สินค้าอาหารไทยในตลาดจีน…ปี 2555 มีโอกาสแตะระดับ 2,100 ล้านดอลลาร์ฯหรือเพิ่มขึ้น 14.3

จีนเป็นตลาดส่งออกสินค้าอาหารที่น่าจับตามอง เนื่องจากโอกาสในการขยายตลาดสินค้าอาหารในจีนที่มีขนาดใหญ่ แม้ว่าในปัจจุบันจีนจะเป็นประเทศผู้ส่งออกสินค้าอาหารอันดับ 4 ของโลก รองจากสหภาพยุโรป สหรัฐฯ และแคนาดา แต่มีแนวโน้มว่าจีนมีความต้องการนำเข้าสินค้าอาหารเพิ่มขึ้น เนื่องจากพื้นที่สำหรับทำการเกษตรของจีนมีแนวโน้มลดลง ในขณะที่จำนวนประชากรมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งไทยในฐานะที่เป็นประเทศผู้ส่งออกสินค้าอาหารที่สำคัญของโลก น่าจะมีศักยภาพในการขยายการผลิตสินค้าอาหารเพื่อตอบสนองความต้องการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นของจีน ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาไทยได้เปรียบดุลการค้าสินค้าอาหารกับจีนมาโดยตลอด โดยในปี 2554 ไทยได้ดุลการค้าสินค้าอาหารกับจีนประมาณ 130 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

แม้ว่าในปัจจุบันประเทศไทยจะมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 2.5 ของมูลค่าการนำเข้าสินค้าอาหารทั้งหมดของจีน แต่จีนมีการนำเข้าสินค้าอาหารจากไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อัตราการขยายตัวในการส่งออกสินค้าอาหารของไทยไปยังตลาดจีนมีแนวโน้มอยู่ในเกณฑ์สูงมาตั้งแต่ปี 2552 โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มผลิตภัณฑ์จากพืช(ไม่รวมมันเม็ดและมันเส้น)ที่จีนมีความต้องการนำเข้าเพิ่มขึ้น จากปัญหาสภาพอากาศที่แปรปรวนในจีนทำให้จีนมีปริมาณผลผลิตไม่เพียงพอกับความต้องการ กอปรกับอานิสงส์ของกรอบการค้าเสรีอาเซียนจีนที่ส่งผลให้จีนลดภาษีนำเข้าสินค้าเหลือร้อยละ 0 และรายได้เฉลี่ยของคนจีนเริ่มปรับตัวสูงขึ้นทำให้ความต้องการบริโภคสินค้าอาหารนำเข้าเพิ่มสูงขึ้นด้วย สำหรับในปี 2554 มูลค่าการนำเข้าสินค้าอาหารจากไทยเพิ่มขึ้นเป็น 1837.74 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 33.4 เมื่อเทียบกับปี 2553 และศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่าผู้ส่งออกสินค้าอาหารของไทยยังมีโอกาสในการขยายสินค้าอาหารของจีนอย่างต่อเนื่อง โดยคาดการณ์ว่าในปี 2555 มูลค่าการนำเข้าสินค้าอาหารของจีนจากไทยมีโอกาสเพิ่มขึ้นแตะระดับ 2,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.3

เมื่อพิจารณาแยกประเภทสินค้าอาหารที่จีนนำเข้าจากไทยพบว่าร้อยละ 74.1 เป็นผลิตภัณฑ์จากพืช(ไม่รวมผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เนื่องจากจีนนำเข้าเพื่อผลิตเอทานอลเป็นหลัก) รองลงมาร้อยละ 14.9 เป็นอาหารปรุงแต่ง และร้อยละ 7.4 เป็นผลิตภัณฑ์จากสัตว์ ผลิตภัณฑ์จากพืชที่จีนนำเข้าจากไทยแยกออกได้เป็น ผลไม้ร้อยละ 55.1 รองลงมาได้แก่ผลิตภัณฑ์จากธัญพืชร้อยละ 23.3 และธัญพืชร้อยละ 18.8 ที่เหลืออีกร้อยละ 2.8 เป็นเมล็ดพืชและผลไม้ ผัก กาแฟ ชา และเครื่องเทศ

 

