ปัจจุบัน ต้องยอมรับว่าเรื่องของเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อทุกภาคส่วน ยิ่งอุตสาหกรรมการผลิตถือเป็นสิ่งจำเป็น โดยเฉพาะ “นวัตกรรม” จะทำให้ผู้ประกอบการยืนหยัดและแข่งขันได้ แต่การจะได้มาซึ่งนวัตกรรมนั้น จะเกิดขึ้นไมได้หากขาดความร่วมมือระหว่างนักวิชาการ นักวิจัยหรือผู้เชี่ยวชาญที่จะนำองค์ความรู้ และงานวิจัยเข้าไปพัฒนาเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์กับผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม
สำนักวิจัยและบริการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(สวท.) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2524 เดิมเรียกว่า ศูนย์ปฏิบัติการวิจัยและพัฒนา สังกัดคณะวิศวกรรมศาสตร์ มีวัตถุประสงค์ให้เป็นศูนย์รวมของอาจารย์และนักวิจัยในการให้บริการวิชาการและงานวิจัยแก่หน่วยงานภาครัฐและเอกชน ต่อมาเมื่อปี 2540 ได้เปลี่ยนเป็น สำนักวิจัยและบริการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือ สวท.มีฐานะเทียบเท่าคณะ เป็นแหล่งรวมหน่วยงานและโครงการวิจัยต่างๆ และมีบทบาทในฐานะแหล่งในการดำเนินการวิจัย การพัฒนา และการวิศวกรรม (Research Development and Engineering) การถ่ายทอดเทคโนโลยีสหวิทยาการ เพื่อสร้างขีดความสามารถของภาครัฐและภาคเอกชนในการพัฒนาวิชาการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้านต่างๆ
ผศ.นิธิ บุรณจันทร์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและบริการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สวท.) มจธ. กล่าวว่า เนื่องจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มีพันธกิจด้านการวิจัยเพื่อพัฒนาความรู้ ความเข้าใจ ความคิดสร้างสรรค์เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตลอดจนสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม ชุมชน และนวัตกรรม ผ่านการถ่ายทอดความรู้ เทคโนโลยี และการประยุกต์ผลงานจากงานวิจัย เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในด้านต่างๆ โดยร่วมกับภาคเอกชนในการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม และส่งเสริมให้มีการนำสิ่งประดิษฐ์ หรือผลงานวิจัยไปใช้ในเชิงพาณิชย์
สวท.ทำหน้าที่เชื่อมต่อระหว่างภาคการศึกษาวิจัย และภาคธุรกิจอุตสาหกรรมมานาน ทำให้นักลงทุนและผู้ประกอบการมีความมั่นใจที่จะนำเอาองค์ความรู้ไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ อันจะส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมให้เจริญก้าวหน้าต่อไป เช่น เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ได้มีการลงนาม MOU กับกลุ่มบริษัทตะวันออกโพลิเมอร์ขึ้นเป็นครั้งที่ 2 พร้อมเปิดตัวโครงการออกแบบและสร้างโรงเรือนปศุสัตว์สำเร็จรูปสำหรับหมู ถือเป็นผลงานความร่วมมือทางด้านบริการวิชาการระหว่างมหาวิทยาลัยและภาคอุตสาหกรรมได้เป็นอย่างดี
ด้านนายเอกวัฒน์ วิทูรปกรณ์ ผู้บริหาร บริษัท แอร์โรคลาส จำกัด และบริษัท อีพีจี อินโนเวชั่น เซ็นเตอร์ จำกัด กล่าวว่า บริษัทฯ เป็นสมาชิกของกลุ่มบริษัทตะวันออกโพลีเมอร์ฯ ผู้ผลิตส่วนประกอบยานยนต์รายใหญ่ของไทยโดยแอร์โรคลาส (ARK) ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการผลิตผลิตภัณฑ์จากยางและพลาสติกมากว่า 50 ปี ล่าสุดบริษัทฯมีแนวคิดผลิต “แผ่นผนังฟาร์มสำเร็จรูปสำหรับโรงเรือนปศุสัตว์” ขึ้น โดยนำวัสดุจากพลาสติกมาใช้ ถือเป็นการปฏิวัติรูปแบบการก่อสร้างฟาร์มที่มีความทันสมัยและเป็นนวัตกรรมใหม่ล่าสุดของวงการโรงเรือนปศุสัตว์
