ค้าปลีกไทยสุดคึก เมื่อกลุ่มธุรกิจรายใหญ่ สหพัฒน์ จับคู่ ลอว์สัน กลุ่มเซ็นทรัลผนึกแฟมิลี่มาร์ท ทั้งสองค่านใช้ “แจแปน โมเดล”เป็นแบบฉบับในการ บุกตลาดไทย
ลอว์สัน ผนึกสหพัฒน์
สหพัฒน์ เป็นค่ายผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคของไทย ที่กระโจนเข้าสู่ตลาดค้าปลีกของไทยมาตั้งแต่สิบกว่าปีที่แล้ว เริ่มจากการจับมือกับแฟมิลี่มาร์ทจากญีปุ่น แต่ต่อมาสหพัฒน์ได้ถอนหุ้น และเปิดเป็นร้าน 108 ช้อป
ที่ผ่านมา ร้าน 108 ช้อปของสหพัฒน์ ตกเป็นรองคู่แข่งขันในตลาด “เซเว่นอีเลฟเว่น” ของเครือเจริญโภคภัณฑ์หลายช่วงตัว หรือแม้แต่ แฟมิลี่มาร์ทที่เป็นเบอร์ 2 ในตลาด หากปล่อยให้สถานการณ์เป็นแบบนี้ต่อไป จะยิ่งลำบาก เพราะการแข่งขันยิ่งหนักหน่วงขึ้น นอกจากคู่แข่งเดิมแล้ว ยังมีผู้ประกอบการรายใหม่ๆ เตรียมกระโดดเข้าสู่ตลาดนี้ ทั้งกลุ่มเซ็นทรัลก็หันไปจับมือกับแฟมิลี่มาร์ท ส่วนค่ายสีม่วงอย่าง “แม็กซ แวลลู” ของอิออน ได้ปรับกลยุทธใหม่ โดยเข้าไปเจาะพื้นที่ไพร์มแอเรีย เปิดสาขาตามออฟฟิศ บิวดิ้ง โรงแรม คอนโดมิเนียม ใจกลางเมืองอย่างเห็นผล กลายเป็นตัวเลือกใหม่ในตลาดค้าปลีกที่ต้องจับตา
นอกจากนี้ ค่ายไฮเปอร์มาร์เก็ต ที่หันมาเปิดสาขาไซส์เล็ก โลตัส เอ็กซเพรส บิ๊กซี มินิ ที่กำลังรุกตลาดอย่างเต็มที่
สหพัฒน์ จึงต้องหาพาร์ทเนอร์ อย่าง “ลอว์สัน”ร้านค้าปลีกเป็นเบอร์ 2 ในญีปุ่น โดยอาศัยโนวฮาว และประสบการณ์ของลอว์สัน มาช่วยติดอาวุธให้กับสหพัฒน์ เพื่อกลับมาโลดแล่นในสนามค้าปลีกได้อีกครั้ง
โดยสหพัฒน์ และลอว์สัน ได้ฤกษ์ ทำพิธีแบบญี่ปุ่น ทุบไหสาเก เพื่อเปิดตัวในไทยอย่างเป็นทางการ เมื่อวันศุกร์ 30 กันยายน ทีผ่านมา โดยมีผู้บริหารจากสหพัฒน์ นำโดยบุญยสิทธิ์ โชควัฒนา ประธานเครือสหพัฒน์ ,บุญชัย โชควัฒนา , เวทิต โชควัฒน์ และฝั่งของลอว์สัน มี ทาเคชิ นินามิ ซีอีโอ เพื่อประกาศความพร้อมในการลงทุนร้าน “ลอว์สัน 108” จะมาถอดรหัสแผนธุรกิจในอย่างน่าสนใจ
ค้าปลีกธุรกิจที่สหพัฒน์ไม่ทำไม่ได้
สหพัฒน์ ยืนยันว่า ในฐานะผู้ผลิตสินค้าคอนซูเมอร์โปรดักส์ การเข้าสู่คอนวีเนียนสโตร์ เป็นความจำเป็น เพราะจะเป็นช่องทางที่ทำให้เข้าถึงพฤติกรรมลูกค้าโดยตรง แต่ก็ยอมรับว่าการมาทีหลังคู่แข่งเป็นข้อเสียเปรียบ เพราะแต่ละรายก็ล้วนเป็นผู้ประกอบการายใหญ่ที่มีร่วมมือกับคอนวีเนียนสโตร์รายใหญ่ จากญีปุ่น