โอกาสในการขยายตลาดสินค้าอาหารในจีน ได้แก่ 

– ผลไม้ ไทยส่งออกผลไม้เมืองร้อนไปยังตลาดจีนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่มีการเปิดการค้าเสรีอาเซียนจีน และสินค้าผลไม้เป็นหนึ่งในสินค้าที่อยู่ในข้อตกลงในการลดภาษีนำเข้าเหลือร้อยละ 0 ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2546 ปัจจุบันรัฐบาลจีนอนุญาตให้นำเข้าสินค้าผลไม้เมืองร้อน 23 ชนิด โดยผลไม้เมืองร้อนจากไทยที่ชาวจีนรู้จักและเป็นที่นิยมบริโภค เช่น ทุเรียน มังคุด ลำไย กล้วยไข่ ชมพู่ทับทิมจันทน์ มะม่วงน้ำดอกไม้ เงาะโรงเรียน ส้มโอ มะขามหวาน มะพร้าวน้ำหอม ส้มเปลือกล่อน น้อยหน่า แก้วมังกร เป็นต้น ส่วนผลไม้แปรรูปจากไทยที่เป็นที่นิยมบริโภค คือ ลำไยอบแห้ง ทุเรียนอบกรอบ กล้วยอบกรอบ สับปะรดอบกรอบ และมะขามแกะเปลือก ตลาดค้าผลไม้ที่สำคัญในจีนได้แก่ มณฑลกวางตุ้ง เซี่ยงไฮ้ เหอเป่ย ซานตง เจ้อเจียง และเหลียวหนิง จะเห็นได้ว่าตลาดหลักของผลไม้และผลไม้แปรรูปจากไทยยังจำกัดอยู่ทางฝั่งตะวันออกของจีน1 ซึ่งเป็นแหล่งที่ประชากรมีรายได้สูง เมื่อจีนดำเนินนโยบายมุ่งสู่ตะวันตก ทำให้ประชากรในแถบมณฑลยูนนาน มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีรายได้และมีกำลังซื้อสินค้าหลากหลายชนิด ทำให้มีโอกาสในการที่จะส่งเสริมให้เกิดการขยายตลาดผลไม้ไทยไปยังจีนตอนใต้ฝั่งตะวันตก โดยใช้เส้นทาง R3E ผ่านทางแม่สายไปยังพม่าและจีนตอนใต้ และ เส้นทาง R3W ข้ามสะพานแม่น้ำโขงที่เชียงรายไปยังลาวและจีนตอนใต้ที่สร้างควบคู่กับเส้นทางเดิมตามลำน้ำโขง อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเส้นทาง R3E และ R3W เป็นเส้นทางที่ผ่านประเทศที่สามทั้งพม่าและลาว มีระบบการเมือง การค้า ธรรมเนียมปฏิบัติและวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน ตลอดจนยังมีกฎระเบียบที่ยังไม่เอื้อในการเคลื่อนย้ายผลไม้จากไทยไปจีน ซึ่งในประเด็นนี้อาจต้องรอการเจรจาโครงการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Subregion : GMS)เพื่อเร่งรัดความร่วมมือระหว่างประเทศ ซึ่งเมื่อต้นปี 2554 ได้มีการประชุมกำหนดแนวทางในการพัฒนาระบบโลจิสติกส์และการอำนวยความสะดวกข้ามพรมแดนเพื่อส่งเสริมการค้าการลงทุนระหว่างกันอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น 

– ผลิตภัณฑ์จากธัญพืช ผลิตภัณฑ์ธัญพืชที่ไทยส่งออกไปยังจีนที่สำคัญคือ แป้งมันสำปะหลัง และแป้งมันสำปะหลังแปรรูป โดยชาวจีนส่วนใหญ่นิยมใช้แป้งมันสำปะหลังสำหรับทำวุ้นเส้น  โดยมีความต้องการมากกว่า 1.5 ล้านตัน/ปี  ในระยะผ่านมาจีนสามารถผลิตแป้งมันสำปะหลังได้เพียง 8 แสนกว่าตัน ทำให้ต้องนำเข้าจากต่างประเทศมากกว่า 8  แสนตัน/ปี  ส่วนใหญ่นำเข้าจากไทยและเวียดนาม  ทั้งนี้ คาดว่าความต้องการจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นับเป็นโอกาสของไทยในการขยายการส่งออกสินค้าแป้งมันสำปะหลังไปยังตลาดจีน เนื่องจากการที่ราคาน้ำตาลในตลาดโลกมีแนวโน้มสูงขึ้น ทำให้รัฐบาลจีนปรับนโยบายหันไปส่งเสริมการปลูกอ้อยเพื่อผลิตน้ำตาล ส่งผลให้เนื้อที่ปลูกมันสำปะหลังของจีนมีแนวโน้มลดลง ทำให้จีนต้องพึ่งพิงการนำเข้าผลิตภัณฑ์สำปะหลังเพิ่มมากขึ้น

