ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) ร่วมกับบริษัทรถไฟเจอาร์ คิวชู และสตูดิโอออกแบบ ดง ดีไซน์ แอซโซซิเอทส์ (DDA) ภายใต้การสนับสนุนจากองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น กรุงเทพฯ (JETRO, Bangkok) จัดนิทรรศการ “รถไฟสายความสุข…เศรษฐกิจใหม่จากรางสู่เมือง” เผยเคล็ดลับพลิกวิกฤตเป็นความสำเร็จด้วยงานออกแบบและบริการที่มีเอกลักษณ์ โดยนำเสนอกรณีตัวอย่างของบริษัทรถไฟเจอาร์ คิวชูที่เคยประสบภาวะขาดทุน แต่ภายหลังกลับมามีกำไรและมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก
อภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล ผู้อำนวยการศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ เปิดเผยว่า “กิจกรรมนี้เป็นผลสืบเนื่องจากการเดินทางไปศึกษาดูงานด้านการสร้างสรรค์มูลค่าจากรถไฟความเร็วสูง ณ ประเทศญี่ปุ่นของคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) โดยส่วนหนึ่งเป็นการเยี่ยมชมนิทรรศการรถไฟของบริษัทรถไฟคิวชู ทำให้ได้เห็นตัวอย่างของการใช้ความคิดสร้างสรรค์ในออกแบบรถไฟและบริการในเส้นทางต่างๆ ซึ่งช่วยพลิกฟื้นธุรกิจของบริษัทรถไฟเจอาร์ คิวชู ที่เคยขาดทุนให้กลับมามีกำไรและมีชื่อเสียงโด่งดังอีกครั้ง กยอ.จึงได้ประสานกับศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบให้ทาบทามบริษัทรถไฟเจอาร์ คิวชู นำนิทรรศการมาจัดแสดงในกรุงเทพฯ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้สนใจได้เรียนรู้รูปแบบธุรกิจของบริษัทรถไฟเจอาร์ คิวชู ที่นำงานออกแบบมาประยุกต์ใช้ทั้งด้านกายภาพและงานบริการ จนส่งผลให้ธุรกิจมีผลประกอบการที่ดีขึ้นเป็นลำดับ นับเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของความสำเร็จของกลยุทธ์เศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่ประเทศไทย ซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างการลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูง อาจนำมาปรับใช้ได้”
นิทรรศการ “รถไฟสายความสุข…เศรษฐกิจใหม่จากรางสู่เมือง” นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการออกแบบรถไฟและบริการในเส้นทางต่างๆ อย่างมีเอกลักษณ์ บนฐานของแนวคิดการสร้างสรรค์มูลค่าจากทรัพยากรที่มีอยู่ ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาการอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในพื้นที่อย่างยั่งยืน โดยเนื้อหานิทรรศการแบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลักๆ ได้แก่ ส่วนที่หนึ่ง “เศรษฐกิจใหม่จากรถไฟ” จะเป็นการถ่ายทอดเรื่องราวเกี่ยวกับเกาะคิวชู รวมทั้งประวัติความเป็นมาของบริษัทรถไฟเจอาร์ คิวชู ตลอดจนความสำเร็จในการบริหารจัดการ ผ่านการสร้างเอกลักษณ์ในงานบริการเพื่อประสบการณ์การเดินทางที่น่าประทับใจ และส่วนที่สอง “รถไฟสายความสุข” นำเสนอรายละเอียดผลงานการออกแบบทั้งหมดของนักออกแบบชาวญี่ปุ่นชื่อ เอย์จิ มิโตโอกะ ที่ทำให้กับเจอาร์ คิวชู ตั้งแต่ขบวนรถไฟแบบต่างๆ ทั้งภายนอกและภายใน การปรับปรุงอาคารสถานีรถไฟ เครื่องแบบพนักงาน สัญลักษณ์ประจำเส้นทางรถไฟ สื่อประชาสัมพันธ์ ฯลฯ การนำเสนอเนื้อหาในส่วนนี้จะอยู่ในรูปแบบภาพวาดลายเส้นที่มีความเฉียบคมและสีสันสดใส และการจัดแสดงวัสดุตกแต่งรถไฟที่ใช้งานจริง ทั้งเก้าอี้โดยสารและตัวอย่างผ้าบุที่นั่งรถไฟ เป็นต้น
“ความน่าสนใจของนิทรรศการครั้งนี้ คือ ปรัชญาในการออกแบบของมิโตโอกะที่มุ่งเน้นให้ผู้ใช้งานรถไฟเป็นศูนย์กลาง โดยคำนึงถึงความสะดวกสบายของผู้ใช้งานเป็นหลัก นอกจากนี้ยังคำนึงถึงเอกลักษณ์ของท้องถิ่นด้วยการผสมผสานความเป็นพื้นบ้าน ทั้งในแง่วัฒนธรรมและวัสดุ เข้ากับเทคโนโลยีทันสมัย แล้วนำเสนอผ่านบริการด้านการรถไฟได้อย่างเยี่ยมยอด ซึ่งไม่เพียงสร้างผลประกอบการที่ดีให้กับบริษัท แต่ยังเป็นการเชื่อมโยงชุมชนท้องถิ่นให้เข้ามามีส่วนร่วมไปกับการพัฒนารถไฟในฐานะที่เป็นการคมนาคมที่สะดวกสบาย และการพัฒนาผู้ประกอบการในท้องถิ่นทั้งในกลุ่มการเกษตรและการท่องเที่ยวให้มีรายได้และนำไปสู่การพัฒนาท้องถิ่นเพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีให้แก่ผู้มาเยือน”
ผู้สนใจสามารถเข้าชมนิทรรศการ “รถไฟสายความสุข…เศรษฐกิจใหม่จากรางสู่เมือง” ได้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ณ ห้องนิทรรศการ 2 ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) ระหว่างวันที่ 16 มีนาคม – 26 พฤษภาคม 2556 เวลา 10.30 – 21.00 น. (ยกเว้นวันจันทร์) หรือสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เคาน์เตอร์ประชาสัมพันธ์ 02-664-8448 ต่อ 213, 214 หรือดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.tcdc.or.th