ดีแทคจัดหนัก จับมือเฟซบุ้ค ลุยตลาดแชท

ดีแทคเผยแผนจับมือเฟซบุ้คบุกตลาดแชทให้ลูกค้าใช้ฟรี 3 เดือน หวังปลุกปั้น “เฟซบุ๊ค แมสเซนเจอร์” ต่อกร กับ LINE และ Whatapp ตั้งเป้าผู้ใช้เกือบล้าน เป้าหมายอยู่ที่ผู้ใช้เฟซบุ้คบนพีซีและสมาร์ทโฟน ส่วนดีแทคได้ลูกค้าพันธมิตระดับโลกอย่างเฟซบุ้คเพื่อเตรียมพร้อมก้าวเข้าสู่เกมการแข่งขันในตลาด 3 จี

ถือเป็นอีกหนึ่งใน Strategic Move เมื่อ “ดีแทค” เป็น 1 ในพันธมิตรผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ 18 ราย ใน 14 ประเทศทั่วโลกที่ได้ร่วมมือกับเฟซบุ้ค เปิดให้บริการลูกค้ามาใช้บริการ “เฟซบุ๊ค แมสเซ็นเจอร์” ได้ฟรีหรือรับส่วนลดพิเศษในการใช้บริการดังกล่าว

ปกรณ์ พรรณเชษฐ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายการตลาด บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด เปิดเผยถึงที่มาของความร่วมมือกับเฟซบุ้คว่า ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการร่วมมือในฐานะของการเป็นพันธมิตรระหว่างเทเลนอร์ ซึ่งบริษัทแม่ของดีแทคและเฟซบุ้คในการร่วมมือกันออกนำบริการของเฟซบุ้คมาอยู่บนมือถือ

นอกจากนี้ ดีแทคยังมีทราฟฟิกผู้ใช้บริการเฟซบุ้คบนโทรศัพท์มือถือมาเป็นอันดับ 1 โดยคิดเป็นส่วนแบ่งตลาดถึง 40% จึงเป็นโอกาสในการนำ เฟซบุ๊ค แมสเซ็นเจอร์มาให้ลูกค้าดีแทคได้ทดลองใช้

โดยก่อนหน้านี้ ดีแทคได้เคยร่วมมือกับเฟซบุ้คเปิดตัวแอปพลิเคชั่น “เฟซบุ้คสำหรับจาวา” เพื่อให้ลูกค้าดีแทคที่ใช้โทรศัพท์มือถือแบบ “ฟีเจอร์โฟน” ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมากสามารถใช้เฟซบุ้คเป็นแอปพลิเคชั่นได้ฟรีนาน 3 เดือน

หลังจากนั้น ดีแทคและเฟซบุ้คยังได้ร่วมมือกันออกแพคเกจ “เฟซบุ้ค ซุปเปอร์จิ๋ว” ให้ลูกค้าบัตรเติมเงินหรือพรีเพดใช้เฟซบุ้คเฉพาะกิจแบบเป็นรายวัน

สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้ก็เช่นกัน ทั้งเฟซบุ้คและดีแทคจะร่วมมือกันเปิดตัวแอปพลิเคชั่น “เฟซบุ้ค แมสเซนเจอร์” เวอร์ชั่นใหม่ในเดือนเมษายน โดยให้ลูกค้าทดลองใช้ฟรีเป็นเวลา 3 เดือน

“ถ้าเป็นลูกค้าที่ใช้แพคเกจดาต้าอยู่แล้ว เมื่อมาใช้เฟซบุ้ค แมสเซนเจอร์จะได้รับยกเว้นค่าดาต้าในส่วนนี้ ส่วนลูกค้าที่ยังไมได้ใช้ดาต้า จะสามารถใช้เฟซบุ้ค แมสเซนเจอร์ได้ฟรี” ปกรณ์ชี้แจง

“ปัจจุบันเฟซบุ๊ค แมสเซ็นเจอร์” รองรับสมาร์ทโฟนที่ใช้ระบบปฏิบัติการ iOS ของไอโฟน แอนดรอยด์และอาจรวมถึงวินโดว์โฟนของไมโครซอฟท์ด้วย นอกจากนี้ยังใช้ได้หน้าเว็บ m.facebook.com และการใช้บนอุปกรณ์แท็บเล็ทที่ใช้เฟซบุ้คด้วย

ดีแทคพบว่า ประโยชน์ที่ได้รับจากการร่วมมือกับเฟซบุ้คซึ่งเป็นแบรนด์ดังในระดับโลกแล้ว ยังช่วยเพิ่มการใช้งานดาต้าไปยังลูกค้ากลุ่มต่างๆ มากขึ้นด้วยการให้ลูกค้าได้ทดลองใช้บริการ “แชท”

