คงจะไม่มีกระแสใดที่ตอนนี้มาแรงเท่ากับการชิงโชคที่กระหน่ำเปิดฝาและส่ง SMS แจกทอง หรือแจกทองกันเป็นแบบวินาทีต่อวินาที
กิจกรรมการให้ส่วนลด แลก แจก แถม เราเห็นตั้งแต่สมัยโบราณ อาจเป็นพื้นฐานของการตลาดที่จูงใจผู้บริโภคได้ดีที่สุด
“การใช้กลยุทธ์แบบแจกกันทุกนาที และเป็นกิจกรรมกระหน่ำ ซึ่งเราจะเห็นในยุคที่ทองคำเป็นสิ่งที่มีคุณค่า ดังนั้นกิจกรรมแบบนี้จึงเป็น Tool ที่ใช้ได้ผลของ Promotion Mix”
กิจกรรมชิงโชคของโออิชิและอิชิตัน คงจะเป็นกิจกรรมชิงโชคแบบสู้กันแบบ “กลยุทธ์ตามกันไป Strategic Follower ” จะรอว่าใครจะออกกลยุทธ์ก่อน และประกอบกับธรรมชาติของคนไทยที่จะชอบการเสี่ยงโชคแบบง่ายๆ โดยไม่ต้องพยายามมาก จึงทำให้กิจกรรมทางการตลาดแบบนี้ยังคงได้รับความนิยม กลยุทธ์ของชาเขียวเริ่มเป็นที่ฮือฮาตั้งแต่เปิดฝาพบโชคกับโออิชิ พบฝาพบโชคกับโออิชิ ซึ่งต้องบอกได้เลยว่าเป็นกลยุทธ์ที่เชือดเฉือนกันรุนแรง
การใช้กลยุทธ์มุ่งตรงแบบนี้ ในเชิงการตลาดอาจเรียกว่า “Frontal Attack” โดยใช้การเข้าตีแบบ ตีจุดแข็งคู่แข่ง เมื่อกลยุทธ์ที่คุณตันเคยวางเกมให้กับโออิชิ โดยใช้กลยุทธ์ 1 ฝา 1 ล้าน ได้ผล มาถึงทีที่คุณตันจะออกอิชิตันบ้าง กลยุทธ์แบบนี้จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่คุณตันจะนำกลับมาใช้บ้าง เพียงแต่ต่างวาระเท่านั้น
อาจจะเป็นเรื่องศักดิ์ศรีที่เคยมีระหว่างโออิชิกับคุณตันมากกว่า จึงเกิดเกมทางการตลาดที่แบบไม่มีใครยอมใคร
การใช้กลยุทธ์แบบ Frontal Attack คือตีตรงกับคู่แข่งเลย โดยใช้จุดแข็งเข้ามาห้ำหั่นกัน ซึ่งผลสุดท้ายเกมแบบนี้ ผู้ที่ได้รับประโยชน์ก็คือผู้บริโภค และแน่นอนคงต้องมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจจะสูญเสียไปได้
เกมแบบนี้หรือที่เรียกว่า Zero-Sum Game โดยต่างฝ่ายต่างไม่ยอมซึ่งกันและกัน ซึ่งเกมแบบนี้ต่างฝ่ายต่างใช้กลยุทธ์ห้ำหั่น โดยถือว่าเมื่อฝ่ายหนึ่งได้ อีกฝ่ายจะเสียประโยชน์
หากเราจะดูลักษณะกิจกรรมลด แลก แจก แถม แบบไม่มีใครยอมใครแบบนี้แล้ว อาจจะเปลี่ยน Lifestyle คนไทยที่ต้องซื้อของทุกอย่าง ซื้อเพราะ Option ที่มีหรือซื้อเพราะมีกิจกรรมมากกว่าเหตุผลในการบริโภค
การตลาด บางครั้งจะเป็นตัวขับเคลื่อนหรือปรับพฤติกรรมผู้บริโภคพอสมควร ดังนั้นกลยุทธ์ที่ใช้กันแบบไม่มีใครยอมใครคงจะเข้าทางคนไทยที่ชอบลุ้น
เมื่อการแข่งขันที่มีแต่ใช้วิธีลด แลก แจก แถม จนเป็นความเคยชินไปแล้ว ไม่นานคงจะถึงจุดที่การแถมเป็นเรื่องธรรมดาซึ่งไม่มีอะไรที่แตกต่าง และอาจถึงจุดอิ่มตัว เพราะสิ่งที่ให้นั้นเป็นกิจกรรมมุกเดิมๆ จนผู้บริโภคเห็นเป็นเรื่องปกติ
