ผ่าสูตรค้าเครื่องสำอางออนไลน์มูลค่า 10,000 ล้านบาท ยุคนี้อินสตาแกรมอย่างเดียวไม่พอ ต้องจัดเต็มทุกสื่อโซเชียลเน็ตเวิร์ก และคอนเทนต์ ดูอย่าง “ครีม Lederer” ปั้นค่ายเพลงลูกทุ่งเพื่อขายครีมบำรุงผิวกับสูตรการตลาด “ยิ่งฉาวก็ยิ่งดัง” จนเป็นที่มาของเอ็มวีลูกทุ่งฉาว “เป๊ะ” ที่สร้างกระแสร้อนฉ่ามาแล้ว
จากเพลงลูกทุ่งสุดฉาว กับปรากฏการณ์ “เป๊ะ” ที่สั่นสะเทือนวงการลูกทุ่ง ผลงานจากค่ายเพลงน้องใหม่ Lederer Entertainment ที่มีเจ้าของผลงานคือ “เอิร์ก-องอาจ เลดเดอเรอร์” ผู้ถ่ายทอดบทเพลง “เป๊ะ” โดย Music Video สาวๆ 4 คนใส่เพียงชุดชั้นในด้วยลีลาเซ็กซี่เย้ายวน และมีฉากที่ล่อแหลม เช่น หญิงสาวนัวเนียกัน ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในโลกออนไลน์กันอย่างหนักว่านี่มันลูกทุ่งภาษาอะไร!
แต่สำหรับเอิร์ก-องอาจแล้ว ยึดคัมภีร์ “ยิ่งฉาวก็ยิ่งดัง” เพราะนี่คือ กระบวนการทางการตลาดเพื่อปูทางให้กับผลิตภัณฑ์ครีมบำรุงผิวแบรนด์ Lederer ซึ่งชื่อเดียวกันกับค่ายเพลง
“ออกตัวเลยว่า ไม่ฉาว ไม่แรง ไม่เลิศ ไม่เก๋ ไม่ทำ เราพิจารณาจากฟีดแบ็กกลับมา ถ้ากระแสมันดีอย่างที่เราคิดไว้ เราก็ทำ ง่ายๆ เลยว่า “แก้ผ้าครั้งนี้เลิศ” ซึ่งครั้งนี้ยอมรับว่าประสบความสำเร็จมาก แก้ผ้าครั้งนี้ดังและมีงาน MV เป๊ะ เปลี่ยนเก๋จากนางงามเป็นนางแบบเซ็กซี่ บางส่วนก็รับได้ บางคนก็รับไม่ได้” เก๋-กรรณิกา ขันแก้ว หุ้นส่วนแบรนด์ Lederer และ 1 ใน 4 สาวเซ็กซี่ในเอ็มวีเป๊ะ พูดถึงจุดเริ่มต้นของการตัดสินใจทำเอ็มวีเพลงนี้ โดยสลัดคราบนางงามดีกรีรอง Miss World Next Top Model 2012 ทิ้งไว้เบื้องหลัง
เอิร์กและเก๋ ร่วมกันเปิดเผยกับ POSITIONINGว่า ได้เริ่มทำแบรนด์ Lederer อย่างจริงๆ จังๆ ก็ช่วงตุลาคมปีที่แล้ว ก่อนที่จะปล่อยเพลงเป๊ะเพียงแค่ 2 เดือนเท่านั้น ซึ่งตอนนั้นขายให้กับคนรู้จัก วันหนึ่งขายได้เพียง 1-2 กระปุก และด้วยความที่เอิร์กชอบการร้องเพลง และเคยอยู่วงบอยแบนด์ลูกทุ่งในนาม “สยาม คันทรี” เมื่อ 2 ปีก่อน จึงคิดผลิตเอ็มวีขึ้นมาเพื่อโปรโมตครีม
