สร้างเสียงกรี๊ดดังสนั่นไปทั่วห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน มาจากสาวๆ เฝ้ารอวงดนตรีสุดโปรด “เกิร์ลเจเนอเรชั่น” วงเกิร์ลกรุ๊ปดังจากเกาหลี บินมารับเป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ให้กับทรูมูฟในการเปิดตัวสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต ภายใต้แบรนด์ “True Beyond” เฮาสแบรนด์ที่ทรูต้องการใช้กระตุ้นตลาด 3จี 4จี และยังเป็นจุดเริ่มของการสร้าง “รีจัลนัลแบรนด์” ลงทุนต่างประเทศ รับกับกระแส AEC เช่นเดียวกับค่าย “ดีแทค” เตรียมเข็นสมาร์ทโฟนเฮาส์แบรนด์ออกสู่ตลาด กระตุ้นตลาด 3 จีให้คึกคักกว่านี้ ดีเดย์ 5 มิถุนายนนี้
หลังจากบรรดาโอเปอเรเตอร์มือถือของไทยเปิดให้บริการมือถือ 3 จี คลื่นความถี่ 2.1 MHZต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา โดยโอเปอเรเตอร์ทั้ง 3 รายพยายามวางจุดยืนแตกต่างกัน
เอไอเอสใช้คำว่า “3 จีใหม่” เป็นจุดขาย ส่วนดีแทคใช้ “TriNet 3 โครงข่ายอัจฉริยะ” สะท้อนถึงการใช้ประโยชน์จาก 3 คลื่นความถี่ให้เป็นโครงข่ายเดียว
ส่วนทรูมูฟ เลือกฉีกไปที่เปิดตัว 4 จี LTE ให้ดู “ล้ำ” กว่าคู่แข่ง เพราะเดิมพันของทรูรอบนี้สูงมาก ต้องการก้าวขึ้นสู่การเป็นเบอร์ 1 ในตลาด 3 จีให้ได้ เพราะในตลาด 2 จีแล้ว ไม่ว่าทรูจะออกแรงแค่ไหน ก็เป็นได้แค่เบอร์ 3 ในตลาด แต่ในตลาด 3 จี ทรูมองว่าโอกาสมีสูง เพราะทรูได้เริ่มต้นก่อนคู่แข่ง จากการที่ทรูมูฟได้ซื้อกิจการมือถือระบบ CDMA ซึ่งเป็นกึ่งๆ 3 จี เน้นการใช้งานดาต้า ต่อจากฮัทช์ ทำให้ทรูกวาดลูกค้าที่ต้องการใช้ 3 จีได้ก่อนคู่แข่ง
แม้จะพยายามสร้างจุดขายกันแค่ไหนก็ตาม แต่ทั้งทรู ดีแทค และเอไอเอส ก็มีโจทย์ไม่ต่างกัน คือ การผลักดันให้ลูกค้าใช้ 2 จีเดิมให้หันมาใช้ 3 จี เพราะถึงแม้ว่าเครือข่ายพร้อมในระดับหนึ่งแล้วก็ตาม แต่ไม่ได้หมายความว่าลูกค้าจะเปลี่ยนมาใช้ 3 จีทันที โดยเฉพาะลูกค้าระดับกลางและล่างที่เป็นกลุ่มเป้าหมายใหม่ที่ผู้ให้บริการมือถือทั้ง 3 ค่ายต้องการ
“สมาร์ทโฟนที่มีอยู่ในเวลานี้มีไม่เกิน 4-5 ล้านเครื่อง ซึ่งเป็นกลุ่มที่ชื่นชอบตามเทรนด์เทคโนโลยีใหม่ๆ กลุ่มพวกนี้มีประมาณ 20% ยังมีกลุ่มรองลงมาที่ต้องการใช้สมาร์ทโฟนคุณภาพดี ราคาไม่แพงมาก กลุ่มพวกนี้มีค่อนข้างเยอะ และเป็นกลุ่มเป้าหมายที่โอเปอเรเตอร์ต้องการ” แหล่งข่าวในวงการมือถือบอก
การจะผลักดันให้ลูกค้ากลุ่มนี้ยอมเปลี่ยนใจมาใช้ 3 จี นอกจากแพ็กเกจค่าบริการ ราคาเครื่องสมาร์ทโฟนก็ต้องโดนใจ อยู่ในระดับคุณภาพดีราคาไม่แพง
แต่เครื่องสมาร์ทโฟนแบรนด์ดังที่ขายกันอยู่ หากเป็นรุ่นไฮเอนด์ราคาสูง ส่วนรุ่นราคาต่ำลงมาประสิทธิภาพใช้งานไม่เต็มที่ และส่วนใหญ่เป็นโกบอลแบรนด์ การจะให้ปรับเงื่อนไขเพื่อมาโฟกัสเฉพาะตลาดไทยย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย
ในแง่ของผู้ให้บริการทั้ง 3 ราย ต้องการให้ 3 จีบูมกว่านี้ ก็ต้องลงมาทำตลาดเครื่องลูกข่ายของตัวเอง ซึ่งการจ้างผลิตทำได้ง่ายๆ โรงงานในจีนมีให้เลือกมากมาย ซึ่งมือถือแบรนด์ดังทั้งระดับโลกและแบรนด์ไทยก็จ้างผลิตจากจีนกันอยู่แล้ว