ทั้งสิ้น เช่น กลุ่มซีพีมีเซเว่นอีเลฟเว่น กลุ่มเซ็นทรัลมีแฟมิลี่มาร์ท ส่วนของสหพัฒน์เองเมื่อมาร่วมมือกับ “ลอว์สัน” แต่เชื่อว่าตลาดในไทยคอนวีเนียนสโตร์ยังเติบโตได้อีก
เพราะถ้าเปรียบเทียบกับตลาดคอนวีเนียนสโตร์ในญีปุ่น จะมีขนาดใหญ่กว่าเมืองไทยมาก แต่ละรายจะมีสาขาไม่ต่ำกว่าหมื่นแห่ง ดังนั้น เมืองไทยยังมีโอกาสขยายได้ เซเว่นเองเวลานี้มี 7,000 สาขา แฟมิลี่มาร์ท ยังไม่ถึงพันแห่ง ดังนั้นยังมี “โอกาส” ให้กับลอว์สันได้
นอกจากนี้ ยังมีพาร์ทเนอร์อย่าง “ลอว์สัน” ที่มีประสบการณ์ มีความเป็นอินโนเวทีฟ คอนวีเนียนสโตร์ ที่มีความเชี่ยวชาญหลายเรื่อง มีโนวฮาว และsucess story มาแล้ว ในญี่ปุ่นลอว์สันเป็นเบอร์ 2 ในตลาด ที่จากเบอร์ 1 อย่างเซเว่นอีเลฟเว่นไม่มาก เมื่อมาร่วมมือกับสหพัฒน์ฯ ซึ่งเรามีความรู้เรื่องของสินค้า และเรื่องงานขาย ถ้าเมืองไทยจะมีค้าปลีกรายใหญ่อีกราย ก็ต้องเป็นเรานี่แหละ และนี่คือจุดแข็งของเรา”
ความโมเดลหลายหลายจุดขายลอว์สัน
ในญีปุ่น ลอว์สัน มีจุดเด่นในเรื่องของการมี “โมเดล”สาขาที่หลากหลาย โดยจะใช้วิธี“คัสโตไมซ์” ให้เหมาะกับพฤติกรรมของลูกค้าตามทำเลที่แตกต่างกัน เช่น ลอว์สัน แอร์พอร์ต จะเป็นสาขาที่ออกแบบมาสำหรับอยู่ในสนามบินโดยเฉพาะ
แต่โดยทั่วไปแล้ว ลอว์สัน จะมี 3 โมเดลพื้นฐาน คือ เรกกูลาร์ ลอว์สัน เป็นร้านปกติ เนชั่นแนลลอว์สัน เน้นผู้หญิงทำงาน ที่รักสุขภาพ และ ลอว์สัน 100 เป็นฟอร์มแมทใหม่ ที่เป็นมินิซุปเปอร์
สำหรับเมืองไทยในช่วงต้นลอว์สัน 108 จะเป็นสาขามาตรฐานทั่วไป จากนั้นจะรอดูพฤติกรรมผู้บริโภคว่าเปลี่ยนไปอย่างไร โดยเฉพาะการขยายตัวของคนชั้นกลาง ซึ่งจะมีพฤติกรรมเปลี่ยนไป จะเป็นคนบอกว่า เขาอยากได้อะไร เมื่อถึงเวลานั้นจึงมีการประยุกต์นำฟอร์แมทต่างๆ ที่คล้ายกับในญี่ป่นมาใช้
ปัจจุบัน ร้านลอว์สัน 108 เปิดแล้ว 5 แห่ง ปีหน้าจะเปิดเพิ่ม 50 แห่ง และจะเพิ่มเป็น 1,000 แห่งในอีก 5 ปีข้างหน้า ซึ่งในช่วง 2 ปีแรก บริษัทสหพัฒน์ลอว์สันจะเป็นผู้ลงทุนเอง และจะขยายในกรุงเทพฯเป็นหลัก โดยมีการเลือกสาขา จากจำนวน300 แห่งของ 108 ช้อป มาปรับเป็นร้านลอว์สัน 108 โดยจะเน้นเฉพาะทำเลกลางเมือง และอยู่ริมถนน
