เสือร้องไห้-เฟ็ดเฟ่ ฮา เกรียน สนั่นออนไลน์

ผ่าโมเดล 2 รายการในโลกออนไลน์ “เสือร้องไห้” กับคลิปเด็ด ประวัติศาสตร์การแดนซ์ของไทย แชร์กระจายด้วยยอด 4 แสนวิว และคลิปสไตล์ “มัน ฮา เกรียน” แบบ “เฟ็ดเฟ่” ที่กำลังฝ่าคลื่นดิจิตอล แจ้งเกิดคลิปที่โดนใจวัยรุ่นไปเต็มๆ “เสือร้องไห้” โชว์ฟอร์มมาจากคลิป “กำนันสไตล์” ล้อเลียนเพลงฮิต “กังนัมสไตล์” สร้างความฮือฮาในโลกออนไลน์ ด้วยยอดคนดู 31 ล้านวิวในช่วงเวลา 1 ปี ล่าสุด พวกเขาได้กลับมาสร้างกระแสทอล์กอีกครั้งกับคลิป “ประวัติศาสตร์การแดนซ์องไทย” รวมท่าเต้นเพลงแดนซ์ยอดฮิตของไทย ตั้งแต่ปี 2534 จนถึงปัจจุบัน เช่น ฝากเลี้ยง, รมณ์บ่จอย ขอใจแลกเบอร์โทร เรียกเสียงฮาจนมียอดคนดู 4 แสนกว่าวิว และรายการสแกนเกย์ เกมโชว์ออนไลน์ที่มีแฟนคลับติดตามหลัก 3-4 แสนวิว สิ่งที่ทำให้รายการนี้ได้รับความสนใจากคนดู เป็นการแสดงของคนธรรมดา ไม่ใช่ดารา เน้นความสนุก ไม่มีพิธีรีตอง ดูแล้วใกล้ชิด เหมือนเพื่อนคุยกัน ไม่ต้องคาดหวังอะไร แต่ก็ใช้ประเด็นที่กำลังอยู่ในกระแสมานำเสนอ มีทั้งล้อเลียนรายการทีวี ละคร เพลงแปลง และงานที่คิดขึ้นใหม่ ในมุมที่แตกต่างจากที่มีอยู่เดิม จึงไปโดนใจคนดูที่เป็นกลุ่มวัยรุ่น เด็กมหาวิทยาลัย ซึ่งไปตอบโจทย์คนไทยที่เป็นคนชื่นชอบความสนุกสนาน จึงทำให้ฐานคนดูกว้างขึ้นเรื่อยๆ กำเนิดเสือร้องไห้ รายการ “เสือร้องไห้” มีจุดกำเนิดมาจาก 4 หนุ่มหัวใจดนตรี คือ อารมณ์ โพธิ์หาญรัตนกุล หรือ คัตโตะ คุ้นเคยกันดีในฐานะสมาชิกวงลิปตา, อรรถพล โพธิ์หาญรัตนกุล หรือ โค้ดดี้ น้องชายของคัตโตะทำธุรกิจเอเยนซี่ออนไลน์, ญาณวุฒิ จรรยาหาญ หรือ เอดดี้ สมาชิกวง Jetset’er สังกัดค่ายจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ และ ชจิรุตถ์ ตันติวรอังกูร สมาชิกวงดนตรี No one else และเคยเป็นแบ็กอัพให้กับค่ายเลิฟอิส ทั้งสี่ คบหากันมาตั้งแต่สมัยยังเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อเรียนจบต่างแยกย้ายเข้าสู่สายงานดนตรีที่ชื่นชอบ และยังหาเวลาพบปะสังสรรค์ จนมาได้ไอเดียทำคลิปสนุกๆร่วมกันเมื่อปีที่แล้ว

 

 

