กสิกรไทยควงเอสเอ็มอีไทย-จีนจับคู่ธุรกิจกลุ่มยานยนต์

จีนไม่หวั่นตลาดรถยนต์ไทยซบ มองระยะยาวไทยเจ๋งสุด เล็งแห่เข้าไทยตั้งโรงงานผลิตรถพวงมาลัยขวาป้อนอาเซียน-เอเชีย กสิกรไทยเสือปืนไวจัดจับคู่ธุรกิจยานยนต์ไทย-จีน หวังสร้างเครือข่ายและเพิ่มโอกาสให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนไทยพบผู้ผลิตรถยนต์จากจีน คาดมีการเจรจาซื้อขาย 500 ล้านบาท ภายใน 1 ปี

นายพัชร สมะลาภา รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ปีที่ผ่านมาอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยมีการเติบโตมากถึง 30-40% จากโครงการรถยนต์คันแรกและรถยนต์อีโคคาร์ และแม้ว่าจะสิ้นสุดโครงการฯ ไปแล้ว แต่อุตสาหกรรมการรับช่วงการผลิตยังคงมีอัตราเติบโต 10-15% เมื่อเทียบกับปีก่อนๆ เนื่องจากผู้ประกอบการไทยได้ขยายกำลังการผลิตด้วยการซื้อเครื่องจักรเพิ่มเติม ส่งผลให้กำลังการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ยังมีกำลังการผลิตเหลือ

ผู้ผลิตรถยนต์จากจีน มองว่า ไทยมีความพร้อมในการผลิตรถยนต์แบรนด์จีนเพิ่มขึ้น รวมทั้งมีความเชื่อมั่นในฝีมือการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ของผู้ประกอบการไทย จึงสนใจเข้ามาลงทุนและภายใต้ข้อกำหนดการใช้ชิ้นส่วนยานยนต์ที่ผลิตในไทยอย่างน้อย 40% จะทำให้รถดังกล่าวเป็นรถยนต์ที่ Made in Thailand ซึ่งจะเป็นโอกาสให้รถยนต์แบรนด์จีนสามารถใช้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์พวงมาลัยขวาเพื่อขยายตลาดในกลุ่มประเทศอาเซียน ทวีปเอเชีย และออสเตรเลียได้มากขึ้น

ทั้งนี้ เมื่อผู้ผลิตยานยนต์จีนทยอยเข้ามาลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่อง ธนาคารกสิกรไทยในฐานะผู้เชื่อมโยงและสนับสนุนการจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) เพื่อเพิ่มโอกาสให้ทั้งผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ของไทย ได้พบปะทำข้อตกลงในการซื้อขายกับผู้ผลิตจีน ทำให้ทั้งสองฝ่ายได้รับประโยชน์ในการขยายตลาดยานยนต์ในไทยเพิ่มขึ้น โดยการให้การสนับสนุนทั้งผู้ผลิตรถยนต์จีน และผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย อาทิ การให้การสนับสนุนวงเงินสินเชื่อด้าน Trade Finance แก่ผู้ผลิตจีน และเพิ่มวงเงินสินเชื่อให้แก่ลูกค้าเอสเอ็มอีที่เป็นผู้ประกอบการไทยให้สามารถเพิ่มยอดการผลิตและจำหน่ายชิ้นส่วนยานยนต์ได้มากขึ้น

สำหรับผู้ผลิตรถยนต์จีนที่มาทำการเจรจาธุรกิจในครั้งนี้ 3 บริษัท ได้แก่ บริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์ – ซีพี จำกัด (SAIC MOTOR – CP Co., Ltd.) บริษัท ตงฟง ออโต้โมบิล (ประเทศไทย) จำกัด (DONGFENG AUTOMOBILE (THAILAND) Co., Ltd.) และบริษัท บริลเลี่ยน ออโต้ อินเตอร์เนชั่นเนล เทรด จำกัด (Brilliance Auto International Trade Corporation) ซึ่งทั้ง 3 บริษัท ถือว่าเป็นผู้ผลิตรถยนต์ชั้นนำจากจีน (Top Brand) ที่เป็นผู้ผลิตรถยนต์ประเภทรถยนต์นั่งส่วนบุคคล รถบรรทุกเล็ก และรถตู้ นอกจากนี้ ยังมีผู้ประกอบการไทยที่มีศักยภาพและมีสินค้าที่ผู้ผลิตจีนมีความต้องการ จำนวน 30 บริษัท เพื่อเข้ามาทำการจับคู่ธุรกิจกับ 3 ผู้ผลิตรถยนต์จีน

ด้านนายพิพิธ เอนกนิธิ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ภาพรวมอุตสาหกรรม ยานยนต์จีนในปัจจุบันมีผู้ผลิตรถยนต์รวม 82 ราย แบ่งเป็นการร่วมทุนกับนักลงทุนต่างชาติ 40 ราย และเป็นผู้ผลิตท้องถิ่น 42 ราย จากการร่วมทุนกับต่างชาติทำให้จีนค่อย ๆ เรียนรู้เทคโนโลยี จนสามารถพัฒนาและผลิตรถยนต์ในแบรนด์จีนได้สำเร็จ และเริ่มขยายไปยังตลาดต่างประเทศ นอกจากนี้ นโยบายสนับสนุนธุรกิจจีนออกไปลงทุนในต่างประเทศของรัฐบาลจีนเป็นตัวกระตุ้นให้ขยายฐานการลงทุนในต่างประเทศมากขึ้นด้วย โดยประเทศในกลุ่มอาเซียนที่มีศักยภาพเป็นฐานการผลิตที่มีอัตราการเติบโตต่อเนื่องและมีโอกาสขยายตัว ได้แก่ ประเทศไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์และเวียดนาม

จากสถิติของสถาบันยานยนต์ที่รายงานปริมาณการผลิตและจำหน่ายรถยนต์ของประเทศในอาเซียนปี 2012 พบว่าประเทศไทยมีปริมาณการผลิตรถยนต์มากที่สุดในภูมิภาค อยู่ที่ 2.5 ล้านคัน เนื่องจากมีจุดเด่นที่มีซัพพลายเชนยานยนต์ที่มีคุณภาพสมบูรณ์ครบวงจร สามารถผลิตชิ้นส่วนในระดับมาตรฐานโลก ซึ่งจะทำให้ยานยนต์แบรนด์จีนที่ผลิตในประเทศไทยได้รับการยอมรับและเชื่อมั่นในคุณภาพของสินค้า รวมทั้งการมีข้อตกลงในเรื่องภาษี 0% และการมีพรมแดนติดต่อกับหลายประเทศ ทำให้ไทยมีศักยภาพในการเป็นศูนย์กระจายสินค้าเพื่อส่งออกไปอาเซียนและประเทศอื่นในเอเชียได้ดี

การจับคู่ทางธุรกิจในครั้งนี้ คาดว่าจะมีการเจรจาซื้อขายราว 500 ล้านบาทภายใน 1 ปี และในอนาคต ธนาคารจะยังคงสนับสนุนและผลักดันอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่มีโอกาสเติบโตในลักษณะเดียวกันต่อไป