ในขณะที่ร้าน108 ช้อปที่อยู่ในซอย หรือ ต่างจังหวัด ที่ห่างไกล จะยังคงเปิดเป็นร้าน 108 ช้อป แต่จะมีการนำไอเดียใหม่ๆ มาทดลองปรับปรุงร้าน โดยการขยายสาขา ของลอว์สัน จะทำจนกว่าจะนิ่งแล้ว จึงจะเปิดขายแฟรนไชส์ให้คนอื่นมาลงทุน
เน้นคัสโตไมซ์
นอกจากการออกแบบตกแต่งสาขา ให้เหมาะกับผู้บริโภค การเลือก “สินค้า” มาจำหน่ายในร้าน โดยเฉพาะ”อาหารปรุงสำเร็จ ” ถือเป็นไฮไลท์สำคัญของลอว์สัน ในญีปุ่น จะนำมาใช้ในไทยจะมีการนำมาใช้ในไทยเช่นกัน แต่อาจไม่หลากหลายเท่า
สินค้าที่จำหน่ายในแต่ละสาขา จะแตกต่างกันไป ยกตัวอยาง สาขาเอ็มโพริโอ เพลส ซอยสุขุมวิท 24 ซึ่งมีลูกค้าชาวญีปุ่นอาศัยอยู่มาก และเป็นย่านทำงาน สาขาทั้งจึงมีทั้งอาหารญีปุ่นปรุงสด เช่น ข้าวหน้าต่างๆ ข้าวปั้น เบเกอรี่ชนิดต่าง รวมถึงผลิตภัณฑ์จากเมือง ฮอกไกโด ก็มีจำหน่าย และยังมีที่นั่งไว้ให้ด้วย ซึ่งบางสาขาก็อาจไม่มี
ถึงจะเร้ดโอเชียนแต่ก็มีโอกาส
ผู้บริหารลอว์สัน มองว่า โอกาสขยายธุรกิจค้าปลีกในไทยมีอีกมาก เพราะดูจากญีปุ่น แม้ว่าการแข่งขัน จะกลายเป็น “ทะเลสีแดง” หรือเร้ดโอเชียนแล้ว แต่ยังมีการเปิดสาขาอยู่ตลอดเวลา และเป็นการขายแฟรนไชส์ถึง 90% ซึ่งส่งผลให้บางทำเล มีสาขาของลอว์สัน และคู่แข่งเปิดประชันกันก็มี
แต่สำหรับเมืองไทย ต้องรอพฤติกรรมการบริโภคของคนไทย โดยเฉพาะการขยายตัวของคนชั้นกลาง ที่มองหาความสะอาดในการบริโภค จะเปลี่ยนจากการบริโภคตามร้านข้าวแกงข้างถนน มาที่ร้านค้าคอนวีเนียนสโตร์ การแข่งขันจึงจะดุเดือด
ทำเลเกรดเอ มีเพิ่มตลอด
ส่วนในเรื่องของทำเล แม้จะถูกมองว่าการมาทีหลังจะมีข้อเสียเปรียบ เพราะถูกคู่แข่งมาก่อนชิงทำเลทองไปหมดแล้ว แต่ในมุมของลอว์สัน มอง่ว่า “ทำเลเกรดเอมีเพิ่มได้ตลอด เนื่องจากมีคอนโดมเนียม ออฟฟิศ เปิดขึ้นใหม่ตลอดเวลา ส่งผลให้ทำเลที่เป็นเกรดเอ ใหม่ขึ้นได้ตลอด ซึ่งลอว์สันเองจะเน้นการเปิดสาขาตามทำเลในเมือง ทั้งคอนโดมิเนียม อาคารสำนักงาน