“เราเจอกันตลอด ส่วนใหญ่เล่นเกมด้วยกัน พออยู่ในโลกออนไลน์ทำให้เห็นงานของครีเอทีฟของฝรั่งที่เขาทำออกมา เลยคิดว่าน่ามาลองทำกันเอง เป็นสไตล์ไทยๆ พอดีว่าช่วงนั้น กังนัมสไตล์โด่งดังไปทั่วโลก ดูแล้วตลกดี เลยคิดว่าน่าลองทำดู ทำกันสนุกๆ” หลังจากคลิปแรก “กำนันสไตล์” ออกมาโดนใจสร้างชื่อให้กลุ่ม “เสือร้องไห้” เป็นที่รู้จักในช่วงเวลา 1 ปี จากนั้นมีการทำคลิปออกมารวมแล้ว 20 คลิป แต่ด้วยความที่ต้องการทำเป็นงานอดิเรก การออกคลิปจึงไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับไอเดียและเวลาว่างเป็นหลัก อย่างล่าสุด ประวัติศาสตร์การแดนซ์ของไทยที่ใช้เวลาแค่ 2-3 วัน “พอปิ๊งไอเดีย ก็เริ่มหาข้อมูลว่ามีเพลงอะไรบ้าง พอพร้อมก็ตั้งกล้องถ่ายทำกันเอง ทำกันง่ายๆ เน้นความสนุกเป็นหลัก คิดมุกเต้นกันสดๆ เดี๋ยวนั้น” หนุ่มทั้งสี่ผลัดกันเล่า และยืนยันว่าถึงแม้จะทำสนุก แต่เพลงที่นำมาใช้มีการจ่ายค่าลิขสิทธิ์ถูกต้องทุกประการ เนื้อหาส่วนใหญ่ของรายการ จะมี 3 ประเภท 1.ล้อเลียนรายการทีวี ละคร 2.เพลงแปลง และ3.งานที่คิดขึ้นใหม่ ในมุมที่แตกต่างไปจากของที่มีอยู่เดิม โดยนำประเด็นที่กำลังอยู่ในกระแสมานำเสนอ เช่น ช่วงที่รายการเดอะวอยซ์ฮิตใหม่ๆ เสือร้องไห้ก็มีคลิปเดอะน้อยซ์ออกมาล้อเลียนให้ฮากัน

 

 

