เมื่อ 5 ปีก่อน ครอบครัวเพื่อนสนิทชาวจีนแผ่นดินใหญ่ได้เดินทางมาฮ่องกงครั้งแรก ผู้เขียนประหลาดใจเมื่อสินค้าพวกเขาตั้งใจมาช้อปกระจายไม่ใช่มือถือหรือกระเป๋าหลุยส์ฯ แต่เป็นยาสระผม ครีมทาผิว และสินค้าที่เป็นเครื่องอุปโภคบริโภคแบรนด์ใหญ่ระดับโลกที่เราหาได้ตามห้างฯ ทั่วไป เมื่อสอบถามก็ได้คำตอบว่า พวกเขาเชื่อว่าส่วนใหญ่สินค้าเหล่านี้ที่ผลิตในจีนจะมีสารพิษปนเปื้อน!
ความกลัวของผู้บริโภคเริ่มจากของอุปโภคบริโภคเริ่มจาก “ของใช้” และวันนี้ก็ขยายวงอย่างรุนแรงไปถึง “ของกิน” เพราะตลอดปีที่ผ่านมา ผู้บริโภคจีนต่างรับรู้แต่ข่าวร้ายๆ ไม่ว่าเป็น นมผงปนเปื้อน เนื้อไก่ที่กินอาจจะไม่ใช่ไก่จริงๆ ไข่ สาหร่าย และซาลาเปาปลอม ฯลฯ ข้อมูลเหล่านี้ทำให้ผู้บริโภคจีนผวากับสินค้าอุปโภคบริโภคที่ขึ้นชื่อว่า Made in China จนขึ้นสมอง!
ข้อมูลนี้ก็สอดคล้องกับการวิจัยของหูรุ่นที่ระบุถึง “ดัชนีความสุขของเศรษฐี” (Millionaire Happiness Index) ที่มีทรัพย์สินตั้งแต่ 50 ล้านบาทขึ้นไป โดยพบว่าสิ่งเศรษฐีจีนต้องการมากที่สุดไม่ใช่ ความรัก เวลา หรือความต้องการด้านวัตถุ แต่เป็นการขอแค่มีสุขภาพที่ดี และซึ่งความจริงที่จริงยิ่งกว่าก็คือ คนจีนทุกคนไม่ว่าจะรวยหรือจนก็ต่างคาดหวังที่จะมีสุขภาพดีกันทั้งสิ้น!
ดังนั้นปัญหาวิกฤตความเชื่อด้านอาหารการกินของชาวจีนนี้เอง เป็นที่มาของการเกิดธุรกิจเทรนด์ใหม่ในโลกไซเบอร์ นั่นคือ “ซุปเปอร์มาร์เก็ตออนไลน์ (生鲜电商)” หรือพูดง่ายๆ คือ การนำตลาดสดมาไว้บนเน็ต เพื่อให้คนสั่งซื้อได้จากทั้งเว็บและมือถือ
จากหนังสือ สู่เสื้อผ้า จนมาถึง “ซุปเปอร์มาร์เก็ตออนไลน์”
กูรูกล่าวกันว่าเทรนด์การขายสินค้าออนไลน์ในจีนในวันนี้ก้าวมาถึงยุคที่ 3 แล้ว ที่เริ่มต้นจากการหนังสือ โดยลอกโมเดลมาจากแอมะซอน จนมาถึงสินค้าแฟชั่นอย่างเสื้อผ้า ทั้งสินค้าส่งตรงจากโรงงานเพื่อจับกลุ่มวัยทีนที่เป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดของนักช้อปไซเบอร์ในจีน ล่าสุดคลื่นลูกที่ 3 คือ “อาหารสด” ซึ่งการมาถึงของคลื่นลูกนี้จะยิ่งทำให้ระบบการขายของผ่านเน็ตในจีนบูมเป็นก้าวกระโดด เพราะเป็นการอาหารการกินที่คนทุกเพศทุกวัยต้องการบริโภค และนี่เองจึงทำให้เกิดการคาดการว่าแม้ตลาดซุปเปอร์ฯออนไลน์ในจีนเพิ่งเปิดแค่ปีเดียว แต่ก็เชื่อว่าจะมีมูลค่าถึง 5 แสนล้านบาทในเร็ววันนี้!
