ในสิงคโปร์และมาเลเซียทุกวันนี้มีการจัดงานประชุมนานาชาติบ่อยครั้ง เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวและการลงทุน (อสังหาริมทรัพย์) เป็นอย่างมาก ประเทศไทยก็ควรดำเนินการเช่นนี้ เพื่อการก้าวล้ำหน้า และไม่ถูกใครแซง อันจะทำให้มวลประชาชาติไทยตกเป็นเบี้ยล่างชาติอื่น
ในระหว่างวันที่ 20-22 มีนาคม 2556 นี้ ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส ได้ไปเป็นวิทยากรและเข้าร่วมการประชุมและนิทรรศการอสังหาริมทรัพย์เอเชียแปซิฟิก ประจำปี 2556 ณ โรงแรมมารินา เบย์ แซนด์ ประเทศสิงคโปร์
งานนี้ริเริ่มจัดโดยสมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์สิงคโปร์ ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ในประเทศสิงคโปร์และในภูมิภาคเอเชียและอื่นๆ โดยมีผู้เข้าร่วมประมาณ 400 คน จาก 16 ประเทศทั่วโลก ถือเป็นงานที่จัดขึ้นเพื่อกระตุ้นการลงทุนทั้งด้านอสังหาริมทรัพย์และอื่นๆ ในประเทศสิงคโปร์ส่วนหนึ่ง และอีกส่วนหนึ่งเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศนี้ด้วย
ดร.โสภณ ได้ไปนำเสนอบทวิเคราะห์เกี่ยวกับการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียน ทั้งนี้ได้นำเสนอประสบการณ์และข้อมูลการสำรวจวิจัยของศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส ซึ่งได้สำรวจตลาดอสังหาริมทรัพย์อาเซียนมาตั้งแต่ พ.ศ.2548 ทั้งในกรุงจาการ์ตา กรุงพนมเปญ กรุงมะนิลา และนครโฮชิมินห์ซิตี้ รวมทั้งล่าสุดได้สำรวจทั่วกรุงกาฏมัณฑุ อีกด้วย
ปัญหาของประเทศไทยที่ผ่านมาก็คือ ปัญหาทางการเมือง ซึ่งทำให้นักท่องเที่ยวหดหายไปเป็นอย่างมาก ผู้ที่ได้ประโยชน์อย่างเต็มที่จากการสูญเสียของประเทศไทยก็คือ แหล่งท่องเที่ยวใกล้เคียงในภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะบาหลี ดังนั้นปรากฏว่าผู้เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวและอสังหาริมทรัพย์ของอินโดนีเซียกล่าวว่า นักท่องเที่ยวในบาหลีมาท่องเที่ยวมากกว่าปกติในปีที่แล้วถึง 30% ซึ่งก็คือเหล่านักท่องเที่ยวที่วางแผนจะมาประเทศไทยนั่นเอง
ประเทศไทยยังมีศักยภาพที่ดีที่จะกลับมาเป็นผู้นำในวงการท่องเที่ยวในภูมิภาคนี้ และขณะนี้การเมืองสงบกว่าแต่ก่อน อย่างไรก็ตามความสงบที่แท้จริงต้องสร้างความยุติธรรมแก่ทุกฝ่าย ไม่เช่นนั้นคงเป็นไปตามคำกล่าวที่ว่า “ยุติธรรมไม่มี สามัคคีไม่เกิด” การเมืองนั้นจึงถือว่ามีผลต่ออสังหาริมทรัพย์อย่างชัดเจนในแง่นี้ ซึ่งทุกฝ่ายคงต้องเร่งดำเนินการให้เกิดสมานฉันท์ที่แท้จริงในประเทศไทย
การประชุมแบ่งเป็นหลายระดับ ระดับแรกก็เป็นในภูมิภาคซึ่งมักจัดเป็นรายปี เช่น การประชุมนักประเมินอาเซียน (AVA: ASEAN Valuers Association) การประชุมของสมาคมอสังหาริมทรัพย์นานาชาติในภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก (FIABCI Asia Pacific) และการประชุมของสมาคมระดับชาติที่เชิญชวนพันธมิตรในภูมิภาคเข้าร่วมเป็นต้น
