เมื่อสามปีก่อนผู้บริหารของบริษัทยักษ์แห่งหนึ่งถามผู้เขียนว่าเทคโนโลยีจะปฏิวัติวงการไหนอย่างรุนแรงที่สุด? คำตอบที่ไม่ต้องคิดก็คือ “การเงินและธนาคาร” ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ “สแควร์ (Square)” (ท่ีวันนี้ธนาคารไทยหลายค่ายก็ออกเครื่องรูดบัตรเครดิตด้วยมือถือแบบนี้ทั้งสิ้น) ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ความไฮเทคของเครื่องอ่านขนาดจิ๋วของสแควร์ แต่กลับอยู่ที่การสร้างประสบการณ์ใหม่ให้คนเข้าถึงบริการทางการเงินของตัวเองได้ง่ายอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เพราะสแควร์ช่วยให้ใครๆ ก็ได้รับค่าจ้างค่าบริการ ณ จุดที่ให้บริการ ทั้งยังเช็กรายการได้ชัดเจนว่าจ่ายที่ไหน (ดูจากพิกัดจีพีเอส) เมื่อไหร่ เวลาอะไร จ่ายให้ใคร (แสดงรายชื่อร้านค้าอย่างละเอียด) ทั้งหมดดูแบบเข้าใจได้ง่ายๆ จากเว็บ-มือถือ-แท็ปเบล็ต
และวันนี้ก็มีอีกกรณีศึกษาร้อนที่ฉายภาพภาวะที่สั่นคลอนของระบบการเงินและธนาคารซึ่งเกิดขึ้นจริงๆ แล้ว ครั้งนี้ไม่ใช่ที่อเมริกา แต่เป็นที่จีนแผ่นดินใหญ่ เพราะจู่ๆ เม็ดเงินนับล้านล้านบาทถูกโยกออกจากบัญชีธนาคารใหญ่ๆ มาเป็นเว็บไซต์ชื่อดังอย่างอลีบาบา! มันเกิดขึ้นได้อย่างไร? เพราะอะไร? รัฐบาลปักกิ่งยอมได้อย่างไร? คำตอบทั้งหมดอยู่ในบรรทัดต่อไปนี้…
เทรนด์ใหม่ล่าสุดของมนุษย์ไซเบอร์ในจีนไม่ใช่การช้อปออนไลน์อีกต่อไป แต่กลับเป็น “การฝากเงินเพื่อลงทุนในโลกออนไลน์” และผู้นำรายแรกจะเป็นใครไม่ได้เลยนอกจาก “อลีบาบา”
ถึงวันนี้เวลาผ่านไปยังไม่ครบปีดี “อวู้เอ๋อเป่า (余额宝)” บริการออมเงินจากบัญชีอลีเพย์เพื่อต่อยอดการลงทุนออนไลน์ จากเครืออลีบาบา มียอดผู้ใช้ 81 ล้านคน และยอดเงินฝากรวม 1.3 ล้านล้านบาท ทั้งยังเกิดการโคลนนิ่งจากเว็บใหญ่อื่นๆ อย่าง ไป๋ตู้ และเท็นเซ็นต์ด้วย
ฝากเงินกับเว็บไซต์ดีอย่างไร? ในมุมมองผู้บริโภค
ไม่ว่าจะเป็น อวู้เอ๋อเป่า (余额宝) บริการลงทุนออนไลน์จากอลีบาบา โดยการกำกับดูแลของบริษัทลูกผู้ดูแลด้านการเงินออนไลน์อย่าง “อลีเพย์ (Alipay)” หรือ “เท็นเพย์ (Tenpay/财通)” ของเท็นเซ็นต์ ที่เชื่อมบริการลงทุนออนไลน์ใน WeChat แล้ว และล่าสุดกับไป๋ตู้ ฉายฟู่ (百度财富) ที่แม้เพิ่งเปิดบริการไม่นานแต่ก็งัดกลยุทธ์สุดได้ผลคือ การรันตีดอกเบี้ยสูงถึง 8% ทุกๆ เจ้ามีวิธีการเรียกลูกค้าคล้ายๆ กันคือ
– ใครๆ ก็ลงทุนออนไลน์ได้แม้มีเงินแค่หยวนเดียว (5บาท) : ไอเดียนี้ดูเหมือนจะเล็กๆ แต่สำคัญมากสำหรับคนทั่วๆ ไป เพราะๆ ใครก็หวังจะให้เงินทำงาน และจุดนี้เองทำให้คนจีนเป็นล้านพร้อมใจกันมาฝากเงินกับเว็บเหล่านี้
รูปการ์ตูนล้อนี้ต้องการเล่าว่าคนจีนทุกวันนี้มีแต่เงินทองให้เลือกหยิบเต็ม ไปหมด เพราะอัตราดอกเบี้ยสูงๆ จากเว็บฝากเงินออนไลน์นั่นเอง
