สูตรสร้างรายได้ ซีรีส์ “ฮอร์โมน”

ซีรีส์ มาแรงขนาดนี้ โมเดลการหารายได้ค่าโฆษณาของ “ฮอร์โมน” ซีรีส์ที่กำลังดังกระฉูดในขณะนี้ แม้ว่าล่าสุดจะมีกรณีที่มีภาพของนักแสดงสาว “ปัน ปัน” ที่มีภาพหลุดเสพย์ยาไอซ์ จนกลายเป็นข่าวใหญ่ แต่ในอีกด้านหนึ่งก็ยิ่งทำให้ความดังของซีรีส์ฮอร์โมนพุ่งแรง

ที่น่าสนใจ ฮอร์โมน จะหารายได้จากใช้ Multi Chanel ออกอากาศ สื่อทีวีดาวเทียม และสื่อออนไลน์ Youtube สร้าง “สูตรหารายได้”ช่องทางเหล่านี้ได้มากน้อยแค่ไหน “ยูทูบ” สร้างโมเดล “โฆษณา”ใหม่ได้จริงหรือ ?

สุรพล พีรพงศ์พิพัฒน์ ผู้อำนวยการฝ่ายขายและการตลาดช่องจีเอ็มเอ็ม วัน บอกกับ Positioning ว่า ถึงแม้ว่าจะเป็นซีรีส์ดัง ที่ได้รับความสนใจจากเจ้าของแบรนด์สินค้าและเอเยนซี่โฆษณา จนเวลาโฆษณาเต็มตลอดทุกช่องทาง ทั้งบนช่อง “จีเอ็มเอ็ม วัน” ที่ออกอากาศบนทีวีดาวเทียม รวมถึงบนสื่อสังคมออนไลน์ Youtube แล้วก็ตาม แต่เมื่อเทียบกับต้นทุนค่าผลิต ที่ต้องจ่ายให้กับทางจีทีเอชเฉลี่ยตอนละกว่า 1 ล้านบาท ออกอากาศทั้งหมด 13 ตอน และเมื่อนำรวมค่าใช้จ่ายอื่นๆอีก จีเอ็มเอ็ม วัน ต้องควักงบลงทุนรวม 20 ล้านบาท

โดยรายได้จากโฆษณา ก็ยังไม่คุ้มกับต้นทุนที่ต้องจ่ายไป รายได้โฆษณาของฮอร์โมนจะมาจาก 3 ช่องทาง คือ ช่องทางแรก คือ รายได้โฆษณาในช่อง “จีเอ็มเอ็ม วัน” รับชมทีวี ใช้เวลาออกอากาศประมาณ 1 ชั่วโมง เนื้อหา 45 นาที ช่วงเวลาโฆษณา 10 นาที ในซีรีส์นี้จะคิดค่าโฆษณาอัตราเฉลี่ย 3,000 – 4,000 บาทต่อนาที เท่ากับว่าจะมีรายได้โฆษณาเฉลี่ยต่อตอน 40,000 บาท “การออกอากาศในช่องดาวเทียม เราจะเบรกเป็นช่วงๆ โฆษณา เฉลี่ยแต่ละเบรค จะรองรับโฆษณาได้ 2 ตัว แต่ละตอนจะรองรับโฆษณาสินค้าได้ 20 ตัว ยิ่งโฆษณาเยอะ เราก็ต้องคำนึงถึงเนื้อหาเป็นหลัก การเข้าเบรกจะต้องไม่ทำให้เนื้อหาสะดุด”

ส่วนการตัดเข้าโฆษณา ย้งอธิบายว่า ในช่วงหลังโฆษณาเพิ่มมากขึ้น การตัดต่อทำได้ยาก แต่เขาจะยึดเนื้อหาเป็นหลัก ไม่ให้โฆษณาไปรบกวนอารมณ์คนดู ช่องทางที่สอง รายได้ “สปอนเซอร์” หรือ การไทร์อิน สินค้าลงในเรือง โดยซีรีส์นี้ ซึ่ง มีมอเตอร์ไซค์ “ฮอนด้า” เพียงยี่ห้อเดียว สุรพล บอกแค่ว่า ได้รายได้ “หลายแสนบาท แต่บอกตัวเลขเป๊ะๆไม่ได้”

