"ต้อง" ให้ถึง ทำให้สุด

เต๋อ-นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ ผู้เขียนบทไฟแรงจากค่ายจีทีเอช พูดถึงความฮิตของกังนัมสไตล์เอาไว้ว่า “ผมคิดว่ามันเจ๋ง ตรงที่กระแส K-Pop กำลังอยู่ในช่วงขาลง จากที่เคยพุ่งสูงสุดจากพวกเกิร์ล กรุ๊ป, บอยแบนด์ทั้งหลาย แต่กังนัมเอาความปัญญาอ่อนมานำ เอาวัฒนธรรมสายรองมาเป็นจุดขาย ถ้าเป็นหนังก็คงเหมือนกับที่หนังตลกมักไม่ได้ออสการ์ แต่ถ้าเรามองด้านการส่งออกวัฒนธรรม เราไม่เคยคิดเลยว่าวัฒนธรรมแบบนี้มันจะขายได้ ทั้งๆ ที่ความจริง ความตลกมันมีความเป็นสากลนะ แล้วมันก็ทำให้กระแส K-Pop กลับมาได้อีกรอบ ขณะที่ถ้าเป็นคนไทยเราก็จะคิดถึงแต่อะไรที่มันแกรนด์ๆ ยิ่งใหญ่ เต้นเป๊ะๆ สไตล์อเมริกัน”

“เพลงนี้แต่งขึ้นมาจังหวะมัน Catchy มากๆ ฟังแล้วติดหูไว เป็นเพลงแดนซ์ที่เปิดช่องให้เอาไปทำอะไรได้อีกเยอะ เอาไปล้อเลียน เอาไปรีมิกซ์ เอาไปคัฟเวอร์ใหม่ แต่เพลงแบบนี้มาแป๊บเดียว เดี๋ยวก็ไป ไม่น่าจะอยู่ได้นาน”

ส่วนพฤติกรรมคนไทยที่เปิดรับเพลงนี้ได้รวดเร็วแล้วแพร่หลาย ก็มาจากการที่เพลงไทยชอบเพลงแดนซ์ เพลงสนุกอยู่แล้ว เหมือนที่ครั้งหนึ่งเราเคยฮิต “โซ-เด-มา-คอม” หรือ “อา-เซ-เด-เฮ” กันทั่วบ้านทั่วเมือง ทั้งๆ ที่คนไทยฟังไม่รู้เรื่องด้วยซ้ำว่าเพลงร้องว่าอย่างไร แปลว่าอะไร ขอแค่ฟังแล้วฮาก็พอ เพียงแต่ในยุคนั้นยังไม่มีโซเชี่ยลมีเดีย หรือยูทูบเป็นตัวเร่งความแรงของเพลงเหล่านี้

และในฐานะที่ เต๋อ-นวพล เองก็เป็นคนหนึ่งที่ทำงานสร้างสรรค์ความบันเทิง กังนัมสไตล์ ได้กลายเป็นตัวอย่างของการทำงานเช่นกัน “เรื่องกระบวนการตลาดผมไม่รู้ว่าทำยังไง ต้นสังกัดอาจจะวางแผนเรื่องสื่อมาเป็นอย่างดี แต่ถ้าวัดแค่ตัวงาน ผมว่าสิ่งที่เรียนรู้คือชิ้นงานมันจะเป็นอะไรก็ได้ แต่ต้องทำให้มันถึงที่สุด อย่างมิวสิกวิดีโอกังนัม มันเป็นความต๊องที่มาบน Hight Production มากๆ คนเต้นใส่สูท ทีมเต้นก็ปึ๊ก แดนซ์มีระดับ ลุคทั้งหมดมันดูดีเข้ากันไปหมด ไม่อย่างงั้นถ้าโปรดักชั่นห่วย มันจะกลายเต้นรายงานหน้าชั้นเรียนไปเลย ผมเลยรู้สึกว่ามันเป็นการจับคู่ถูก”