“ในเมื่อชอบร้องเพลงทำไมไม่ทำเพลงออกมาเอง… ทำให้ตัวเราเองและเพื่อนดัง จริงๆ แล้วงบประมาณทำเอ็มวีเยอะมาก ไม่ได้ทำง่ายๆ แต่เมื่อคิดแล้วการทุ่มงบประมาณหลายแสนบาทเพื่อทำเอ็มวีเป๊ะตัวนี้ ดีกว่าเอาเงินไปสนับสนุนกิจกรรมการตลาด มันไม่คุ้ม เพราะได้แค่โลโกนิดเดียว
เพลงเป๊ะถูกแต่งมาเพื่อให้เข้ากับครีมโดยเฉพาะ “เอ๊ะ ผมเป็นอะไรเจอความขาวทีไรใจละลายเหลวเละ เชะ หุ่นเธอโดนใจ นี่นางฟ้าหรือไรคนอะไรสวยเป๊ะ”
“มันผ่านการคิดมาทั้งหมดแล้ว ไม่ใช่เอะอะจะฉาวๆ ที่เราชมผู้หญิงสวยสารพัด คืออยากให้ทุกคนรู้ว่าทุกอย่างอยู่ในครีมตัวนี้ แล้วคนในเอ็มวีก็ใช้ครีมตัวนี้แหละถึงได้สวยขนาดนี้ และอีกอย่างเราขายครีม ทำไมเอ็มวีที่เราตั้งใจเป็นสื่อโฆษณาจะต้องปิดเนื้อหนังมังสา ในเมื่อเราขายครีม มันคือการ Tie in ไม่ใช่แค่สินค้า มันอยู่ที่ตัวบุคคลด้วย ต้องให้ดูน่าเชื่อถือด้วย” เอิร์ก เล่าถึงกระบวนการทำเอ็มวีตัวนี้
หลักการ Tie in สินค้าจึงต้องไม่ยัดเยียดเกินไป ในเอ็มวี จะเห็นสินค้าเพียงไม่กี่วินาทีเท่านั้นเอง แถมมีโลโกเป็นสปอนเซอร์อยู่ตรงเครดิตท้ายเพลง ถึงจะเห็นแค่ไม่กี่วินาทีแต่โทรมาสั่งซื้อกันเยอะมาก
ส่วน 4 สาวตัวแม่ในเอ็มวีสุดฉาวนี้ นอกจากจะมี “เก๋” เป็นตัวแทนจากเวทีนางงามและเป็นหุ้นส่วนคนสำคัญ ยังมี “หมวย-พิลาวรรณ” จากเวทีแม็กซิม มิวกี้เป็นลีโอเกิร์ลคนล่าสุด ส่วนชาญ่าเป็นนางแบบเซ็กซี่ ซึ่งทุกคนมีผลงาน และมีฐานแฟนคลับที่คอยติดตาม
เอิร์กบอกว่าไม่ต้องการคนที่ดังกว่านี้ เพราะว่าจะเด่นเกินไป จะกลบสินค้า แต่ก็ต้องไม่โนเนมกว่านี้ “เซ็กซี่รากหญ้าก็ไม่เอา พริตตี้มอเตอร์โชว์ไม่เอา ทุกอย่างเราเลือกมาแล้ว ทุกคนดังพอๆ กัน อยู่รวมกันแล้วมันโอเค เราคิดมาอย่างนี้เพราะเรียน PR มา ทุกอย่างเกิดจากการคิดมาแล้วทั้งสิ้น ไม่มีเรื่องบังเอิญ”
เมื่อดูการโปรโมตเพลงเป๊ะแล้วไม่ว่าจะเป็นซิงเกิล ทีเซอร์ หรือตัวเอ็มวี เป็นการค่อยๆ ปล่อยเพื่อให้คนติดตาม เพราะถ้าลำพังแค่เพลงลูกทุ่งคนอาจจะไม่สนใจ จึงต้องใช้ความวาบหวิวเข้าช่วย
เรียกได้ว่าแบรนด์ Lederer มีสื่อหลายช่องทางทั้งเพลง ยูทิวบ์ เอ็มวี เฟซบุ๊ก ที่จะสื่อสารกับผู้บริโภค เอิร์กได้เปิดเผยถึงยอดขายต่อเดือนว่าขึ้นแบบก้าวกระโดด ตอนนี้ประมาณ 4,000 ชิ้นต่อเดือน และขึ้นเรื่อยๆ ทุกเดือน มาจากเอ็มวีตัวนี้