เมื่อคลิปเป็นที่นิยม ทำให้มีแฟนคลับติดตามและถูกทวงถาม จากทั้งคนดูและเจ้าของแบรนด์สินค้ามากขึ้นเรื่อยๆ จึงทำให้ทีมเสือร้องไห้เริ่มคิดทำงานอดิเรกให้เป็นจริงเป็นจัง โดยมีแผนออกคลิปตามผังเวลาที่แน่นอน คือ สองสัปดาห์ครั้ง เพื่อตอบโจทย์คนดูและสปอนเซอร์ แต่ถึงจะได้รับความสนใจจากแบรนด์ต่างๆ ที่มาซื้อโฆษณาในรายการ โดยจะเป็นการ “ไทร์อิน” สินค้าเข้าไปเป็นเนื้อเดียวในรายการอย่างแนบเนียน ไม่ไปกระทบกับเนื้อหาของรายการให้สนุกน้อยลง แต่บ่อยครั้งก็ต้องปฏิเสธสินค้าที่หลั่งไหลเข้ามา “เคยมีช่วงแรกๆ ไปรับสปอนเซอร์เข้ามา จนไม่ใช่ตัวเอง ทำให้สะดุดไปบ้าง หลังจากนั้นมานั่งคุยกัน จะทำเอาสนุกเป็นหลัก ไม่ยัดเยียดโฆษณามากจนเกินไป ดังนั้นแบรนด์ที่เข้ามาต้องเข้าใจในความเป็นเรา ”อรรถพล หรือ โค้ดดี้ ซึ่งมีประสบการณ์จากการทำเอเยนซี่ออนไลน์ จะรับหน้าที่ดูแลเรื่องของธุรกิจ เจรจากับสปอนเซอร์ให้กับรายการ อธิบาย เพื่อหาทางออกเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยยังคงรักษารายการ “เสือร้องไห้” ให้คงความสนุกไว้ รายการ “สแกนเกย์” จึงถูกคิดขึ้นมาเพื่อเป็นทางออกเรื่องของโฆษณาและรายได้ และรองรับกระแสการเติบโตของสื่อโฆษณาในโลกออนไลน์ ที่เพิ่มขึ้นมาหลายเท่าตัว รายการสแกนเกย์ เป็นเกมโชว์ออนไลน์เน้นความสนุก โดยใช้คำพูดที่เป็นกันเอง เน้นเหมือนเพื่อนคุยกัน ใกล้ชิดกับคนดูได้มากกว่า ไม่มีข้อจำกัดเรื่องการนำเสนอ เป็นจุดที่ทำให้รายการออนไลน์ได้รับความสนใจ แตกต่างจากฟรีทีวี ที่จะมีข้อจำกัดมากกว่า โดยใช้ดีเจดัง “เอกกี้” ซึ่งมีทั้งความสนุก เป็นตัวแทนเพศที่ 3 และดูไม่ดูโลว์ มาเป็นพิธีกร รวมทั้งแขกรับเชิญที่เป็นคนดัง ที่รู้จักกันดี “เราต้องการขายความสนุกมากกว่า จะไปพูดเรื่อง ตุ๊ด เรื่องเกย์ เพศที่สามแบบฮาร์ดคอร์ ซึ่งสแกนเกย์จะมีคอมเมอร์เชียลมากกว่าเสือร้องไห้ จะเต็มที่ในเรื่องโฆษณาได้มากกว่า เพราะเวลานี้โฆษณาของออนไลน์เติบโตขึ้นมาก เมื่อก่อนแคมเปญละ 50,000 -1 แสนบาท แต่เวลานี้เพิ่มขึ้น 25-30% เม็ดเงินโฆษณาของออนไลน์ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ เราต้องมีรายการที่ตอบโจทย์ลูกค้าทั้งสองแบบ” อรรถพล หรือ โค้ดดี้ บอก รายการสแกนเกย์เวลานี้แม้จะมีอุปสรรคเรื่องของสปอนเซอร์อยู่บ้าง ที่คิดว่าเป็นรายการเกย์ หรือเพศที่ 3 แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังได้การทาบทามจากบริษัทผู้ผลิตรายการทีวีจากญี่ปุ่น ขอซื้อลิขสิทธิ์ไปผลิตรายการแล้ว ซึ่งเวลานี้อยู่ระหว่างเจรจา ส่วนทีมเสือร้องไห้ มีคนมาติดต่อขอให้ผลิตรายการป้อนฟรีทีวีและดิจิตอลทีวี ซึ่งทั้งสี่ยืนยันว่า ปีหน้าจะเห็นภาพมากขึ้น แต่ยังไงก็ขอทำแบบมีความสุข และสนุก เมื่อนั้นผลตอบแทนจะตามมาเอง เกรียน แบบเฟ็ดเฟ่ อีกหนึ่งรายการที่วัยรุ่นในโลกออนไลน์ให้ความสนใจอยู่ไม่น้อย นั่นคือ “เฟ็ดเฟ่” (FEDFE) รายการบันเทิงที่มีรูปแบบคล้ายกับรายการ “Jackass” ในประเทศสหรัฐอเมริกา ที่มีการทดลองแบบแปลกๆ ดูน่าหวาดเสียว ผสมกับการแกล้งเพื่อนในรูปแบบต่างๆ และใช้คำหยาบคายชนิดที่ว่าต้องสนิทกันจริงถึงเล่นขนาดนี้ได้! และด้วยความฮา ความเกรียน และคำหยาบสารพัดนี่เอง เป็นคอนเทนต์ที่ทำให้เฟ็ดเฟ่โดนใจวัยรุ่นไทยไปเต็มๆ “เราตั้งใจเปิดบริษัทโปรดักชั่นรับทำโซเชียลมีเดีย และสื่อโฆษณาทางอินเทอร์เน็ตโดยเฉพาะเลย เพราะเราดูจากแนวโน้มที่คนส่วนใหญ่หันมาอยู่หน้าคอมพ์มากกว่าหน้าทีวี เลยทำเป็นคลิปตลกๆ เกรียนๆ แกล้งเพื่อนแบบโหดๆ เพราะเห็นว่ายังไม่มีใครทำ เราเลยทำแนวนี้แหละเพื่อเอาใจวัยรุ่น ส่วนชื่อเฟ็ดเฟ่ก็คือเราอยากได้คำที่เป็นวัยรุ่น แต่ไม่ดูหยาบคาย เลยแผลงจากคำสบถของวัยรุ่นคำหนึ่งมาเป็นเฟ็ดเฟ่” ต้า-ลิขิต สิทธิพันธุ์ ผู้บริหาร บริษัท เฟ็ดเฟ่ โปรดักชั่น จำกัด กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของการทำรายการเฟ็ดเฟ่

 

 

