ผ่าโมเดลธุรกิจ “ติ๊กเก้อ” คำคมท้ายสิบล้อ สุดฮิต เตรียมเปิดพื้นที่ให้แบรนด์ทำ “ติ๊กเก้อ”

นอกจากจะใช้ชื่อแอป “ติ๊กเก้อ” ล้อเลียนสติ๊กเกอร์ของ LINE แล้ว วันนี้ POSITIONING จะพาไปตามติดโมเดลธุรกิจของแอปฯ สุดฮิต “ติ๊กเก้อ” ที่สร้างความฮือฮาในสังคมออนไลน์ ได้แนวคิดมาจาก “คำคมหลังรถบรรทุก” จนมีผู้ดาวน์โหลด 2.3 ล้านครั้งไม่ถึงสัปดาห์ กำลังเตรียมต่อยอดรายได้ให้กับแบรนด์ ทำ “ติ๊กเก้อ” คำคมใกล้เคียงโมเดลของ LINE

“อยากอกหักแต่อุปสรรคอยู่ที่หน้า…ส่องความสวยหลบใน…จีบเค้าหน่อย อ่อยไม่เป็น เป็นส่วนหนึ่งในคำคมมันๆ หลังรถบรรทุกของ “ติ๊กเก้อ” แอปพลิเคชั่นที่ออกมาสร้างความฮือฮาในสังคมออนไลน์ หรือโซเชี่ยลเน็ตเวิร์ค วันนี้จะมาดูโมเดลการต่อยอดรายได้

ล่าสุด (23 เมษายน) ติ๊กเก้อมียอดดาวน์โหลด 2.3 ล้านครั้ง แบ่งเป็น iOs 1.3 ล้าน และ Android 1 ล้าน หลังจากเปิดตัวไปเมื่อวันที่ 17 เมษายน จนมียอดดาวน์โหลดไปแล้ว 2.3 ล้านครั้ง เฉพาะคืนเดียวมียอดดาวน์โหลด 3 แสนดาวน์โหลด

นับว่าเป็นแอปพลิเคชั่นสัญชาติไทยที่แจ้งเกิดได้ในระยะเวลารวดเร็วมากที่สุด ในช่วงเวลาที่โลกดิจิตอลคืบคลานเข้ามาสู่การใช้ชีวิตประจำวันของคนไทย และหลังจากความฮิตระเบิดโซเชี่ยลมีเดียในอาทิตย์ที่ผ่านมา ทั้งเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม เต็มไปด้วยถ้อยคำสไตล์ท้ายรถสิบล้อของแอปฯ “ติ๊กเก้อ” และตอนนี้ก็ถึงเวลาที่แอปฯ จะต้องสร้างรายได้แล้ว

“ติ๊กเก้อ” ฮิตเพราะไทยสุดๆ

แม้ว่ากระแส “ติ๊กเก้อ” ในตอนนี้จะลดระดับลงในหน้าเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม แต่การใช้ฟอนต์และลักษณะคำพูดสไตล์ท้ายรถสิบล้อหรือว่างานวัดก็กลายเป็นกระแสในโซเชี่ยลมีเดียอยู่ในระยะนี้ มีการนำเอาสำนวนมาใช้ในการโปรโมตสินค้า หรือเป็นภาพล้อเลียนในเกมกีฬา ไปจนถึงเอามาแซวนักการเมือง ปลุกให้ความเสี่ยวแบบไทยออกมาเต็มหน้าเฟซบุ๊ก

นับเป็นปรากฏการณ์ที่ทำให้ความเป็นไทยโลดแล่นอยู่บนภาพที่แพร่กระจายในโซเชี่ยลมีเดีย ทางด้าน ยุคลอาจ ชาญพานิชกิจการ CIO ของ Absolute Play และหัวหน้าทีมพัฒนาแอปพลิเคชั่น “ติ๊กเก้อ” บอกถึงกระแสที่เกิดขึ้นกับ POSITIONING ว่า “เป็นเรื่องเหนือความคาดหมาย ตอนแรกคิดว่ายอดดาวน์โหลดเดือนละ 2-3 แสนก็โอเคแล้ว แต่พอมันฮิตแล้วมีดารา มีคนดังเข้ามาใช้ มันก็กลายเป็นกระแสที่ทุกคนต้องเล่น เราเองก็ไม่ได้อยากให้มันเป็นกระแส เพราะถ้ามันมากไปเดี๋ยวคนจะเบื่อ แต่กระแสก็มีมากๆ ช่วงวันที่ 18-19 เท่านั้น ตอนนั้น ติ๊กเก้อ เต็ม Wall เต็ม Timeline ไปหมด โหดมาก คนเห็นแล้วก็จะเอียน พอมาถึงตอนนี้ก็คงที่แล้ว ซึ่งตรงกับความต้องการของเรา คือ คนเล่นเรื่อยๆ แต่ไม่ใช่มากจนเกินไป เราหวังว่าจะเป็นแอปฯ ที่คนใช้งานจริง และคงไม่มีใครเอาคำพูดสไตล์นี้มาใส่รูปได้ทุกวัน วันละหลายๆ รูปหรอก ขอแค่ใช้งานแอปฯ เราอาทิตย์ละครั้ง หรืออาทิตย์หนึ่งใช้สัก 3 ครั้งก็พอแล้ว”

“เสี่ยว” สไตล์ไทยนี่แหละที่แตกต่าง

ต้นกำเนิดของแอปฯ “ติ๊กเก้อ” เกิดจากการอยากทำแอปพิลเคชั่นถ่ายภาพเพราะทีมงานรู้พฤติกรรมดีว่าคนไทยชอบถ่ายรูป ไอเดียหลักจริงๆ ยังไม่ถูกทำออกมา เพราะแอปฯ ที่ทีมงานอยากทำจริงๆ ต้องใช้เวลาพัฒนาอีกนานและยากกว่า ขณะที่ทีมงาน Absolute Play ทั้ง 4 คน ก็มีงานประจำที่พัฒนาโซลูชั่นให้กับบริษัทแม่ Play Work เป็นงานหลักอยู่แล้ว การสร้างแอปฯ จึงเป็นเรื่องรองลงมา ไอเดียนั่นจึงถูกพักไว้ก่อน แล้วหันมาพัฒนาแอปฯ แต่งภาพที่ง่ายๆ กว่าแทน

“ผมคิดต่างจากสิ่งที่ถูกสอนมา คือ ทุกคนทำแล้วต้องบุกตลาด Global แต่เรากลับทำตลาด Local และทำสิ่งที่เป็น Pure Thailand Only เลย คาแร็กเตอร์ตรงกับความสนุกสนานของคนไทย ตอนทำก็คิดกันว่างั้นเอาคำท้ายรถสิบล้อนั่นแหละ แล้วพอธีมกับคอนเซ็ปต์มันได้ก็ใช้เวลาทำกราฟิกเดือนครึ่ง เพราะเรื่องระบบมันไม่ยาก ที่นานเพราะต้องรับกราฟิกใหม่มาทำ พอได้คนที่ทัศนคติตรงกันก็ใช้เวลาไม่นาน การรวบรวมคำก็นั่งคิดกันเอง ดูคำพูดที่ฮิตๆ แต่บางคำมันแรงไปก็ดร็อปลงมาหน่อย บางทีคนใกล้ตัวก็ส่งมาให้บ้าง พอทำเสร็จเราก็ลองเล่นกันเองก่อน ตอนนั้นก็คิดว่ามันน่าจะโดนคนไทย เพราะมันสนุก”

ส่วนเรื่องของการออกแบบ ยุคลอาจ ได้บรีฟให้ดีไซเนอร์ ออกแบบตามคอนเซ็ปต์ สีสันฉูดฉาด รุนแรง ตัวฟอนต์มีกลิ่นอายความเป็นไทย และดีไซเนอร์เองก็เพิ่มตัวการ์ตูนที่อยู่ในข้อความเพิ่มเข้ามา ทำให้ข้อความสนุกสนานมากขึ้น แล้วแบ่งข้อความออกเป็นหมวดหมูที่คิดว่ากิจกรรมส่วนใหญ่ของคนไทยจะได้เจอะเจอกับสถานการณ์ที่ได้ใช้คำเหล่านั้นออกเป็น 4-5 กลุ่ม

