การส่งออกของไทยไปจีนในครึ่งแรกของปีหดตัวร้อยละ 3.6 (YoY) โดยมีแรงฉุดจากการส่งออกในช่วงไตรมาส 2/2556 เป็นสำคัญ ซึ่งตลาดจีนในช่วงเวลาดังกล่าวค่อนข้างชะลอตัวด้วยทั้งปัจจัยจากแรงกดดันของเศรษฐกิจโลก รวมไปถึงการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจในประเทศจำกัดให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนในไตรมาส 2/2556 ขยายตัวชะลอลงมาที่ร้อยละ 7.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า (YoY) จากที่ขยายตัวร้อยละ 7.7 (YoY) ในไตรมาสแรก ส่งผลให้เศรษฐกิจจีนในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ขยายตัวร้อยละ 7.6 (YoY)
ขณะที่ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า หากครึ่งหลังของปีนี้การบริโภคและการผลิตในจีนสามารถปรับตัวไปพร้อมกับการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจของทางการจีน รวมถึงดูดซับแรงสนับสนุนจากมาตรการอำนวยความสะดวกทางธุรกิจต่างๆ ของทางการจีน จนกระทั่งเป็นแรงส่งให้กิจกรรมเศรษฐกิจต่างๆในจีนเริ่มกระเตื้องขึ้น การส่งออกของไทยไปจีนในปี 2556 น่าจะเติบโตได้ใกล้เคียงกับค่ากลางที่คาดไว้ที่ร้อยละ 0.7 โดยมีกรอบประมาณการอยู่ที่หดตัวร้อยละ 4.3 ถึงขยายตัวร้อยละ 2.3
ส่งออกไทยไปจีนครึ่งแรกหดตัวร้อยละ 3.6 (YoY)
ต้องยอมรับว่าตลาดจีนในปีนี้คงยากที่จะคาดหวังถึงการขยายตัวในเกณฑ์สูงดังเช่นที่ผ่านมา จะเห็นได้จากการส่งออกของไทยไปจีนชะลอตัวมาตั้งแต่ต้นปีจนกระทั่งหดตัวต่อเนื่องตลอด 3 เดือนที่ผ่านมา ทำให้ครึ่งแรกของปี 2556 หดตัวร้อยละ 3.6 (YoY)
ล่าสุดการส่งออกของไทยไปจีนเดือนมิถุนายนมีมูลค่า 1,901 ล้านดอลลาร์ฯ หดตัวร้อยละ 16.7 (YoY) หดตัวมากขึ้นจากเดือนพฤษภาคมและกลายเป็นการหดตัวมากที่สุดนับตั้งแต่ต้นปี ขณะที่การนำเข้าสินค้าจากจีนในเดือนมิถุนายนมีมูลค่า 2,960 ล้านดอลลาร์ฯ หดตัวร้อยละ 5.1 (YoY)
สินค้าส่งออกส่วนใหญ่ในช่วงเดือนมิถุนายนเติบโตช้าลงอันเกิดจากการชะลอตัวของจีนเองส่งผลต่อการส่งออกของไทยในภาพรวม ขณะที่บางสินค้าเกิดจากปัจจัยเฉพาะด้าน อาทิ สินค้าเกษตรบางรายการหดตัวจากราคาสินค้าที่ปรับตัวลดลงในปีนี้โดยเฉพาะยางพารา สำหรับสินค้าในกลุ่มคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบหดตัวต่อเนื่อง จากการโยกย้ายฐานการผลิตของผู้ประกอบการบางรายในห่วงโซ่การผลิตออกจากจีนหรือไทยไปยังประเทศอื่น อย่างไรก็ดี ยังมีสินค้าส่งออกบางรายการที่ยังเติบโตได้ อาทิ ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ผลิตภัณฑ์ยาง น้ำมันสำเร็จรูป ผลไม้ และวงจรพิมพ์ เป็นต้น
ในช่วงครึ่งหลังของปี การส่งออกของไทยไปจีนอาจเผชิญความท้าทายค่อนข้างมากซึ่งต้องจับตาภาคธุรกิจในประเทศจีนท่ามกลางการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อขับเคลื่อนการบริโภคให้เป็นแกนนำเศรษฐกิจแทนภาคการส่งออกและการลงทุนนับจากนี้ไป ภายใต้แนวโน้มดังกล่าวผู้ส่งออกสินค้าไทยที่มีจีนเป็นตลาดหลักอาจจำเป็นต้องปรับตัวพร้อมรับแนวโน้มข้างหน้าที่การปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจของจีนคงทำให้เศรษฐกิจจีนเติบโตในอัตราที่ช้าลงกว่าในอดีตที่ผ่านมา
เกาะติดความเคลื่อนไหวเศรษฐกิจจีน ความหวังส่งออกไทยไปจีน
