ทีมหุ่นยนต์กู้ภัยไทย (Robocup Rescue) iRAP_Furious มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือสร้างชื่อก้องโลกอีกครั้ง ทวงคืนแชมป์โลก ให้ประเทศไทยได้สำเร็จในการแข่งขันหุ่นยนต์ชิงแชมป์โลก World RoboCup 2013 ที่เมืองไอน์โฮเวน ประเทศเนเธอร์แลนด์ พร้อมทีมจากเทคโนโลยีราชมงคล และอาชีวะฯ คว้าอันดับ 2 ร่วมกัน ส่วนประเภทหุ่นยนต์เพื่อนอัจฉริยะ (RoboCup @Home) ทีม Skuba ทำคะแนนรวมได้อันดับ 8 ทีมดงยาง อันดับที่ 11 และทีม TRCC อันดับที่ 13
นางวีนัส อัศวสิทธิถาวร ผู้อำนวยการสำนักงานสื่อสารองค์กร เอสซีจี ในฐานะผู้สนับสนุนการแข่งขันหุ่นยนต์ชิงแชมป์ประเทศไทย ร่วมกับสมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ทีมเยาวชนไทย ไอราฟ ฟิวเรียส (iRAP_ Furious) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ สามารถคว้าแชมป์โลกหุ่นยนต์กู้ภัยได้อย่างสมศักดิ์ศรี ทวงคืนแชมป์โลกให้ประเทศไทยได้สำเร็จเป็นสมัยที่ 7 ในเวทีหุ่นยนต์กู้ภัยระดับโลก และทีม สเตบิไลซ์ (Stabilize) จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนครครองอันดับ 2 ร่วมกับทีม โอวีอีซี_ซุ้มกอ (OVEC_ Soomkor) จากคณะกรรมการการอาชีวะศึกษา โดยทีม iRAP_Furious ยังสามารถคว้ารางวัลพิเศษสมรรถนะการขับเคลื่อนหุ่นยนต์ยอดเยี่ยมมาครองได้อีกด้วย การแข่งขันครั้งนี้ เอสซีจีรู้สึกยินดีและชื่นชมในความสามารถของทีมเยาวชนไทยทั้ง 3 ทีมเป็นอย่างยิ่ง ที่สามารถเอาชนะทีมต่างชาติที่มีเทคโนโลยีก้าวหน้าอย่างเช่น อังกฤษ อเมริกา ญี่ปุ่น จีน และเยอรมันได้อย่างสวยงาม
ส่วนการแข่งขันประเภทหุ่นยนต์ทำงานบ้าน RoboCup@Home สรุปผลคะแนนรวม ทีม Skuba จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทำคะแนนเป็นที่ 8 ส่วนทีมดงยาง จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ทำคะแนนได้ที่ 11 และทีม TRCC จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ทำคะแนนเป็นที่ 13 สำหรับทีมชนะเลิศในการแข่งขัน RoboCup@Home ได้แก่ ทีมนิมโบร จากประเทศเยอรมัน อันดับ 2 ทีมไลท์อีเกิล จากประเทศจีน
“ถึงแม้เด็กไทยจะไม่สามารถคว้าแชมป์ในประเภท RoboCup@Home ได้ แต่เราทุกคนเห็นถึงความตั้งใจอย่างเต็มเปี่ยมของน้องๆ ทุกคน การที่น้องๆ ได้แลกเปลี่ยนความรู้ พบเห็นเทคโนโลยีใหม่ๆ จากทั่วทุกมุมโลก ถือว่าเป็นประสบการณ์ที่ล้ำค่ายิ่ง ที่น้องๆ จะสามารถนำกลับบ้านมาพัฒนาและฝึกฝนต่อไป และเราเชื่อว่าในปีต่อไป น้องๆ จะกลับมาชิงชัยด้วยความมั่นใจเต็มเปี่ยมอีกครั้ง พวกเราทุกคนจะเป็นกำลังใจให้ค่ะ” นางวีนัส กล่าวเสริม
ผศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ ที่ปรึกษาอาวุโสสมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า การแข่งขันรอบชิงขนะเลิศวันนี้แสดงถึงศักยภาพของเยาวชนไทยอย่างแท้จริง สิ่งสำคัญที่ทำให้เยาวชนไทยทั้ง 3 ทีม ทำคะแนนอยู่ในอันดับต้นๆ และสามารถเอาชนะทีมต่างชาติได้ คือ การเตรียมความพร้อมสำหรับการแข่งขันอย่างเต็มที่ การแข่งขันมีความยากและซับซ้อนขึ้นทุกปี ซึ่งสิ่งที่น่ายินดีในการแข่งขันปีนี้คือการเกิดการร่วมมือกันทางด้านวิชาการระหว่างมหาวิทยาลัยของไทยและเยอรมันซึ่งเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และก่อให้เกิดเน็ตเวิร์คที่เหนี่ยวแน่นทางด้านการพัฒนาหุ่นยนต์ให้มีความเจริญก้าวหน้าและสามารถต่อยอดไปสู่การใช้งานจริงต่อไป
ผศ.ดร.จักรกฤษณ์ กล่าวต่อไปว่า มีมติจากคณะกรรมการ World Robo Cup ให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพการแข่งขัน World RoboCup 2015 สำหรับการแข่งขันในปีหน้าจะจัดขึ้นที่เมืองปาราอีบา ประเทศบราซิล
World RoboCup เป็นการแข่งขันหุ่นยนต์ระดับโลก จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 17 แบ่งการแข่งขันออกเป็น 6 ประเภท ได้แก่ ฟุตบอลหุ่นยนต์ (RoboCup Soccer) หุ่นยนต์กู้ภัย (RoboCup Rescue) หุ่นยนต์ทำงานบ้าน (RoboCup@Home) หุ่นยนต์ระดับเยาวชนอายุไม่เกิน 18 ปี (RoboCup Junior) หุ่นยนต์ขนส่งสินค้า (RoboCup Sponsored – Logistic League by FESTO) และ หุ่นยนต์ช่วยงานอุตสาหกรรม (RoboCup@Work) โดยปีนี้การแข่งขัน World RoboCup 2013 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 26-30 มิถุนายน 2556 ที่เมืองไอน์โฮเวน ประเทศเนเธอร์แลนด์ มีผู้สมัครเข้าแข่งขันรวมทุกประเภทกว่า 2,500 คน จากกว่า 40 ประเทศทั่วโลก มีผู้สมัครเข้าแข่งขันในประเภทหุ่นยนต์กู้ภัย (RoboCup Rescue) ทั้งหมด 18 ทีมจาก 11 ประเทศทั่วโลก ได้แก่ ออสเตรีย จีน เยอรมัน กรีซ อิหร่าน ญี่ปุ่น เม็กซิโก อังกฤษ อเมริกา โปรตุเกส และไทย โดยเอสซีจีสนับสนุนทีมเยาวชนไทย คือ ทีม Stabilize จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร (แชมป์ Thailand Robot Championship 2012 ประเภทการแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัย และปี 2555 ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 และรางวัลหุ่นยนต์ที่มีศักยภาพในการเคลื่อนไหวยอดเยี่ยม หรือ Best Mobility Award จากการแข่งขัน World RoboCup 2012 เมืองเม็กซิโกซิตี้ ประเทศเม็กซิโก) ส่วนการแข่งขันหุ่นยนต์ทำงานบ้าน (RoboCup@Home) มีทีมเข้าแข่งขันทั้งหมด 21 ทีม จาก 8 ประเทศทั่วโลก ได้แก่ ชิลี จีน เยอรมัน อิหร่าน ญี่ปุ่น เม็กซิโก เนเธอร์แลนด์ และไทย โดยเอสซีจีสนับสนุน 2 ทีมเยาวชนไทย คือ ทีมดงยาง จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และทีม TRCC จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (2 ทีมแชมป์ Thailand Robot Championship 2012 ประเภทการแข่งขันหุ่นยนต์เพื่อนอัจฉริยะ) เข้าร่วมการแข่งขัน