– อัตราดอกเบี้ยดีกว่าฝากธนาคาร : ที่จีนปกติฝากประจำกับธนาคารจะได้ดอกเบี้ย 3.25% ต่อปี แต่ที่บริการลงทุนออนไลน์ของเว็บเหล่านี้ การันตีดอกเบี้ยสูงถึง 6-8% ทั้งทุกวันยังมีข้อความแจ้งเตือนถึงทรัพย์สินที่งอกเงยในแต่ละวันให้อมยิ้มและมีพลังทำงานด้วย
– ถอนเงินไปใช้ได้ตลอดเวลา : ทั้งการทำธุรกรรมเพื่อฝากและโอนเงินเป็นสิ่งง่ายแค่มีคอมฯ หรือมือถือเท่านั้น หมดยุคการกดบัตรต่อคิวที่ธนาคารแล้วจริงๆ
นักวิเคราะห์คาดว่าอัตราดอกเบี้ยของบริการลงทุนของเว็บไซต์เหล่านี้จะยังสูงกว่าธนาคารทั่วไปต่อไปตลอดกาล แค่คิดง่ายๆ เรื่องต้นทุนที่ถูกกว่า (ไม่ต้องมีค่าเช่า ค่าพนักงาน ค่าไฟ ฯลฯ) ยอดการโอนเงินไปมาจบมีการคำนวนจบในแต่ละวัน ทำให้รู้ทิศทางการลงทุนของวันต่อไปง่ายยิ่งขึ้น แต่ปัญหาที่ต้องพึงระวังก็หนีไม่พ้น การโจมตีจากแฮคเกอร์ และระบบการเชื่อมต่อข้อมูลที่หากเกิดขัดข้องระหว่างการโอนเงินไปมา
สำหรับผู้เขียนขอวิเคราะห์กึ่งฟันธงในตลาดของระบบการลงทุนออนไลน์นี้ อลีบาบาถูกปูพรมมาให้เป็นที่หนึ่ง ด้วยความพร้อมต่างๆ ที่เหนือกว่าคู่แข่งที่แม้จะเป็นบริษัทเน็ตยักษ์ใหญ่เช่นกัน ด้วยเหตุผล 4 ประการดังต่อไปนี้
– เงินสดมากมายในกำมือ : 3 เว็บในเครือของอลีบาบา ได้แก่ อลีบาบา เถาเป่า และเทียนเมาแต่ละวันมียอดซื้อขายมหาศาล จึงทำให้มีเงินสดไหลเวียนในองค์กรมากมาย
– เอาเงินที่ค้างในอลีเพย์มาต่อยอด : อย่าลืมว่าเถาเป่าและทีมอลประสบความสำเร็จได้เพราะการสร้างอลีเพย์ มาเป็น “คนกลาง” ทำระบบจ่ายเงินที่ทำให้มั่นใจได้ว่าผู้ขายได้เงินผู้ใช้ได้ของ (Escrow Payment) ดังนั้นในแต่ละวันจึงมีเงินไหลเข้าออกผ่านระบบมหาศาล และวันนี้ก็มีผู้ใช้บริการอลีเพย์แล้วถึง 800 ล้านคน ดังนั้นเมื่อเปิด “อวู้เอ๋อเป่า” เน้นเอาเงินที่ค้างในบัญชีอลีเพย์ จากที่เคยใช้ซื้อของออนไลน์มาลงทุนต่อยอด ทำให้ผู้ใช้มีรายได้เพิ่มขึ้นโดยไม่ต้องลงแรงอะไร ใครล่ะจะปฏิเสธข้อเสนอนี้
– เปิดบริการสินเชื่อ SME’s ตามเป้าประสงค์ของประธานหม่า : เงินสดที่ได้เมื่อมีผู้เชี่ยวชาญเอาไปลงทุนอย่างถูกต้องในการฝากระหว่างธนาคาร จึงได้ผลตอบแทนเป็นดอกเบี้ยที่สูงแจกให้กับลูกค้าทั่วไป เป้าหมายล่าสุดของ “อวู้เอ๋อเป่า” คือ การนำเงินเหล่านี้ไปปล่อยสินเชื่อให้กับเจ้าของธุรกิจ SME’s ที่เปิดร้านในเถาเป่า (สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของ แจ็ค หม่า ที่หวังให้เถาเป่าเป็นผู้ช่วยเถ้าแก่สมัยใหม่) และวิธีการคัดเลือกและอนุมัติก็เร็วกว่าธนาคารเยอะ แค่บอกลิงก์เว็บมา เจ้าหน้าที่เข้าไปนับจำนวนมงกุฎ (ที่แสดงถึงยอดขายของร้าน) และอ่านรีวิวลูกค้าก็จัดติดใจปล่อยสินเชื่อได้ทันที!