ฮิตแล้วต้องต่อยอด

หลังจากได้ยอดดาวน์โหลดถล่มทลาย ตอนนี้ทีมงานเร่งปรับปรุง และเพิ่มเติมไอเดียเข้าไปในแอปฯ รองรับการใช้งานอย่างเต็มที่ ยังมีประเด็นอีกหลายเรื่องที่ได้รับฟีดแบ็กมาแล้วต้องนำมาปรับปรุง หรือบางอย่างก็เป็นเรื่องของการต่อยอดขยายฐานผู้ใช้งาน ทั้งเรื่องของระบบและงานดีไซน์

ในส่วนของระบบปฏิบัติการตัวแอปฯ ยังใช้ไม่ได้กับโทรศัพท์มือถือแอนดรอยด์บางรุ่น โดยเฉพาะรุ่นเล็ก และมีเสียงสะท้อนออกมาว่าอยากลองเล่นติ๊กเก้อเข้ามามาก รวมทั้งแท็บเล็ตแอนดรอยด์ก็ยังมีปัญหาอยู่บ้าง นี่ก็เป็นเรื่องของระบบที่ทีมงานต้องแก้ไขและทำให้แอปฯ เข้าถึงกลุ่มผู้ใช้งานในระดับล่างที่มีจำนวนมาก

ด้านลูกเล่นอื่นๆ ก็จะมีข้อความให้เลือกมากขึ้น ตัวการ์ตูนที่จากเดิมฝังเข้าไปในข้อความเลยก็จะถูกแยกออกมา เพื่อทำให้ผู้ใช้มีอิสระที่จะเอาตัวการ์ตูนไปวางตรงไหนของภาพก็ได้ และคอนเซ็ปต์งานดีไซน์ที่เอื้อต่อการขยายฐานลูกค้า ที่ตอนนี้มีผู้ใช้งานตั้งแต่อายุ 13-34 ปี แต่กลุ่มที่ใช้มากๆ ก็เป็นวัยรุ่น 18-24 ปี ส่วนคนที่อายุมากกว่านั้นก็อาจมีข้อติติงว่าข้อความอ่านยากไปหน่อย การออกแบบต่อจากนี้ก็ยังลดความหวือหวาลงเล็กน้อย และการเรียงตัวอักษรก็จะจัดให้อ่านง่ายขึ้นอีกนิด

หลังจากนั้นก็เป็นเรื่องของแนวคิดต่อตัวแอปฯ ที่ต่อไปก็จะพัฒนาไปสู่ข้อความที่เซ็กเมนต์เอาภาษาถิ่นแต่ละภาคของไทยมาเล่น เพื่อทำให้ผู้ใช้งานในต่างจังหวัด “อิน” กับแอปฯ มากขึ้น รวมทั้งฟีเจอร์บางอย่างที่หลายคนเรียกร้อง คือการพิมพ์ข้อความตามความต้องการของผู้ใช้งานเอง ซึ่งเรื่องนี้ทีมงานบอกว่า ด้านการเขียนโปรแกรมไม่ใช่เรื่องยากเลย แต่ที่ยังตัดสินใจไม่ใส่ฟีเจอร์นี้เข้ามา ก็เพราะเกรงว่าผู้ใช้งานจะเอาแอปฯ ไปใช้ในทางที่ไม่เหมาะสม เช่น ใช้ในประเด็นการเมือง หรือใช้คำหยาบคายเกินไป แล้วจะทำให้แอปฯ เสียภาพลักษณ์ ก็เลยชั่งใจไม่ส่งฟีเจอร์นี้ออกใช้งานจริง

หารายได้จากแบรนด์

ส่วนโมเดลการหารายได้ Absolute Play มีแนวคิดว่าจะทำให้ผู้ใช้งานเล่นแอปฯ ได้สนุกที่สุด ดังนั้นการหารายได้ของแอปฯ จะไม่ยุ่งเกี่ยวกับตัวผู้ใช้งาน แต่ใช้โมเดลการหารายได้จากแบรนด์สินค้าที่สนใจคอนเซ็ปต์ของแอปพลิเคชั่น