ถึงแม้ลอว์สันจะเป็นเบอร์2 ในตลาดคอนวีเนียนสโตร์ในญี่ปุ่น แต่สำหรับเมืองไทยแล้ว แบรนด์ลอว์สัน ยังไม่เป็นที่รับรู้ในวงจำกัด ผู้บริหารสหกรุ๊ปก็ยอมรับ และมองว่า เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา เพราะการสร้างแบรนด์ที่ดีที่สุดของธุรกิจนี้ คือ การขยายสาขา ให้ผู้บริโภคได้สัมผัสโดยตรง
จับมือบุกเออีซี
นอกจากแผนการขยายสาขา ลอว์สันจะเปิดศูนย์ “เทรนนิ่งเซ็นเตอร์” ในไทย เพื่อรองรับการขยายการลงทุนในกลุ่มประเทศอาเซียน รองรับกับการเข้าสู่ AEC เพราะก่อนหน้ามาลงทุนในไทยแล้ว ลอว์สันได้ไปเปิดสาขาจีน อินโดนีเซีย
“ ทั้งสหกรุ๊ป และลอวสัน ไม่ได้มองแค่การลงทุนในไทยเท่าน้น ถ้ามีความเป็นไปได้ อยากจับมือกับสหกรุ๊ปในการขยายสาขาต่อไป และอาจต้องเปิดรับผู้ลงทุนท้องถิ่น
บทเรียนของร้าน 108 ช้อป
“ที่ผ่านมาร้าน 108 ช้อป ใช้เงินลงทุนเยอะมาก ซึ่งร้านค้าปลีกปลีกจะสำเร็จ ต้องประหยัด จริงๆแล้ว เรามีบทเรียนเยอะ ทั้งในการบริหารจัดการ บริหารคน บริหารของเสีย บริหารระบบก่อน จะลอนช์สินค้าต้องเตรียมโครงสร้างพื้นฐาน ต้องเตรียมการสื่อสารอย่างไร ขณะเดียวกันก็เป็นประสบการณ์สำคัญ ในการไปช่วยเหลือ
แฟมิลี่มาร์ท ยกเจแปนมาไว้ในร้าน
ในขณะที่ วันนี้ Convenient store เป็นเซ็กเมนท์ที่เติบโตสูงสุดในธุรกิจค้าปลีก กลุ่มเซ็นทรัลหรือ CRC ซึ่งเป็นเซียนค้าปลีกผ่านประสบการณ์มายาวนานทั้ง Department store, Specialty store อย่าง บีทูเอส พาวเวอร์บาย และซุปเปอร์สปอร์ต และ Supermarket อย่าง ท็อปส์ แต่กลับเป็นรองในเซ็กเมนท์ร้านสะดวกซื้อที่ถูกรายล้อมไปด้วยคู่แข่งมากฝีมือทั้ง 7-11 ในเครือซีพี และ ยังมี ลอว์สันที่ตั้งท่ามาแรงของสหพัฒน์
เมื่อเซ็นทรัลได้ไลเซนส์จากทางแฟมิลี่มาร์ท เจแปนมาแล้ว ก็ถึงเวลาเดินเกมรุกซะที
จากเดิม ที่แฟมิลี่มาร์ทเดินกลยุทธ์ตั้งรับมาโดยตลอด
แม้ว่า ผู้บริโภคจะคุ้นเคยกับแบรนด์เป็นอย่างดี แต่โปรโมชั่น หรือความหลากหลายของสินค้าก็ยังไม่ได้สร้างจุดเด่นมากพอที่จะดึงดูดให้รู้สึกกระหายที่จะเดินเข้าไปซื้อ (หรือถ้าไม่ซื้อ ก็ขอเดินเข้าไปตากแอร์มองดูสินค้าใหม่ ไว้ครั้งหน้ามาซื้อก็ยังดี)