“ข้อดีคือเรามีเครือข่าย 3 จี บนคลื่นความถี่ 850 MHz เปรียบแล้วก็เหมือนกับการที่เรามีถนนอยู่แล้ว เพียงแต่ให้รถมาวิ่งเพิ่มขึ้น โดยที่เราไม่ได้เสียต้นทุนเพิ่ม และเมื่อลูกค้ามีประสบการณ์ในการใช้แล้ว ต่อไปเขาก็จะมาหันใช้บริการดาต้าเพิ่มขึ้นเหมือนกับเมื่อตอนที่เราแอปพลิเคชั่นเฟซบุ้คบนจาวา เวลานั้นมีผู้ใช้ 9 แสนราย หลังจากหมดช่วงทดลองแล้ว พอเราออกแพคเกจเฟซบุ้ค ซุปเปอร์จิ๋ว ลูกค้าก็ตามมาใช้งาน”

อย่างไรก็ตาม ปกรณ์มองว่า การออกแอปพลิเคชั่นครั้งนี้ยังไม่แน่ใจว่าจะแรงเท่ากับครั้งเปิดตัวเฟซบุ้คบนจาวาหรือไม่ เนื่องจากโปรแกรมแชทมีตัวเลือกมากทั้ง LINE, Whatapps แต่อย่างน้อยเขาหวังว่าจะได้ยอดผู้ใช้ไม่น้อยกว่าครั้งที่แล้วมากนัก

สำหรับในแง่กลยุทธทางธุรกิจของดีแทค การร่วมมือกับเฟซบุ้คนับว่าเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ทางธุรกิจของดีแทคในตลาด 3 จี ที่ต้องสร้าง ecosystem ใน 2 โมเดลหลัก คือ

1. การร่วมมือกับพันธมิตรเป็นองค์กรช้ามชาติชื่อดัง เช่น เฟซบุ้กและการเปิดตัวดีเซอร์บริการมิวสิคสตรีมมิ่งจากต่างประเทศ

2. การจัดโครงการที่เป็นร่วมมือระหว่างดีแทคกับนักพัฒนาแอปพลิเคชั่นของไทย ผลักดันให้มีแอปพลิเคชั่นใหม่ๆ มาให้กับผู้ใช้ดีแทค เช่น การเปิดตัวโครงการ DTAC Accelerate ส่งเสริมให้นักพัฒนาแอปพลิเคชั่นของไทยไปก้าวสู่ระดับโลก

สำหรับเฟซบุ้คการร่วมมือกับโอเปอเรเตอร์มือถืออย่างดีแทค เพื่อต้องการใช้ฐานผู้ใช้มือถือขยายบริการ “เฟซบุ้ค แมสเซนเจอร์” ไปยังตลาดสมาร์ทโฟนที่กำลังเติบโตทั่วโลก โดยเฉพาะตลาดแชทที่เวลานี้มีผู้เล่นหลายรายที่ครองตลาด LINE, Whatsapp, Wechat และที่สำคัญ LINE เองก็กำลังขยายเขตแดนมาสู่การเป็นเจ้าของแพลทฟอร์มในโซเชียล เน็ทเวิร์ค ที่เป็นตลาดของเฟซบุ้ค

กลไกการตลาดที่จะทำให้ เฟซบุ้ค แมสเซนเจอร์ ซึ่งเปิดตัวมาได้พักใหญ่เป็นที่นิยมได้ ก็ต้องจูงใจด้วยการให้ทดลองใช้ฟรี ทั้งแอปพลิเคชั่น รวมถึง “ดาต้า” ก็ให้ใช้ฟรี เพื่อจูงใจผู้ใช้สมาร์ทโฟนให้หันมาทดลองใช้ได้ง่ายขึ้น

เมื่อลูกค้าใช้แล้วติดใจ เฟซบุ้คและโอเปอเรเตอร์จะมีแพกเกจที่รองรับการใช้เฟซบุ้ค แมสเซนเจอร์ ตามออกมา

ปกรณ์ บอกว่า กลุ่มเป้าหมายของเฟซบุ้ค แมสเซนเจอร์ คือ

หนึ่ง – ผู้ใช้เฟซบุ้คบนสมาร์ทโฟน ที่ยังไม่ได้ใช้บริการแชทหรือเฟซบุ้ค แมสเซนเจอร์ซึ่งปกรณ์บอกว่ายังมีอยู่เป็นจำนวนมาก

สอง – ผู้ใช้บริการแชทระหว่างสมาร์ทโฟนและคอมพิวเตอร์ ที่เป็นฐานผู้ใช้หลักของเฟซบุ้ค มักจะเม้นท์ โพสท์รูป ด้วยการใช้งานผ่านสมาร์ทโฟนและคอมพิวเตอร์จากที่ทำงานหรือบ้าน และที่สำคัญเป็น “ช่องว่าง” ที่คู่แข่งอย่าง LINE หรือ Whatapps พยายามทำ แต่ยังเข้าไม่ถึง เพราะส่วนใหญ่จะใช้แชทไลน์ระหว่างสมาร์ทโฟนด้วยกันเป็นหลัก

ทั้งดีแทคและเฟซบุ้คก็หวังว่า ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนในครั้งนี้ จะเป็นตัวแปรให้กับดีแทคและเฟซบุ้คก้าวไปสู่เป้าหมายใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิม