7 อุปนิสัยผู้บริโภคไทยที่นักการตลาดต้องรู้

ในโอกาสที่ อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ ฉลองครบรอบ 22 ปี อีเวนต์เอเยนซี่อันดับ 1 ของประเทศไทย ได้จัดงานสัมมนา ICV Turn On 2013 โดยมีหัวข้อที่น่าสนใจจาก สรินพร จิวานันท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็นไวรอเซลล์ ประเทศไทย จำกัด ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาพฤติกรรมผู้บริโค ได้เปิดเผยให้เห็นถึงอุปนิสัยของผู้บริโภคคนไทยที่เกิดขึ้นจริงแล้วในตอนนี้และต่อเนื่องจนถึงปี 2013 เอาไว้ 7 หัวข้อ ดังนี้ 

 

1.Thirst to be in the Stream ขอเกาะกระแสไว้ก่อน 

สรินพร ชี้ให้เห็นว่า ความจริงการทำตัวอยู่ในกระแสหลักของสังคมเป็นนิสัยที่ฝังอยู่ใน DNA ของมนุษย์ทุกยุคทุกสมัยอยู่แล้ว แต่ความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นในยุคนี้ ทำให้ผู้คนสามารถเกาะติดในกระแสได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเติบโตของสมาร์ทโฟน ทำให้คนมีส่วนร่วมในปรากฏการณ์ของสังคมได้ง่ายขึ้น ผ่านการแสดงความคิดเห็น, ดูคลิปวิดีโอที่คนอื่นดูกันเยอะๆ 

 

2.Believe เชื่อ “คนอื่น”

ผู้บริโภคมักเชื่อคนใกล้ตัว ไม่ว่าจะเป็นคนในครอบครัวหรือเพื่อน จากการศึกษาพฤติกรรมของผู้บริโภคทั้งในระดับโลกและในประเทศไทย พบว่า ปัจจุบันก่อนที่ผู้บริโภคจะซื้อสินค้ามักหาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตหรือถามคนใกล้ตัวก่อน โดยแนวโน้มการเชื่อภาพยนตร์โฆษณาลดลงเหลือเพียง 47% เท่านั้น ขณะที่ผู้บริโภคให้ความเชื่อถือการสื่อสารแบบ Word of Mouth มากถึง 97% และมีพฤติกรรมที่ระหว่างดูโทรทัศน์จะต้องท่องอินเทอร์เน็ตไปด้วยถึง 81% ส่วน 72% ออนไลน์ในโซเชี่ยลมีเดีย กับอีก 67% ช้อปปิ้งออนไลน์หรืออย่างน้อยก็ดูข้อมูลสินค้า    

 

3.Share ของดีต้องแบ่งปัน

คอนเทนต์ที่ผู้บริโภคนิยมแชร์ ต้องมีลักษณะ 4 อย่าง 1.ดูแล้วชอบ 2.เมื่อแชร์ให้เพื่อนๆ ในโซเชี่ยลมีเดียเห็นแล้ว ตัวผู้แชร์ดูดีขึ้น 3.คอนเทนต์ที่แชร์มีประโยชน์กับผู้แชร์เองหรือเพื่อน 4.มีประโยชน์กับสังคม

 

4.Instantanous ไม่เคยทนรอ

ผู้บริโภคปัจจุบันอดทนรอคอยอะไรไม่ค่อยได้ จากการวิจัยที่สรินพรเคยทำวิจัยให้กับธนาคารบางแห่ง พบว่าอินไซท์ของผู้บริโภคที่รู้สึกเมื่อต้องต่อคิวทำธุรกรรมทางการเงินจะรู้สึกว่าตัวเองต่อคิวเป็นเวลานานกว่าความจริงเสมอ เช่น ต่อคิวแค่ 2 นาที ก็จะคิดว่าต่อคิวรอไปแล้ว 4 นาที เป็นต้น ด้วยพฤติกรรมนี้ จึงเป็นที่มาของบริการธนาคารที่ใช้ Internet Banking เข้ามาตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคแบบ 24 ชั่วโมง ไม่ต้องรอเวลาธนาคารเปิด-ปิด ไปจนถึงเทคโนโลยี Fingerprint Payment แค่รูดนิ้วผ่านเครื่องสแกนก็เท่ากับตอบตกลงการจ่ายเงินค่าสินค้า โดยบริการนี้เพิ่งเริ่มใช้ในสหรัฐอเมริกาและยุโรปบางส่วน 

 

5.Don’t make me Think คนขี้เกียจคิด

เพราะว่าทุกวันนี้มีข้อมูลหลั่งไหลเข้าหาผู้บริโภคเยอะมาก และมีกิจกรรมหลายๆ อย่างที่ต้องทำ ดังนั้นสินค้าหรือบริการต้องออกมาตอบสนองความขี้เกียจของผู้บริโภคเลย เช่น รถยนต์ที่มีระบบถอยรถให้ หรือมีบริการเก็บข้อมูลการขับให้เพื่อไปคำนวณพฤติกรรมการขับรถให้สอดคล้องกับการใช้น้ำมัน เทคโนโลยีเดียวกันนี้ยังถูกใช้ในอุปกรณ์กีฬาหลายอย่างที่เก็บข้อมูลการออกกำลังกายเพื่อเก็บเป็นสถิติการเผาผลาญพลังงาน หรือวัดรอบวงสวิง แล้วมาวิเคราะห์เพื่อช่วยให้ผู้เล่นออกกำลังกายได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ในส่วนของการสื่อสาร ก็ออกมาในรูปแบบของการถ่ายทอดเรื่องราวเป็นภาพ หรือ Infographic ให้ผู้อ่านเข้าใจง่าย เก็ทเร็วขึ้น

 

6.Sit Down Shopping นั่งหน้าจอก็ช้อปได้  

พฤติกรรมของผู้บริโภคเดี๋ยวนี้ไม่ต้องออกไปช้อปปิ้งนอกบ้านแล้ว แค่นั่งอยู่หน้าจออินเทอร์เน็ตก็ช้อปปิ้งได้ สถิติของผู้บริโภคที่นิยมซื้อของออนไลน์ในสหรัฐอเมริกาและยุโรปเติบโตเพิ่มขึ้น 70% ขณะที่ประเทศที่เป็นตลาดใหม่ เช่น จีน ละตินอเมริกา การช้อปปิ้งออนไลน์ก็เติบโตขึ้น 20% เช่นกัน การวางจำหน่ายสินค้าไม่ได้จำกัดอยู่แค่พื้นที่เดิมๆ อีกต่อไป ในกรณีของเทสโก้ ประเทศเกาหลีใต้ ได้เอาสื่อโฆษณาช้อปปิ้งออนไลน์ไปวางไว้ที่สถานีรถไฟใต้ดิน ทำให้ผู้บริโภคไม่ต้องไปถึงตัวห้างแต่ก็ช้อปปิ้งสินค้าอุปโภค บริโภคได้เช่นกัน เคสนี้ถือเป็นการปรับตัวของธุรกิจรีเทลจากพฤติกรรมใหม่ๆ ของผู้บริโภค 

 

 

7.Deal-Starved ดีลดีๆ ของคนงก

เว็บไซต์ดีลมีมากขึ้นในตลาดอีคอมเมิร์ซมากขึ้นทุกวัน หรือแม้แต่การเดินช้อปปิ้งก็เปิดโอกาสให้ผู้บริโภคเข้าเว็บไซต์หรือสแกนบาร์โค้ดเพื่อเปรียบเทียบราคาสินค้ากับท้องตลาดได้เลย นอกจากเว็บไซต์ที่ขายดีลแล้ว พฤติกรรมนี้ยังทำให้เกิดการตลาดเรียล-ไทม์แบบที่อิงกับสถานที่ หรือที่เรียกว่า Location-Based คือผู้บริโภคเปิดหาร้านอาหารหรือสินค้าบริเวณใกล้เคียง แล้วที่ไหนมีดีลที่ดีกว่าก็เดินเข้าไปใช้บริการของที่นั่นเลย 

สิ่งที่นักการตลาดต้องเรียนรู้จากพฤติกรรมนี้ก็คือ เมื่อสินค้าไม่มีความแตกต่างกันมาก ลูกค้าก็จะวิ่งไปซื้อสินค้าตามดีลที่ดีกว่า ดังนั้นถ้ามั่นใจว่าสินค้าหรือบริการมีความโดดเด่นกว่าคู่แข่งชัดเจน ต้องไฮไลต์ความแตกต่างนั้นออกมาให้ชัด แต่ขณะเดียวกัน สำหรับสินค้าที่หาความแตกต่างไม่ได้ ก็น่าจะเอา Location-Based มาเล่นเพื่อดึงดูดลูกค้าหน้าใหม่ หรือดึงลูกค้าเดิมด้วยโปรโมชั่นไปเลย