แต่เมื่อทีมผู้บริหารจาก CRC นำโดย ณัฐ วงศ์พานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และจุฑารัตน์ วงศ์สุวรรณ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการตลาด บริษัท เซ็นทรัล แฟมิลี่มาร์ท จำกัด เข้ามาโหมคิดค้นการสร้างแบรนด์ตลอดครึ่งปีแรกที่ผ่านมา แฟมิลี่มาร์ทจึงประกาศขอเป็นอันดับ 2 ของตลาด โดยใช้กลยุทธ์การตลาดเชิงรุกอย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งการได้ไลเซนส์มา ก็ทำให้ประเทศไทยซึ่งเป็น 1 ใน 8 ประเทศที่แฟมิลี่มาร์ทไปปักหลักอยู่ทั่วโลก มีจำนวนสาขารวมเป็นอันดับ 5 ณ เดือนกรกฎาคม 2556
ล่าสุด เปิดตัวด้วยอีเวนท์ใหญ่ไปเมื่อปลายเดือนสิงหาคม 2556 กับ Family Mart Festival เพื่อฉลองครบรอบ 21 ปีของร้านที่ดำเนินธุรกิจในประเทศไทยในธีม Japanese Heritage ตอกย้ำจุดต่างของแบรนด์ในความเป็นญี่ปุ่น ภายใต้สโลแกน “เติมความสดใสให้คุณทุกวัน” …เริ่มอยากรู้กันแล้วล่ะสิ ความสดใสที่ว่าจะเป็นอย่างไร
ลดอายุแบรนด์ด้วยคิตตี้
เริ่มจากคาร์แลกเตอร์การ์ตูนที่คนไทยคุ้นเคยเป็นอย่างดี คือ คิตตี้ ลิขสิทธิ์ของทาง Sanrio ญี่ปุ่น กระตุ้นการสะสมของพรีเมี่ยมด้วยแคมเปญสะสมแสตมป์ที่จะจัดใน Q4 ของปี 2556 ท้าชนแคมเปญแสตมป์ท่องเที่ยวไทยของ 7-11 ซึ่งก่อนหน้านั้นก็ใช้คาร์แลกเตอร์โดราเอมอนและประสบความสำเร็จอย่างสูงมาโดยตลอด
“เหตุผลที่นำ คิตตี้ ตัวการ์ตูนที่เด็กผู้หญิงชื่นชอบมาเป็นตัวแทนของแฟมิลี่มาร์ทเพื่อทำแคมเปญต่างๆ ในลักษณะแมสคอต ก็เพื่อลดอายุของแบรนด์ลง” จุฑารัตน์ กล่าวอย่างมั่นใจ
นอกจากนั้น ความสดใสน่ารัก บวกความสนุกสนาน ยังสื่อสารตัวตนไปยังลูกค้าให้รู้สึกรักและใกล้ชิดกับแบรนด์ได้ง่ายยิ่งขึ้น รวมทั้ง ยังต้องการขยายทาร์เก็ตไปยังกลุ่มเด็กวัยรุ่น โดยในแต่ละแคมเปญจะมีเอเจนซี่ Creative spike เป็นผู้ดูแลเรื่องแบรนดิ่งให้
และจากการศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคอย่างหนักของทีมมาร์เก็ตติ่งพบว่า ลูกค้าที่เข้าร้านสะดวกซื้อ ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนทำงานหรือวัยรุ่นที่กำลังหิว และเดินเข้าร้านเพื่อหาอะไรง่ายๆ กินรองท้อง