ต้าเองก็เป็นหนึ่งในนักแสดงในรายการพร้อมกับทีมงานรวม 10 คน นอกจากจะเป็นผู้ก่อตั้งบริษัทแล้ว ยังเป็นคนดูแลภาพรวมทุกอย่างตั้งแต่โปรดักชั่นการทำรายการ ไปจนถึงการหาสปอนเซอร์เพื่อสนับสนุนรายการ เนื่องจากเฟ็ดเฟ่เป็นอีกหนึ่งรายการที่เข้าถึงกลุ่มวัยรุ่นโดยตรง ทำให้สปอนเซอร์หลายแบรนด์วิ่งเข้าหาโดยไม่ต้องสงสัย เพราะการันตีด้วยยอดวิวเฉลี่ยคลิปละ 200,000 วิว โดยเรตราคาของสปอนเซอร์รายแรกเริ่มต้นที่ 30,000 บาทเท่านั้น แต่วันนี้เฟ็ดเฟ่ได้เดินทางมา 1 ปี 6 เดือน การเข้าถึงกลุ่มวัยรุ่นมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เรตราคาสปอนเซอร์กระโดดขึ้นสูงถึง 500,000 บาท! ส่วนเนื้อหาในรายการไม่ตายตัวเหมือนกันตลอด ส่วนใหญ่จะเป็นการ Tie in สินค้าในคลิปนั้น บางคลิปก็เป็นละครสั้น ส่วนถ้าลูกค้าเป็นเกมออนไลน์ ก็จะจำลองสนามเกมขึ้นมาแล้วทำในสไตล์เฟ็ดเฟ่เหมือนเดิม ลูกค้าที่ผ่านมาของเฟ็ดฟ่มีทั้ง ซีพี, เอปสัน, สีเบเยอร์, เบอร์เกอร์คิง และซัมซุง กาแล็คซี่โน้ต 3 โดยความถี่ในการออกรายการจะอยู่ที่เดือนละ 2 คลิปเท่านั้น แม้ว่าเดือนไหนจะมีสปอนเซอร์ติดต่อมามากกว่านี้ ต้าก็ขอปฏิเสธ เพราะเนื่องจากกระบวนการในการทำแต่ละคลิปต้องใช้เวลา มีขั้นตอนในการตัดต่อทำเบื้องหลังอีก ทำให้ต้องแบ่งเวลาไปกับส่วนนี้ค่อนข้างเยอะ เอเยนซี่ใช้เป็นเครื่องมือสร้างการรับรู้ให้แคมเปญ จิณณ์ เผ่าประไพ กรรมการผู้จัดการร่วมและหุ้นส่วน CJ Worx เอเยนซี่ออนไลน์ มองว่า เวลานี้มีการผลิตรายการออนไลน์ที่เป็นคลิปวิดีโอเกิดขึ้นมามากมาย เนื่องจากความพร้อมของอินเทอร์เน็ต ยิ่งเวลานี้มีบริการมือถือ 3 จีที่เอื้อต่อการดูวิดีโอคลิปผ่านสมาร์ทโฟน แต่การทำรายการให้ประสบความสำเร็จไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเวลานี้มีคลิปใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย ส่วนใหญ่มักจะมาไวไปไว พอแจ้งเกิดแล้วก็หายไปในเวลาอันรวดเร็ว นอกจากรายการวีอาร์โซที่โดนใจคนดูจนติดลมบนไปแล้ว เวลานี้เสือร้องไห้ และเฟ็ดเฟ่ เป็น2 รายการที่กำลังได้รับความนิยมในกลุ่มคนดูที่ชื่นชอบคลิปสนุกๆ เน้นความฮา ซึ่งCJ Worx ก็เลือกลงโฆษณาในสองรายการนี้ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือโปรโมตแคมเปญให้แบรนด์สินค้าที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย คนทำงานรุ่นใหม่ โดยลักษณะของการลงโฆษณาในรูปแบบของการ “ไทร์อิน” (Tie in) สินค้าเข้าไปในรายการ โดยเฟ็ดเฟ่จะมีความเกรียนมากกว่า ในขณะที่เสือร้องไห้จะแมสกว่า ข้อดี นอกจากคนดูเลือกดูได้ตลอด เลือกดูช่วงเวลาไหนก็ได้ ยังช่วยสร้างการรับรู้ (Awareness) ให้กับแคมเปญได้กว้างขึ้น จากฐานแฟนคลับของรายการที่มีอยู่ที่จะมีการแชร์ต่อ “แต่การใช้งานยังเป็นแค่ส่วนหนึ่งของเครื่องมือที่ช่วยในการโปรโมตแคมเปญเท่านั้น ยังไม่ใช่เครื่องมือหลัก ยังต้องมีเครื่องมือการตลาดออนไลน์อื่นๆ ช่วยโปรโมต เช่น เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม โฆษณาแบนเนอร์ มาเป็นส่วนผสมด้วย”