สินเชื่อส่วนบุคคลที่ปรากฏในรายงานฉบับนี้ มาจากฐานข้อมูลสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับของ ธปท. ซึ่งหมายถึงเฉพาะสินเชื่อเงินสดอเนกประสงค์ที่ไม่มีทรัพย์สินค้ำประกัน และไม่มีการระบุวัตถุประสงค์การกู้ยืม ทั้งนี้ สัดส่วนของสินเชื่อส่วนบุคคลในที่นี้คิดเป็นเพียง 8.8% ของสินเชื่อรายย่อยเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคล ที่มียอดรวมทั้งสิ้น 2.86 ล้านล้านบาท (ส่วนใหญ่ประมาณ 45% เป็นสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย และ 28% เป็นสินเชื่อเพื่อเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์)
ในปี 2555 สินเชื่อส่วนบุคคล เร่งตัวขึ้นสูงสุดในรอบ 6 ปีที่ผ่านมา ทั้งในมิติจำนวนบัญชี และยอดสินเชื่อคงค้าง ด้วยอัตราเติบโต 10.8% และ 18.0% YoY ตามลำดับ สู่ระดับ 9.88 ล้านบัญชี และมียอดสินเชื่อคงค้าง ณ สิ้นปี 2555 จำนวน 2.515 แสนล้านบาท จากปัจจัยสนับสนุนทั้งด้านความต้องการสินเชื่อเพื่อซ่อมแซมที่อยู่อาศัยที่ได้รับผลกระทบจากมหาอุทกภัยในปลายปี 2554 และที่เป็นผลสืบเนื่องจากมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของรัฐบาล ประกอบกับด้านอุปทานสินเชื่อโดยเฉพาะในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ไทย ที่ได้หันมาดำเนินนโยบายการตลาดเชิงรุกมากขึ้น เนื่องจากเห็นโอกาสการขยายฐานลูกค้าที่เพิ่มขึ้น ตามอำนาจซื้อของประชาชนที่เพิ่มขึ้นจากการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการและค่าจ้างขั้นต่ำ
เมื่อพิจารณาสัดส่วน NPLs ต่อสินเชื่อส่วนบุคคลในปี 2555 พบว่ายังคงอยู่ในระดับไม่เกินค่าเฉลี่ยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2551-2555) ที่ระดับ 3.00% อย่างไรก็ตาม จำนวนหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ของสินเชื่อส่วนบุคคลในปี 2555 ที่ปรับเพิ่มขึ้น 28.1% YoY นั้น เป็นการโตตามการขยายตัวในอัตราเร่งของพอร์ตสินเชื่อส่วนบุคคล อีกทั้งบางส่วนยังเป็นผลกระทบจากเหตุการณ์มหาอุทกภัยในปี 2554 ซึ่งส่งผลถึงตัวเลขหนี้เสียในปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม เมื่อคำนึงถึงการก่อหนี้ของครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากการซื้อสินทรัพย์กึ่งถาวรมูลค่าสูง อาทิ รถยนต์ บ้าน ท่ามกลางความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่ยังคงอยู่ ทำให้คุณภาพหนี้ของสินเชื่อส่วนบุคคลเป็นประเด็นที่ต้องติดตาม
แนวโน้มสินเชื่อส่วนบุคคลในปี 2556 : ขยายตัวอย่างระมัดระวัง ท่ามกลางสัญญาณเตือนจากทางการ
ภาพรวมแนวโน้มธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลในปี 2556 คาดว่าจะขยายตัวในอัตราชะลอลงมาที่ระดับ 9-13% คิดเป็นยอดคงค้างสินเชื่อรวม 2.75-2.85 แสนล้านบาท โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีมุมมองว่าแม้ความต้องการสินเชื่อในปีนี้ จะยังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากผลของมาตรการรัฐในการกระตุ้นเศรษฐกิจและเพิ่มอำนาจซื้อให้ประชาชนในปี 2555 โดยที่ผลของมาตรการบางส่วนยังส่งผลต่อเนื่องมายังปี 2556 แต่การส่งสัญญาณเตือนของ ธปท. เกี่ยวกับการเร่งระดับขึ้นของหนี้ครัวเรือน รวมถึงขอความร่วมมือจากธนาคารพาณิชย์ ให้ลดการโฆษณาประชาสัมพันธ์เพื่อส่งเสริมการก่อหนี้ของลูกหนี้รายย่อย คาดว่าจะส่งผลโดยตรงต่อผู้ให้บริการสินเชื่อในการกำหนดแนวทางการขยายพอร์ตสินเชื่อส่วนบุคคลอย่างระมัดระวังมากขึ้น
โดยสรุปแล้ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การบริหารจัดการความเสี่ยงที่เหมาะสม ประกอบกับภาวะการณ์เศรษฐกิจในปี 2556 นี้ จะมีส่วนสำคัญในการกำหนดแนวทางการแข่งขันด้านการขยายสินเชื่อส่วนบุคคล โดยคาดว่า ผู้ให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคล คงจะมุ่งเน้นการรักษาฐานลูกค้าเดิมที่มีประวัติดี ทั้งด้วยการจัดโปรโมชั่นพิเศษสำหรับลูกค้าเก่า เช่น อัตราดอกเบี้ยที่จูงใจ หรือในรูปคะแนนสะสมเพื่อแลกของกำนัล ส่วนการขยายฐานลูกค้าใหม่นั้น คาดว่าจะมีความเข้มงวดในเรื่องคุณสมบัติลูกหนี้เพิ่มขึ้น ซึ่งน่าจะส่งผลให้การแข่งขันเรื่องราคาหรือการลดอัตราดอกเบี้ยเป็นการทั่วไปในปีนี้ น่าจะลดน้อยลง แต่จะหันไปเน้นการทำการตลาดในรูปแบบอื่น ๆ เช่น การส่งเสริมการขายพิเศษสำหรับลูกค้าเฉพาะกลุ่ม (Selective Customers) เป็นต้น
ด้วยกระบวนการเฝ้าระวังความเสี่ยงอย่างใกล้ชิดมากขึ้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เชื่อว่าน่าจะส่งผลดีต่อภาพรวมธุรกิจ ในการควบคุมระดับหนี้เสียให้ไม่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเกินขีดความสามารถในการบริหารจัดการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศในปีนี้ ยังคงสามารถขยายตัวได้ต่อเนื่อง ในขณะที่เงินเฟ้อก็ไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้นมาก จนกระทบต่อกำลังซื้อของครัวเรือนในวงกว้าง รวมถึงอัตราดอกเบี้ยที่ทรงตัว ก็น่าจะเป็นปัจจัยที่ช่วยประคับประคองความสามารถในการชำระหนี้ ให้ยังคงอยู่ในระดับที่ไม่น่ากังวลนัก