สร้างห้องเรียน Interactive แชร์ไอเดียระหว่างผู้เรียน-ผู้สอนได้ทันใจ

ขณะที่ เครื่องมืออิเลกโทรนิกส์ต่างๆ กำลังกระตุ้นให้การเรียนไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะแค่ในห้องเรียนอีกต่อไป การถาม-ตอบ พูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นกันในโลกโซเชียลก็ยิ่งตอบสนองความต้องการของผู้คนที่ชอบแชร์ไอเดีย ถ้างั้น คลาสเรียนในยุคดิจิตอลก็ยิ่งต้องถูกออกแบบให้ถูกใจนักศึกษาที่เน้นรวดเร็ว สนุก เพลิดเพลิน และเห็นผลทันที

บรรยากาศในห้องเรียน Interactive หรือการสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างอาจารย์ และนักศึกษาของมหาวิทยาลัยรังสิต มีเครื่องมืออิเลกโทรนิกส์ E-Board ที่อาจารย์สามารถโยนคำถาม กระตุ้นให้นักเรียนคิด และโต้ตอบกลับมาผ่าน Tablet เป็นการ Discuss ที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นในการเรียนที่ทั้งนักเรียนและอาจารย์มีส่วนร่วมในการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน

ที่สำคัญคือในภาคเรียนการศึกษา 2556 ที่เพิ่งเริ่มเปิดเรียนไปนั้น เป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่นักศึกษาปี 1 ทั้งหมด 7,500 คนมี Samsung Galaxy note 10.1 พกติดตัวเข้าเรียนในวิชาบังคับ หรือวิชาธรรมาธิปไตย ที่ถูกแบ่งออกเป็น 2 ห้อง กลายเป็นคลาสเรียนที่ใหญ่ที่สุดที่เคยเกิดขึ้น แต่สามารถดึงดูดความสนใจของนักศึกษาได้ครอบคลุมทั่วทั้งห้องเรียน และเริ่มต้นนโยบายการเรียนวิชานี้เป็นรูปแบบ Paperless ทั้งหมด

“เรื่องนี้เหมาะกับเด็กไทยมาก เพราะยังขี้อายที่จะตอบคำถามในชั้นเรียน แต่เมื่อมี Galaxy note 10.1 ครูสามารถประเมินผลความเข้าใจได้ทันทีว่า มีนักเรียนที่เข้าใจการสอนกี่เปอร์เซ็น เพื่อที่จะได้ปรับแผนการสอนในคลาสได้ทันที” มลฑล มังกรกาญจน์ ผู้อำนวยการกลุ่มธุรกิจลูกค้าองค์กร บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด กล่าว

โดยเบื้องหลังมีการใช้เทคโนโลยีของ Samsung การเรียนในห้องเรียนจึงสนุกอย่างเป็นขั้นเป็นตอน เริ่มตั้งแต่

• “แอพมาครับ” จากการเช็คชื่อนักศึกษาในอดีตที่หากมีทั้งหมด 80 คนในห้องเรียน การให้นักศึกษายกมือขานชื่อทีละคนก็กินเวลาเข้าไป 15 นาทีได้ แต่วันนี้นักศึกษาพกแทบเล็ตเดินเข้ามาในห้องเรียน ก็จะมี Wifi ที่สามารถจับสัญญาณจาก Account ในเครื่อง และพอนักศึกษาเขย่าเครื่องเพื่อยืนยันการเข้าห้องเรียน การเช็คชื่อของนักศึกษาทั้งหมด จะทำได้ภายในเวลา 30 วินาที

• ในขณะที่ อาจารย์ใช้สไลด์ Power point ประกอบการสอนในคลาสเรียน ข้อมูลประกอบการสอนจะถูกถ่ายโอนเข้ามาในเครื่องแทบเล็ตของนักศึกษาได้ทันที ขณะเดียวกัน ข้อดีของ Samsung Galaxy note 10.1 ยังสามารถเขียนโน๊ตลงบนจอได้เปรียบเสมือนเขียนลงบนแผ่นกระดาษ