“ยอมรับว่า แนวคิดดังกล่าวจะเป็นจริงไม่ได้ หากไม่ได้องค์ความรู้ทางวิชาการเข้ามาสนับสนุน ในฐานะผู้ประกอบการมีเพียงความรู้ความชำนาญเฉพาะด้านวัสดุเท่านั้น แต่การที่ สวท.เข้ามาช่วยทำให้บริษัทมีความมั่นใจและกล้าเดินหน้าพัฒนาผลิตภัณฑ์ดังกล่าวออกสู่ตลาด โดยบริษัทฯ ได้เข้าขอรับความช่วยเหลือจาก สวท. ในโครงการศึกษาวัสดุประเภทพลาสติกสำหรับใช้ในโรงเรือนปศุสัตว์ ต่อยอดมาสู่โครงการออกแบบและสร้างโรงเรือนปศุสัตว์สำเร็จรูปสำหรับเลี้ยงหมู โดยใช้วัสดุเป็นลักษณะผนังสำเร็จรูป โรงเรือนดังกล่าวได้ผ่านการทดสอบจาก สวท.พบว่า ขณะที่อุณหภูมิภายนอกโรงเรือนอยู่ที่ 37 องศาเซลเซียส แต่อุณหภูมิภายในโรงเรือนที่ได้ทำการติดตั้งแผ่นผนังมีอุณหภูมิเพียง 28 องศาเซลเซียส ส่งผลให้หมูลดความเครียด ช่วยให้กินอาหารได้ดี มีน้ำหนักเพิ่มขึ้น ปริมาณน้ำเชื้อเพิ่มขึ้นกว่า 60% และเพิ่มปริมาณผลผลิตมากขึ้น ทำให้ผู้เลี้ยงมีผลกำไรเพิ่มขึ้น ดังนั้น การที่มีหน่วยงานและผู้เชี่ยวชาญเข้ามายืนยัน จึงช่วยเพิ่มความเชื่อถือ และสร้างความมั่นใจให้กับผลิตภัณฑ์ได้ ทำให้เปิดช่องทางการขยายธุรกิจออกไปสู่อุตสาหกรรมเกษตร ปศุสัตว์ และอื่นๆ ต่อไป”
คุณสมบัติพิเศษของผนังดังกล่าว คือ ป้องกันความร้อนและรักษาความเย็น ทำให้ประหยัดพลังงานในการรักษาความเย็นในห้องหรือโรงเรือนได้มากกว่า 50%, มีน้ำหนักเบา ติดตั้งง่ายสามารถรื้อถอนหรือถอดประกอบใหม่ได้อย่างรวดเร็ว ประหยัดเวลาได้มากกว่า 50%, ประหยัดค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างมากกว่า 40%, มีความแข็งแรง ทนต่อสภาพการผุกร่อนจากกรด แอมโมเนียและความชื้นภายในโรงเรือน, ไม่เป็นสนิม ทำให้อายุการใช้งานยาวนานกว่าวัสดุแบบเก่า และด้วยพื้นผิวที่เรียบ ลื่น ทำความสะอาดง่าย จึงไม่เป็นแหล่งเพาะเชื้อโรค และเชื้อรา เหมาะตามหลักสุขอนามัยที่ดี ประกอบกับสีที่ใช้สีขาวทำให้ภายในโรงเรือนมีความสว่างมากขึ้นช่วยให้ประหยัดไฟฟ้า
นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีความร่วมมือในโครงการออกแบบและสร้างเครื่องทดสอบการทนต่อสภาวะอุณหภูมิของพื้นปูกระบะรถยนต์ ภายใต้อุณหภูมิ -40 องศาฯ ไปจนถึง 90 องศาฯ ซึ่งได้ผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจอย่างมาก ทำให้ปัจจุบัน บริษัทฯ สามารถส่งออกไปยังยุโรปเพิ่มมากขึ้น 20 เท่า จากเดิมผลิตอยู่ที่เดือนละ 30 – 50 ชิ้น เพิ่มขึ้นเป็นเดือนละกว่า 1,000 ชิ้น และโครงการการออกแบบสร้างอุโมงค์ลมสำหรับทดสอบกังหันลมและทดสอบด้านแอร์โรไดนามิคของรถยนต์ ซึ่งการพัฒนาอุโมงค์ลมนี้ นับเป็นแห่งเดียวของไทยและมีขนาดใหญ่ที่สุดในอาเซียน
นายเอกวัฒน์ กล่าวว่า “ผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการทดสอบ และได้รับการรับรองผลจากผู้เชี่ยวชาญและมหาวิทยาลัยที่น่าเชื่อถือ จะช่วยยืนยันถึงสิ่งที่ออกแบบและพัฒนาว่า ดีจริงและถูกต้องตามหลักวิชาการ ย่อมทำให้ผลิตภัณฑ์นั้นได้รับการยอมรับและน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น ดังนั้น เรื่องนวัตกรรม งานวิจัยและพัฒนา จึงมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันให้กับภาคอุตสาหกรรมไทย หากเราไม่เห็นความสำคัญและไม่เร่งสร้างให้เกิดขึ้นในวันนี้ จะทำให้ไทยล้าหลัง สุดท้ายเราก็จะกลายเป็นผู้ใช้ไปตลอด ขาดความคิดสร้างสรรค์ และประเทศก็จะไม่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสิ่งใหม่ๆ ได้ การร่วมมือทางวิชาการระหว่างภาคเอกชนกับมหาวิทยาลัย ย่อมส่งผลดีต่อทุกฝ่ายทั้งเอกชน นักวิชาการ และประเทศ โดยเฉพาะ มจธ.ที่นำองค์ความรู้ทางวิชาการและบริการ เข้ามาช่วยเพิ่มความเชื่อถือ และสร้างความมั่นใจให้กับผลิตภัณฑ์ เปิดช่องทางการขยายธุรกิจออกไปสู่อุตสาหกรรมอื่นๆ ต่อไป”