ซึ่งตัวเลขนี้ถือว่ามหาศาลเมื่อเทียบกับกำไรต่อชิ้นต่ำ เนื่องจากเป็นอาหารสดที่คนทั่วไปทราบราคาตลาดอยู่แล้ว ทั้งยังมีต้นทุนของการขายและจัดส่งที่สูงกว่าสินค้าอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการขนส่งในห้องเย็น และยังต้องปรับเวลาการส่งให้เร็วยิ่งขึ้นจากวันเป็นชั่วโมง! เพื่อคงความสดใหม่พร้อมรับประทาน
แต่ในมุมร้ายก็มีมุมดี เพราะการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคนั้นเป็นสิ่งตายตัว เมื่อเข้ามาช้อปยังโลกออนไลน์ ฟีเจอร์ของการเก็บประวัติการสั่งซื้อ ทำให้อำนวยความสะดวกในการซื้อซ้ำได้ภายในคลิกเดียว ซึ่งก็ทำให้ประหยัดเวลา (เพราะใครๆ ก็เบื่อที่จะเลือกซื้อสินค้าเดิม แถมยังต่อคิวจ่ายเงินซื้อของที่ซุปเปอร์กันทั้งนั้น) และเพิ่มโอกาสที่จะทำให้ลูกค้าทุกคนกลายเป็นลูกค้าขาประจำได้มากขึ้นอีกด้วย
ฝรั่งกับจีน เหตุที่ซุปเปอร์ฯ ออนไลน์บูมนั้นมันคือหนังคนละม้วน
อันที่จริงเทรนด์ของซุปเปอร์มาเก็ตออนไลน์นั้น ไม่ว่าจะเป็นอเมริกาหรือจีนแผ่นดินใหญ่ก็บูมพร้อมๆ กัน ขอเริ่มที่ฝั่งอเมริกาก่อน โดยยักษ์อี-คอมเมิร์ซอย่างแอมะซอนก็ได้ทำการทดลองขายสินค้าสดออนไลน์ผ่านบริการชื่อว่า แอมะซอนเฟรช มาแล้ว 5 ปี นอกเหนือจากอาหารที่แพงกว่าตลาด 14% แล้ว โมเดลธุรกิจคือการสมัครสมาชิก Amazon Prime Fresh เพื่อจ่ายค่าขนส่งอาหารสดรายปีให้ถึงบ้าน (ปีละ 9,000 บาท) รวมถึงบริการสตาร์ทอัปน้องใหม่ที่การันตีจัดส่งสินค้าจากซุปเปอร์มาเก็ตถึงบ้านภายใน 3 ชั่วโมงอย่าง Instacart
และไม่ว่าบริการไหนในอเมริกา ต่างมีกลุ่มเป้าหมายเหมือนๆ กัน คือ กลุ่มคนมีเงิน ที่เวลาน้อย และไม่อยากขับรถไปไกลเพื่อซื้อของกินของใช้เข้าบ้าน จึงยอมจ่ายแพงกว่าเพื่อคุณภาพและความสบาย
แต่สำหรับที่จีน ประเด็นวิกฤตคุณภาพอาหาร ถือเป็นแรงผลักดันสำคัญให้เกิดบริการซุปเปอร์มาเก็ตออนไลน์ ทั้งที่นำเข้าจากต่างประเทศ และที่ปลูกในประเทศจนผ่านการรับรอง แต่ที่น่าวิตกกว่าก็คือ ผู้บริโภคที่เป็นชนชั้นกลางถึงสูงกล้าที่จะยอมจ่ายค่าอาหารสด ที่การันตีว่าปลอดสารพิษ ทั้งๆ ที่แพงกว่าตลาดทั่วไปตั้งแต่ 40-175%
ฉะนั้นวันนี้ความจริงในจีนวันนี้ก็คือ “อาหาร” ได้กลายเป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงชนชั้นของคนจีนไปเสียแล้ว!
