เพราะไป๋ตู้ คือ กูเกิลจีน ดังนั้นไม่ว่ากูเกิลเดินไปทางไหน ไป๋ตู้ก็จะตามไปด้วย ที่ผ่านมาหลังจากที่กูเกิลเผยโฉมแว่นตาอัจฉริยะ Google Glass ทางทีมงานไป๋ตู้ก็รีบออกตัวว่าตัวเองก็ซุ่มทำแว่นตาล้ำๆ นี้ด้วยเช่นกัน โดยคาดว่าจะใช้ชื่อว่า Baidu Eye นับตั้งแต่ข่าวนี้ออกไปก็ทำให้ทุกสื่อรู้ทิศทางของไป๋ตู้ที่ชัดเจนว่าจะรุกธุรกิจฮาร์ดแวร์อย่างแน่นอน
โดยฮาร์ดแวร์แรกที่เปิดตัวไปแล้วก็คือ สมาร์ทโฟนระบบคลาวด์คอมพิวติ้งอย่าง “ไป๋ตู้ อี้ (Baidu Yi)” ที่ผสานทุกบริการต่างๆ ของไป๋ตู้ลงไปในเครื่องได้อย่างลงตัว ทั้งค้นหาข้อมูล อ่านหนังสือ ฟังเพลง เก็บไฟล์ ฯลฯ
และเมื่อเดือนสิงหาที่ผ่านมากูเกิลเปิดตัว ChromeCast อุปกรณ์ขนาดเล็กที่ช่วยให้สตรีมเนื้อหาจากแกดเจ็ทต่างๆ รอบตัวไปยังจอสมาร์ททีวี วันนี้ทางไป๋ตู้เองก็มีการเปิดตัว “เสี่ยวตู้ (??)” อุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ขนาดเล็กที่ช่วยให้การเล่นเน็ตระหว่างอุปกรณ์ต่างๆ รอบๆ ตัวเราและภายในบ้านเป็นไปอย่างราบรื่น โดยทั้งหมดเป็นผลงานของทีมงานวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ของ ไป๋ตู้ คลาวด์คอมพิวติ้ง ที่ก่อนหน้านี้ทำเว็บและแอปฯ เก็บไฟล์ออนไลน์ในชื่อ “ไป๋ตู้หยุน” ได้สำเร็จแล้ว โดยเปิดพื้นที่ให้ผู้ใช้ฟรีกว่า 350 กิกะไบต์
โดยผลิตภัณฑ์ในซีรีส์ของ “เสี่ยวตู้” นั้น มี 3 อย่างได้แก่ เสี่ยวตู้ไว-ไฟ (อุปกรณ์กระจายสัญญาณไว-ไฟและสตรีมเนื้อหาจากคอมไปยังแกดเจ็ทอื่นๆ), เสี่ยวตู้ลู่โหยว (เร้าท์เตอร์ขนาดพกพาช่วยกระจายสัญญาณเน็ตให้ทั้งบ้าน) และ เสี่ยวตู้ทีวี (ทำหน้าที่เหมือน Chromcast)
สิ่งสำคัญของอุปกรณ์ทั้ง 3 ชิ้นนี้ในสายตาผู้บริโภคคือ “ราคา” ทั้ง 3 ชิ้นราคาไม่ถึง 1,500 บาท!
และกลางเดือนกันยาที่ผ่านมาทาง TCL ก็ได้ออกสมาร์ททีวี ที่ร่วมมือกับไป๋ตู้นำแอปฯ iQiyi ซึ่งเป็นแอปฯ ดูหนังละครทั้งเรื่องผ่านระบบสตรีมมิ่ง (ซึ่งไป๋ตู้เพิ่งถอยมาเป็นสมบัติของบริษัทได้ไม่นาน) มาลงในจอทีวี เพื่อหวังรายได้จากทั้งการขายจอทีวี 48 นิ้ว (ราคา 23,000 บาท) และรายได้จากค่าโฆษณาที่อัปเกรดราคาได้มากขึ้นเมื่อได้โอกาสมาฉายในห้องนั่งเล่น!
ทั้งหมดนี้คือการรุกครั้งใหม่ของไป๋ตู้ที่นำพาความสำเร็จจากจอพีซีก้าวไปสู่ทุกๆ จอที่ใกล้ตัวผู้บริโภค และในจีนแผ่นดินใหญ่ เราต่างรู้กันดีว่าไฟล์ดิจิตอลอย่าง หนังสือ เพลง ภาพยนตร์ หรือคอนเท้นต์ออนไลน์ใดๆ ต่างกลายเป็นของไม่มีราคา และการใช้กฎหมายควบคุมถือว่าทำได้ยาก ดังนั้นการทำให้ระบบนิเวศน์ของคลาวด์คอมพิวติ้งที่ทำให้การบริโภคและแบ่งปันคอนเท้นต์เหล่านี้เป็นไปอย่างอิสระเสรี ถือว่าเป็นส่วนดีมากๆ กับผู้บริโภค และผู้ผลิตแพล็ตฟอร์ม โดยเฉพาะกับไป๋ตู้ที่ขยายฐานรายได้จากโฆษณาเพิ่มมาเป็นรายได้จากการขายฮาร์ดแวร์ด้วย
สิ่งที่น่าคิดก็คือ แล้วผู้ผลิตเนื้อหาล่ะ? จะหารายได้จากผลงานของตัวเองได้อย่างไร? ลิขสิทธิ์การเผยแพร่เนื้อหาในช่องทางใหม่ๆ ควรมีโมเดลอย่างไร?