ในส่วนของอุตสาหกรรมแป้งแปรรูปของจีนมีการพัฒนาอย่างรวดเร็วในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยส่วนใหญ่จีนใช้แป้งมันสำปะหลังแปรรูปในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น การผลิตกระดาษ  การปั่นทอ  การทำอาหาร  อาหารสัตว์ และวัสดุก่อสร้าง เป็นต้น ปัจจุบันจีนมีการผลิตแป้งแปรรูปปริมาณ 1.35 ล้านตัน แต่ยังไม่สามารถตอบสนองความต้องการของตลาดได้ จีนยังต้องนำเข้าแป้งแปรรูปประเภทต่างๆประมาณ 2 แสนกว่าตัน/ปี  อย่างไรก็ดี แป้งแปรรูปที่ผลิตจากมันสำปะหลังต้นทุนต่ำและคุณภาพดี  เป็นสินค้าที่ยังมีความต้องการในตลาดจีน อย่างไรก็ตาม คู่แข่งสำคัญในการส่งออกแป้งมันสำปะหลังแปรรูปไปยังตลาดจีน คือ เวียดนาม และอินโดนีเซีย

– ธัญพืช ในบรรดาธัญพืชที่ไทยส่งออกไปยังจีน ข้าวเป็นสินค้าที่มีความสำคัญเป็นอันดับหนึ่ง ซึ่งข้าวเป็นอาหารหลักของชาวจีน โดยประมาณร้อยละ 60 ของประชากรจีนบริโภคข้าวเป็นอาหารหลัก ทำให้จีนเป็นตลาดข้าวขนาดใหญ่ที่สุดของโลก ซึ่งไทยและประเทศผู้ส่งออกข้าวอื่นๆ ต่างพยายามหาทางส่งออกข้าวไปยังจีน อย่างไรก็ตาม จีนเองก็สามารถผลิตข้าวได้เริ่มที่จะเพียงพอมากขึ้นกับความต้องการภายในประเทศ ส่งผลให้ความต้องการนำเข้าข้าวค่อยๆ ลดลง ข้าวที่ผลิตได้ในประเทศจีนเองส่วนใหญ่เดิมเป็นข้าวคุณภาพต่ำ แต่ในปัจจุบันรัฐบาลจีนมีการผลักดันให้ชาวนาปลูกข้าวคุณภาพสูงมากขึ้น เนื่องจากจีนมีเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างรวดเร็วทำให้ชาวจีนมีรายได้สูงขึ้น จึงต้องการบริโภคข้าวคุณภาพสูงมากขึ้น โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิของไทยที่ชาวจีนมองว่าเป็นข้าวที่มีคุณภาพสูง อย่างไรก็ตาม การบริโภคข้าวหอมมะลิปัจจุบันก็ยังจำกัดอยู่ในภัตตาคารขนาดใหญ่หรือโรงแรม และกลุ่มคนรายได้สูงเท่านั้น ทำให้โอกาสของไทยในการขยายตลาดข้าวหอมมะลิในจีนยังคงมีอยู่สูงมาก