การประชุมระดับทวีป มักจัดเป็นรายปีเช่นกัน ได้แก่ Pacific Rim Real Estate Society (PRRES) สมาคมแบบนี้มีในทวีปอาฟริกา เอเชีย ยุโรป อเมริกาด้วย โดยย่อเป็น AfRES, AsRES, ERES, ARES และนานๆ ครั้งจะรวมกันจัดเป็น IRES หรือ International Real Estate Society
สำหรับการจัดประชุมระดับโลกนั้นมีหน่วยงานหลัก ๆ ที่ดำเนินการทุกปีก็เช่น FIABCI หรือ MIPIM ซึ่งมีลักษณะเชิงการค้าสูงมาก (คนเข้าร่วมงานมหกรรมทุกคนต้องเสียค่าลงทะเบียนคนละ 60,000 บาท), World Valuation Congress ซึ่งเป็นกลุ่มนักวิชาชีพประเมินค่าทรัพย์สิน แต่รายหลังนี้จัดทุกสองปี และ FIG ชื่อย่อตามภาษาฝรั่งเศสว่า (Federation of Surveyors) ซึ่งใหญ่กว่า RICS (Royal Institution of Chartered Surveyors) ของสหราชอาณาจักรมาก แต่จัดงานใหญ่เพียง 4 ปีหน
นอกจากนี้ยังมี หน่วยงานระดับประเทศแต่ใหญ่มาก จัดงานประชุมนานาชาติ เช่น National Association of Realtors (สหรัฐอเมริกา) ซึ่งมีสมาชิก 1.5 ล้านคน, Appraisal Institute, International Association of Assessing Officers ทั้งสามแห่งนี้อยู่ในสหรัฐอเมริกา, RICS (สหราชอาณาจักร) และ Australian – New Zealands Property Institute แต่กลุ่มเหล่านี้ก็ค่อนข้างแคบเฉพาะในวิชาชีพตน
รูปแบบที่ไทยเราควรดำเนินการนั้น ไทยเราก็สามารถจัดงานระดับโลกได้ เราสามารถเชิญผู้เชี่ยวชาญระดับโลกมาเป็นกรรมการจัด เชิญองค์กรต่างๆ ที่สนใจมาร่วมเป็นเจ้าภาพโดยไม่ยาก ส่วนรูปแบบที่ควรทำประกอบด้วยการการประชุมและการจัดมหกรรมหรือนิทรรศการ
ในส่วนของการประชุม เราสามารถเชิญผู้เชี่ยวชาญสำคัญ หรือแบบอย่างความสำเร็จ (Best Practices) ทั่วโลกที่มักที่การประกวดกันเสมอมาร่วมได้ และการที่เราจัดแบบครบองค์รวมทั้งนายหน้า นักประเมิน นักพัฒนาที่ดิน สถาบันการเงินที่เกี่ยวข้องฯลฯ การประชุมจะมีรสชาติมากขึ้น ไม่แห้งๆ ดาดๆ การให้รางวัลการนำเสนอดีเด่น ก็อาจเป็นตัวช่วยสำคัญให้ได้ผู้เข้าร่วมที่มีคุณภาพจริงๆ
ในส่วนของนิทรรศการนั้น มีแบบอย่างที่ดีที่สุด 2 งานก็คือ Valuation 2000 ที่เอาหน่วยงานทั้งประเมินและอื่น ๆ ทั่วโลกมารวมกัน ณ เมืองลาสเวกัส ในปี 2543 งานนั้นค่าบูธ ถูกมาก สามารถเชิญองค์กรต่าง ๆ มาได้มากมาย การยิ่งมีคนมาร่วมแสดงผลงานมากเท่าไร ก็ยิ่งจะดึงดูดผู้เข้าร่วมได้มากเท่านั้น
ส่วนอีกงานที่ดีก็คือ MIPIM ที่เมืองคานส์ทุกปี ซึ่งเป็นการเชิญทั้งเมือง เทศบาล หน่วยงานท้องถิ่น สถาบันการเงินใหญ่ทั่วโลก และนักวิชาชีพที่เกี่ยวข้องมาออกงานเพื่อเชิญชวนให้เกิดการลงทุน ในกรณีนี้เรามีเมืองที่น่าลงทุนมากมาย ประเทศในภูมิภาคนี้ เช่น อินโดจีน ตะวันออกกลาง ก็อยากหานักลงทุนทั้งนั้น การจัดแบบ “นัดพบ” เช่นนี้ย่อมจะดึงดูดให้ผู้คนหลั่งไหลมาร่วมงานมากขึ้น
สิ่งที่จะได้จากการจัดประชุมนานาชาตินั้น ประการสำคัญที่จะได้ก็คือ การที่มีนักลงทุน นักวิชาชีพจากทั่วโลกเดินทางเข้ามา จะเป็นการที่ทำให้เขาเห็นศักยภาพของประเทศเรา ระหว่างมาก็ยังเกิดการจับจ่ายมากมาย และผลจากการลงทุนตามมาก็จะยังมีอีกมาก ถ้าเรามีความมุ่งมั่นร่วมกันสร้างสรรค์เราก็ย่อมจะประสบความสำเร็จเพื่อประเทศชาติได้ในที่สุด