“ไม่เอาแบนเนอร์เข้ามาเด็ดขาด เพราะจะทำให้เกิดประสบการณ์ที่ไม่ดีเวลาใช้งาน แต่สิ่งที่อยากทำ คงเป็นการเล่นกับ Corporate มากกว่า เอาสโลแกนบริษัท สินค้าเข้ามาเป็นข้อความในแอปฯ ผู้ใช้งานก็เอามาแต่งภาพได้ด้วย ตอนนี้มีเอเยนซี่ติดต่อเข้ามาเยอะมาก ถ้าลูกค้าโดยตรงยังไม่มี ตอนนี้ก็อยู่ในระหว่างการพูดคุยกัน ก็คงต้องดูคาแร็กเตอร์ให้ตรงกัน คงเน้นพวกแบรนด์ไทย เสี่ยวหน่อยๆ ก็จะดี ส่วนคำพูดนี่ ยิ่งเสี่ยวยิ่งดี”

ไอเดียการหารายได้เกิดขึ้นตั้งแต่คิดแอปพลิเคชั่น แต่ด้วยความไม่ตั้งใจ ข้อความ “เป้าหมายมีไว้พุ่งชน” เป็นหนึ่งในข้อความที่มีตั้งแต่แรกของแอปฯ เพราะตรงกับคอนเซ็ปต์ ก็ทำให้นักการตลาดเห็นศักยภาพว่าข้อความของสินค้าก็เข้าไปอยู่ในแอปฯ แต่งภาพได้เช่นกัน จะว่าไปแล้วโมเดลการหารายได้ของ “ติ๊กเก้อ” จะคล้ายกับกรณีของ LINE แชตแอปพลิเคชั่นที่สามารถสร้างรายได้จากการขายสติ๊กเกอร์ และจากการให้แบรนด์มาเป็นสปอนเซอร์ออกสติ๊กเกอร์ ซึ่งกรณีของติ๊กเก้อก็เช่นกัน เมื่อแอปฯ เป็นที่นิยม ก็เปิดให้แบรนด์สินค้าและบริการที่จะนำเอาสโลแกนของบริษัท หรือสินค้ามาทำ “ติ๊กเก้อ เพื่อสร้างการรับรู้ให้กับผู้ใช้ในสื่อสังคมออนไลน์ได้เช่นกัน

Key to Success
• การจับตลาดไทย ซึ่งไม่มีแอปพลิเคชั่นแต่งภาพไหนหยิบเอาเล่นชัดเจนขนาดนี้ และเป็นจุดแข็งที่แอปฯ ต่างชาติก็ทำไม่ได้
• ใช้งานง่ายไม่ซับซ้อน เชื่อมโยงภาพไปเฟซบุ๊กและอินสตาแกรม 2 โซเชี่ยลมีเดียที่มีผู้ใช้งานมากที่สุดในประเทศไทย
• หยิบเอาอินไซท์ความขำ สนุกสนาน เฮฮา ที่คนไทยคุ้นเคยมานานมาใช้
• ดารา คนดัง ก็ใช้แอปพลิเคชั่นนี้ ทำให้ผู้ใช้งานแห่กันใช้ตามคนดัง

Absolute Play คือใคร
Absolute Play มีทีมงานทั้งหมด 4 คน ประกอบด้วย ยุคลอาจ ชาญพานิชกิจการ (อ๋อง) CIO, นวพันธ์ อร่ามพิบูลกิจ (คิง) Developer Manager, ฐิติกร จักษุรักษ์ (โน) iPhone Developer และ นันธิกา อินทรประสาท (นิ) Graphics Designer ความจริงแล้วทีมงานทั้งหมดของ Absolute Play มีหน้าที่ทำงานซัพพอร์ตบริษัทแม่ที่ชื่อว่า Play Work บริษัทที่ทำหน้าที่พัฒนา Broadband TV ให้กับ MCOT ด้วยเหตุนี้เองการรับจ้างทำแอปพลิเคชั่นจึงไม่ใช่เป้าหมายหลักของทีมงาน

ส่วนประสบการณ์การทำงานก่อนหน้านี้ของ อ๋อง-ยุคลอาจ เขาเข้าสู่แวดวงไอทีด้วยการเป็นส่วนหนึ่งของโครงการกองทนุนวัตกรรม (e-venture club) ต่อมาก็ร่วมงานกับเว็บไซต์ Shinee และต่อมาก็ร่วมงานกับ Samart (สามารถ) เป็นผู้พัฒนา iLink ในไอโมบาย ก่อนจะเปลี่ยนมาทำงานกับ Spint แล้วเพิ่งย้ายมาทำที่ Absolute Play ได้ประมาณครึ่งปี