ปีนี้โออิชิต้องหมื่นห้าพันล้าน

หลังจากปี 2554 ที่เกิดน้ำท่วมช่วงปลายปี ทำให้โรงงานและสาขาของโออิชิต้องปิดตัวไปหลายเดือน จนส่งผลมาถึงโอกาสผลิตและขายในปี 2555 อีกทั้งการลงทุนใหม่ๆ ทั้งครัวกลางกับธุรกิจสาหร่าย จึงส่งผลทำให้รายได้ของโออิชิไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่คาดการณ์ไว้กล่าวคือ เพิ่มขึ้น 22% และกำไรสุดธิลดลงอยู่ที่ 654 ล้านบาท มาปี 2556 โออิชิตั้งเป้าหมายการเติบโตไว้ที่ 32% หรือมียอดขาย 15,300 ล้านบาท โดยกลยุทธ์การเติบโตของโออิชิแบ่งออกเป็น 2 สายธุรกิจ

สายงานธุรกิจเครื่องดื่ม ปีนี้ตั้งเป้าเติบโต 33% รายได้ประมาณ 8,415 ล้านบาท โดยกลยุทธ์ของโออิชิเน้น 4 เรื่องหลัก 1.วางจำหน่ายโออิชิ กรีนที ขนาด 380 มิลลิลิตร ราคา 15 บาท เพราะว่าคู่แข่งเองก็ใช้ราคา 15 บาท 2.โออิชิขวดแก้วราคา 12 บาท ซึ่งทั้ง 2 แพ็กเกจจิ้ง ไซส์ที่โออิชิจะเน้นในปีนี้ก็เพื่อเข้ามาสอดแทรกตลาด ที่เดิมโออิชิจะมีแค่ขวด PET ราคา 20 บาท กับกล่องแบบ UHT ราคา 10 บาท ซึ่งเกิดช่องว่างทางราคาห่างเกินไป และคู่แข่งรายสำคัญอย่างอิชิตัน ก็หันมาใช้ราคา 15 บาทสำหรับขวดพื้นฐานแล้ว กลยุทธ์ที่ 3 คือการ Cross Function ออกนวัตกกรรมชาเขียวผสมน้ำผลไม้ เพื่อจักลุ่มเป้าหมายอายุ 12-15 ปี เอาชาเขียวมาใส่วิตามิน รี-โพสิชั่น เพิ่มคุณค่าให้สินค้ากลายเป็นชาเขียวที่ผสมน้ำผลไม้ไม่ใช่แค่ Flavor ของผลไม้ ปิดท้ายด้วยกลยุทธ์ที่ 4 การบุกตลาดต่างประเทศ สำหรับประเทศเพื่อนบ้าน โออิชิได้เข้าไปทำตลาดด้วยตัวเอง และใช้วิธีการชิงโชคแบบ Instant Win เปิดฝาลุ้นรับเงินไปเลย ซึ่งในตลาดลาวและกัมพูชายังอนุญาตให้ทำได้ ส่วนที่รัสเซียก็เน้นการเข้าช่องทางจัดจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าหลักแล้วใช้สื่อ ณ จุดขายเป็นตัวอธิบายสินค้า

แมทธิว กิจโอธาน กรรมการผู้จัดการ บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) พูดถึงการบุกตลาดต่างปะรเทศว่า “กลยุทธ์การไปต่างประเทศของโออิชิก็คงต้องอาศัยพันธมิตรในเครือไทยเบฟฯ ที่มีในต่างประเทศ วิธีการที่เราไปเราจะเข้า Main Stream ไม่เข้าพวกไชน่าทาวน์หรือคอมมูนิตี้ของคนญี่ปุ่น เพราะถ้าเราทำแบบนั้นคนก็จะติดแล้วในที่สุดก็จะเข้าไม่ถึง Main Stream แต่การไปแบบนี้ก็ต้องมีคู่แข่งระดับโลก ซึ่งบริษัทเครื่องดื่มใหญ่ๆ ของโลกเขาก็มีชาเขียวในพอร์ตสินค้าเขาอยู่แล้ว” ส่วนการแข่งขันในตลาดไทย แมทธิวมองว่าที่โออิชิยังเป็นแบรนด์ที่มีความแข็งแกร่งของตราสินค้าสูงกว่า และเมื่อคู่แข่งบอกว่าได้มาร์เก็ตแชร์มากขึ้นจากโปรโมชั่น โออิชิก็พร้อมที่จะทำเพื่อรักษามาร์เก็ตแชร์ไว้เช่นกัน

สำหรับความท้าทายของโออิชิ อนิรุทธ์ มหธร รองกรรมการผู้จัดการ สายงานธุรกิจเครื่อง กล่าวว่า “ตอนนี้เราเด่นในเรื่องการขายแบบ Impulse แต่ที่ยังต้องเพิ่มคือการซื้อกลับบ้านแล้วก็ซื้อในร้านอาหาร รวมทั้งไซส์ 15 บาท เพื่ออุดช่องโหว่ของเรา ผมมองว่าในที่สุดตลาดชาเขียวก็จะเหมือนตลาดน้ำอัดลมที่มีแพ็กเกจจิ้งหลายๆ แบบ หลายๆ ไซส์ให้คนได้เลือก” โดยปีนี้โออิชิจะเน้นที่ชาเขียวเป็นหลัก ส่วนอะมิโน พลัส หรือว่าคอฟฟิโอ อาจมีรสชาติหรือกิจกรรมการตลาดในช่วงปลายปีนี้หรือปีหน้าไปเลย

ส่วนสายงานธุรกิจอาหาร โออิชิตั้งเป้าเติบโต 30% หรือทำยอดขาย 6,926 ล้านบาท จากการเพิ่มสาขาอีก 50 แห่ง เน้นแบรนด์ชาบูชิ, นิกุยะ และคาคาชิ ที่เป็นร้านอาหารจานด่วน ระดับราคาแข่งขันได้ จากเดิมที่ตอนนี้มี 200 กว่าสาขา รวมทั้งขยายฐานยอดขาย Chill Food และตลาดขนมขบเคี้ยว ผ่านสินค้ารสชาติใหม่ๆ