“ตอนนี้เราพยายามจะหาโปรดักท์ใหม่คือ Family Mart collection นำเสนอสินค้าแปลกตาอย่าง ไดฟุกุ ขนมของญี่ปุ่นซึ่งจะออกมา 2 SKU/ คอลเลกชั่น นอกจากนี้ ยังพัฒนาโปรดักท์ที่เกี่ยวกับสินค้าพร้อมรับประทาน (Ready to eat) ร่วมกับคู่ค้า ยกตัวอย่าง พรานทะเลในชื่อ Quick-serve เช่น ชิลเบนโตะ เป็นต้น” ณัฐ กล่าว
หากใครนึกย้อนกลับไป ก็จะจำจุดเด่นที่เป็นเอกลักษณ์อาหารญี่ปุ่นของแฟมิลี่มาร์ทได้ นั่นคือ โอเด้ง เมนูลูกชิ้นเสียบไม้แช่ในซุปร้อนๆ ที่วางจำหน่ายเฉพาะในร้านแฟมิลี่มาร์ท จะถูกนำกลับมาเพื่อให้โพสิชั่นนิ่งความเป็นญี่ปุ่นชัดเจนมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกัน เมนูอาหารและสินค้าในร้านยังใช้กลยุทธ์การ Customize ที่ถูกคัดเลือกให้เหมาะกับลักษณะลูกค้าในแต่ละโลเคชั่น โดยแบ่งกลุ่มเฉพาะออกเป็น 9 กลุ่มเพื่อตอบสนองให้ตรงกับความต้องการเฉพาะของลูกค้าท้องถิ่นเช่น กลุ่มคนทำงาน ซึ่งต้องการสินค้าต่างกับกลุ่มชุมชนที่อยู่อาศัย
ขยายสาขา
“ส่วนใหญ่สาขาของแฟมิลี่มาร์ทใช้วิธีลงทุนเอง และเน้นไปที่เมืองท่องเที่ยวเช่น ภูเก็ต สมุย พัทยา ขอนแก่น และโคราช รวมกันมากกว่า 300 สาขา ส่วนการเปิดสาขาใหม่จะเน้นทำเอง เพราะว่าส่วนหนึ่งเราอยากจะขยายสาขาให้เร็วในช่วงนี้ แต่ในที่สุดแล้วเราก็ตั้งเป้าที่จะเปลี่ยนสาขาที่มีอยู่ให้เป็นแฟรนไชส์ด้วย”
ปัจจุบัน สาขาของแฟมิลี่มาร์ทที่ลงทุนเองมีประมาณ 99% มีเพียง 2-3 สาขาเท่านั้นที่เป็นแฟรนไชส์ ส่วนในปีถัดไป จะเน้นการขยายแฟรนไชส์ขยับเป็น 15% โดยการนำ Know-how ของญี่ปุ่นมาพัฒนาระบบจัดการ ขณะเดียวกัน ก็รีโนเวตสาขาเดิมทั้งหมด
สิ่งที่น่าสนใจคือ การสร้างสาขารูปแบบใหม่ที่เรียกว่า โมบายยูนิตหรือ รถจำหน่ายสินค้า ซึ่งตั้งอยู่ที่ตลาดนัดสวนจัตุจักร และจะเคลื่อนที่ไปยังสถานที่ต่างๆ จำนวน 1 คัน และอีกคันที่พัทยา อีกทั้งยังมีปรากฏในรูปแบบ Kiosk จำหน่ายสินค้าประมาณ 700-1,000 รายการ ขณะนี้มีจำนวนร้านเปิดให้บริการแล้ว 5-6 สาขา
ณัฐ ยังบอกอีกว่า ในปี 2556 แฟมิลี่มาร์ทตั้งเป้าเปิดสาขาเพิ่ม 240 สาขาจากเดิมที่มี 913 สาขาโดยใช้งบลงทุนขยายสาขา 1,000 ล้านบาท และยังลงทุนในส่วนของงบการตลาดอีก 150 ล้านบาท
“ความยากในตอนนี้คือ เรื่องการหาทำเลที่ยากขึ้นเรื่อยๆ เพราะทุกค่าย ต่างคนก็ต่างขยาย”
และเพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ผู้บริโภครุ่นใหม่ แฟมิลี่มาร์ทจึงต้องทดลองการตลาดใหม่ๆ อย่างการเปิดพ่วงระหว่างค้าปลีกไซส์ใหญ่และไซส์เล็กเกาะกันไป ก็เป็นอีกรูปแบบหนึ่งของกลยุทธ์ธุรกิจค้าปลีกที่น่าสนใจ ล่าสุด เซ็นทรัลเฟสติวอล ภูเก็ต ห้างสรรพสินค้าที่กำลังจะเปิดภายในปีนี้ เจาะทาร์เก็ตทั้งนักท่องเที่ยว และคนท้องถิ่น ก็จะมีแฟมิลี่มาร์ทไปเปิดในบริเวณด้านนอกห้างฯ เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายให้ลูกค้าที่ต้องการซื้อสินค้าเพียงไม่กี่ชิ้น และยังเปิดตลอด 24 ชั่วโมง อีกทั้งยังสร้างแบรนด์ดิ่งให้คนจดจำว่าฐานะร้านค้าในเครือเซ็นทรัลอีกด้วย ทางทีมยังอยู่ระหว่างการตัดสินใจว่าจะใช้บัตรสมาชิกของ The One Card หรือ Topspot Reward ซึ่งกำลังศึกษาทั้งข้อดี และข้อเสีย ซึ่งทั้งสองบัตรนี้ยังสามารถนำระบบฐานข้อมูลสมาชิกเดิมมาร่วมปรับใช้กับแฟมิลี่มาร์ทภายในต้นปีหน้า
แจแปนโมเดล
ผู้ประกอบธุรกิจค้าปลีกในไทยเวลานี้ นอกจากจะดำเนินการโดยกลุ่มผู้ลงทุนระดับบิ๊ก เช่น กลุ่มเครือเจริญโภคภัณฑ์ กลุ่มเซ็นทรัล กลุ่มสหพัฒน์ และคาดว่าอีกไม่นานยังมี “เจริญ สิริวัฒนภักดี” ที่เตรียมกระโดดเข้าสู่ธุรกิจนี้
ที่น่าสนใจ หุ้นส่วนที่บิ๊กธุรกิจเหล่านี้ ดึงมาเป็นพาร์ทเนอร์ก็ล้วนแต่เป็น คอนวีเนียนสโตร์จากญี่ปุ่นทั้งสิ้น ที่ได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่ธุรกิจคอนวีเนียนสโตร์รุนแรงมากที่สุดแห่งหนึ่ง มีการเปิดสาขาในถนนแทบทุกทุกสาย นั่นก็น่าจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เหล่าผู้ลงทุนของไทยเลือกคอนวีเนียนสโตร์จากแดนอาทิตย์อุทัย นอกจากนี้ คนไทยเองก็คุ้นเคยกับผลิตภัณฑ์และอาหารชนิดต่างๆ จากญีปุ่นอยู่แล้ว ไม่แน่ว่า “โอเด้ง ข้าวปั้น เบเกข้าวหน้าเนื้อ อาจเป็นทางเลือกใหม่ๆ ของลูกค้าคอนวีเนียนสโตร์ นอกเหนือจาก ขนมจีบ ซาลาเปาที่เคยฮิตมาก่อนหน้านี้
เริ่มตั้งแต่ เซเว่นอีเลฟเว่น ของเครือเจริญโภคภัณฑ์ ช่วงที่เริ่มต้นซื้อแฟรนไชส์มาจากเซเว่นอีเลฟเว่น สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นต้นกำเนิด แต่เซเว่นอีเลฟเว่นของไทยนำต้นแบบมาจากเซเว่น อีเลฟเว่น ญีปุ่น ซึ่งเป็นผู้