“ตอนนี้แฮปปี้ขายออนไลน์มากที่สุด การตลาดออนไลน์เป็นนัมเบอร์วันมากในวินาทีนี้ เปิดบูธค่าที่แพงมาก การที่เราไม่มีหน้าร้านแสดงว่าเราไม่ได้บวกกำไรเยอะ” เก๋พูดปิดท้ายถึงการขายออนไลน์ในปัจจุบัน และแบรนด์ Lederer เองก็เป็นอีกแบรนด์ที่เติบโตมาจากธุรกิจออนไลน์
โตจากโซเชียลมีเดียบวกพรีเซนเตอร์ดัง
“Colly Collagen” เป็นอีกตัวอย่างของแบรนด์ที่ประสบความสำเร็จมาจากการขายผ่านโซเชียลมีเดีย เริ่มจากทำ Colly Collagen คอลลาเจนแบบผงชงดื่มกินบำรุงผิวหน้า จากญี่ปุ่น วางขายไปตั้งแต่ปลายปี 2554 ซึ่งตลาดยังใหม่จึงเริ่มบุกทำตลาดจาก Social Media คนรู้จัก และออกบูธขายตามอีเวนต์ต่างๆ บี พีรพัฒน์ ลิขิตน์รัตน์เจริญ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท พัฒน์พลัส จำกัด เจ้าของแบรนด์ Colly Collagen กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของแบรนด์
จากนั้นจึงเริ่มใช้เซเลบ เน็ตไอดอล โพสท่าถ่ายกับสินค้าอัพขึ้นอินสตาแกรม บีเล่าให้ฟังว่า ต้องเลือกคนที่ทานของเราจริงๆ ถ้าดีก็บอกต่อนะ โดยส่งโปรดักต์ให้บรรดาเน็ตไอดอล เซเลบทั้งหลายได้ลองเทสต์ดู จึงมีการถ่ายรูปลงอินสตาแกรมด้วยอิริยาบถต่างๆ จนกลายเป็นโมเดลธุรกิจออนไลน์ในสมัยนี้ ที่สืบต่อกันมา และประสบความสำเร็จมากทีเดียว
พรีเซนเตอร์คนแรกของคอลลี่ คือ “เนย โชติกา” นางร้ายหน้าหวานจากวิกพระรามสี่ ให้เนยลองทานดู เมื่อใช้เนยแล้วเห็นผล ทั้งความเชื่อมั่นของลูกค้าและยอดขายเพิ่มขึ้น จึงขยายสู่กลุ่มผู้ชาย และเพศที่สาม โดยได้โดม ปกรณ์ ลัม มาเป็นเป็นพรีเซนเตอร์ ถ้าใครได้ติดตามโดมรู้ว่าเป็นผู้ชายโซเชียลมาก ทั้งอินสตาแกรม ช่องยูทิวบ์ส่วนตัว เรียกว่างานนี้ได้โดมก็ช่วยเรื่องโซเชียลเยอะมาก ถือว่า Win-Win กันทั้งคู่
นอกจากนั้น ยังมีการ Tie in สินค้าเข้าสู่กลุ่มเป้าหมายโดยตรง ด้วยการเป็นสปอนเซอร์ในรายการยอดนิยมของวัยรุ่น VRZO 2 ครั้ง ซึ่งขึ้นชื่อเรื่องค่าสปอนเซอร์ โดยการันตรีด้วยยอดวิวถึง 1,161,574 Views ในชื่อตอนว่า VRZO – ชู้ VS อาบ อบ นวด [Ep.54 by Colly] ออกอากาศเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2555