• การโหวตในห้องเรียนที่ นักศึกษาสามารถเลือกคำตอบ A, B, C, D ได้ผ่านแทบเล็ต เพิ่มบรรยากาศแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในห้องเรียนได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นโดยดูจากคำตอบว่า สอดคล้องกับความคิดเห็นของคนส่วนใหญ่อย่างไร

• และเมื่อใกล้จบคลาสเรียน อาจารย์จะตั้งโจทย์เพื่อวัดผลความเข้าใจบทเรียนของนักศึกษาในแต่ละครั้งได้ทันที และแน่นอนว่า อาจารย์เองก็ได้รับฟี้ดแบกการสอนจากนักศึกษาว่า มีความเข้าใจเป็นอย่างไร เพื่อพัฒนาการสอนให้เหมาะสม และเกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะเชื่อมโยงสู่การทำวิจัยในชั้นเรียน

• การส่งงานผ่านทางระบบ Samsung Smart Classroom ในรูปแบบไฟล์ดิจิตอลที่ไม่จำเป็นต้องพิมพ์แล้วปริ้นส่ง โดยเฉพาะคณะที่เกี่ยวกับการออกแบบอย่าง คณะสถาปัตยกรรม ที่เริ่มต้นโครงการไปแล้ว ปัจจุบัน นักศึกษาออกแบบงานเป็นไฟล์ดิจิตอลและส่งตรวจโดยใช้เวลารับ-ส่งที่สั้นลง

• การสืบค้นหนังสือในห้องสมุด ในรูปแบบหนังสือและวารสารอิเลกโทรนิกส์ที่เพิ่มสัดส่วนอิเลกโทรนิกส์เป็น 80-90% จากเดิมที่หนังสือ Hard copy ทั้งหมด สร้างความง่าย และน่าสนใจในการเรียกหาข้อมูลที่ต้องการได้ดียิ่งขึ้น

“จากอดีตที่ครูสอนแล้วนักเรียนจดตาม ปัจจุบันครูสามารถแทรกความรู้ผ่านคลิปวิดีโอเพื่อเพิ่มความง่ายต่อการทำความเข้าใจ หรือการแชร์ผลงานให้เพื่อนทั้งห้องได้เห็นทั่วถึง” ผศ. ดร. นเรฏฐ์ พันธราธร รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยรังสิต ยังเสริมถึงการเปิดเทอมในช่วงต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาว่า นักศึกษามีความกระตือรือร้นมากยิ่งขึ้น และยังสนุกกับการเข้าเรียน

และยืนยันว่าในอีก 4 ปีต่อจากนี้ นักศึกษาทุกคนจะไม่ต้องพกหนังสือ เพราะคอนเทนท์บทเรียนจะสร้างในรูปแบบ E-learning สามารถทำการเรียนทุกอย่างเบ็ดเสร็จอยู่ในแทบเล็ต เพื่อก้าวไปสู่เป้าหมายการเป็น E-university อย่างสมบูรณ์แบบ

จุดเด่นห้องเรียน Smart classroom

• One-on-one Learning คือการเรียนการสอนที่เจาะลึกเข้าไปเป็นรายบุคคล หรือการเรียนแบบ Customization การพัฒนาตามความต้องการเฉพาะของนักศึกษาแต่ละคนในชั้นเรียน สามารถโต้ตอบ สอบถามความเห็นระหว่างผู้เรียน-ผู้สอนในชั้นเรียนได้จริง

• Immediate Feedback วัดผลความเข้าใจในแต่ละคลาสได้ทันที ไม่ว่านักศึกษาหลังห้อง หรือหน้าห้องทุกคนสามารถตอบคำถามอาจารย์ได้ทั่วถึงกันทั้งห้อง และยังแชร์ไอเดียได้รวดเร็วน่าทึ่ง

• Fun Learning Environment ความสนุกในการเรียนที่ไม่ได้ถูกจำกัดเฉพาะแค่ในห้องเรียน แต่แปลงเป็นการเรียนรู้ตลอดเวลา ทั้งในห้อง Common room ใต้ตึกเรียนผ่าน E-learning บนแทบเล็ต หรือการวางแผนให้มี Project base ครีเอตคริปวิดีโอเพื่อแชร์ไอเดียระหว่างนักศึกษาเมื่อจบภาคการศึกษา