ทรู บียอนด์ ตั้งใจให้เป็นรีจัลนัลแบรนด์
สำหรับค่ายทรูนั้น นอกจากจะแข่งขันในตลาด 3 จีแล้ว ทรูยังฉีกตัวเองไปทำตลาด 4 G LTE เพื่อทำให้ภาพดูเหนือกว่าคู่แข่ง แต่ทรูต้องเจอข้อจำกัดเรื่องเครื่องลูกข่ายที่รองรับระบบ 4 จี มีวางขายไม่กี่ยี่ห้อ และส่วนใหญ่เป็นรุ่นไฮเอนด์ซึ่งมีราคาสูง เช่น โซนี่ รุ่นเอ็กซ์พีเรีย โนเกีย ลูเมีย 920 และ 820 ใช้ได้แค่ 2 รุ่น ส่วนไอโฟน5 ต้องรออัพเกรดซอฟต์แวร์ กว่าจะใช้ได้ก็เดือนหน้า
ทรู ต้องเร่งเปิดตัวเครื่องลูกข่าย ภายใต้แบรนด์ “True Beyond” แบ่งเป็นสมาร์ทโฟน 2 รุ่น รองรับระบบ 3 จี และ4 จี และเครื่องแท็บเล็ต จะเน้นพกพาง่าย ขนาดใกล้เคียงกับเครื่องคินเดิล เพราะทรูวางแผนตั้งระบบทรูคลาวน์ นำตำราเรียนบรรจุเป็นเนื้อหาให้ลูกค้าแท็บเล็ตที่เป็นนักเรียน นักศึกษามาใช้งาน
ทรูวางจุดขายของเครื่องไว้ที่ “สเปกคุณภาพ ราคาไม่แพง” และเมื่อนำมาเทียบกับเครื่องในสเปกเดียวกันราคาเครื่องของทรู บียอนด์จะถูกกว่า 2 เท่า เช่นรุ่น 4 จี ขายในราคา 9,900 บาท ส่วนรุ่น 3 จี ราคา 6,590 บาท และแท็บเล็ตขายในราคา 4,990 บาท
ศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัททรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บอกว่า นี่คือจุดเปลี่ยนสำคัญของทรูมูฟ กับการก้าวเข้าสู่ธุรกิจค้าอุปกรณ์คอนซูเมอร์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งทำให้แบรนด์ของทรูมูฟใกล้ชิดผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น
“เรามั่นใจกับสเปกของเครื่องสมาร์ทโฟน จะทำให้ผู้ใช้ได้ของดี ราคาเป็นธรรม ที่ทุกคนเข้าถึงได้ โดยได้พัฒนาแอปพลิเคชั่น ที่มีวงเกิร์ลเจเนอเรชั่นเป็นคอนเทนต์สำคัญ ทำให้ผู้ใช้สามารถเอ็นจอยกับเครือข่าย 3จี และ4 จี ของเรา และยังเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์การคอนเวอร์เจนซ์ของทรู ที่ให้ลูกค้าใช้บริการของทรูแบบเบ็ดเสร็จ”
ทรูก็รู้ดีว่าโจทย์ใหญ่อยู่ที่คนไทยค่อนข้างติดกับเครื่องแบรนด์เนม นอกจากราคาถูกกว่าเครื่องมีแบรนด์ในสเปกเดียวกัน 2 เท่าแล้ว ต้องทำให้แบรนด์ทรู บียอนด์เป็นที่ยอมรับ และนี่คือสาเหตุที่ทรูยอมทุ่มลงทุนจ้างวงดนตรีอย่าง “เกิร์ลเจเนอเรชั่น” ที่ทรูต้องควักงบการตลาดเฉพาะแคมเปญนี้ 30 ล้านบาท ยังไม่รวมค่าตัววงเกิร์ลเจเนอเรชั่น ที่คาดว่าทรูต้องควักไม่น้อยกว่า 30 ล้านบาท
ที่ยอมทุ่มขนาดนี้ เพราะนอกจากทรูจะใช้วงเกิร์ลเจเนอเรชั่นในหนังโฆษณาเปิดตัวทรู บียอนด์เพื่อดึงดูดความสนใจแล้ว วงนี้ถือเป็นวงดังระดับที่มีแฟนคลับชาวไทย สาวๆ และหนุ่มๆ เป็นจำนวนมาก พวกเธอยังทำหน้าที่แบรนด์แอมบาสเดอร์ให้กับแอปพลิเคชั่นที่ทรูพัฒนาขึ้น เพื่อให้ลูกค้าทรู บียอนด์ได้เล่นแอปฯ ฉบับเต็มๆ