ครั้งที่ 2 ในชื่อตอน VRZO – มีปัญหา! เพื่อน หรือ หัวหน้า [Ep.98 by Colly] ออกอากาศเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2556 ที่ผ่านมา ด้วยยอดวิว 635,036 Views ตอนนี้ ไปถึงบ้าน “โดม ปกรณ์ ลัม” พูดถึงเคล็ดลับความหล่อขั้นเทพ และชงคอลลี่ คอลลาเจนดื่มกันสดๆ เรียกว่าเป็นการ Tie in แบบสุดๆ
เมื่อยอดขายของบริษัทเติบโต 100% ทุกปี ตัว Colly Collagen มียอดขายประมาณ 20,000 กล่องต่อเดือน ล่าสุดบีจึงแตกผลิตภัณฑ์ใหม่ เซรั่มบำรุงผิวหน้า แบรนด์ Divoi โดยใช้ซุปตาร์ระดับแม่เมืองไทยอย่าง “อั้ม พัชราภา” มาเป็นพรีเซนเตอร์ ด้วยงบการตลาด 25 ล้านบาท (รวมค่าพรีเซนเตอร์แล้ว) ใช้ช่องทางสื่ออินเทอร์เน็ต สื่อออนไลน์ส่วนใหญ่ รวมไปถึงสิ่งพิมพ์ หนังสือวัยรุ่น สื่อวิทยุ โดยตั้งเป้ายอดขาย 100,000 กล่องภายในสิ้นปี และตั้งเป้ายอดขายรวมที่ 500 ล้านบาท
บี บอกว่า พฤติกรรมผู้บริโภคยังไงก็ยังเน้นเรื่องความงามอยู่ และมีแนวโน้มจะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ตลาดผลิตภัณฑ์ความงามในปัจจุบันมีมูลค่าถึง 10,000 ล้านบาท อินตาแกรม และเฟซบุ๊กก็ยังคงเป็นสื่อทรงอิทธิพลในการขายผลิตภัณฑ์ความงาม
ตุ๊ดครีม เจาะเพศที่สาม
เปิดเพจเป็นเหมือนไดอารีเล่มหนึ่ง ถ่ายทอดประสบการณ์ผ่านตัวอักษรให้คนอื่นอ่าน แค่นั้นมันอาจจะดูธรรมดาไป แต่ด้วยเขาเป็น “กะเทย” และมีลีลาเล่าเรื่องได้อย่างถึงพริกถึงขิง โดนใจคนอ่านได้อย่างเต็มๆ ทำให้มีคนติดตามอ่านเรื่องที่เขาเขียนในเพจจำนวนมาก นั่นคือเพจ “บันทึกของตุ๊ด” เจ้าของเพจคือ ช่า ธีร์ธวิต เศรฐไชย กราฟิกดีไซน์ และจ้าของแบรนด์ครีมรักษาสิว ToodsCream (ตุ๊ดครีม) โดยตั้งชื่อแบรนด์ให้คล้องกับชื่อเพจ
ช่า-ธีร์ธวิต เริ่มทำครีมด้วยตัวเอง มาจากปัญหาของตัวเอง “เป็นคนมีสิวมาแต่เด็ก แล้วพอดีมีเพื่อนสนิทที่เป็นเภสัชกร เก่งเรื่องส่วนผสมต่างๆ ตอนแรกเป็นครีมที่ใช้เฉพาะคนในกลุ่มคนรู้จัก พอถ่ายรูป Before/After และค่อยๆ ปล่อยลงในแฟนเพจตัวเอง หลังๆ ก็จะมีคนสนใจเยอะขึ้น เพราะให้ใครใช้ก็ได้ผลดี เลยคิดทำขาย ตอนนี้ทำมาเกือบปีแล้ว”