รสนิยมของคนจีนในการบริโภคข้าวค่อนข้างมีความหลากหลาย โดยถ้าเป็นชาวจีนที่อาศัยอยู่ตอนเหนือของแม่น้ำแยงซีนิยมบริโภคข้าวเมล็ดสั้น ขณะที่ประชาชนซึ่งอยู่ใต้ลุ่มแม่น้ำแยงซีนิยมบริโภคข้าวเมล็ดยาวโดยเฉพาะข้าวหอมมะลิของไทย อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันข้าวเมล็ดสั้นคุณภาพดีได้เข้ามาแข่งขันเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในมณฑลกวางตุ้งที่มีข้าวจากกมณฑลเฮยหลงเจียงเข้ามาเริ่มเบียดแย่งสัดส่วนตลาดของข้าวไทยไปบ้างแล้ว นอกจากนี้ รัฐบาลจีนยังได้ให้การส่งเสริมการพัฒนาพันธุ์ข้าว ซึ่งได้ระบุไว้เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายการพัฒนาภาคการเกษตรโดยรวม และยังมีการส่งเสริมการพัฒนาการวิจัยพันธุ์ข้าว รวมทั้งการพัฒนาการตัดแต่งพันธุกรรม (GMOs) ที่มีส่วนในการส่งเสริมพัฒนาการด้านการเกษตรของประเทศเป็นอย่างมากอีกด้วย ทำให้ผลผลิตข้าวของจีนเพิ่มสูงขึ้นเป็นอย่างมาก

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันผู้บริโภคจีนมีทางเลือกมากขึ้นในการบริโภคข้าว รวมถึงชนชั้นกลางที่มีกำลังซื้อสูงเกิดใหม่มากขึ้น และต้องการสินค้าคุณภาพสูง ดังนั้น ผู้ผลิตข้าวไทยต้องกำหนดมาตรฐานคุณภาพข้าว เพื่อการเข้าถึงและขยายตลาดใหม่ๆ ขณะเดียวกัน ก็เป็นการรักษาตลาดเก่าด้วยเพราะผู้ซื้อจะมีทางเลือกหลากหลายมากขึ้น แต่ต้องการให้ไทยรักษามาตรฐานข้าวให้ได้ตามที่กำหนดไว้ เพื่อผู้บริโภคจะได้เห็นความแตกต่างระหว่างข้าวไทยและข้าวของคู่แข่ง เช่น เวียดนาม หรือ พม่า 

 ผลิตภัณฑ์อาหารอื่นๆ นอกจากผลไม้ ผลิตภัณฑ์ธัญพืช และธัญพืชแล้ว สินค้าอาหารส่งออกของไทยไปยังตลาดจีนที่มีโอกาสขยายตัวในอนาคต คือ อาหารปรุงแต่ง(ปลากระป๋อง น้ำตาล ผลไม้กระป๋อง) และผลิตภัณฑ์กุ้ง(โดยเฉพาะกุ้งแปรรูป) ซึ่งสินค้าเหล่านี้ไทยมีศักยภาพในการผลิต ในขณะที่ความต้องการนำเข้าของจีนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากหลากปัจจัยหนุน คือ จำนวนประชากรของจีนที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ในขณะที่เนื้อที่สำหรับทำการเกษตรของจีนมีแนวโน้มลดลง ส่งผลให้จีนมีแนวโน้มต้องพึ่งพาสินค้าอาหารนำเข้าเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ พฤติกรรมการบริโภคอาหารของชาวจีนเริ่มมีแนวโน้มเปลี่ยนแปลง จากรายได้ที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ส่งผลให้ชาวจีนหันมาบริโภคเนื้อสัตว์เพิ่มขึ้นและบริโภคอาหารสำเร็จรูปหรืออาหารปรุงแต่งเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ สัดส่วนของจำนวนประชากรเมืองเริ่มแซงหน้าจำนวนประชากรในชนบท ซึ่งสำนักสถิติแห่งชาติจีนรายงานในเดือนมกราคม 2555 ว่านับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่จำนวนประชากรเมืองของจีนเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 51.3 เมื่อเทียบกับจำนวนประชากรทั้งหมด และคาดหมายว่าในอีก 20 ปีข้างหน้าประชากรเมืองของจีนจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 75 ซึ่งแนวโน้มเหล่านี้ส่งผลให้จีนมีแนวโน้มจะต้องนำเข้าสินค้าอาหารเพิ่มขึ้น รวมทั้งยังมีโอกาสสำหรับสินค้าอาหารสำเร็จรูปมากขึ้นด้วย