ล่าสุดทางการจีนได้มีมาตรการเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งมาตรการต่างๆ น่าจะมีผลช่วยผลักดันเศรษฐกิจในช่วงโค้งสุดท้ายของปีให้เป็นไปในแนวทางที่ดีขึ้นได้ โดยเน้นการช่วยเหลือไปที่ธุรกิจ SMEs เป็นสำคัญ อาทิ
• ขับเคลื่อนธุรกิจขนาดเล็ก ด้วยการช่วยลดต้นทุนทางธุรกิจ โดยทางการจีนงดเว้นการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value – added Tax: VAT) ที่เก็บจากส่วนต่างของราคาวัตถุดิบและต้นทุนของสินค้าที่ผลิต และภาษีธุรกิจ (Turnover tax) ที่เก็บจากรายได้ของธุรกิจ สำหรับธุรกิจขนาดเล็กที่มียอดขายไม่เกิน 20,000 หยวน/เดือน (3,226 ดอลลาร์ฯ/เดือน) มีผลบังคับใช้วันที่ 1 สิงหาคม 2556 นี้ เอื้อประโยชน์ต่อบริษัทขนาดเล็กกว่า 6 ล้านราย และกระตุ้นการจ้างงานและรายได้ให้แก่แรงงานรวมกว่า 10 ล้านคน
• ปรับลดขั้นตอนทางศุลกากรและค่าธรรมเนียมการส่งออก เพื่อสนับสนุนและช่วยเหลือธุรกิจส่งออก ที่เผชิญผลกระทบจากทั้งภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและค่าเงินหยวนที่ในปีนี้เคลื่อนไหวในทิศทางแข็งค่าขึ้น โดยในเดือนมิถุนายน การส่งออกของจีนหดตัวร้อยละ 3.1 (YoY) สูงสุดนับตั้งแต่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลกครั้งล่าสุดในปี 2552
• เพิ่มความคล่องตัวในการทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศ สนับสนุนภาคธุรกิจที่เกี่ยวพันกับต่างประเทศ โดยสำนักงานบริหารเงินตราต่างประเทศ (The State Administration of Foreign Exchange: SAFE) ผ่อนคลายกฎเกณฑ์การควบคุมเงินตราต่างประเทศสำหรับธุรกิจบริการ โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2556 เพื่อช่วยลดภาระแก่ธุรกิจในภาคบริการที่กว่าร้อยละ 88 เป็นธุรกิจขนาดเล็ก โดยปรับลดขั้นตอนและเอกสารที่ใช้ในการอนุมัติแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเพื่อให้เกิดความคล่องตัว นักธุรกิจในภาคบริการสามารถทำธุรกรรมการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศกับธนาคารพาณิชย์ได้โดยตรง การทำธุรกรรมที่มีมูลค่าไม่เกิน 50,000 ดอลลาร์ฯ สามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องยื่นเอกสารการค้าเพื่อขออนุมัติแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ บริษัทที่ทำการค้าขายระหว่างประเทศ สามารถเก็บเงินตราต่างประเทศเอาไว้ในบัญชีในต่างประเทศได้ยาวนานมากขึ้น รวมทั้งการปรับลดความเข้มงวดในการตรวจสอบ จะใช้วิธีสุ่มตรวจเป็นครั้งคราว เพื่อป้องกันความเสี่ยง
นอกจากนี้ ยังมีการลงทุนและปฏิรูปทางเศรษฐกิจที่จะมีผลในระยะยาวด้วย อาทิ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีน ยังคงเป็นมาตรการที่ภาครัฐบาลให้ความสำคัญและดำเนินอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะก่อให้เกิดอานิสงส์ต่อภาคการผลิตและการบริโภคโดยรวม อันจะช่วยทั้งการกระจายรายได้ และเสริมความมั่นคงในเชิงเศรษฐกิจจีนระยะยาว อาทิ ระบบรถไฟ เพิ่มแผนการลงทุนในโครงการก่อสร้างระบบรถไฟ 690 พันล้านหยวน (112 พันล้านดอลลาร์ฯ) ในปีนี้ ซึ่งรวมถึงการซื้อรถไฟ และค่าบำรุงรักษา และก่อสร้างถนนสายหลักรวมถึงถนนในระดับมณฑล ด้วยเงินลงทุน 66.9 พันล้านหยวน (หรือ 10.8 พันล้านดอลลาร์ฯ) ในปี 2556 อันเป็นส่วนหนึ่งของแผนลงทุนเพื่อขยายถนนและการเชื่อมต่อเส้นทางต่างๆ ในช่วงปี 2556 – 2573 ภายใต้วงเงิน 4.7 ล้านล้านหยวน