สำหรับช่องทางการขายของ ToodsCream จะขายแค่ใน Facebook เท่านั้น แต่ด้วยฐานจำนวนแฟนคลับค่อนข้างมาก จึงเกิดการบอกปากต่อปากไปเรื่อยๆ “การทำธุรกิจอะไร ยิ่งในธุรกิจเครื่องสำอาง การสร้างความไว้วางใจกับลูกค้าถือว่าสำคัญมาก เราต้องมั่นใจว่าของเราต้องดี และปลอดภัยกับผู้ใช้จริงๆ”
ในเพจบันทึกของตุ๊ดจะเป็นเรื่องที่คุณช่าประสบเองมาทั้งสิ้น และไม่เน้นโฆษณาตัวครีมอันนี้มากมาย จะแบ่งคอนเทนต์เนื้อหา 95% และโฆษณาครีม 5% เท่านั้น เพื่อไม่ให้เป็นการยัดเยียดจนเกินไป
“เดี๋ยวนี้เน็ตไอดอลลงมาจับธุรกิจนี้เยอะ แต่ส่วนมากไม่มีความเชี่ยวชาญ ส่วนใหญ่อยากลงมาทำเพราะได้กำไรค่อนข้างดี บางคนถึงขั้นตัดส่วนผสมที่ดีออก และเพิ่มส่วนผสมที่อันตรายเพื่อให้ครีมตัวเองได้ผลดี เพราะเชื่อว่ายอดขายจะดีขึ้น ช่าจึงต้องเน้นการปรึกษา การขาย การตอบคำถามหลังการขาย การแก้ปัญหาต่างๆ จึงทำให้ลูกค้าเชื่อใจมากกว่าให้ใครไม่รู้มาตอบคำถาม”
ปูเป้ ชี้แบรนด์เกิดง่าย ระวังไม่ได้คุณภาพ
ปูเป้ ศักรัช เปี่ยมวรนันท์ หรือ Pupe_so_Sweet กูรูชื่อดังด้านผลิตภัณฑ์สกินแคร์ มองว่า ภาพรวมของวงการเครื่องสำอางมีการขยายตัวที่ดี ส่วนหนึ่งคนไทยหันมาสนใจดูแลตัวเองกันมากขึ้น และประเทศยังยังมีพื้นที่ให้กับวงการเครื่องสำอางได้ขยายอีกมาก
“เพราะการทำแบรนด์เครื่องสำอางไม่ได้ยากเหมือนเมื่อก่อน ไม่ต้องมีเงินทุนเยอะมากมาย อยากได้ครีมแบบไหน ใช้ทำอะไรก็เปิดเลือกสูตรจากแค็ตตาล็อก เปลี่ยนแพ็กเกจ เปลี่ยนฉลาก หรือถ้าจะลงทุนเพิ่มขึ้นก็คือสั่งคิดสูตรใหม่ ซึ่งก็มีค่าใช้จ่ายแฝงมากมาย ส่วนใหญ่จะเลือกการลดตุ้นทุนด้วยการเอาจากสิ่งที่มีมาแบ่งขายหรือติดฉลากใหม่เองมากกว่า”
“ปัญหาที่เกิดขึ้นกับวงการเครื่องสำอางในตอนนี้ เริ่มมาจากการแข่งขัน การตัดราคา การลดต้นทุน มีการลดขั้นต่ำในการผลิต รวมถึงมีการใช้ช่องทางออนไลน์ขายส่งผลิตภัณฑ์ เหมือนเป็นการโดดเข้ามาแสวงหาผลกำไรระยะสั้น เน้นเรื่องผลประโยชน์มากกว่าการสร้างแบรนด์อย่างจริงจัง และนั่นคือสิ่งที่ต้องระวัง”