โดยสรุป จีนเป็นตลาดส่งออกสินค้าอาหารที่ผู้ส่งออกไทยต้องจับตามอง แม้ว่าในปัจจุบันมีสินค้าอาหารของจีนเข้ามาในไทยเพิ่มขึ้น แต่ไทยก็ยังได้ดุลการค้าสินค้าอาหารกับจีนมาโดยตลอด และไทยยังมีโอกาสในการขยายตลาดสินค้าอาหารในจีนได้อีกมาก  ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่าในปี 2555 มูลค่าการนำเข้าสินค้าอาหารของจีนจากไทยมีโอกาสเพิ่มขึ้นแตะระดับ 2,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.3 ซึ่งสินค้าอาหารกลุ่มที่ยังเป็นตัวหลักในการขับเคลื่อนการส่งออก ยังคงเป็นผลไม้เมืองร้อน แป้งมันสำปะหลัง และข้าว กล่าวคือ สินค้าประเภทผลไม้เมืองร้อน ยังจะได้อานิสงส์จากการขยายความเจริญไปยังดินแดนแถบตะวันตกของจีนและการพัฒนาเส้นทางการขนส่งสินค้าที่ช่วยเพิ่มโอกาสในการขยายการส่งออกผลไม้ของไทยไปยังตลาดจีน สินค้าประเภทผลิตภัณฑ์ธัญพืช โดยเฉพาะแป้งมันสำปะหลังและแป้งมันสำปะหลังแปรรูป ที่จีนยังผลิตได้ไม่เพียงพอกับความต้องการภายในประเทศ ในขณะที่ไทยมีศักยภาพในการขยายตลาดส่งออก ส่วนสินค้าธัญพืชที่ไทยยังสามารถขยายตลาดส่งออกไปยังจีนได้คือ ข้าว โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิ ซึ่งยังเป็นที่ต้องการของตลาดจีน โดยเฉพาะตลาดระดับภัตตาคารขนาดใหญ่หรือโรงแรม และกลุ่มคนรายได้สูง แต่ต้องเร่งแก้ปัญหาในเรื่องการปลอมปน

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ผู้ส่งออกสินค้าอาหารของไทยต้องคำนึงถึงคือ แนวโน้มการแข่งขันในสินค้าอาหารที่เป็นสินค้าตัวหลักที่ไทยส่งออกไปจีนเริ่มเผชิญการแข่งขันที่รุนแรง จากประเทศในกลุ่มอาเซียน โดยเฉพาะเวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ รวมทั้งเกษตรกรของจีนเองก็มีการพัฒนาทั้งในด้านปริมาณการผลิตและคุณภาพของผลผลิต ดังนั้น หากผู้ส่งออกสินค้าอาหารของไทยต้องการจะรักษาตลาดจีนเอาไว้และเจาะขยายตลาดเพิ่มเติมจะต้องพยายามชี้ให้ผู้บริโภคหรือโรงงานที่ผลิตสินค้าในจีนเห็นข้อแตกต่างระหว่างสินค้าอาหารจากไทยและคู่แข่ง 

สำหรับสินค้าอาหารส่งออกของไทยที่มีศักยภาพในการขยายตลาดในจีนเพื่อตอบสนองความต้องการอาหารของจีนที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากการขยายตัวของประชากร ในขณะที่พื้นที่ทำการเกษตรมีแนวโน้มลดลง รวมทั้งพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากระดับรายได้ที่เพิ่มสูงขึ้นและสัดส่วนประชากรเมืองที่เพิ่มขึ้น  ดังนั้น สินค้าอาหารที่น่าจับตามอง คือ อาหารปรุงแต่ง(ปลากระป๋อง น้ำตาล ผลไม้กระป๋อง) ผลิตภัณฑ์กุ้ง(โดยเฉพาะกุ้งแปรรูป) เครื่องปรุงรสอาหาร และผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปพร้อมรับประทาน ซึ่งไทยมีศักยภาพในการขยายการผลิตเพื่อการส่งออกไปยังตลาดจีน และสินค้าเหล่านี้เป็นสินค้าที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ อย่างไรก็ตาม ผู้ส่งออกสินค้าอาหารที่มีโอกาสประสบความสำเร็จในการเจาะขยายตลาดอาหารในจีน คงต้องมีการเตรียมความพร้อมในการศึกษาวิจัยพฤติกรรมผู้บริโภคในจีนที่แตกต่างกันในแต่ละท้องถิ่น รวมทั้งการสร้างพันธมิตรทางธุรกิจและหาช่องทางในการจัดจำหน่ายเพื่อการกระจายสินค้าอาหารให้ถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้อย่างทั่วถึงด้วย