ดังนั้นในการแข่งขันในอนาคต หากคู่กัดระหว่าง โออิชิ กับ อิชิตัน เล่นเกมแข่งขันแบบนี้ไปเรื่อยๆ อาจมีกิจกรรมอะไรแปลกที่จะดึงความอยากของผู้บริโภคได้เรื่อยๆ
คงจะไม่มีอะไรที่ทำกิจกรรมทางการตลาดได้มากมายเท่าการแข่งขันในธุรกิจชาเขียวในปัจจุบัน ทั้งกลยุทธ์ที่ทำกันแบบไม่ยอมเสียหน้าเลย คงจะกลับเข้ามาสู่ยุคที่เป็นลักษณะ Red Ocean อีกครั้ง ในสงครามธุรกิจชาเขียว ซึ่งใช้กลยุทธ์แบบลด แลกแจก แถม และมุ่งเน้นเอาชนะเหนือคู่แข่ง
ซึ่งมองดูแล้วการแข่งขันทางธุรกิจที่เราพบเห็นในปัจจุบันล้วนแต่ถูกจัดเป็น Red Ocean ทั้งสิ้น เนื่องจากธุรกิจหรืออุตสาหกรรมแต่ละรายที่มุ่งเน้นในการเอาชนะคู่แข่งอื่นๆ เพื่อแย่งลูกค้ามาให้ได้มากที่สุด และให้ได้กำไรมากที่สุด แนวทางที่สำคัญยิ่งคือการเอาชนะคู่แข่งให้ได้ หรือเหนือกว่าคู่แข่ง Competitive Advantage
สำคัญคือจะต้องมองดูว่าคู่แข่งเราทำอะไรบ้าง สินค้าหรือบริการของคู่แข่งมีอะไร และเมื่อคู่แข่งออกสินค้าหรือบริการอะไรใหม่ออกมา ก็จะออกมาบ้างเพื่อไม่ให้น้อยหน้าคู่แข่ง วงจรแบบนี้จะเกิดขึ้นเรื่อยๆ และในที่สุดสินค้าและบริการในอุตสาหกรรมก็จะมีลักษณะที่เหมือนๆ กัน หรือทำตามกัน หรือที่เราเรียกว่า “Me too Product” ไม่เกิดความแตกต่าง รอแต่คู่แข่งออกกลยุทธ์ สินค้า บริการ อะไรก็จะทำตามแบบ “Imitator” นักลอกเลียนแบบไปเลย
และเมื่อไม่เกิดความแตกต่างหรือ “Un-Differentiation” ก็นำไปสู่การแข่งขันด้านราคา หรือ “Price-Discount Strategy” และสิ่งที่ตามมาก็คือ “Cheaper-goods Strategy”
“ที่หนักคืออาจจะเข้าไปถึงขนาดที่เรียกว่า “การแข่งขันแบบสงครามกองโจร” หรือ “Guerrilla Strategy” ที่ต่อสู้กันแบบตัดราคา, ปล่อยข่าวลือ, แย่งเอเย่นต์, แย่งผู้บริหารและหนักที่สุด คือ ผิดจรรยาบรรณธุรกิจ สู้กันแบบเลือดออกซิบๆ จนเป็นทะเลแดง “Red Ocean”
แต่ไม่ใช่เป็นแบบนี้ในทุกธุรกิจ เพราะยังมีหลายธุรกิจเน้นการตอบสนองความต้องการลูกค้า ต่อองค์กร ต่อตนเอง หรือ Blue Ocean เช่นกัน บางองค์กรหรือบางอุตสาหกรรมก็อาจไม่มุ่งเน้นการแข่งขันแล้ว เพราะ Brand ติดหู ติดตา และติดใจไปแล้ว หรือ Top of Mind Brand คือเป็น Brand ที่เข้มแข็งพอจนสามารถคืนกลับให้สังคม หรือ CSR (Corporate Social Responsibility) ซึ่งเป็นกระแสฮิตในการรับผิดชอบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม แต่สิ่งที่สำคัญต้องไม่แฝงในเรื่องการหากำไรมากไป
คงจะได้มีเรื่องราวกลยุทธ์ในการแข่งขันทางธุรกิจ มาได้เรียนรู้อีกในฉบับหน้า ครับ…