ปตท. ให้ สามมิตร กรีนพาวเวอร์ ใช้เทคโนโลยี PTT DIESEL CNG ทางเลือกใหม่ในการหยัดพลังงาน

บรรลุข้อตกลงนำเทคโนโลยีชุดอุปกรณ์ PTT DIESEL CNG ประกอบในรถกระบะดีเซลพร้อมออกสู่ตลาด เน้นประหยัดก๊าซมากยิ่งขึ้น วิ่งได้ไกลกว่า สมรรถนะสูงเท่าดีเซล

วันที่ 25 กรกฎาคม 2556 เวลา 14.00 น. ที่ อาคารสำนักงานใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานใน “พิธีลงนามในสัญญาอนุญาตให้ใช้เทคโนโลยีชุดอุปกรณ์ PTT DIESEL CNG และ บันทึกความเข้าใจในโครงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี PTT DIESEL CNG สำหรับรถยนต์ดีเซลขนาดเล็กรุ่นใหม่” ระหว่างบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) โดย นายวิจิตร แตงน้อย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สถาบันวิจัยและเทคโนโลยี ปตท. และ บริษัท สามมิตร กรีนพาวเวอร์ จำกัด โดย นายสุรยุทธ์ โพธิ์ศิริสุข กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สามมิตร กรีนพาวเวอร์ จำกัด

นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ความร่วมมือกันของทั้งสองบริษัทนี้สอดคล้องตามแผนอนุรักษ์พลังงาน ปี พ.ศ. 2554 – 2573 (20 ปี) ของ กระทรวงพลังงานที่มีเป้าหมายลดระดับการใช้พลังงานต่อผลผลิตลงร้อยละ 25 ในปี 2573 เมื่อเทียบกับปี 2553 โดยใช้ยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนแผนสู่การปฏิบัติด้วยการมุ่งเน้นเพิ่มการพึ่งพาตนเอง และโอกาสเข้าถึงเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพสูงมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยให้เกิดการประหยัดพลังงานได้อย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึงประมาณ 130 ล้านตันต่อปี คิดเป็นมูลค่าการประหยัดค่าใช้จ่ายพลังงานได้ถึง 707,700 บาทต่อปี นอกจากนั้นยังได้ส่งเสริม ในภาคการผลิต การใช้ ตลอดจนการวิจัยและพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกไปควบคู่กันด้วย โดยตั้งเป้าหมายให้สามารถทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิลได้อย่างน้อยร้อยละ 25 ภายใน 10 ปี ซึ่งจะทำให้ประชาชนและประเทศได้รับประโยชน์สูงสุด โดยประชาชนสามารถลดค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิงและพลังงานได้อย่างมาก ในขณะที่ประเทศสามารถลดการนำเข้าพลังงาน ทำให้ลดการสูญเสียเงินตราต่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ และประเทศมีความมั่นคงทางด้านพลังงานมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญในการช่วยขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจให้แก่ประเทศ

นายวิจิตร แตงน้อย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สถาบันวิจัยและเทคโนโลยี ปตท. เปิดเผยว่า ปตท. และ สามมิตร กรีนพาวเวอร์ ได้ร่วมกันนำเทคโนโลยีใหม่ของ สถาบันวิจัยและเทคโนโลยี ปตท. ในการใช้ก๊าซธรรมชาติร่วมกับน้ำมันดีเซลแบบเชื้อเพลิงร่วมสำหรับรถยนต์ดีเซลขนาดเล็กหรือรถยนต์กระบะดีเซล โดยใช้ชื่อว่า “เทคโนโลยีชุดอุปกรณ์ PTT DIESEL CNG” มาพัฒนาขยายผลสู่เชิงพาณิชย์ ตั้งแต่ปลายปี 2555 ซึ่งล่าสุดประสบผลสำเร็จในการนำเทคโนโลยีชุดอุปกรณ์ PTT DIESEL CNG สู่สายการผลิตชิ้นส่วน นำไปประกอบติดตั้งในรถยนต์กระบะดีเซลพร้อมออกสู่ตลาด

ทั้งนี้ ชุดอุปกรณ์ PTT DIESEL CNG จะช่วยให้รถยนต์ที่ใช้ก๊าซธรรมชาติร่วมกับน้ำมันดีเซลมีประสิทธิภาพการใช้พลังงานและสมรรถนะสูงเทียบเท่าเครื่องยนต์ดีเซล นอกจากนี้ยังสามารถทดแทนการใช้น้ำมันได้ถึง 70% ในการใช้งานนอกเมืองและจะลดความสิ้นเปลืองในการใช้ก๊าซธรรมชาติลงได้ครึ่งหนึ่ง เมื่อนำไปใช้ทดแทนรถยนต์กระบะเบนซินที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง อีกทั้งยังวิ่งได้ระยะทางไกลกว่า ต่อการเติมก๊าซธรรมชาติแต่ละครั้ง นอกจากนั้น PTT DIESEL CNG ยังเป็นนวัตกรรมที่คิดค้นโดยนักวิจัย ปตท. นับเป็นนวัตกรรมที่มีคุณภาพ ช่วยประหยัดพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีความปลอดภัยตามมาตรฐานสากล รวมทั้งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

นายสุรยุทธ์ โพธิ์ศิริสุข กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สามมิตร กรีนพาวเวอร์ จำกัด กล่าวว่า การลงนามสัญญาร่วมกับ ปตท. ในครั้งนี้ นับเป็นก้าวสำคัญของความร่วมมือในการนำเทคโนโลยีด้านพลังงานของ ปตท. ไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานให้เกิดประโยชน์สูงสุดและเป็นทางเลือกใหม่ที่คุ้มค่าสำหรับผู้บริโภค โดย สามมิตร กรีนพาวเวอร์ เข้ามามีส่วนร่วมกับ ปตท. ในการพัฒนาเทคโนโลยีชุดอุปกรณ์ PTT DIESEL CNG โดยนำไปติดตั้งในรถกระบะก้านกล้วยของบริษัทฯ เพื่อทดสอบประสิทธิภาพการใช้งานจริง ก่อนขยายผลในเชิงพาณิชย์ จากการทดสอบล่าสุดกับรถจำนวน 9 คัน ในเส้นทางจาก อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยาถึงดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่ รวมระยะทาง 856 กม. ด้วยอัตราความเร็ว 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง บรรทุกน้ำหนักขนาด 1 ตัน พบว่าผลการทดสอบเป็นที่น่าพอใจและหลังจากทดสอบประสิทธิภาพของเทคโนโลยี PTT DIESEL CNG จนมีความมั่นใจแล้ว วันนี้ ปตท. และ สามมิตร กรีนพาวเวอร์ จึงมีความพร้อมในการนำเสนอเทคโนโลยีใหม่นี้ให้กับผู้บริโภค ซึ่ง PTT DIESEL CNG นี้จะเป็นก้าวแห่งความสำเร็จในการคิดค้นเทคโนโลยีด้านพลังงานและยังเป็นทางเลือกใหม่ที่ประหยัดพลังงานและคุ้มค่าสำหรับผู้บริโภคด้วย สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สถาบันวิจัยและเทคโนโลยี ปตท. โทร. 0 – 2537 – 3000 ต่อ 8155