จากภาพแสดงให้เห็นว่าร้านค้านี้มี 4 มงกุฏทอง (มงกุฎทองคือร้านค้าชั้นเยี่ยมที่สุด) แสดงว่าร้านนี้เคยขายของให้ลูกค้าไปแล้วถึง 2-5 ล้านชิ้น! การอนุมัติสินเชื่อก็ทำได้ง่ายยิ่งขึ้น!
– ตอกย้ำความน่าเชื่อถือด้วยบริษัทประกันใหม่ : เมื่อพูดเรื่องเงินๆ ทองๆ คนทุกคนก็ต้องกลัวหากเกิดวินาศภัย แฮคเกอร์ถล่ม เงินนับล้านล้านในระบบจะถูกกลืนหายไปกับตาหรือไม่ จุดนี้อลีบาบากล้ายืดอกเฟิร์มโน! เพราะล่าสุดอลีบาบาเพิ่งจับมือกับบริษัทประกัน “ผิงอัน” (ที่ 2 ปีก่อนบริษัทซีพีของไทยเข้าไปซื้อหุ้น15.57% เป็นที่เรียบร้อย) เพื่อเปิดบริษัทประกันอินเตอร์เน็ตใหม่ในนาม “จ้งอัน (众安保险)” ด้วยทุนจดทะเบียน 5,000 ล้านบาท ฉะนั้นก็เป็นการการันตีกลายๆ ว่าเงินไม่หายไปไหนแน่ และหากหายก็คืนเงินเต็มจำนวน (ซึ่งเป็นนโยบายปัจจุบันของผิงอันอยู่แล้ว)
คำตอบประการสุดท้ายว่าเทรนด์ “ฝากเงินกับเว็บ” ในจีนจะกลายเป็นฟองสบู่หรือเข้าสู่ภาวะต้มยำกุ้งหรือเปล่า รัฐบาลปักกิ่งยืนยันเองว่าจะไม่คัดค้านแนวคิดนี้ เพราะในแถลงการณ์ของการประชุมพรรคคอมมิวนิสต์ในปีนี้ เผยว่าจะนำประเด็นฝากเงินผ่านเว็บมาพิจารณาเป็นประเด็นหลัก ทั้งยังพร้อมจะแก้ไขกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่มีอยู่ของกระทรวงการคลังและการธนาคารให้ทันสมัยยิ่งขึ้นเพื่อสอดรับกับการปฏิรูประบบฝากของเงินประชากรทั้งประเทศด้วย!
และทั้งหมดนี้ก็เป็นอีกครั้งที่ทำให้เห็นว่าบริษัทเทคฯ จีนที่โดนตราหน้าว่า “นักก็อปปี้” กลับสามารถเข้าใจตลาดท้องถิ่น จนสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ และหาแหล่งรายได้ใหม่ที่ฉีกแนวกว่าบริษัทต้นแบบได้อย่างชัดเจน จนทำให้วันนี้อลีบาบาพูดได้เต็มปากว่า Alipay ไปไกลกว่า PayPal (เหมือนที่ WeChat ไปไกลกว่า Whatsapp และ Line) แล้วจริงๆ