ศุภชัย บอกว่า การยอมทุ่มเลือกวงดนตรีระดับนี้ และการใช้ชื่อแบรนด์ว่า “ทรู บียอนด์” เพื่อสร้างแบรนด์ทรูก้าวไปสู่การเป็น “รีจัลนัลแบรนด์” เป็นหนึ่งยุทธศาสตร์ของทรูที่ต้องการขยายการลงทุนไปต่างประเทศ เริ่มจากประเทศสมาชิก AEC ซึ่งได้เริ่มต้นจากธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ภายใต้ชื่อไอทรู มาร์ท (i True mart) เว็บขายสินค้าที่ตลาดต่างประเทศ
“เราจะนำธุรกิจโทรศัพท์มือถือ ทรูมูฟ และเคเบิลทีวี ทรูวิชั่นส์ เป็นหัวหอกในการขยายเข้าไปลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งเวลานี้แบรนด์ทรูมูฟ ทรูวิชั่นส์ ก็เป็นที่รู้จัก โดยเราจะเริ่มประเทศสมาชิก AEC เช่น พม่า กัมพูชา ลาว อย่างในพม่าก็อยู่ระหว่างประมูลใบอนุญาตมือถือ
ส่วนจุดขาย โจทย์ในระยะอันใกล้นี้ คือ ต้องทำให้ผู้บริโภคมีความมั่นใจ ทั้งอุปกรณ์ และบริการหลังการขาย โดยให้ผู้ใช้สามารถใช้บริการที่ศูนย์บริการทั่วประเทศ
“เราเชื่อว่าแบรนด์ของเราเป็นที่รู้จักสำหรับผู้บริโภคในระดับหนึ่งแล้ว และน่าจะเป็นทางเลือกอีกทางในการทำให้ผู้บริโภคได้เข้าถึงในราคาที่เหมาะสม และคุ้มค่ามากขึ้นด้วย” ศุภชัย บอกอย่างมั่นใจ
ดีแทคใช้ขยายฐานแมส
ส่วนทางด้าน “ดีแทค” มองไม่ต่างกัน ปกรณ์ พรรณเชษฐ์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายการตลาด บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค บอกว่า ดีแทคมีแผนเปิดตัวสมาร์ทโฟนภายใต้แบรนด์ตัวเอง ในวันที่ 5 มิถุนายนนี้ ซึ่งสาเหตุที่ต้องลงมาทำตลาดเครื่องสมาร์ทโฟนเอง ก็เพื่อต้องการขยายฐานผู้ใช้บริการ 3 จีให้กว้างขึ้น
“อุปสรรคอย่างหนึ่งที่ทำให้ตลาด 3 จียังไม่แพร่หลายมากนักคือ เครื่องสมาร์ทโฟน ถ้าเป็นเครื่องสเปกดีๆ ราคาจะสูง แต่ถ้าราคาถูกลงมาจะเป็นเครื่องไม่มียี่ห้อ สเปกก็ไม่ค่อยดี ผู้ใช้ก็เลยไม่มีทางเลือกมากนัก ตลาดจึงไม่โตเท่าที่ควร
เครื่องสมาร์ทโฟนที่ดีแทคทำตลาดจะมีทั้งหมด 2 รุ่น โดยวางขายในราคาประมาณ 5,000 บาท เพื่อรองรับกับตลาดนี้ ที่ต้องการเครื่องคุณภาพดีแต่ราคาไม่แพง ซึ่งปกรณ์มองว่า ยังมีความต้องการไม่น้อยกว่า 20-30%
“โอเปอเรเตอร์ในต่างประเทศเวลาเขาขยายสู่ 3 จี ช่วงแรกๆ ก็ต้องทำแบรนด์ของตัวเอง อย่าง โวดาโฟน ก็ต้องสร้างแบรนด์สมาร์ทโฟนของตัวเอง เพื่อทำให้ลูกค้ามีทางเลือกมากขึ้น ตลาดจึงขยายตัว”
นอกจากนี้ การที่ดีแทคหรือโอเปอเรเตอร์ออกมาทำตลาดเอง ยังผลักดันให้ผู้ผลิตที่มีแบรนด์ทั้งหลายหันมาเพิ่มเครื่องสเปกดีๆ ในราคาถูกลงมากขึ้นด้วย และเมื่อผู้ผลิตมีแบรนด์ลงมาเล่นอย่างจริงจังจะทำให้ตลาด 3 จี ขยายตัวได้มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่
เช่นเดียวกับ เอไอเอส ก็มีแผนจะทำตลาดสมาร์ทโฟน โดยอยู่ระหว่างการเจรจากับโรงงานในจีน คาดว่าเอไอเอสคงจะเปิดตัวเครื่องสมาร์ทโฟนในอีกไม่นาน
แหล่งข่าวในวงการมือถือประเมินว่า การลงมาทำตลาดลูกข่ายของโอเปอเรเตอร์จะส่งผลให้การแข่งขันเครื่องลูกข่ายรุนแรงยิ่งขึ้น โดยเฉพาะตลาดแบรนด์ไทย ที่จะได้รับผลกระทบจากการลงมาทำตลาดของผู้ให้บริการมือถือครั้งนี้ ขณะเดียวกันจะกระตุ้นให้เครื่องมีแบรนด์นำเครื่องรุ่นใหม่ๆ เข้ามาทำตลาดมากขึ้น