ขาใหญ่ ปรับตัวไว
ที่จีนตลาดไหนมีศักยภาพ แค่กระพริบตาก็กลายเป็นทะเลสีเลือด และวันนี้ตลาดซุปเปอร์มาเก็ตออนไลน์ก็มีขาใหญ่คลุมเต็มไปหมด เริ่มตั้งแต่เว็บค้าสินค้าอุปโภคบริโภคอย่างอี้เฮ้าเตี้ยน (一號店) เว็บอี-คอมเมิร์ซอันดับต้นๆ อย่าง jd.com ก็ต่างพร้อมใจกันเปิดบริการขายของสดออนไลน์กันถ้วนหน้า ไม่ว่าจะเป็นผักสด ผลไม้ และสินค้าเครื่องอุปโภคบริโภคที่เหมือนกับซุปเปอร์มาร์เก็ตทั่วไป แบ่งแยกออกเป็นล็อกให้เลือกคลิกซื้อได้สะดวก และที่ล้ำกว่านั้นก็คือ มีการการันตีที่จะจัดส่งถึงบ้านภายใน 100 นาทีด้วย ซึ่งถือว่าเร็วที่สุดในประวัติของการช้อปสิ้นค้าออนไลน์ของทั่วโลกเลยทีเดียว
ซุปเปอร์มาเก็ตแบบ AR คืออนาคต
ข่าวใหญ่ที่คนในวงการค้าปลีกจีนยากที่จะรับได้คือ ถึงแม้ว่าจีนจะเป็นตลาดที่มีกำลังซื้อมากแต่ร้านค้าปลีกยักษ์ของฝรั่งอย่าง วอล์มาร์ท, คาร์ฟูร์ และ เทสโก้ ในจีนต่างประสบปัญหายอดขายไม่มากอย่างที่คิด และเมื่อคิดหักลบกับระบบบริหารจัดการคลังสินค้า ค่าเช่าที่ น้ำไฟ และค่าแรงงานที่แพงขึ้น ทำให้หลายค่ายต่างพากันที่จะถอนตัวออกจากตลาด โดยรายแรกที่ยอมถอดใจก็คือ คาร์ฟูร์จากฝรั่งเศส
เมื่อรู้ว่าธุรกิจโลกออฟไลน์มีต้นทุนดังที่กล่าวมาสูง โดยเฉพาะกับการค้าปลีกที่กำไรต่อชิ้นต่ำ จึงต้องอาศัยเทคโนโลยีมาช่วยแก้ปัญหา และล่าสุดทางเว็บอี-คอมเมิร์ซที่เป็นเจ้าตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคอย่าง “อี้เฮ้าเตี้ยน” (ที่แม้จะเป็นของคนจีนแต่ก็ได้รับเงินลงทุนจากวอลมาร์ทที่ซื้อหุ้นไปแล้วถึง 51%) ก็ได้หันมาสร้างห้างซุปเปอร์มาร์เก็ตเสมือนจริงผ่านแอปฯ Augmented Reality โดยข้อดีที่ได้เปรียบร้านค้าปลีกในโลกออฟไลน์อย่างยิ่งยวดก็คือ การเลือกทำเลได้ตามชอบใจ เปิดทำการตลอด 24 ชั่วโมง ไม่ต้องจ้างพนักงาน ไม่มีค่าไฟ ไม่มีค่าเช่าที่ ไม่จำกัดขนาดของพื้นที่ อัปเดทสินค้าใหม่ได้ตลอดเวลา
กล่าวคือ ทางทีมงานได้สร้างซุปเปอร์มาร์เก็ตเสมือนจริงในรูปแบบ 3 มิติ โดยเมื่อลูกค้าไป ณ จุดที่ร้านค้าเปิดให้บริการ ก็เพียงเปิดแอปฯ และส่องมือถือไปยังทิศทางที่ถูกต้องก็จะสามารถเข้าไปเลือกซื้อสินค้าต่างๆ ในซุปเปอร์ได้จริงๆ เมื่อช้อปเสร็จก็รอรับของที่บ้านได้ทันที
ดูวิดีโอแนะนำการช้อปซุปเปอร์ผ่านแอปฯ AR ของอี้เฮ้าเตี้ยน ได้ที่นี่
ฟังดูแล้วไอเดียนี้เหมือนเป็นแค่กิมมิกการตลาด แต่หลังจากที่เปิดทำการ ก็พบว่ายอดขายเพิ่มขึ้น 17% ภายใน 3 เดือน โดยเฉพาะสินค้าที่ลด 50% จะขายดีเป็นพิเศษ ซึ่งการเปิดห้างเสมือนจริงที่ต้นทุนถูกมหาศาลนี้เอง ทำให้ทางอี้เฮ้าเตี้ยนวางแผนที่จะเปิดซุปเปอร์ตามใจชอบของตัวเองถึง 1,000 แห่งภายในปีนี้
ถึงตอนนี้การมาถึงของเทรนด์ซุปเปอร์ฯ ออนไลน์ในจีนก็ถูกเฉลยถึงสาเหตุอย่างชัดเจนแล้ว เมื่อมองมาถึงเมืองไทยที่อุดมสมบูรณ์ด้านวัตถุดิบอาหารที่รสชาติดีราคาถูก จึงไม่อาจเร่งดีมานด์ด้านการค้าอาหารสดออนไลน์ได้ แต่กับสินค้าหมวดอื่นๆ จำพวกสินค้าอุปโภคบริโภคนั้นยังมีโอกาสโตอีกมาก เพราะด้วยการเคลื่นย้ายมาสู่คอนโดกลางกรุง การมีบริการส่งตระกร้าที่บรรจุสินค้าต้องใช้จากซุปเปอร์ถึงประตูห้องได้ทุกสัปดาห์ เพียงลูกค้าแค่คลิกออเดอร์ออนไลน์ จุดนี้เชื่อได้ว่าคนเมืองบนตึกระฟ้าย่อมอ้าแขนรับอย่างแน่นอน!