ซึ่งฮอนด้านั้นเคยเป็นสปอนเซอร์ใหกับภาพยนตร์ “ปิดเทอมใหญ่ หัวใจว้าวุ่น” ที่ผลงานการกำกับของ “ย้ง-ทรงยศ สุขมากอนันต์ ที่เคยฝากผลงานในหนัง ปิดเทอมใหญ่หัวใจว้าวุ่น และท็อป ซีเคร็ต วัยรุ่นพันล้าน เนื่องจากผลงานของจีทีเอชก็โดนใจวัยรุ่น ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายเดียวกับมอเตอร์ไซค์ฮอนด้า

เมื่อมาถึงซีรีส์นี้ไม่ต้องพรีเซนต์มากฮอนด้าตอบตกลงทันที ส่วนสินค้าอื่นๆ ขอเวลาดูผลงานของซีรีส์แรกไปก่อน เรื่องนี้ ย้ง บอกว่า จีทีเอช ไม่ปฏิเสธการไทน์อินสินค้า และที่ผ่านมา “จีทีเอช” มีประสบการณ์กับการ “ไทน์อิน”สินค้า โดยสินค้าควรต้องเข้ามาในช่วงที่กำลังคิดบท หรือทำเนื้อหา เพื่อจะกลมกลืนไปกับเนื้อหา คนดูไม่รู้สึกสะดุด

ที่ผ่านมามีสินค้าหลายตัวที่ต้องปฏิเสธไป หากไม่เข้ากับบท จนลูกค้าก็บ่นว่าหยิง แต่ถ้าเข้าได้จะไม่ปฏิเสธ ไอโฟนไม่ใช่สปอนเซอร์ ส่วนที่ผ่านมา ต้องเจอคำถามว่า ทำไมตัวละคร ต้องใช้ “ไอโฟน” ย้ง อธิบายว่า ไอโฟน ไม่ได้มาเป็นสปอนเซอร์ให้กับซีรีส์เรื่องนี้ เพราะไอโฟนเองไม่มีนโยบายโฆษณาในไทย แต่เนื่องจากตามเนื้อเรื่องต้องมีฉากที่ตัวละครต้องใช้ “โซเชียล มีเดีย”เพราะเป็นส่วนหนึ่งของวัยรุ่นยุคนี้ เมื่อไม่มี โทรศัพท์มือถือค่ายไหนมาเป็นสปอนเซอร์ “ไอโฟน” จึงเป็นทางออกที่ทีมงานดูแล้วว่าเป็นกลางที่สุด

ช่องทางที่สาม รายได้จากโฆษณา ถ่ายทอดสดบน “ยูทิวบ์” จะคิดในอัตรานาทีละ 70,000 บาท แต่ละตอนจะโฆษณาได้ 4-5 เบรค เบรคละ 30 วินาที (ในแต่ละโฆษณาสินค้าได้ 2 ตัวๆ ละ 15 วินาที) เท่ากับว่า แต่ละตอนจะโฆษณาสินค้าได้ 8 ตัว รวมแล้วต่อตอนจะมีรายได้จากโฆษณา 200,000 บาท

แม้ว่า รายได้จากโฆษณาในยูทิวบ์จะสูงกว่ารายได้โฆษณาในทีวีดาวเทียมหลายเท่า เนื่องจากคนดูทีวีดาวเทียมยังจำกัดกว่าบนยูทิวบ์มาก ซึ่งซีรีส์ฮอร์โมนแต่ละตอนจะมีคนดูเฉลี่ยถึง 4 ล้านคน แต่สุรพล มองว่า โฆษณาบนยูทิวบ์ยังมีข้อจำกัดโฆษณา เนื่องจากพฤติกรรมคนคนดูบนออนไลน์ พร้อมจะเปลี่ยนได้ทันที โฆษณาจึงต้องไม่เกิน 30 วินาทีต่อเบรค และเทียบไม่ได้กับรายได้โฆษณาบนฟรีทีวี “ในแง่ของรายได้ค่าโฆษณาก็ยังเทียบไม่ได้กับละครในช่วองฟรีทีวี อย่างค่ายเอ็กแซก เราผลิตละครหลังข่าวป้อนให้กับช่อง 5 เรามีรายได้จากโฆษณาเฉลี่ย 300,000 บาทนาที ในฟรีทีวีโฆษณาสินค้า 10 นาที การหารายได้จากยูทิวบ์ยังไงก็ยังไม่คุ้ม ยิ่งเป็นโปรดักชั่นขนาดนี้แล้ว”

อย่างไรก็ตาม รายได้ไม่ใช่เป้าหมายหลักของการทุ่มทุนผลิตซีรีส์ครั้งนี้ แต่ จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่” ต้องการพิสูจน์ให้เห็นว่า หากเนื้อหาดี ไม่ว่าจะออกอากาศผ่านช่องทาง ย่อมได้รับความนิยมจากคนดูได้ ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็น “ฟรีทีวี” เสมอไป และที่สำคัญ เพื่อก้าวไปสู่เส้นทาง “ดิจิตอล ทีวี” ที่จะเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของแกรมมี่ โดยมีช่อง “จีเอ็มเอ็ม วัน” เป็นทัพหน้า

“ถึงแม้เราอยู่ในช่องทีวีดาวเทียม แต่คนดูยังจำกัด ค่าโฆษณายังต่ำมาก แต่ถ้าเป็น ดิจิตอลทีวี จะมีความแมสไม่ต่างจากฟรีทีวี เพราะอยู่ในกติกาของกสท ก็ให้สิทธิ์ดิจิตอลทีวี สามารถ Must carry ออกอากาศไปยังทุกโครงข่าย ทั้งทีวีดาวเทียม และทีวีดิจิตอลทุกประเภท ซีรีส์ เป็นการ “อุ่นเครื่อง” ก่อนเดินสู่เส้นทางของดิจิตอลทีวี และการสร้างรายได้แบบ “ระยะยาว” ที่จะมีทั้งการขายลิขสิทธิ์ รายได้จากสปอนเซอร์ แบรนด์แห่ติดต่อเป็นพรีเซนเตอร์ ในขณะที่รายได้จาก การบริหารศิลปิน จะเป็นของ “จีทีเอช” และ “บริษัทนาดาว” ที่มีย้ง เป็นผู้ดูแล

ซึ่งโรเจอร์ ไพโรจน์ เทวินบุรานุวงศ์ Head of Marketing & Communication จีทีเอช บอกกับ Positioning ว่า “เวลานี้ได้รับการติดต่อจากเจ้าของสินค้าโทรเข้ามา ติดต่อนำดาราวัยรุ่นจากซีรีส์เรื่องนี้ไปเป็น “พรีเซนเตอร์” เพื่อสร้างกระแสความน่าสนใจให้กับสินค้า โดยมีตั้งแต่ น้ำอัดชม, ชาสำเร็จรูป, มอเตอร์ไซค์, รถยนต์, ขนมขบเคี้ยว,รองเท้า ส่วนใหญ่ยังอยู่ระหว่างเจรจา และเริ่มมีทยอยออกมา เช่น โออิชิ ที่เลือก “ต่อ มาร์ เก้า” ไปเป็นพรีเซนเตอร์ให้โออิชิ สลิม “อย่างกรณีของสไปรท์ เป็นเรื่องที่เกินคาดหมาย เพราะเป็นตัวละครที่คาแรคเตอร์ค่อนข้างแรง มองความรัก และการมีเซ็กส์เป็นเรื่องปกติ ตอนแรกก็กังวลว่าอาจโดนแอนตี้ แต่ปรากฎว่า พอซีรีส์ออกไปคนดูชื่นชอบสไปรท์

และถูกพูดถึงมาก ที่ตลก ก็คือ แบรนด์ “น้ำอัดลมยี่ห้อหนึ่ง” สนใจอยากได้น้องสไปรท์ไปเป็นพรีเซนเตอร์มาก แต่ติดปัญหา ตรงที่ว่าชื่อตัวละคร “สไปรท์” ซึ่งเป็นชื่อของน้ำอัดลมคู่แข่ง” โรเจอร์บอกว่าเรื่องแบบนี้ ก็ไม่คาดคิดกันมาก่อน ตอนตั้งชื่อตัวละครว่า “สไปรท์” เพราะต้องการให้ตัวแทนของ ความสดใส ซาบซ่า กระชุ่มกระชวย ไม่ได้คิดว่า ชื่อของตัวละครจะมีผลในเรื่องของพรีเซนเตอร์ ในขณะที่ ย้ง ยืนยันได้ว่า สิ่งที่นักแสดงได้รับจากซีรีส์เรื่องนี้ คือ แบรนด์อะแวร์เนส นั่นคือ มูลค่า ที่น้องนักแสดงได้รับจากคนที่ไม่มีคนรู้จัก กลายเป็นนักแสดงที่มีชื่อเสียง และเกิดกับทุกตัวละคร โดยมีงานพรีเซนเตร์ติดต่อทุกคน ซึ่งมีทั้งงานละคร มิวสิควีดีโอ ออก อีเว้นท์ ซึ่งจีทีเอชจะมีงานแฟร์หลังจากซีรีส์จบ คาแรคเตอร์ “ฮอร์โมน ”ก็ขายได้