ซื้อแฟรนไชส์รายใหญ่ที่สุด และมีสาขามากที่สุด ซ่งต่อมาเมื่อเซเว่นอีเลฟเว่น อเมริกาประสบปัญหาด้านการเงิน ที่ได้ช่วยเหลือด้านการเงิน และได้ควบรวมกิจการ ส่งผลให้เซเว่นอีเลฟเว่นอเมริกา เป็นบริษัทลูกของเซเว่น แอนด์ ไอโฮลดิงส์ ของญีปุ่นไปในที่สุด
ส่วนทางด้านของลอว์สัน ร้านสะดวกซื้อเบอร์ 2 ของญีปุ่น ก่อตั้งในปี 2518 โดยมีต้นกำเนิดมาจากเมือง โอซาก้า ญีปุ่น จุดเด่นของลอว์สันจะเน้นขายอาหารปรุงสด ที่สร้างชื่อคือ นักเก็ตไก่ทอด ต่อมาได้เปิดรับชำระเงิน ฝากส่งไปรษณีย์ ขายตั๋ว และต่อมาเมื่อมิตซูบิชิ คอร์ปอเรชั่น เข้าเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของลอว์สัน อิงค์ได้ขยายสาขาที่เน้นผลิตภัณฑ์ด้านความงามและสุขภาพ และเปิดสา ลอว์สัน สโตร์ 100 พรอมกับบริการ สะสมแต้ม ลอว์สัน พร้อยซ์ มาใช้ และต่อมาเป็นพันธมิตรบริษัทยา และจัดตั้งหน่วยจัดหาผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร หาผักสด เพื่อจำหน่ายร้านลอว์ เป็นพันธมิตรกับยาฮู แจแปน
ลอว์สันได้ขยายกิจการออกนอกประเทศ เริ่มที่จีน จากนั้นจึงขยายไปยังเกาะฮาวาย สหรัฐอเมริกา อินโดนีเซีย และไทย
ส่วนแฟมิลีมาร์ท เป็นค้าปลีกอันดับ 3 ในญีปุ่น เป็นบริษัทในเครือเซซั่นกรุ๊ป ที่เป็นเจ้าของห้างสรรพสินค้าเซบุ และ ร้านซุปเปอร์สโตร์เซยู ซึ่งทำธุรกิจซุปเปอร์มาร์เก็ต และได้ลดขนาดพื้นที่ขายลงเหลือ 100 ตารางเมตร และได้กลายเป็นจุดกำเนิดของ แฟมิลีมาร์ท และต่อมาได้เปลี่ยสาขาของเซยู มาดำเนินการภายใตแฟมิลี่มาร์ท
การขยายกิจการออกนอกประเทศ ทั้งในไต้หวัน เกาหลีใต้ ไทย และจีน สหรัฐอเมริกา เวียดนาม อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ซึ่งในไทย แฟมิลี่มาร์ท เข้ามาลงทุนในปี 2535 และปีนี้เอง แฟมิลี่มาร์ท ได้ขายหุ้นในบริษัทสยามแฟมิลี่มาร์ท จำนวน 50.29% ให้กับเซ็นทรัลรีเทล และเปลี่ยนชื่อเป็น เซ็ฯทรัลแฟมิลี่มาร์ท
จำนวนสาขาของคอนวีเนียนสโตร์ในญี่ปุ่น | |
เซเว่น อีเลฟเว่น | 14,005 สาขา |
ลอว์สัน | 10,457 สาขา |
แฟมิลี่มาร์ท | 8,834 สาขา |
(ข้อมูลในเดือนกุมภาพันธ์ 2556 ) ที่มา ลอว์สัน |