต้องการของคนที่รับประทานอาหารเจ ทำให้ยอดจำหน่ายสินค้าเหล่านี้เพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลกินเจ นอกจากนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่าในปีนี้ผู้บริโภคอาหารเจต่างปรับตัว โดยหันไปรับประทานอาหารเจกึ่งสำเร็จรูป อาหารเจสำเร็จรูปแช่แข็ง เบเกอรี่เจ ซึ่งเป็นทางเลือกใหม่ของอาหารเจมากขึ้น อีกทั้งอาหารเจเหล่านี้ผู้บริโภคยอมรับและหันมานิยมบริโภคมากขึ้นเป็นลำดับอีกด้วย