ไม่ใช่แค่นักแสดงเท่านั้นที่ได้รับติดต่อไปเป็นพรีเซนเตอร์ แม้แต่ “คาแรคเตอร์”ของ ซีรีส์ฮอร์โมน ก็เป็นที่สนใจของแบรนด์ ที่ต้องการนำไปใช้สร้างความน่าสนใจ ในการสื่อสารกับผู้บริโภค เช่น การทำไวรัล มาร์เก็ตติ้ง ซึ่งลิขสิทธิ์ คาแรคเตอร์ จะต้องแยกต่างหากจากการจ้างนักแสดงเป็นพรีเซนเตอร์ “ถ้าติดต่อนักแสดงไปเป็นพรีเซนเตอร์ ไปพรีเซนต์สินค้าตามเนื้อเรื่องที่เขาคิดขึ้นใหม่ แต่ถ้าแบรนด์ต้องการนำคาแรคเตอร์ของซีรีส์ไปใช้ แบรนด์จะต้องเสียค่าลิขสิทธิ์ต่างหาก และเราตั้งเงื่อนไขไว้เลยว่า จะต้องให้จีทีเอชเป็นคนผลิตให้ เพื่อเราจะได้ควบคุมให้คาแรคเตอร์คที่เราสร้างขึ้นมาได้ตรงที่สุด และอีกอย่างเราต้องการให้เกียรติกับคนทำงานครีเอทีฟ เพราะในวันที่เขาทำสำเร็จเขาควรได้ผลตอบแทนที่เขาควรจะได้กลับไป” ย้งให้คำตอบ และทั้งหมดนี้ คือ โมเดลการหารายได้ในแบบของ “ซีรีส์ฮอร์โมน” และการก้าวของการเดินเข้าสู่ “ดิจิตอลทีวี”

 

 

นาดาว บางกอก ถ้าพูดถึงซีรีส์ฮอร์โมน นอกจากจีทีเอชแล้ว ยังต้องรู้จักกับ “นาดาว บางกอก” ที่นอกจากจะถูกนำไปใช้เป็นชื่อโรงเรียนในซีรีส์เรื่องนี้แล้ว ที่มาของบริษัทนี้ มาจากความสนใจ ของ “ย้ง-ทรงยศ” ต้องการทำงาน“โปรดักชั่น” ที่หลากหลาย ไม่ใช่แค่กำกับภาพยนตร์ บางครั้งก็อยากทำ มิวสิควีดีโอ กำกับหนังต้นทุนต่ำ ได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของ“นาดาว บางกอก” ที่เป็นการลงทุนร่วมกันระหว่าง ย้ง-ทรงยศ สุขมากอนันต์ และจีทีเอช เพื่อรับงานโปรดักชั่นส์ และการบริหารศิลปิน โดยนักแสดงหน้าใหม่และหน้าใหม่ เช่น เต๋อ-ฉันทวิชช์ ธนะเสวี, ซันนี่-สุวรรณเมธานนท์, เปอร์-สุวิกรม อัมระนันทน์,แพทตี้-อังศุมาลิน สิรภัทรศักดิ์เมธา ไมเคิล กันต์ ชุณหวัตร,ฝน-ศนันธฉัตร ธนพัฒน์พิศาล, ต่อ-ธนภพ ลีรัตนขจร ส่วน จีทีเอช จะดูแล พีท-พชร จิราธิวัฒน์, ปัน ปัน-สุทัตตา อุดมศิลป์, มาร์ช-จุฑาวุฒิ ภัทรกำพล และนี่คือที่มาและความหมายของบริษัทนาดาว เปรียบได้กับผืนนาในการปั้นนักแสดงเข้าสู่วงการภายใต้การดูแลของย้ง-ทรงยศ