อย่างไรก็ตาม การดำเนินนโยบายปฏิรูปทางเศรษฐกิจของจีนก็อาจส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจบางส่วน ดังตัวอย่างเช่น มาตรการลดกำลังการผลิตส่วนเกินกระทบ 19 สาขาอุตสาหกรรม เกี่ยวข้องกับ 1,400 บริษัทในจีน บ่งชี้ความมุ่งมั่นในการปรับสมดุลเศรษฐกิจของจีนอย่างแท้จริง ซึ่งจะทยอยบังคับใช้ในเดือนกันยายน และจะครอบคลุมทั้งหมดภายในสิ้นปีนี้ โดยอุตสาหกรรมที่ถูกกระทบเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมหนักที่ผลิตสินค้าจำพวกวัตถุดิบอันก่อให้เกิดมลภาวะและมีกำลังการผลิตเกิน ได้แก่ การหลอมเหล็ก หลอมเหล็กกล้า ถ่านหิน เหล็กหุ้มทองแดง หินแก๊สแคลเซียม อะลูมิเนียม ทองแดง ตะกั่ว สังกะสี ปูนซิเมนต์ กระจกแผ่นเรียบ โรงงานกระดาษ แอลกอฮอลล์ ผงชูรส กรดมะนาว การฟอกหนัง การฟอกย้อม ใยสงเคราะห์ และแบตเตอรี่ตะกั่ว อุตสาหกรรมดังกล่าวใช้วัตถุดิบที่มีในประเทศ จึงไม่กระทบต่อการนำเข้าสินค้าจากไทยเท่าใดนัก แต่อาจส่งผลโดยอ้อมกดดันการผลิตและการใช้จ่ายในประเทศเติบโตช้าลงได้ในระยะข้างหน้า
โดยสรุป การส่งออกของไทยไปจีนตลอดปีนี้อาจไม่สดใสดังเช่นที่ผ่านมา โดยยังคงต้องติดตามภาวะเศรษฐกิจจีนในช่วงที่เหลือของปี 2556 ท่ามกลางการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจของทางการจีนที่ส่งผลทั้งทางตรงและทางอ้อมจำกัดการผลิตและการบริโภคในประเทศ อันเป็นความท้าทายต่อภาคธุรกิจในประเทศจีนในการปรับตัวไปพร้อมกับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจขนานใหญ่ของจีนในครั้งนี้ อย่างไรก็ดี ทางการจีนได้ส่งสัญญาณประคองการเติบโตทางเศรษฐกิจให้เติบโตได้ตามเป้าหมายที่ร้อยละ 7.5 และทยอยอออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ซึ่งยังคงต้องจับตาดูผลของแรงเสริมที่เข้ามาพยุงเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปีนี้อย่างใกล้ชิด
ทั้งนี้ ท่ามกลางการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ จีนยังมีแรงหนุนจากความแข็งแกร่งของการบริโภคในประเทศที่เริ่มเด่นชัดมากขึ้น ซึ่งอาจเป็นตัวช่วยพยุงเศรษฐกิจในภาพรวมในระยะข้างหน้า ตามความมุ่งหวังของทางการจีนที่ต้องการให้เพิ่มน้ำหนักให้การบริโภคมีบทบาทขับเคลื่อนเศรษฐกิจ จะเห็นได้จากยอดค้าปลีกของจีนขยับตัวสูงขึ้นตลอดไตรมาส 2 โดยที่ในเดือนมิถุนายนขยายตัวสูงสุดในรอบปีที่ร้อยละ 13.3 (YoY) แตะมูลค่า 1.88 ล้านล้านหยวน ผลักดันยอดค้าปลีกครึ่งปีแรกแตะ 11.08 ล้านล้านหยวน (1.8 ล้านล้านดอลลาร์ฯ) เติบโตในเกณฑ์สูงที่ร้อยละ 12.7 (YoY) ซึ่งถ้าหากทิศทางดังกล่าวสามารถรักษาการเติบโตได้เช่นนี้ตลอดช่วงที่เหลือของปี ก็อาจช่วยบรรเทาการชะลอตัวของการส่งออกไทยไปจีนได้อีกทางหนึ่ง
ด้วยภาวะดังกล่าว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในกรณีพื้นฐานหากเศรษฐกิจจีนกระเตื้องขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2556 การส่งออกไทยไปจีนในปี 2556 นี้มีโอกาสเติบโตใกล้เคียงร้อยละ 0.7 โดยมีมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 27,000 ล้านดอลลาร์ฯ ขณะที่การนำเข้าของไทยจากจีนอยู่ที่ขยายตัวร้อยละ 3.8 มีมูลค่านำเข้าจากจีน 38,300 ล้านดอลลาร์ฯ ซึ่งจะทำให้ไทยขาดดุลการค้าสูงขึ้นมาอยู่ที่ 11,300 ล้านดอลลาร์ฯ